21 ก.ค. เวลา 12:00 • หนังสือ

สรุปหนังสือ คุณคางคกไปพบนักจิตบำบัด

ถ้าวันหนึ่งพฤติกรรมของคุณเปลี่ยนไปเช่น เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ไม่อยากเจอผู้คน บางทีคุณอาจจะอยู่ในสภาวะซึมเศร้า คุณคางคกก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ต้องเข้ารับการบำบัด เรื่องราวจะเป็นยังไง วันนี้เก่งสรุปมาให้ทุกคนได้อ่านแล้วค่ะ
Robert de Board เป็นอาจารย์สอนวิชาการ เป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ ส่วนหนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมประสบการณ์การพบเจอกับผู้ที่เป็นซึมเศร้า โดยถ่ายทอดออกมาเป็นวรรณกรรมทำให้การอ่านมีทั้งความสนุก เข้าใจง่าย เป็นภาคต่อจากหนังสือ Wind in the Willows ของ Grahame และเพิ่มตัวละครนกกระสา นักจิตบำบัดที่คอยช่วยให้คุณคางคกอาการดีขึ้น
ในหนังสือมีทั้งหมด 16 บท ถ้าให้สรุปง่าย ๆ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่ 1.คุณคางคกมีภาวะซึมเศร้า 2.ช่วงแห่งการพบนักจิตบำบัด 3.คุณคางคกและเพื่อน ๆ กลับมาเป็นเหมือนเดิม เรื่องราวมีตัวละครหลัก ได้แก่ คุณคางคก หนู ตัวตุ่น แบดเจอร์ และนกกระสา (นักจิตบำบัด)
<<< คุณคางคกมีภาวะซึมเศร้า >>>
ในตอนแรกตัวตุ่นตั้งใจไปหาคุณคางคกหลังจากที่ไม่ได้เจอกันนาน พอไปถึงคฤหาสต์ตัวตุ่นตกใจมากที่คฤหาสต์สภาพดูเหมือนร้างมานาน พอเข้าไปหาคุณคางคกก็ยิ่งตกใจเข้าไปอีก สภาพคือเนื้อตัว เสื้อผ้าสกปรก ใบหน้าบูดบึ้ง ทั้งที่แต่ก่อนคุณคางคกเป็นคนที่แต่งตัวดูดี เป็นที่รักของเพื่อน ๆ แต่วันนี้มันช่างแตกต่างเสียเหลือเกิน ตัวตุ่นจึงกลับมาหาหนู เพื่อตกลงกันว่าจะช่วยคุณคางคกอย่างไรดี
หนู อ่านหนังสือพิมพ์แล้วเจอคอลัมน์หนึ่งว่ามีนักจิตบำบัดรับสัตว์เข้ารับการปรึกษา วันรุ่งขึ้นระหว่างทั้งคู่เดินไปคฤหาสต์ก็ได้เจอกับแบดเจอร์ เขาเป็นสมาชิกสภาเขต ได้สังเกตว่าคุณคางคกมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป จึงอยากที่จะร่วมช่วยเหลือจึงขอไปด้วย พอไปถึงทั้งสามก็พูดจนทำให้คุณคางคกได้ไปพบนักจิตบำบัด
<<< ช่วงแห่งการพบนักจิตบำบัด >>>
แม้ในตอนแรกคุณคางคกมาเพื่อที่จะให้เพื่อน ๆ สบายใจ ไม่ค่อยเต็มใจสักเท่าไหร่ แต่คุณนกกระสาซึ่งเป็นนักจิตบำบัด ได้พูดคุยจนคุณคางคกเปิดใจเข้ารับการรักษา โดยให้คุณคางคกมาพบทุกวันอังคาร ตอน 10 โมง
วันนัดครั้งแรกก็มาถึง คุณคางคกมาตามนัดและได้เริ่มทำสิ่งแรกให้นกกระสาคือการให้คะแนนความรู้สึก 1 คะแนนคือรู้สึกเศร้ามากอยากฆ่าตัวตาย 5 คะแนนคือปานกลางไม่ได้รู้สึกแย่หรือรู้สึกดี 10 คะแนนคือรู้สึกมีความสุข ซึ่งคุณคางคกให้ไว้ระหว่าง 1-2 นั่นก็แสดงว่าคุณคางคกมีความคิดที่อยากจะฆ่าตัวตายอยู่บ้าง แต่เขาบอกว่าช่วงนี้ไม่มีแล้ว นกกระสาจึงเริ่มให้การบำบัด
เทคนิคการบำบัดที่หลายคนเข้าใจผิดว่าจะต้องเข้าเครื่อง ทำอะไรเกี่ยวกับสมอง ลืมภาพจำเหล่านั้นไปได้เลย เพราะจริง ๆ แล้วเทคนิคที่นกกระสาใช้ คือการรับฟังและถามความรู้สึกของคนที่เข้ารับการบำบัด
การพูดคุยเริ่มตั้งแต่การถามเหตุการณ์ที่จำฝังใจ จากนั้นกลับไปที่จุดเริ่มต้นนั่นก็คือพฤติกรรมในวัยเด็ก รวมถึงลักษณะนิสัยของพ่อแม่หรือคนที่เลี้ยงดูเรามา ความรู้สึกในวัยเด็กเท่าที่หนังสือสรุปก็คือ ความสนุกและความรัก ความกลัว ความเศร้า ความโกรธ เด็กแต่ละคนเหมือนมีแม่สีอยู่ในตัวมีการแต่งแต้ม หล่อหลอมจากพ่อแม่จนเป็นเราในปัจจุบัน และในวัยเด็กเราไม่สามารถต่อต้านผู้ใหญ่ได้ทำได้เพียงต้องรู้จักปรับตัว
คุณคางคกกลับมาทบทวนตัวเอง ก็ได้รู้ว่าที่ตัวเองกลัวแบดเจอร์เพราะเขามีนิสัยเหมือนพ่อ ซึ่งพ่อของคุณคางคกเป็นคนที่เข้มงวด มีความเป็นผู้นำ คาดหวังให้คุณคางคกประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับปู่ของคุณคางคก ส่วนแม่ไม่ได้เข้มงวดมาก แต่ก็ไม่แสดงความรักให้รู้สึกได้ขนาดนั้น อ่านมาถึงตรงนี้เก่งอยากให้ทุกคนลองนึกถึงชีวิตในวัยเด็กว่าอะไรทำให้เป็นเราในทุกวันนี้แล้วมันส่งผลดีหรือไม่ดี
ส่วนใหญ่เหตุการณ์ที่คุณคางคกเล่า ดูเหมือนว่าเพื่อนของเขาจะเป็นคนที่ทำให้คุณคางคกเป็นแบบนี้ แต่หากเราอ่านไปเรื่อย ๆ เราจะเริ่มเข้าใจว่าคุณคางคกมีมุมมองที่ไม่เหมือนคนทั่วไปเพราะอยู่ในภาวะซึมเศร้า
หลังจากที่เรารู้แล้วว่าวัยเด็กสะท้อนความเป็นเราในปัจจุบัน นกกระสาจึงได้บอกอีกว่า การเรียนรู้ได้หรือไม่ได้นั้น อยู่ที่ว่าเราอยู่ในสภาวะใด ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 สภาวะ ได้แก่ สภาวะเด็ก สภาวะผู้ใหญ่ และสภาวะพ่อแม่ สภาวะที่เราสามารถเรียนรู้ได้นั่นก็คือ สภาวะผู้ใหญ่ เพราะเราจะมีเหตุผลแต่ไม่ทำตามความรู้สึก ถ้าในสภาวะพ่อแม่ เราจะยึดมั่นในความคิดของตนเองจึงไม่เปิดรับความคิดอื่น
คุณคางคกเริ่มที่จะมีสภาวะผู้ใหญ่แล้ว บทเรียนที่สำคัญที่อยากจะกล่าวก็คือ การมองตัวเองและคนอื่น ให้ทุกคนลองนึกภาพตาม เราจะแบ่งเป็นแกนแนวตั้งและแกนแนวนอน แกนแนวตั้งข้างบนเป็นฉันโอเค ข้างล่างเป็นฉันไม่โอเค แกนแนวนอน ด้านซ้ายเป็นคุณไม่โอเค ด้านขวาเป็นคุณโอเค แล้วนำสองแกนมารวมกัน
คุณคางคกบอกว่าตนเองอยู่ใน ฉันไม่โอเค คุณโอเค อธิบายได้ว่า คนพวกนี้จะชอบโทษตัวเอง คิดว่าชะตากำหนดให้พวกเขาโชคร้าย แต่คนอื่นโชคดี ส่วนแบดเจอร์ คุณคางคกให้อยู่ในโซน ฉันโอเค คุณไม่โอเค ก็คือพวกที่ทำอะไรตามใจตัวเอง แต่คนอื่นทำอะไรก็ผิด เช่น หัวหน้าชอบด่าลูกน้อง ส่วนมุมมองที่ดีนั่นก็คือ ฉันโอเค คุณโอเค เพราะทำให้ทุกฝ่ายอยู่ในด้านบวก
การรับคำปรึกษาครั้งสุดท้าย เป็นการให้คุณคางคกพูดว่าสิ่งที่ทำกันมา การบำบัดทุกวันอังคาร ตอนนี้เขารู้สึกอย่างไร แล้วจะทำอะไรต่อในอนาคต คุณคางคกรู้สึกได้ว่าตัวเองเปลี่ยนไปมากอยู่ในช่วงมีความสุข สังเกตได้ว่าก่อนที่จะมาถึงวันนัดครั้งสุดท้าย เขาทำกิจกรรมกับคนในชุมชนเหมือนเดิมและจะเริ่มทำธุรกิจส่วนตัว การบำบัดได้สิ้นสุดลงทั้งสองคนต่างได้พัฒนาไปด้วยกัน คุณคางคกมีมุมมองที่เปลี่ยนไป นกกระสาก็ได้เรียนรู้ผ่านเรื่องราวของคุณคางคก
<<< คุณคางคกและเพื่อน ๆ กลับมาเป็นเหมือนเดิม >>>
หลังจากบำบัดครั้งสุดท้าย ทุกคนมากินข้าวด้วยกันที่ภัตตาคาร มุมมองของคุณคางคกเปลี่ยนไปตรงที่เคยกลัวแบดเจอร์ และยังรู้สึกว่าเพื่อน ๆ เห็นเขาเป็นตัวตลก ตอนนี้เขากลายเป็นคนที่เพื่อน ๆ รักเหมือนเดิม และเขาก็รักเพื่อนในมุมมองใหม่ และแต่ละคนพูดถึงอนาคตว่าแต่ละคนจะแยกย้ายกันไปตามทางของตนเอง ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ
เนื้อหาของเรื่องก็จะมีประมาณนี้ แต่เก่งไม่ได้ลงรายละเอียดของปมคุณคางคกมากนัก อยากให้ทุกคนได้ลองอ่านด้วยตัวเอง
ความรู้สึกหลังอ่าน
ก่อนหน้านี้เคยเลื่อนผ่านหนังสือเล่มนี้ไป เพราะว่าไม่ค่อยชอบอ่านแนวซึมเศร้า แต่วันนี้ได้มีโอกาสอ่าน พูดได้เลยว่าเป็นหนังสือที่ดีเล่มหนึ่ง เราเข้าใจมุมมองของคนที่มีภาวะซึมเศร้ามากขึ้น แถมยังเข้าใจตัวเองมากขึ้น มันทำให้เราลองกลับมานั่งคุยกับตัวเองเหตุการณ์ในอดีตอะไรบ้างที่ทำให้เราเป็นเราในปัจจุบัน และเรื่องมุมมองต่อตนเองและคนอื่น อันนี้ดีมาก ๆ
เก่งเองก็เคยมีอาจารย์ท่านหนึ่งพูดไว้ว่า บางทีเหตุการณ์เลวร้ายที่เข้ามา เราอาจจะคิดว่าทำไมมันเกิดกับเรา แต่หากเราพลิกมุมมองว่า แล้วเหตุการณ์นี้มันสอนอะไรเราบ้าง เหตุการณ์นั้นอาจจะเป็นบทเรียนที่ล้ำค่าเลยก็ว่าได้
สุดท้ายก็อยากให้ทุกคนได้ลองอ่านหนังสือเล่มนี้ถ้ามีโอกาส เราอาจจะเป็นคุณคางคกที่มีภาวะซึมเศร้าหรืออยู่ในสภาวะพ่อแม่ที่ชอบทำตัวเข้มงวดหรืออาจจะเป็นคนที่ทำให้คนอื่นตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้าก็ได้ ปัญหาซึมเศร้าแก้ได้ รักษาไปกับคุณคางคกในหนังสือ “คุณคางคกไปพบนักจิตบำบัด”

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา