Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
WDYMean
•
ติดตาม
11 ก.ค. เวลา 11:00 • ประวัติศาสตร์
ทำไมบาดทะยัก อาการหนักถึงตาย ตอนที่ 2 | เกิดอะไรขึ้นตอนที่เราติดเชื้อ
จากโรคที่ไม่เคยมีใครรู้สาเหตุ ปัจจุบันเรารู้แล้วว่าโรคบาดทะยักเกิดจากแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ทั้งในดิน มูลสัตว์ และของเน่าเสียต่างๆ
เมื่อฟ้าฝนเป็นใจ เชื้อเหล่านี้ก็จะกระโดดเข้ามาอยู่ในแผลของเรา และกลายเป็นต้นเหตุของโรคที่ต้องนอนตัวโก่งเป็นคันธนู นำมาซึ่งการจากไปอย่างทรมาน
คำถามก็คือ แล้วบาดทะยักทำอย่างนั้นได้ยังไง?
เรากลายเป็นธนูได้ยังไง?
มันทำให้เราตายได้ยังไง?
ในตอนท้ายของตอนที่ 1 เราได้รู้กันไปแล้วว่า เชื้อที่ก่อโรคบาดทะยักสร้างสารพิษออกมาเต็มไปหมด และพิษของมันนี่ล่ะคือตัวการ
ว่าแต่พิษของมันทำให้เราป่วยได้ยังไง?
ที่สำคัญกว่าก็คือ แล้วเราจะป้องกันตัวเองจากโรคนี้ได้อย่างไร?
เดี๋ยวตอนที่ 2 นี้ WDYMean จะเล่าให้ฟังครับ
[ตอนที่ 2 เชื้อบาดทะยักทำเราอาการหนักถึงตายได้ยังไง]
รูปที่หนึ่ง
รูปที่สอง
สองรูปนี้ คืออาการของโรคบาดทะยักในระยะที่สายเกินแก้
ที่เห็นนอนตัวหักตัวงออย่างนั้น ไม่ได้ถูกผีเข้าแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะกล้ามเนื้อมัดหลังหดตัวเข้าหากัน เหมือนคนเป็นตะคริว จนรั้งร่างกายให้ค้างอยู่ในท่าคันธนู ที่ระยะนี้ ไม่นานผู้ป่วยก็จะสิ้นใจลงเพราะระบบหายใจล้มเหลว
สมัยก่อนมักจะเกิดกับทหารที่บาดเจ็บจากสงคราม (สมัยนี้ก็มีดบาด หรือตะปูตำ) ซึ่งคนสมัยนั้นก็ไม่รู้ว่าที่กล้ามเนื้อหดตัวขนาดนั้นมันเกิดจากอะไร
แต่ปัจจุบันเรารู้แล้วว่าอาการแบบนี้ เกิดจากแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ชื่อ คลอสทรีเดียม เททานี (Clostridium tetani) พวกมันมีอยู่ทุกที่ในธรรมชาติ โดยเฉพาะในดินและซากสัตว์ที่ตายแล้ว
เชื้อคลอสทรีเดียม เททานี เมื่อมองผ่านกล้องจุลทรรศน์
ที่สำคัญก็คือ “เจ้าเททานี” มีพฤติกรรมที่ทั้งเกลียดและกลัวออกซิเจนเอามากๆ เพราะออกซิเจนในอากาศก็จะทำปฏิกิริยากับโครงสร้างภายในของมันจนพังเสียหาย ผลที่ตามมาคือ มันจะตาย
เชื้อเหล่านี้จึงได้แต่จำศีลอยู่ภายในเกราะที่ตัวเองสร้างขึ้น ที่เรียกว่า สปอร์ (Spore, เป็นก้อนกลมๆ ที่หัวเข็มหมุด) กระทั่งได้จังหวะเปลี่ยนที่ทำกิน จากบนดินไปสู่แผลของเรา ไม่ว่าสปอร์จะเข้ามาด้วยวิธีไหน (มีดบาด เสี้ยนตำ) แต่ถ้าเข้าไปได้ลึกพอ (โดนแทง โดนยิง) ความรุนแรงก็จะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ
ที่ความลึกใต้ผิวหนัง ออกซิเจนที่บางเบาจะเพิ่มความคึกคักให้กับเจ้าเททานี พวกมันเริ่มภารกิจแรกทันทีที่มาถึง นั่นคือ “หาอาหาร“
เชื้อเททานีจะสร้างเอนไซม์ โพรทีเอส (Protease) ขึ้นมาย่อยเนื้อเยื่อ (โปรตีน) เพื่อดักเอากรดอะมิโนของเรา ยิ่งมีแผลลึกอยู่แล้ว ยิ่งเอื้อให้เชื้อทำมาหากินได้ง่ายขึ้น และแผลเราจะหายได้ช้าลงเรื่อยๆ
เมื่อเชื้อนี่กินอิ่มนอนหลับ สถานีถัดไปก็คือ ”การขยายพันธุ์“
เจ้าพวกนี้สามารถทำสำเนาตัวเองได้ครับ
และทำมาเยอะเสียด้วย
แต่ก็คงไม่ถึงขนาดทำเท่าไหร่ก็ได้ เพราะภูมิคุ้มกันของเราเองก็จ้องอยู่ ถ้ามันมัวแต่กิน นอน ขยายพันธุ์ มีหวังถูกภูมิคุ้มกันเราจับกินหมดแน่ มันต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อไม่ให้อาณานิคมของตัวเองล่มสลาย
และอะไรสักอย่างที่ว่านั้นก็คือ “การสร้างสารพิษมหาประลัย”
เชื้อเททานีจะสร้างสารพิษขึ้นมาสองชนิดระหว่างที่กำลังเพิ่มจำนวน ชนิดแรกคือ เททาโนไลซิน (Tetanolysin, lyse สลาย)
เททาโนไลซินมีฤทธิ์เหมือนระเบิดเวลา ทันทีที่กระจายออกไปรอบๆ มันจะวิ่งไปเกาะกับคอเลสเตอรอลที่ผิวเซลล์ของเนื้อเยื่อ เมื่อเกาะมากๆ เข้าโมเลกุลของพิษจะไปบิดให้ผิวเซลล์เสียสภาพ จนน้ำข้างนอกไหลเข้า ทำให้เซลล์บวม แตก สลาย และตายในที่สุด
เซลล์ที่จะโดนก่อนใครเพื่อนเลยก็คือ “เม็ดเลือดแดง” ที่เปรียบเสมือนรถขนส่งออกซิเจน
ถ้าพิษสามารถระเบิดรถขนส่งคันนี้ได้ ออกซิเจนรอบ ๆ แผลก็จะลดต่ำลง ทำให้เชื้อโตได้ดีขึ้น และจะไปบีบให้ภูมิคุ้มกันของเราต้องสู้ในสภาวะที่ไม่คุ้นชิน ถึงจะหยุดภูมิคุ้มกันเราไม่ได้ แต่ก็พอจะยื้อเวลาให้ได้ปล่อยพิษตัวที่สอง
พิษตัวที่สอง เททาโนสแปสมิน (Tetanospasmin, spasm ชักกระตุก)
เม็ดเลือดแดง
เททาโนสแปสมินตัวนี้ จะเปรียบเป็นหมัดฮุกของเชื้อเลยก็ว่าได้ เพราะพิษชนิดนี้ไม่ได้โจมตีที่ผิวเซลล์เหมือนกับพิษตัวแรก แต่กลับกัน เมื่อเข้าสู่กระแสเลือด มันจะรีบวิ่งหาสายเคเบิลที่คอยส่งสัญญาณไปทั่วร่างกายในทันที
นั่นคือ เซลล์ประสาท
เซลล์ประสาทในร่างกายเราเชื่อมโยงกันเป็นโครงข่ายครับ เหมือนถนนในเมืองใหญ่ที่ค่อยๆ เล็กลงไปเป็นตรอกซอกซอย
พิษตัวที่สองเลือกใช้เส้นทางนี้ในการโจมตี โดยมันจะมุดเข้าไปที่เซลล์ประสาทรอบ ๆ แผล ก่อนจะเคลื่อนที่ย้อนศร ผ่านไขสันหลัง กลับขึ้นไปหาจุดตั้งต้นของระบบประสาท ในดินแดนที่เรียกกันว่า “ก้านสมอง”
ที่ก้านสมองนี้เอง ที่เจ้าสแปสมินไปหยุดการทำงานของสารสื่อประสาทสองตัวที่ชื่อ ไกลซีน (Glycine) และกาบา (GABA) สารสองตัวนี้เป็นเหมือนเบรกของระบบประสาทครับ
คำอธิบายก็คือ เวลาที่เราเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อของเราจะต้องหดและคลายตัวอย่าง “สมดุล” จะมีสารอีกกลุ่มที่ทำงานตอนที่กล้ามเนื้อหดตัว ส่วนไกลซีนและกาบาจะทำงานตอนที่คลายตัว
เรื่องของเรื่องก็คือ พอไกลซีนกับกาบาไม่ทำงาน สัญญาณที่กล้ามเนื้อได้รับก็จะเหลือเพียงหดตัว ส่วนคลายตัวคืออะไรไม่รู้จัก
1
พอกล้ามเนื้อหดค้าง เราก็จะเหมือนคนเป็นตะคริวตลอดเวลาแต่ไม่ได้เป็นแค่ที่ขา เพราะมันจะไล่ตั้งแต่กราม (ทำให้พูดไม่ได้) ลามไปยันหน้าอก ต้นแขน แผ่นหลัง จนต้องนอนโก่งโค้งอย่างที่เราได้เห็นกันนั่นล่ะครับ
1
ที่สำคัญก็คือ ที่ก้านสมองนั้น ควบคุมแทบทุกอย่างที่เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต เช่น อัตราการเต้นของชีพจร ความดันเลือด รวมถึงระบบการหายใจ
นั่นหมายความว่า ถ้าสัญญาณหดตัวไม่ทำงานตามจังหวะ เราก็จะเหมือนเป็นตะคริวที่ปอดและหัวใจไปพร้อมๆ กัน ถ้าหายใจก็จะทำได้แค่หนึ่งครั้ง หรือหัวใจเต้นก็จะเต้นได้แค่ครั้งเดียว
ผลลัพธ์ในตอนท้ายจึงมักจะนำไปสู่ "ความตาย" ในที่สุด ...
จะเห็นได้ว่า ความน่ากลัวของโรคบาดทะยัก ไม่ได้เกิดจากที่ภูมิคุ้มกันของเราไปสู้กับเชื้อโรคไม่ได้ แต่เป็นการตอบสนองต่อพิษที่ “ช้าเกินไป” ต่างหาก ที่ทำให้ทุกอย่างไม่ทันการณ์
เพราะสิ่งที่อันตรายคือ “พิษ” ไม่ใช่เชื้อ แต่กว่าที่ร่างกายจะรู้วิธีรับมือ พิษก็ไหลเวียนไปทั่วระบบประสาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อีกประเด็นที่ทำให้ร่างกายเราตอบสนองช้า เป็นเพราะระบบประสาทของเราไม่ถูกกับภูมิคุ้มกันในเลือดเป็นอย่างมาก เพราะที่ไหนมีภูมิคุ้มกัน ที่นั่นย่อมต้องมีสงคราม (การอักเสบ)
ถ้าเกิดมีการสู้รบแล้วโครงสร้างในระบบประสาทเสียหาย การฟื้นตัวกลับมาจะทำได้ช้ามาก หรืออาจจะไม่ฟื้นอีกเลย (เห็นได้จากคนที่ได้รับผลกระทบกระเทือนทางสมอง)
ระบบประสาทจึงถูกออกแบบมาให้มีภูมิคุ้มกันเป็นของตัวเอง (ชื่อ Microglia) แต่ไม่เก่งเท่ารุ่นที่อยู่ในเลือด อารมณ์คล้ายๆ กับพี่ รปภ. ประจำตึก นั่นจึงเปิดโอกาสให้พิษได้แฝงตัวเข้ามาโดยไม่ผิดสังเกต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นสิ่งที่ต้องแลกในเชิงของวิวัฒนาการครับ เพราะโอกาสที่จะติดเชื้อแล้วตาย มีน้อยกว่าโอกาสที่จะถูกภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง (เช่น โรคแพ้ภูมิฯ)
เมื่อภูมิคุ้มกันในเลือดไม่สามารถเข้าไปถล่มพิษในระบบประสาท ปัจจุบันจึงยังไม่มีวิธีรักษาของโรคนี้หากถึงขั้นวิกฤตไปแล้ว สิ่งเดียวที่ทำได้จึงเป็นการ "ป้องกัน" ตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งก็คือการหาวิธีหยุดพิษ (ตัวที่สอง) ให้ได้ ก่อนที่มันจะจับกับเซลล์ประสาท
และวิธีการของทุกวันนี้เป็นอย่างนี้ครับ …
สมมติคุณโดนมีดบาดหรือตะปูตำแล้วเป็นแผลลึก หมอจะฉีดอิมมูโนโกลบูลิน (TIG) เข้าไปที่หัวไหล่ ซึ่งอิมมูโนโกลบูลินนี้จะคล้ายๆ กับ “ทหารรับจ้าง” คือฉีดเข้าไปปุ๊ป ทำลายพิษได้ทันที แต่มันมีอายุสั้น แค่หนึ่งเดือนเท่านั้น สิ่งที่หมอจะแนะนำเป็นลำดับถัดไปก็คือ “การฉีดวัคซีน”
วัคซีนบาดทะยักคือเศษซากของพิษที่หมดฤทธิ์แล้ว แต่หน้าตายังคล้ายๆ เดิมนะ การฉีดวัคซีนจะทำให้ภูมิคุ้มกันเราจำได้ ทำให้เรามีทหารเป็นของตัวเอง ถ้าติดเชื้อขึ้นมาจริงๆ ยังไงก็รับมือได้ทันเวลา
เพียงแค่สองวิธีนี้ควบคู่ไปกับการใช้ยาฆ่าเชื้อ เท่านี้โอกาสเสียชีวิตจากบาดทะยักก็มีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์แล้วล่ะครับ
1
ส่วนหนึ่งที่ผมเขียนซีรีส์นี้ขึ้นมา เพราะผมเพิ่งไปฉีดวัคซีนบาดทะยักมาล่ะ
เหตุเกิดจากไปหยอกแมววัดตัวหนึ่งจนโดนข่วนเข้าให้ (บ้าจริง) พอเลือดตกยางออกก็เลยกลัวแล้วว่าจะเป็นอะไรไหม ตอนไปโรงพยาบาลหมอเขาก็ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าให้ แต่ที่เซอร์ไพรส์ก็คือมีบาดทะยักมาด้วยหนึ่งเข็ม (ต้องฉีดให้ครบสามเข็มครับ อยู่ได้สิบปี)
พิษสุนัขบ้าเราทราบกันดีอยู่แล้วว่าอันตราย แต่อีกหนึ่งคำถามในใจก็คือ บาดทะยักก็ด้วยเหรอ?
ทำไมล่ะ ทำไมถึงอันตราย?
ตอนนั้นหมออธิบายแล้วผมไม่เข้าใจ แต่ตอนนี้ผมพอจะได้คำตอบแล้ว และก็เขื่อว่าคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ ก็น่าจะมีเค้าลางคำตอบไม่มากก็น้อยนะครับ
ถ้าใครได้อ่านตอนที่ 1 มา ก็น่าจะได้เห็นที่มาของโรคนี้ชัดขึ้นเนอะ ยังไงก็อย่าลืมดูแลสุขภาพกันด้วยนะครับ แผลเล็กแผลน้อย ถ้าติดเชื้อนี่ถึงตายได้เลยล่ะ
ไว้เจอกันใหม่บทความหน้าครับ
#WDYMean
[ประเด็นทิ้งท้าย]
ผมเชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยได้เรื่อง “สนิมกับบาดทะยัก” มาบ้าง ที่บอกว่า ถ้าโดนเหล็กที่เป็นสนิมบาด ยิ่งมีโอกาสเป็นโรคบาดทะยัก
เรื่องนี้ก็ต้องบอกเลยว่า “ไม่จำเป็นนะครับ” เหล็กธรรมดาที่มีสปอร์ของเชื้อนี้อยู่ โดนบาดนิดเดียวก็เป็นบาดทะยักได้เหมือนกัน
1
แต่คำพูดนี้ก็ไม่ได้ผิดหมดเสียทีเดียว เพราะสนิมมีพื้นผิวที่ขรุขระ (คือเหล็กที่ผุกร่อนไปแล้ว) เลยเปิดโอกาสให้มีสปอร์ลอยมาเกาะได้ง่ายกว่า และถ้าเราโดนสนิมบาด ก็จะมีโอกาสติดเชื้อมากกว่าครับ
1
อ้างอิงจาก
อาการของบาดทะยัก
•
https://en.m.wikipedia.org/wiki/Tetanus
•
https://www.sanook.com/news/9084946/
เชื้อเททานี
•
https://en.m.wikipedia.org/wiki/Clostridium_tetani
•
https://www.discovermagazine.com/health/tetanus-the-grinning-death
•
https://www.sciencedirect.com/topics/immunology-and-microbiology/clostridium-tetani
พิษตัวที่หนึ่ง
•
https://www.sciencedirect.com/topics/pharmacology-toxicology-and-pharmaceutical-science/tetanolysin
อะ พิษตัวที่สอง
• จากบทความวิจัย Tetanus and tetanus neurotoxin: From peripheral uptake to central nervous tissue targets
แล้วจะรักษายังไง
•
https://emedicine.medscape.com/article/229594-treatment#d9
อ้างอิงรูปภาพจาก pixabay, istockphoto, google images, wikipedia
health
ประวัติศาสตร์
20 บันทึก
26
3
15
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ทำไมบาดทะยัก อาการหนักถึงตาย?
20
26
3
15
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย