28 ก.ค. เวลา 12:00 • หนังสือ

สรุปหนังสือ Slow Success ยิ่งใหญ่ด้วยก้าวเล็ก ๆ

ถ้าพูดถึงคนประเทศญี่ปุ่นคุณนึกถึงอะไร...สำหรับเก่ง นึกถึงความมีวินัย ความตรงต่อเวลา แต่ก็ยังมีผู้คนอีกส่วนหนึ่งที่ดำรงชีวิตด้วยความเรียบง่าย แล้วอะไรล่ะ??? คือสูตรสำเร็จของคนญี่ปุ่น วันนี้เก่งจะมาสรุปหนังสือ Slow Success ยิ่งใหญ่ด้วยก้าวเล็ก ๆ ที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจที่มาของความสำเร็จฉบับคนญี่ปุ่น
ผู้เขียนหนังสือมีอยู่ด้วยกัน 2 ท่าน
ท่านแรก คุณวสุ โรจรจิราภา ได้ทุนไปเรียนที่ญี่ปุ่น จบการศึกษาปริญญาโทวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยโอซาก้า นิสัยคือชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก อยากจะวิ่งและเขียนหนังสือให้ได้มาก ๆ แบบ Haruki Murakami
ท่านที่สอง คุณกฤตินี พงษ์ธนเลิศ นักเขียน และอาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอบผ่านทุนรัฐบาลได้ไปญี่ปุ่นตอนอายุ 17 ปี เมื่อกลับมาเมืองไทย ได้พยายามถ่ายทอดเรื่องราวญี่ปุ่น แง่คิดต่าง ๆ ผ่านหนังสือ เว็บไซต์ และโซเชียลมีเดีย
เนื้อหาในหนังสือได้กล่าวถึงบุคคล 30 ท่าน ที่ประสบความสำเร็จ (ไม่เฉพาะเรื่องเงินทองหรือชื่อเสียงที่โด่งดัง) แต่รวมไปถึงความสุขและความภาคภูมิใจ มีที่มาของเรื่องราวล้วนแล้วแตกต่างกัน ทั้งพ่อแม่ร่ำรวยมาก่อน ทั้งยากจนข้นแค้น ทั้งมีพ่อแม่และไม่มีพ่อหรือแม่ ก็ต่างมีเส้นทางที่ประสบความสำเร็จในแบบของตัวเอง สำหรับโพสต์นี้จะกล่าวถึง 6 บุคคลที่อยู่ในหนังสือ เป็นบุคคลที่เก่งคิดว่าเรื่องราวน่าสนใจและสามารถที่จะเป็นแรงบันดาลใจสำหรับผู้อ่านได้อย่างมากเลยทีเดียว
Haruki Murakami หลายคนคงรู้จักกันดี เพราะเขาคือนักเขียนนวนิยายชื่อดัง เขาเติบโตมาในครอบครัวที่คาดหวังว่าลูกของตนจะต้องเลือกเข้าทำงานในบริษัทใหญ่ ๆ แต่ Haruki กลับไม่เลือกเส้นทางนั้น เขาเลือกที่จะเปิดร้านแจ๊สและแต่งงานตอนอายุ 23 ปี ซึ่งมันผิดกับสิ่งที่พ่อแม่คาดหวังทั้งหมด และการเปิดร้านแจ๊สก็ไม่ใช่ว่าจะดี เพราะต้องกู้หนี้คอยหมุนเงินให้ทัน แต่สุดท้ายเขาก็บริหารมันได้อย่างลงตัว
ในวันหนึ่งเขาไปนั่งชมการแข่งเบสบอลก็มีความรู้สึกว่าอยากเป็นนักเขียน แต่ความอยากมันจะเปลี่ยนเป็นความจริงได้ก็ต้องลงมือทำ เขาตั้งใจเขียนนวนิยายเรื่องแรกและส่งมันเข้าประกวดสำหรับนักเขียนมือใหม่ ผลคือได้รางวัลที่หนึ่ง แต่!!! เขาบอกว่าที่ชนะ เพราะมันเป็นผลงานที่แย่น้อยที่สุด (อ่าว...) คุณฮารุกิก็ยังแต่งนวนิยายออกมาเรื่อย ๆ ผลงานของเขาเริ่มเป็นที่รู้จัก เขาจึงตัดสินใจปิดร้านแจ๊สที่สร้างมากับมือ เพราะอยากทุ่มเทให้กับงานเขียนมากที่สุด
สิ่งที่คุณฮารุกิมีอยู่ในตัวนั่นก็คือ การท้าทายตนเอง เมื่อเขาอยากทำสิ่งใดก็จะลงมือทำเลย สำหรับความท้าทายในการเขียนหนังสือก็คือ จะทำยังไงให้หนังสือขายดี เขาจึงเขียนมันให้ใกล้ความเป็นจริงมากที่สุด เขียนให้ผู้อ่านรู้สึกว่าตนเองกำลังเป็นตัวเอก ซึ่งตัวเอกส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่มีสังคมน้อยทำให้ผู้อ่านส่วนหนึ่งเข้าใจบทบาทนั้นดี และสิ่งที่สำคัญอีกประการนั่นก็คือการดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อที่มีพลังงานในการเขียนได้นาน ๆ
Lilly Franky นักแสดง นักวาด และนักเขียน เห็นแบบนี้แล้วแสดงว่าเขาคงสะสมประสบการณ์มาตั้งแต่เด็ก แต่เรื่องจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย เพราะเมื่อเขาจบการศึกษาเขาตัดสินใจไม่เข้าทำงานบริษัท ไม่ได้ออกเดินทาง โดยเลือกที่จะเก็บตัว มีเพียงรายได้บางส่วนจากการวาดภาพประกอบ ซึ่งมันก็ไม่พอทำให้ต้องไปขอยืมเพื่อน สุดท้ายก็ไม่เหลือเพื่อนอีกต่อไป ในวันที่ทุกอย่างมืดแปดด้าน การอยู่คนเดียวทำให้เขาเข้าใจมนุษย์ ก่อเกิดจินตนาการขึ้นมา หลังจากนั้นเขาก็เลือกรับงานทุกอย่างที่เข้ามา
ประเด็นที่น่าสนใจนั่นก็คือ เมื่อมีโอกาสมาถึง จงยื่นมือเข้าไปรับ Lily รับงานมาทำหมด เขาบอกไปว่าตัวเองถนัด แต่ความจริงคือเขาค่อยมาเรียนรู้เอาเอง เขาไม่ปิดกั้นโอกาส นี่จึงเป็นที่มาของผลงานในหลายด้าน เช่น บทความ นวนิยาย ภาพยนตร์ ละคร โฆษณา อัลบั้มเพลง เป็นต้น
Yoshida Takao ผู้ก่อตั้งซิป YKK เกิดในครอบครัวที่ยากจน เขาจึงได้เรียนรู้ทักษะการดำรงชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก เช่น การจับสัตว์ไปขายจนทำให้มีทักษะค้าขายติดตัวมาตลอด เมื่ออายุครบ 20 ปี เขาตัดสินใจมายังกรุงโตเกียวเพื่อสั่งสมประสบการณ์และอยากจะทำธุรกิจค้าส่งผ้าดิบ ในช่วงแรกเขาไปทำงานที่บริษัทเครื่องปั้นดินเผาแต่เมื่อเกิดสงครามจีนกับญี่ปุ่น ทำให้บริษัทต้องเปลี่ยนเป็นการนำเข้าซิป แต่สุดท้ายบริษัทก็ล้มละลาย
คุณ Yoshida ได้รับช่วงต่อและก่อตั้งเป็นบริษัท Sanetsu Shokai โดยทำธุรกิจค้าขายซิป และต่อมาก็เปลี่ยนเป็น YKK จุดเปลี่ยนของบริษัทคือตอนที่ผู้ซื้อจากอเมริกามาดูงาน เขาเริ่มพบขีดจำกัดของบริษัทนั่นก็คือ ซิปทำด้วยมือไม่สามารถทำงานสู้เครื่องจักรได้ Yoshida ต้องการสั่งซื้อจากอเมริกา แต่ก็ต้องคู่แข่งฝั่งอเมริกาขัดขวาง จนทำให้ Yoshida สร้างเครื่องขึ้นมาเอง และนี่จึงทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตซิปเป็นที่ 1 ของโลก
Yamakawa Saki ผู้ก่อตั้ง Crazy Wedding
คุณพ่อของเธอเป็นอดีตผู้ประกาศข่าวชื่อดังของญี่ปุ่น แต่พ่อเธออายุ 2 ปี พ่อตัดสินใจลาออก พาครอบครัวออกเดินทาง เวลา 1 ปี และทำอาชีพเกษตรกรรมในที่สุด ส่วนคุณแม่ของเธอไม่ใช่คนเข้มงวดหรือคอยบงการชีวิตของลูก แถมยังให้อิสระ แม่ของเธอบอกว่าในโลกใบนี้ยังมีอะไรอีกมากมาย ไม่จำเป็นต้องตั้งใจเรียนขนาดที่ว่าต้องเป็นที่ 1 ให้ได้
เมื่อจบมหาวิทยาลัยเธอเข้าทำงานที่เธอรัก ทำให้การทำงานเป็นเรื่องสนุก แต่พอบริษัทเลือกทางเดินที่ไม่เสี่ยง แน่นอนว่าไอเดียแปลกใหม่ถูกปัดตก Yamakawa เริ่มเสียใจและสิ้นหวัง เธอตัดสินใจเดินทางไปออสเตรเลียคนเดียว และนี่คือจุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิต เธออยากทำให้คนสนุกสนาน
เธอคิดไอเดียได้นั่นก็คือ อยากให้ในงานแต่งงานเป็นไปตามความต้องการของคู่บ่าวสาว เนื่องจากเธอเองต้องจำใจทำตามขั้นตอนที่ปฏิบัติตาม ๆ กันมา เธอจึงก่อตั้งบริษัทที่จะทำให้งานแต่งงานเป็นความทรงจำที่ดีต่อแขกที่มาในงานและสำหรับคู่บ่าวสาวตลอดไป มีปรัชญาองค์กร คือ crazy or die และภายในบริษัท Member ทุกคนเท่าเทียมกัน ทานอาหารร่วมกัน นี่จึงทำให้บริษัทสามารถผลิตความคิดสร้างสรรค์ออกมาได้ตลอด
บางคนใช้ชีวิตด้วยแรงบันดาลใจ แต่ Yamakawa เธอบอกว่าเธอไม่มี เพราะทุกวันนี้เธอได้ทำงานที่รัก อยู่ท่ามกลางสมาชิกที่ร่วมสนุกไปด้วยกัน เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว ดังนั้นถ้าทุกวันนี้เรายังคอยตามหา Passion ตลอดเวลาจนหลงลืมปัจจุบันที่ทำอยู่ บางทีการเดินทาง การพบผู้คนใหม่ ๆ อาจทำให้เราค้นพบชีวิตที่อยากใช้ก็ได้
Yamaguchi Eriko ผู้ก่อตั้ง Mother House บริษัทกระเป๋าทำเพื่อสังคม ในวัยเด็กเธอโดนกลั่นแกล้งจากเพื่อนร่วมชั้น จึงเลือกเรียนยูโด จนมัธยมศึกษาปีที่ 6 เธอต้องเลือกสอบเข้าสายสามัญ จนติดมหาวิทยาลัยชื่อดังที่สอบเข้ายากได้ เธอเรียนวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเธอสนใจประเทศที่ยากจนตั้งแต่เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ เธอได้ถูกสอนมาว่า “การศึกษา” สามารถช่วยพัฒนาประเทศ และแก้ไขความยากจนได้
เมื่อเรียนจบปริญญาตรีเธอเลือกไปเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศบังกลาเทศ เพราะเธอค้นหาแล้วพบว่านั่นเป็นประเทศเอเชียที่ยากจนที่สุด เธอพบกับวัตถุดิบ ผ้าใยกัญชง ในท้องถิ่น นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการทำกระเป๋าจากผ้าใยกัญชง ที่ผลิตโดยชาวบังกลาเทศ เธอฝ่าฟันอุปสรรคเป็นเวลา 10 ปี ทำให้มีร้านอยู่ทั่วญี่ปุ่น 15 แห่ง และอีก 3 แห่งอยู่ที่ไต้หวัน
การทำอะไรเพื่อโลก เป็นสิ่งที่ดูยิ่งใหญ่ แต่หากเริ่มด้วยจุดเล็ก ๆ ในสักวันผลลัพธ์ย่อมปรากฎให้เห็นอย่างสง่างามดังเรื่องราวของ Yamaguchi
Matsushita Mumeno ภรรยาผู้ก่อตั้ง PANASONIC แม้การแต่งงานจะเป็นการแต่งแบบคลุมถุงชน แต่เธอก็คอยช่วยเหลือสามีตั้งแต่เริ่มสร้างธุรกิจ โดยมีพนักงานเพียง 4 คน มีการประดิษฐ์เต้าเสียบหลอดไฟฟ้าได้แต่เนื่องจากสินค้ายังใหม่ทำให้ไม่มีใครสนใจซื้อ เธอเริ่มขายสินสอดเพื่อเป็นทุนการทำธุรกิจ สุดท้ายบริษัทก็ประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้
หลายคนคงคิดว่าการเป็นภรรยาเจ้าของธุรกิจดังต้องสบายมากแน่ ๆ เลย แต่สิ่งที่ภรรยาคนนี้ยังทำเป็นกิจวัตรประจำวัน นั่นก็คือ ต้องตื่นนอนตั้งแต่ 6 โมงเช้า และเริ่มหนังสือพิมพ์ 7 ฉบับ เพื่อเข้าใจงานของสามี คอยเสนอแนะไอเดียใหม่ ๆ นอกจากนี้เธอยังคอยสอนสาว ๆ ทั้งหลายว่ามีหน้าที่ช่วยเหลือสามี พยายามพัฒนาตนเอง ต้องก้าวตามให้ทัน มิเช่นนั้น จะเป็นที่น่าอับอายในสายตาของสามี
บุคคลทั้ง 6 ท่าน ล้วนให้ข้อคิดที่แตกต่างแม้มาจากการเติบโตที่ไม่เหมือนกัน แต่สุดท้ายก็ประสบความสำเร็จในแบบของตัวเอง หวังว่าทุกคนที่อ่านโพสต์นี้ก็คงจะมีนิยามความสำเร็จของตัวเองเช่นกัน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา