16 ส.ค. เวลา 00:16 • ประวัติศาสตร์
จีน

ประเทศจีน ตอนที่ 2 ที่มาของมังกร

หากว่า.. ผู้ใดสนใจศึกษาประวัติศาสตร์จีนในยุคต่างๆ ก็อาจจะมีการตั้งคำถามว่า.. ก่อนหน้ายุคที่ “ จิ๋นซีฮ่องเต้ หรือฉินฉื่อหฺวังตี้ ” จะมีการรวมแผ่นดินนั้น แผ่นดินจีนมิได้เป็นหนึ่งเดียวกันหมด หากแต่มีการแบ่งแยกออกไปเป็นรัฐต่างๆ หลากหลายรัฐ เช่น ใน“ยุคชุนชิว” แตกออกไปมีมากกว่า 10 รัฐ ยุคถัดมาก็คือ “ยุคจั้นกั๋ว” ยุคนี้มีการแตกออกมาเป็น 7 รัฐด้วยกัน
ถ้าอยากจะทราบว่า.. ในช่วงเวลาของ “ยุคชุนชิว และจั้นกั๋ว” (เลียดก๊ก ตามสำเนียงฮกเกี้ยน) อะไรคือเส้นแบ่งระหว่าง 2 ยุคนี้ รวมถึงในยุคดังกล่าวนี้ หากเราได้เทียบเคียงกับประวัติศาสตร์ของซีกโลกตะวันตกแล้ว จะอยู่ในช่วงยุคใดกันแน่ ?? เพราะจะทำให้เราสามารถนึกเห็นภาพพัฒนาการเชิงเปรียบเทียบของประวัติศาสตร์และอารยธรรมในแต่ละภูมิภาคได้ชัดเจนมากขึ้น
ขงจื่อ ซุนวู ไซซี และซุนปิน ตามลำดับ (ซุนปินเป็นหลานของซุนวู)
นอกเหนือไปจากนี้.. บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ เช่น ขงจื่อก็ดี ซุนวูก็ดี ร่วมถึง ไซซี และซุนปิน อีกทั้งยังมีบุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียง มีเรื่องเล่าขานเป็นตำนานอีกหลายๆ คน ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นได้อยู่ในช่วงเวลาใดของประวัติศาสตร์กันบ้าง และเราก็จะมาคุยกันถึงยุคทั้ง 2 ยุคนี้
สำหรับ “ยุคชุนชิว“ นั้น ก็เป็นยุคปลายสมัยราชวงศ์โจว ซึ่งคำว่า “ชุนชิว” นั้นเป็นการตั้งชื่อตามบันทึกประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกของรัฐหลู่ มีความหมายว่า “ฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง” ก็คือ ชุนและชิว เป็นยุคที่เกินเวลายาวนานราว 300 กว่าปี อยู่ระหว่าง ประมาณ 770 ปีก่อนคริสต์ศักราช – 453 ปีก่อนคริสต์ศักราช
โดยที่หลังจากนั้นรัฐต่างๆ ได้ถูกผนวกเข้ามาโดยรัฐที่เข้มแข็งกว่าจนเหลือแค่ 7 รัฐ และกลายเป็นยุคที่เรียกกันว่า “ยุครณรัฐ หรือยุครัฐสัประยุทธ์” ถ้าเราเปรียบเทียบกับยุคสมัยหรือวัฒนธรรมชาติอื่นๆ แล้วจะสามารถเปรียบเทียบได้กับยุคประวัติศาสตร์ใดกันบ้าง
ไปดูที่ ”ยุคชุนชิว“ กันก่อนในช่วงปลายก็เปรียบเทียบได้กับ ”ยุคพุทธกาล“ นั่นเอง แต่ถ้าข้ามไปเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์ฝั่งยุโรปกันแล้ว ชุนชิวก็จะอยู่ใกล้กับ ”ยุคของอาณาจักรโรมัน“ กล่าวคือ ในยุคตั้งแต่มีการสถาปนากรุงโรม คือ 753 ปีก่อนคริสตกาล
รูปหล่อสำริดแสดงโรมุลุสและแรมุสซึ่งมีแม่หมาป่าเป็นผู้เลี้ยงดู
โดยโรมุลุสและแรมุส (สองพี่น้องฝาแฝดผู้ก่อตั้งกรุงโรม) เรื่อยมาจนกระทั่งถึงยุคต้นของโรมัน ซึ่งกลายสภาพเป็นสาธารณรัฐในปี 509 ก่อนคริสตกาลนั่นเอง สำหรับยุคถัดมา ก็คือ “ยุครณรัฐ หรือยุคจั้นกั๋ว “ จนเข้าไปสู่ช่วงการผนวกแผ่นดินของจิ๋นซีฮ่องเต้ ราว 221 ปีก่อนคริสตกาล
ฝั่งยุโรปคือ.. ช่วงยุคสาธารณรัฐโรมันก่อนที่ ”จูเลียสซีซาร์“ จะทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจโรมแล้วสถาปนาตนเองเป็นเผด็จการ ก่อนที่จะถูกลอบสังหาร จนกระทั่ง ”จักรพรรดิเอากุสตุส“ (ผุ้ก่อตั้งจักรวรรดิโรม) ได้เข้ายึดอำนาจและยุติการเป็นสาธารณรัฐโรม ทรงสถาปนาโรมเป็นจักรวรรดิโรมันในปีที่ 27 ก่อนคริสตกาล
เหตุที่กล่าวถึง” ยุคชุนชิว“ เพราะถือได้ว่า.. เป็นต้นทางแห่งอารยธรรมที่มีบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ หลากหลายคนซึ่งคนไทยนั้นรู้จักกันเป็นอย่างดี ผ่านบทเรียน บทกวี และบทภาพยนตร์ แต่ขอกล่าวถึงในเรื่องของภูมิศาสตร์กันก่อน เพื่อจะได้เห็นภาพว่า.. ยุคสมัยดังกล่าวนั้น มีลักษณะเป็นอย่างไรกันบ้าง
หากเรากางแผนที่จีนในปัจจุบันออกมาดูจะพบว่า.. ในยุคของ“ชุนชิวและจั้นกั๋ว“ ซึ่งเป็น 2 ยุคที่ต่อเนื่องกัน จีนมีพื้นที่โดยประมาณเพียงแค่ 1 ใน 3 ของจีนยุคปัจจุบัน เพราะว่า ยังเป็นจีนที่ไม่มีมณฑลใหญ่ เช่น ซินเซียง หนิงเซี่ยหุย ไม่มีทิเบต ไม่มีการผนวกมองโกเลียตอนใน และเสฉวนทั้งหมด ยังไม่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินจีน
มาดูกันที่ยุคชุนชิวกัน ยุคชุนชิวนั้นเป็นยุคที่จีนแตกเป็นแว่นแคว้น เป็นนครรัฐต่างๆ มีมากกว่าหลาย 10 รัฐ คือปลายรัชสมัยของราชวงศ์โจว ซึ่งราชวงศ์โจวนั้นเป็นราชวงศ์โบราณ เป็นราชวงศ์ที่ 3 ในแผ่นดินจีน มีนครหลวงที่ชื่อว่า “เมืองฉางอัน ”(Chang'an) กับ “เมืองลั่วหยาง” (Luoyang หรือ Loyang) และก็ล่มสลายลง
แผนที่แสดงที่ตั้งของนครรัฐต่าง ๆ ในยุคชุนชิว
ทำให้รัฐและนครรัฐต่างๆ แตกตัวออกมากลายเป็นอิสระและมีการต่อสู้รบกันไปมา หากไปดูแผนที่ของประวัติศาสตร์ในยุคดังกล่าวแล้วจะพบว่า.. มีการแตกออกไปเป็นรัฐต่างๆ มีมากกว่าหลาย 10 รัฐด้วยกัน และอาณาเขตพื้นที่ของรัฐต่างๆเหล่านั้น จะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาสลับกันเรื่อยๆ จากรัฐนั่นไปเผด็จศึกรัฐนี้และได้ควบรวมพื้นที่รัฐนี้เข้าไว้แล้ว จากนั้นสถานะการณ์พลิกจากแพ้ก็กลายเป็นชนะ และจากชนะก็กลายมาเป็นแพ้ จากรัฐที่มีขนาดเล็กก็ขยายมาเป็นรัฐขนาดใหญ่ สลับกันไปกันมาตลอด
1
รัฐที่มีขนาดใหญ่มากในพื้นที่ตอนบนของจีนคือ “ที่ราบจงหยวน” ก็ได้แก่“ รัฐจิ้น”ซึ่งอยู่ในบริเวณมณฑลซันสี มณฑลเหอหนาน มณฑลเหอเป่ยในปัจจุบัน ถัดมาคือ “รัฐฉี“ อยู่ในมณฑลซานตงในปัจจุบันคือ ”คาบสมุทรซานตง“ ถือได้ว่าหันหน้าไปทางแปซิฟิก
ทางตอนเหนือขึ้นไป มี “รัฐเยียน” ปัจจุบันคือ “เป่ย์จิง ก็คือ “รัฐหลู่” รัฐนี้ถือเป็นแผ่นดินเกิดของนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ก็คือ ”ขงจื๊อ” อยู่บริเวณใกล้ชายฝั่งตะวันออกก็คือ ใกล้กับคาบสมุทรซานตงในปัจจุบัน
ส่วนรัฐใหญ่ทางตอนเหนือที่เข้าไปในตัวแผ่นดิน และถือว่าไม่ค่อยมีบทบาทมากนักสักเท่าไหร่ ใน ”ยุคชุนชิว” ก็คือ “รัฐฉิน” ถือได้ว่ามีความกันดาร ซึ่งถ้าเทียบกับแผนที่ในปัจจุบันคือ มณฑลกานซู่และมณฑลฉ่านซีของจีน
ภาพแผนที่ของยุคจั้นกั๋ว ภายหลังจากที่แว้นเล็กๆโดนกลืนกินจนเหลือ 7 แคว้นใหญ่
ด้วยเหตุที่ว่า เป็นรัฐที่ไม่ติดทะเล จึงค่อนข้างที่จะอัตคัด และไม่เป็นที่สนใจสักเท่าไหร่ ไปดูรัฐทางใต้กันบ้างก็ คือบริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง รัฐใหญ่บริเวณดังกล่าวที่ติดชายฝั่งได้แก่ “รัฐอู่”ก็อยู่ที่มณฑลเจียงซู หรือบริเวณเซี่ยงไฮ้ในปัจจุบัน ไล่เรื่อยมาจนกระทั่งเลื้อยลงใต้ไปที่มณฑลกวางตุ้ง
ถัดเข้ามาตอนในของภาคใต้ก็คือ “รัฐฉู่” บริเวณมณฑลหูเป่ย์ หูหนานบางส่วนของกว่างซี และต่อมา ก็คือรัฐเล็กๆที่มีชื่อว่า “รัฐเยว่” ก็อยู่บริเวณมณฑลกวางตุ้ง เหนือขึ้นมากว่าพื้นที่เวียดนามเล็กน้อย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังมีรัฐเล็กๆอีกมากมายนับไม่ถ้วนกันเลยทีเดียว
คำถามคือ ในช่วงเวลาดังกล่าว นานนับร้อยๆ ปีมีการบริหารจัดการกันอย่างไร นอกเหนือไปจากการทำสงคราม ต้องยอมรับว่า พัฒนาการในช่วงหลายร้อยปี ในช่วง ”ยุคชุนชิว“ นั้นจะมีการแบ่งศักดินาชนชั้นของผู้ปกครองแคว้น ตามขนาดใหญ่เล็กและความสำคัญของแคว้นนั้นๆ เป็นต้นว่า ”เจ้าผู้ครองแคว้น.. ก็คือเจ้าพระยาที่มีอำนาจมากที่สุด “
ภาพของ 5 ผู้พิชิต ในยุคชุนชิว ฉีหวนกง ,ซ่งเซียงกง ,จิ้นเหวินกง ,ฉินมู่กง ,ฉู่จวงหวาง ตามลำดับ
สำหรับในยุคดังกล่าว ที่เรียกกันว่า.. ”เจ้าพระยา” นั่นตรงกับภาษาจีนคำว่า “กง” สำหรับแคว้นใหญ่ ในขณะที่ผู้มีลำดับศักด์ต่ำลงมาก็คือ.. ”พระยา” สำหรับแคว้นเล็กๆ เรียกกันว่า “โหว่“ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นใน ”ยุคชุนชิว” มีการแบ่งออกเป็น 5 ช่วง เขาเรียกกันว่า “ 5 ผู้พิชิต ” ในช่วงเวลาดังกล่าวได้แก่ คนที่หนึ่ง “ฉีหวนกง“ ชื่อก็บอกแล้วว่ามาจากรัฐฉี คนที่สอง ”ส่ง-ซ่งเซียงกง” จากรัฐซ่ง คนที่สาม “จิ้นเหวินกง” จากแคว้นจิ้น คนที่สี่ “ฉินมู่กง” จากรัฐฉิน และสุดท้ายคนที่ห้า “ฉู่จวงหวาง” จากแคว้นฉู่ทางภาคใต้
1
เป็นที่น่าสังเกตุว่า.. การเรียกชื่อ “เจ้าผู้ครองแคว้นในยุคชุนชิว” นั้นจะลงท้ายด้วยบรรดาศักดิ์ “ เจ้าพระยาหรือว่ากง” และไม่ได้ใช้คำว่า “กษัตริย์หรือหวัง” แต่อย่างใดยกเว้นเพียงคนสุดท้ายคือ ”ฉู่จวงหวาง“ นั่นความหมายว่า.. ในช่วงเวลาดังกล่าว ยังไม่มีเจ้าผู้ครองแคว้นคนใดคิดแต่งตั้งตนเองเป็นกษัตริย์
แต่ต่อมาในภายหลัง.. ก็ได้เริ่มต้น คิดการใหญ่ คือ แต่งตั้งตัวเองให้มีสถานภาพเป็นกษัตริย์ด้วย ดังนั้นจะพบว่า ในยุคต่อมาคือ ”ยุคจั้นกั๋ว“ จึงเป็นยุคที่เจ้าผู้ครองนครเรียกตัวเองว่าเป็นกษัตริย์หรือหวังกันโดยทั่วไป และนี่คือภาพรวมของ ”ยุคชุนชิว และยุคจั้นกั๋ว“ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ต่อเนื่องกัน สำหรับบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ที่เรารู้จัก รวมถึงเรื่องราวของพวกเขา โปรดติดตามตอนหน้าครับ
ฝากกดถูกใจ กดแชร์ เพื่อเป็นกำลังใจให้ผมด้วยนะครับ
Reference ตอนที่ 2 ที่มาของมังกร

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา