Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Letter From History
•
ติดตาม
23 ส.ค. เวลา 00:13 • ประวัติศาสตร์
จีน
ประเทศจีน ตอนที่ 3 กำเนิดจักรวรรดิ
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัยนั้น ก็จะมีสมรภูมิหลักที่แตกต่างกันออกไป แล้วแต่สถานการณ์ในบางช่วง เช่น ถ้าสมรภูมิเคลื่อนไหวอยู่ที่ทางภาคเหนือ จะเป็นกรณีของที่ราบจงหยวน เป็นการพิพาทกันระหว่าง ”แคว้นฉี กับแคว้นเพื่อนบ้าน“ แต่ในบางครั้งก็ไปพิพาทกับแคว้นจิ้นด้วยเหมือนกัน เป็นต้น ต่อมาในภายหลังก่อนที่จะสิ้นสุด “ยุคชุนชิว” นั้น ทางภาคใต้ก็มี 2 แคว้นสำคัญคือ “แคว้นอู๋ และแคว้นเยว่“ ซึ่งมีความเข้มแข็งแกร่งมากขึ้นกว่าแคว้นทางภาคเหนือ
ซึ่ง ณ เวลานั้นบุคคลสำคัญในช่วงปลายของ“ยุคชุนชิว” ได้แก่ “อู๋อ๋องเหอหลี“ แห่งแคว้นอู๋ที่มีความแข็งแกร่งในด้านแสนยานุภาพ เป็นคนบุกยึดและเผด็จศึกแคว้นเล็กๆ ทางตอนใต้ทั้งหมดรวมถึง “แคว้นเยว่” ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ “เยว่อ๋องโกวเจี้ยน” เป็นผู้ปกครองและประวัติศาสตร์ในส่วนนี้เอง.. ก็ได้กลายมาเป็นตำนานแห่งประวัติศาสตร์ที่โลกไม่ลืม
ไซซี ฉายา มัจฉาจมวารีจมน้ำ
นั้นคือ.. ประวัติศาสตร์ที่แคว้นอู๋ แคว้นที่ถูกพิชิตโดย “กลอุบายสาวงาม” ด้วยการส่งสาวงามนามว่า “ไซซี” ซึ่งเธอได้รับการยกย่องว่าเป็น "มัจฉาจมวารี" อันหมายถึง "ความงามที่ทำให้แม้แต่ฝูงปลายังต้องจมลงสู่ใต้น้ำ" เนื่องจาก.. เหล่าปลาในลำธาร เมื่อได้เห็นรูปโฉมของนางก็ถึงกับตะลึงงันในความงามของนางนั้น ทำให้ฝูงปลาถึงกับจมลงไปในน้ำโดยไม่รู้ตัว“ และเธอได้เข้าไปหว่านเสน่ห์ทำให้ ”อู๋อ๋องฟูไช“ นั้นหลงใหลในตัวนาง จนกระทั่งต้องพ่ายแพ้ในสงครามให้กับ ”แคว้นเยว่“ ในเวลาต่อมาด้วย
คำถามคือ จุดตัดจบของ ”ยุคชุนชิว“ นี้จวบจนกระทั่งนำไปสู่ยุคถัดมาก็ คือ
”ยุครณรัฐ หรือยุคจั้นกั๋ว“ นั้นอยู่ที่ตรงไหน ? ซึ่งจุดสังเกตุจะมีอยู่ด้วยกัน 3 เหตุการณ์สำคัญดังนี้ ได้แก่ เหตุการณ์ที่ 1 คือ “แคว้นจิ้น” ซึ่งเป็น 1 ในแคว้นที่แข็งแกร่งที่สุดในพื้นที่ราบจงหยวน แต่ต่อมาในช่วงปลาย “ยุคชุนชิว” แคว้นจิ้นนั้น ได้แตกออกเป็น 3 ส่วนเป็นแคว้นเล็กๆ ได้แก่ ”หาน , เว้ยเเละจ้าว“
ดังนั้นบางคนในประวัติศาสตร์จะเรียกชื่อของ 3 แคว้นนี้ว่า.. ”จิ้นหาน จิ้นเว้ย จินจ้าว“ เป็นต้นส่วนเหตุการณ์ที่ 2 คือ ในขณะที่อีก หนึ่ง แคว้นใหญ่ทางภาคเหนือคือ ”แคว้นฉี“ ได้เปลี่ยนตัวเจ้าผู้ครองนครเดิมจาก “ตระกูลเจียง“ เปลี่ยนมาเป็น ”ตระกูลเทียน“ ดังที่เราจะเห็นว่า.. ในแผนที่จะมีการระบุว่า ”เจียงฉีหรือเทียนฉี“
อยู่ในบริเวณมณฑลซันสี มณฑลเหอหนาน มณฑลเหอเป่ย
ถัดมาคือ เหตุการณ์ที่ 3 ”แคว้นฉู่“ ที่อยู่ทางภาคใต้นั้น ได้เฝ้าคอยดู ”แคว้นอู๋ กับแคว้นเยว่“ รบพุ่งทำสงครามกันไปมา จนเสียหายยับเยินทั้งสองฝ่าย และในท้ายที่สุด ”แคว้นฉู่“ ซึ่งจ้องตาเป็นมันอยู่แล้ว ได้ถือโอกาสเข้าควบรวมแคว้นทั้ง 2 เข้ามาอยู่ภายใต้อาณัติของตนเอง จึงทำให้ ”แคว้นฉู่“ กลายเป็นแคว้นใหญ่ขึ้นมา โดยทั้ง 3 เหตุการณ์นี้.. คือ จุดเปลี่ยนจากยุคที่เรียกว่า “ชุนชิว”
ซึ่งเคยมีแคว้นต่างๆ จำนวนมากมายเหลือเพียงแค่ 7 แคว้นใหญ่ จนกระทั่งเข้าสู่ยุคที่เรียกกันว่า ”รัฐสัประยุทธ์ หรือรณรัฐหรือจั้นกั๋ว“ ก็คือในปี 474 ก่อนคริสตกาล และก่อนที่ ”ฉินอิ๋งเจิ้ง หรือจิ๋นซีฮ่องเต้“ จะได้ผนวกรวมแคว้นทั้ง 7 เข้าไว้ด้วยกัน จนแผ่นดินจีนกลายเป็นหนึ่งในเวลาต่อมานานนับพันปี
ซึ่งช่วงเวลาในยุคดังกล่าวนี้.. ทางแถบเอเซียใต้ตรงกับช่วงเวลาหลังจาก ”ยุคพุทธกาล“ เล็กน้อย และทางฝั่งยุโรปนั่น ก็ใกล้เคียงกับยุคของ ”สาธารณรัฐโรมัน“ ซึ่งโรมในเวลานั้น ปกครองโดย “สภาซีเนตต์“
1
สำหรับประวัติศาสตร์จีน ณ ช่วงเวลานี้ หากจะไม่พูดถึง 2 บุคคลนี้ เห็นจะไม่ได้แน่ๆ ท่านแรกก็คือ “ขงจื้อ” ท่านต่อมาก็คือ “ซุนวู” นอกจากนี้ ยังมาเล่าถึง การที่ “แคว้นฉิน” ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเพียงแคว้นเล็กๆ ที่ไม่แข็งแกร่ง อัตคัดและกันดารมาก ได้พัฒนาตนเองจนกระทั่งกลายเป็นแคว้นที่มีความเจริญ ความมั่งคั่ง และมีแสนยานุภาพทางทหารมาก สามารถที่จะรวมแคว้นทั้ง 7 เข้าไว้ด้วยกันกลายเป็นแผ่นเดียวภายใต้การปกครองของ ”ฉินอิ๋งเจิ้ง หรือจิ๋นซีฮ่องเต้ แห่ง ราชวงศ์ฉิน” นั่นเอง
ขงจื้อ
เราไปกันที่ “ขงจื้อ”ก่อนเลยครับ เชื่อว่า.. หลายท่านคงเคยอ่านหรือเคยได้ยินชีวประวัติของท่านกันมาบ้าง ต้องบอกว่า ท่านเองเป็นนักปราชญ์ที่จริงๆแล้ว ไม่ได้มีความเจริญก้าวหน้าในเรื่องของตำแหน่ง หรือไม่ได้เป็น ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในพื้นที่แคว้นใหญ่ใดๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นใน”แคว้นหลู่“ ของตนเอง หรือแม้แต่ ”แคว้นฉี“
ที่ครั้งหนึ่งตัวท่านเองได้เคยเข้าไปทำงานรับใช้ด้วย ซึ่งถือว่าเป็น “หนึ่งในรัฐที่เป็นมหาอำนาจ” ในยุคดังกล่าว แต่ท่านกลับกลายเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต และจิตวิญญาณของชาวจีนมายาวนานมากกว่า 2000 ปีทีเดียว “ขงจื้อ” เกิดในปลาย “ยุคชุนชิว” ก็คือ เมื่อ 551 ปีก่อนคริสตกาล (8 ปีก่อนพ.ศ.) และถึงแก่กรรมเมื่อ 479 ปีก่อนคริสตกาล (พ.ศ. 64) สิริอายุ 73 ปี
ซึ่งถ้าเทียบเคียงเวลากันแล้ว จะพบว่าท่านนั้นเกิดหลังจาก “ยุคพุทธกาลในชมพูทวีป“ เพียง 8 ปีโดยท่านเกิดก่อนหน้า “ซุนวู” ที่จะกล่าวในตอนท้ายเพียงเล็กน้อย และชื่อเดิมของท่านก็คือ “ขงชิว” เป็นคนรัฐหลู่ ที่จริงแล้วบรรพชนของท่านรับราชการเป็นขุนนางชั้นสูงของ “แคว้นซ่ง“ มาหลายชั่วคน แต่ด้วยเหตุความวุ่นวายทางการเมือง บิดาของท่านจึงได้ลี้ภัยมาอยู่ที่แคว้นหลู่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในมณฑลซานตงนั่นเอง
ภาพของขงจื๊อกำลังสอนลูกศิษย์
เมื่อ ”ขงจื๊อ“ อายุได้ 3 ขวบ บิดาก็เสียชีวิต มีมารดาคอยอบรมเลี้ยงดู นางให้ความสำคัญกับการศึกษาหาความรู้ โดยได้รับความช่วยเหลือจากบิดาผู้เป็นตาของ “ขงจื้อ” เป็นผู้ปลูกฝังความใฝ่รู้ให้กับขงจื๊อตั้งแต่ยังเยาว์วัย สิ่งที่ขงจื๊อเล่าเรียนในขณะนั้นคือ ”จารีต ประเพณี ธรรมเนียมปฏิบัติ
รวมถึงพิธีกรรมของชนชั้นสูง และผู้มีฐานะในสังคมสมัยราชวงศ์โจว ” เมื่อท่านมีอายุ 15 ปี ก็ตั้งปณิธานใฝ่ศึกษาหาความรู้ในศิลปวิชาแขนงต่าง ๆ พออายุ 20 ปี ท่านทำงานเลี้ยงชีพด้วยการเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยในแคว้นหลู่ ทำหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานดูแลคลังเสบียง และเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์
แต่เมื่อเห็นว่า.. ข้อเสนอทางการปกครองต่างๆ ที่ท่านได้มีการเสนอให้กับเจ้าผู้ครองแคว้น เช่น เรื่องการปกครองที่ดีความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างผู้ปกครอง และผู้ใต้ปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวและชุมชน รวมถึงกฎเกณฑ์การเคารพซึ่งกันและกัน การให้เกียรติกันและกัน สิ่งเหล่านี้ไม่ว่า ท่านจะไปนำเสนอที่ไหน จะเป็นราชสำนักหลู่ก็ดี หรือราชสำนักฉีที่ท่านเคยไปทำงานรับใช้ก็ตามแต่
ภาพของขงจื๊อตอนที่เผยแพร่ความสอนที่แคว้นซ่ง
ท้ายที่สุด ก็จะถูกลืมโดยเจ้าผู้ครองแคว้นตลอด เรื่องการเมืองของพื้นที่ดังกล่าว ในยุคสมัยนั้น จะเต็มไปด้วยการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน ไม่มีใครที่มีการใส่ใจกับการปฏิบัติที่เหมาะสมระหว่างกันและกันเลย “ขงจื้อ” เกิดความเบื่อหน่ายมาก จึงตัดสินใจเลือกที่จะใช้ “วิถีชีวิตเป็นครู ผู้สอนสอนหนังสือ เป็นผู้นำทางความคิดที่เป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับแคว้นใดเลย “
ท่านได้มีการเผยแพร่แนวความคิดไปยังแคว้นต่างๆ ผ่านทางลูกศิษย์ ที่ท่านสอนอบรมปลูกฝัง มีลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นศิษย์เอก 72 คน และมีหลายคนที่เป็นคนสำคัญเข้านอก~ออกในราชสำนักของแคว้นต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และถือได้ว่า..สร้างการเปลี่ยนแปลงใน”ยุคชุนชิว“ได้ในระดับหนึ่งทีเดียว
อย่างเช่น ในกรณีที่ 1 ศิษย์เอกของท่าน มีชื่อว่า ”จื่อก้ง แซ่ตวนมู่“ ทำหน้าที่เป็นทูตในการเจรจาเกลี้ยกล่อมให้เจ้าผู้ครองนครไม่ว่าจะเป็น ”แคว้นฉี อู๋ และเยว่” ซึ่งในเวลานั้นกำลังเกิดการขัดแย้งกันอย่างหนัก แต่เขากลับประคับประคองสถานะการณ์ไม่ให้ลุกลาม จนกระทั่งสามารถสร้างดุลอำนาจ และไม่ทำให้ความขัดแย้งนั้นบานปลายออกไป
จื่อก้ง แซ่ตวนมู่
สำหรับ“ซุนจื่อ” หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ“ซุนวู” เกิดในช่วง 554 ปีก่อนคริสตกาล และชีวประวัติของเขานั้นไม่แน่ชัด แต่เชื่อกันว่าเขาเกิดในปลาย “ยุคชุนชิว” เพราะว่า ตัวเขาเป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษาทางการทหารให้กับ “แคว้นอู๋” ซึ่งในช่วงเวลานั้น “แคว้นอู๋ถือได้ว่าเป็น 1 มหาอำนาจทางภาคใต้” และเป็นเสนาธิการทหารให้กับ “อู๋อ๋องเหอหลี” ด้วย
ส่วนประวัติศาสตร์ที่เคยเชื่อว่า.. เขาเกิดในช่วง 400 ปีก่อนคริสตกาลกล่าวคือ หลังจากที่ถูกบันทึกและเชื่อกันไว้ถึง 150 ปี สมมติฐานนั้นไม่น่าเชื่อ เพราะนักโบราณคดีเชื่อว่า อาวุธและรถม้าที่เขาบรรยายใน “หนังสือพิชัยสงครามซุนจื่อ” เป็นวิทยาการทางทหารที่ไม่ใช่ในยุคนั้น
แต่เป็นอาวุธและยานพาหนะที่ใช้กันในช่วง “ปลายยุคชุนชิว มากกว่า ต้นยุคจั้นกั๋ว” และ“ซุนจื่อ” ได้รับใช้ราชสำนักของ “แคว้นอู๋” จากการชักชวนของ “อู๋จื่อซี“ คนไทยรู้จักกันในนามของ”หงอจูสู่“ โดยที่เขานั้นให้คำแนะนำทางการทหาร
ซุนวู
จนกระทั่ง ”แคว้นอู๋“ ได้พัฒนาแสนยานุภาพทางทหารจนมีความเข้มแข็ง และสามารถที่จะเอาชนะแคว้นที่เข้มแข็งกว่าอย่าง ”แคว้นฉู่“ ได้หลายครั้ง อีกทั้งยังสามารถที่จะผนวกเอา ”แคว้นเยว่“ ซึ่งอยู่ทางใต้ได้อย่างง่ายดายในเวลาต่อมาด้วย
และหลังการตายของ “อู๋อ๋องเหอหลี” เขายังคงรับใช้ราชสำนักอู๋ต่อ ซึ่งนำไปสู่การเข้าโจมตี “แคว้นเยว่” และมีชัยชนะ แต่อย่างไรก็ตามเขากลับต้องผิดหวังกับ “อู๋อ๋องฟูไช” ที่มีความประพฤติเหลวไหล หลงแต่สุรานารีจากแผน ”นางงามไซซี ของเย่วอ๋อง” หลังจากชนะสงครามแล้ว เขาจึงยุติบทบาทของการเป็นเสนาธิการในเวลาต่อมาด้วย
ถัดมาจากยุคของชุนชิว และ 2 ผู้นำทางความคิดในยุคดังกล่าว เรามากันที่ ”ยุคจั้นกั๋ว ซึ่งก็คือยุครัฐสัประยุทธ์ หรือรณรัฐ” ในเวลาต่อมา ซึ่ง ณ เวลานั้นจีนแบ่งออกเป็น 7 แคว้นดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และในยุคนั้น “แคว้นฉิน” ถือได้ว่า.. เป็นรัฐที่มีบทบาทน้อยมากที่สุด
อู๋อ๋องเหอหลี
เพราะภูมิประเทศที่ตั้งของพวกเขาอยู่ตอนในของจีน ว่าง่ายๆ คือไม่ได้อยู่ติดทะเล พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหุบเขา ไม่ค่อยมีพื้นที่ในการเกษตร ไม่ได้อุดมสมบูรณ์ ทุรกันดาร เข้าถึงยากมาก
ที่ผ่านมาไม่เคยเป็นสมรภูมิหลัก การจะยกทัพออกไปโจมตีพื้นที่อื่นๆ นั้นค่อนข้างน้อยมากเมื่อเทียบกับแคว้นอื่นโดยรอบ และการได้เข้าไปผนวกกับทั้งสองแคว้นที่ค่อนข้างทุรกันดารเหมือนกัน เช่น “แคว้นปาและแคว้นสู” ซึ่งทั้ง 2 แคว้นนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของ ”แคว้นเสฉวนในปัจจุบัน “
ว่าง่ายๆ คือเป็น 2 พื้นที่ที่ไม่มีใครแยแส เพราะทุรกันดาร และเข้าถึงลำบากนั่นเอง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จุดเปลี่ยนแสนยานุภาพของแคว้นฉินก็คือ ยุคของ “ฉินเสี้ยวกง“ ก็เป็นปลายของ”“ยุคชุนชิว” ในตอนนั้น ”ฉินเสี้ยวกง“ ตระหนักถึงการสร้างความเข้มแข็งให้กับ ”แคว้นฉิน“ ที่จะมีแสนยานุภาพทัดเทียมกับแคว้นอื่นๆได้ โดยนโยบายของเขาแตกต่างไปจากแคว้นอื่น
ฉินเสี้ยวกง
กล่าวคือ เปิดโอกาสให้กับผู้ที่มีความสามารถที่มาจากต่างแคว้น เข้ามารับราชการในตำแหน่งสูงๆ กันได้ และหนึ่งในนั้นคือ บุคคลสำคัญ “ชาวแคว้นเว่ย” ซึ่งเป็นแคว้นเพื่อนบ้านที่มีชื่อว่า “ชาง ยาง” โดยที่ชาง ยาง นั้นเข้ามาพัฒนาระบบการเมืองการปกครอง และระบบกฎหมาย จนกลายเป็นรากฐานที่เข้มแข็งของแคว้นฉิน
ฉินเองถือว่ามีความเข้มแข็งต่อเนื่องกันด้วย จวบจนปลายสมัย “ยุคจั้นกั๋ว” “ฉินจวงเซียงอ๋อง”ก็คืออ๋ององค์รองสุดท้ายของแคว้นฉิน พระนามเดิมว่า “อี้เหริน” เป็นผู้ที่เคยถูกส่งไปเป็นตัวประกันที่ “นครหานตานราชธานีของแคว้นจ้าว” ได้รับความช่วยเหลือจากพ่อค้าที่มีหัวการเมืองที่มีชื่อว่า ”หลี่ปู้เหว่ย“
จนกระทั่ง “อี้เหริน” สามารถกลับมาครองราชย์ได้ 3 ปีในแคว้นฉิน “แต่ใน 3 ปีของอี้เหรินนี้เองถือเป็น 3 ปีที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับแคว้นฉิน” ในรัชกาลถัดมา “ฉินอิ๋ง เจิ้ง” รัชทายาท ปกครองแผ่นดินต่อมาโดยที่มี “หลี่ปู้เหว่ย” ดำรงตำแหน่งสูงอยู่ในราชสำนักของฉินด้วย
ฉินอิ๋ง เจิ้งหรือฉินฉื่อหวงตี้
ต่อมา “ฉินอิ๋ง เจิ้ง” คนนี้ก็คือ ผู้ที่ผนึกรวมทั้ง 7 รัฐ เข้ามากลายเป็นหนึ่งเดียว และสถาปนาราชวงศ์ฉิน กลายเป็นจักรพรรดิพระองค์แรกของจีน พระนามว่า “ฉินฉื่อหวงตี้” คำว่า “ฉิน ชื่อของแคว้น มีความหมายว่า..เริ่มต้น” คำว่า “หวง คือจักรพรรดิ” ซึ่งเหนือกว่า “หวังซึ่งแปลว่ากษัตริย์” นั้นก็คือ ใน 221 ปีก่อนคริสตกาล ตรงกับช่วงยุคกลางของสาธารณรัฐโรมัน
สำหรับการผนึกรัฐทั้ง 7 เข้าด้วยกันนั้น ”ฉินอิ๋ง เจิ้ง“ ใช้เวลารวมแผ่นดินเพียงแค่ 9 ปีเท่านั้นเอง เริ่มต้นจากการโจมตีบุกรัฐเพื่อนบ้านที่อ่อนแอที่สุดก็คือ “แคว้นหาน” ใน 230 ปีก่อนคริสตกาล จากนั้นถัดมาเป็นการโจมตี “แคว้น จ้าว” , “แคว้นเว่ย” ลงใต้ไปที่ “แคว้นฉู่ ” ก่อนที่จะขึ้นไปเผด็จศึกษา“แคว้นเอียน” และมาจบที่ “แคว้นฉี“ ซึ่งนั่นก็คือการเดินทางของประวัติศาสตร์จีนในยุคก่อนที่จะถือได้ว่าจีนนั้น ”เป็นจักรวรรดิที่สมบูรณ์ก็คือในยุคของฉินฉื่อหวงตี้หรือจิ๋นซีฮ่องเต้“ นั่นเอง
ฝากกดถูกใจ กดแชร์ เพื่อเป็นกำลังใจให้ผมด้วยนะครับ
Reference ตอนที่ 3 กำเนิดจักรวรรดิ
https://shorturl.asia/tF75w
https://shorturl.asia/YkO8y
https://shorturl.asia/kpQoA
https://shorturl.asia/EaGek
https://shorturl.asia/YxNj8
https://shorturl.asia/vJBaN
https://shorturl.asia/7HrOD
https://shorturl.asia/8jJXh
https://shorturl.asia/xArBP
https://shorturl.asia/QFcPC
ความรู้รอบตัว
เรื่องเล่า
ประวัติศาสตร์
8 บันทึก
10
1
7
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ประเทศจีน ดินแดงมังกร
8
10
1
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย