29 ก.ค. เวลา 16:38 • ปรัชญา

#กรรม ในคติพุทธสามารถจำแนกได้ 4 ประเภท

  • 1.
    #กรรมดี (กุศลกรรม)
  • 2.
    #กรรมชั่ว (อกุศลกรรม)
  • 3.
    #กรรมทั้งดีและชั่ว (กรรมที่ปะปนกัน ทั้งดีคือเป็นไปเพื่อความไม่เบียดเบียน และชั่ว คือเป็นไปเพื่อความเบียดเบียน)
  • 4.
    #กรรมทั้งไม่ดีและไม่ชั่ว (คือกรรมที่เป็นไปเพื่อการสิ้นกรรม)
หลักพุทธสอนเรื่อง #กฎแห่งกรรม ดั่งพุทธพจน์ว่า “กมฺมุนา วตฺตตี โลโก” #สัตว์โลกย่อมเป็นตามกรรม
เพราะทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไหลมาแต่เหตุ ไม่สามารถเกิดขึ้นอย่างลอยๆ ได้
ดังปรากฏในบทสวดสำคัญท่อนหนึ่งของ #อภิณหปัจจเวกขณปาฐะ ว่า
📌 กัมมัสสะโกมหิ กัมมะทายาโท กัมมะโยนิ กัมมะพันธุ กัมมะปะฏิสะระโณ (ณา)
เรามีกรรมเป็นของของตน, มีกรรมเป็นผู้ให้ผล, มีกรรมเป็นแดนเกิด, มีกรรมเป็นผู้ติดตาม, มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
📌 ยัง กัมมัง กะริสสามิ, กัลยานัง วา ปาปะกัง วา, ตัสสะ ทายาโท (ทา) ภะวิสสามิ
เราทำกรรมอันใดไว้, เป็นบุญหรือเป็นบาป, เราจะเป็นทายาท, คือว่าเราจะต้องได้รับผลของกรรมนั้นๆ สืบไป
แต่ทุกวันนี้มีชาวพุทธจำนวนมาก เข้าใจเรื่อง #กฎแห่งกรรม ผิดเพี้ยนไปไกล กลายเป็น #ลัทธิกรรมเก่า ไป ซึ่งเป็นลัทธิของเหล่าเดียรถีย์ (คือนักบวชนอกศาสนาพุทธ มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล) แน่นอนว่ากรรมเก่านั้นส่งผลสำคัญให้เราได้ภพชาติในปัจจุบัน เช่น ได้เพศสภาพแบบนี้ ได้ครอบครัวแบบนี้ ได้ฐานะแบบนี้ ซึ่งเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้
แต่พุทธเน้นสอนเรื่องการสร้างหรือพัฒนากรรมใหม่ๆ มากกว่า คือ การไม่ยอมจำนน ทดท้อ หรือยอมแพ้กับกรรมเก่า เพราะการพัฒนากรรมใหม่ๆ (ที่เป็นไปในทางกุศล) จะสามารถเปลี่ยนแปลงชะตาชีวิตของคุณได้ และ...คุณต้องสร้างมันขึ้นมาด้วยตนเอง
เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายขึ้น #กรรมเก่า (ที่ไม่ดี) เหมือนกับ “เกลือ 1 ช้อน” ที่ละลายอยู่ในน้ำเปล่า 1 แก้ว แน่นอนว่าน้ำในแก้วนั้นย่อมมีรสเค็มจัด แต่มนุษย์ทุกคนล้วนมีศักยภาพในการสร้างหรือพัฒนา #กรรมใหม่ ขึ้นมาได้ หากเราไม่สร้าง “อกุศกรรม” ที่เปรียบได้กับเกลือเพิ่ม แต่เรากลับสร้างแต่ “กุศลกรรม” ที่เปรียบได้กับน้ำ
เมื่อน้ำมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นๆ จาก 1 แก้วกลายเป็นชาม จากชามกลายเป็นอ่าง จากอ่างกลายเป็นตุ่ม แต่...ปริมาณเกลือที่ไม่ได้เพิ่มตาม จึงทำให้เกลือเพียง 1 ช้อน (เปรียบได้กับกรรมเก่าที่ไม่ดี และยังไม่หายไปไหน) ที่ละลายอยู่ในน้ำ 1 ตุ่ม ย่อมไม่สามารถทำให้น้ำในตุ่มนั้น มีรสเค็มได้อีกต่อไป
พุทธเน้นที่การกระทำ (กรรม) ในปัจจุบันมากกว่า จะมามัวแต่โทษอดีต (คือกรรมเก่า)
เราควรเน้นการพัฒนากรรมใหม่ๆ (ที่เป็นกุศลกรรม) เข้าไว้จะดีที่สุด
จิด.ตระ.ธานี : #เล่าสู่กันฟังนะครับ
#Jitdrathanee
อ้างอิง: #หลักกรรมสำหรับคนสมัยใหม่ โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
#การเข้าใจหลักกรรม โดยแยกจาก 3 ลัทธิที่ผิด
📌 ก. #ลัทธิเดียรถีย์ (ไม่ใช่พุทธ) มี 3 ลัทธิคือ
  • 1.
    #บุพเพกตวาท : บุคคลจะสุข จะทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ได้ ล้วนเป็นเพราะกรรมเก่าแต่ปางก่อนทั้งสิ้น (ฟังให้ดีๆ ระวังจะสับสนกับคำสอนพุทธ)
  • 2.
    #อิศวรนิรมิตวาท : บุคคลจะสุข จะทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ได้ ล้วนเป็นเพราะมีเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่บันดาลให้เป็นทั้งสิ้น
  • 3.
    #อเหตุวาท (ลัทธิโชคชะตา) : บุคคลจะสุข จะทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ได้ ล้วนแต่เป็นเรื่องบังเอิญ เป็นเองลอยๆ แล้วแต่โชคชะตา โดยไม่มีเหตุปัจจัยใดๆ
พระพุทธองค์ตรัสว่า ลัทธิเดียรถีย์ทั้ง 3 นี้ เป็นลัทธิที่ผิด เพราะทำให้คนขาดฉันทะ ปราศจากความเพียร เพราะเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายล้วนขึ้นกับตัวการภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ ไม่มีหลักเกณฑ์ และไม่ได้ขึ้นกับการกระทำของเรา
📌 ข. #ลัทธินิครนถ์ หรือ ลัทธิกรรมเก่า
ถือว่าอะไรๆ ก็สุดแท้แต่กรรมเก่า เราจะทำอะไร (กรรมใหม่ๆ) ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะกรรมเก่าแต่ปางก่อนมันกำหนดไว้หมดแล้ว เราจะไปทำอะไรได้ ต้องปล่อย คอย รอ แล้วแต่มันจะเป็นไป ลัทธินี้ถือว่าเราจะสิ้นกรรมได้ โดยไม่กระทำกรรมใหม่ แต่ต้องเผากรรมเก่าให้หมดสิ้นด้วยการบำเพ็ญตบะ (สิ่งนี้ไม่ใช่คำสอนในศาสนาพุทธ)
“กรรม” เป็นคำกลางๆ เป็นอดีต เป็นปัจจุบัน หรืออนาคตก็ได้ แต่พุทธศาสนาเน้น “กรรมในปัจจุบันมากกว่า” ไม่ใช่ว่ากรรมเก่าจะไม่มีผล มันมีผลสำคัญ เพียงแต่มันเสร็จไปแล้ว จบไปแล้ว และเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดผลในปัจจุบัน เราจำเป็นต้องใช้ปัญญาแยกแยะกรรมที่ดีและมุ่งมั่นแก้ไข พัฒนา ปรับปรุงกรรมใหม่ในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดผลดีต่อไปข้างหน้า
📌 ค. ลัทธิวางอุเบกขาแบบเฉยเพราะโง่
การถือแต่ลัทธิกรรมเก่า ทำให้เรามองว่า คนที่เกิดมายากจน ประสบแต่ผลร้าย ทุกข์ยากเดือดร้อน เป็นเพราะกรรมของเขาเท่านั้น เมื่อเราคิดเช่นนี้ ก็บอกให้เขาก้มหน้าก้มตารับกรรมไป ไม่ต้องช่วยอะไร แถมยังคิดอีกว่า...นี่คือการปฏิบัติธรรม ด้วยการ #วางอุเบกขา คือวางเฉยเสีย ไม่ต้องช่วยอะไรกันอีก
อุเบกขา (ตามหลักพุทธ) คือ วางเฉยในแง่วางใจเป็นกลาง เช่น กรณีศาล เพื่อรักษาความเป็นธรรม ถ้าเขาสมควรต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เขากระทำ ก็ต้องวางใจเป็นกลางเสียก่อน และตัดสินโทษไปตามเหตุผล ตามกรรมที่เขาได้กระทำลงไป
#การวางอุเบกขานั้นต้องเป็นไปพร้อมกับการรักษาธรรม เช่น หากคิดจะช่วยโจรแล้วเสียธรรมก็ผิด ความเมตตากรุณาต้องไม่เกินอุเบกขา หากพบเห็นคนทุกข์ยากเดือดร้อน ต้องใช้ความเมตตากรุณาเข้าช่วยเหลือ (ตามสมควรแก่กำลังของเรา) มิใช่คิดว่านั่นคือกรรมเก่าของเขา แล้ววางเฉยเสีย
การวางอุเบกขาที่ถูกต้อง ควรรู้จักใช้ปัญญาพิจารณาแยกแยะความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย ไม่ใช่มองแบบตีคลุม มิเช่นนั้นอาจเรียกว่า #อัญญาณุเบกขา คือ เฉยโง่ จะกลายเป็นบาปอกุศลไป
ผมเรียบเรียงใหม่แบบย่นย่อ หากสนใจอ่านแบบละเอียด กรุณาคลิกลิงค์ด้านล่าง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา