1 ก.ย. เวลา 12:00 • หนังสือ

สรุปหนังสือ The Upside of Stress ความเครียดที่คุณอยากรู้จัก

ในสังคมปัจจุบัน "ความเครียด" มักถูกมองในแง่ลบ เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการหลีกเลี่ยง เพราะเชื่อว่าความเครียดเป็นศัตรูตัวฉกาจที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ และลดทอนคุณภาพชีวิต แต่แท้จริงแล้ว ความเครียดไม่ใช่สิ่งที่ต้องหวาดกลัวหรือพยายามกำจัดออกไปเสียหมด
ในทางตรงกันข้าม หากเรารู้จักทำความเข้าใจและจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม ความเครียดสามารถเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในการพัฒนาตนเอง ช่วยเสริมสร้างความสามารถในการเผชิญกับปัญหา และทำให้เราเติบโตขึ้นจากสถานการณ์ที่ท้าทาย ในโพสต์นี้จะพาทุกคนได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเครียดในหนังสือที่มีชื่อว่า “The Upside of Stress ความเครียดที่คุณอยากรู้จัก”
Kelly McGonigal (ผู้เขียน) เป็นนักจิตวิทยาสุขภาพ อาจารย์มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และเป็นที่ปรึกษาขององค์กรต่างๆ นอกจากนี้ยังเป็นผู้เขียนหนังสือ “The Willpower Instinct อ่านตัวเองได้ ชนะง่ายทุกสนาม” เป็นหนังสือไขความลับว่าทำไมความสำเร็จจึงเกิดเฉพาะกับบางคนเเละคุณจะเป็นคนนั้นได้อย่างไร ที่ติดอันดับหนังสือขายดีระดับนานาชาติ และยังมีวิดีโอในงาน TED Talk หัวข้อ “How to make stress your friend”
หนังสือมีทั้งหมด 7 บท แบ่งเป็น 2 ส่วน บทที่ 1-3 เราจะได้ทำความรู้จักกับความเครียดมากขึ้น รวมไปถึงปรับเปลี่ยนมุมมองต่อความเครียด บทที่ 4-7 ว่าด้วยเรื่องของการแปรรูปความเครียด วิธีคิดเมื่อเผชิญความเครียด
ก่อนที่เราจะอ่านเนื้อหาหนังสือภายในเล่ม เก่งอยากให้ทุกคนสำรวจว่าตนเองมีกรอบแนวคิดเกี่ยวกับความเครียดแบบไหน
กรอบคิดที่ 1 ความเครียดเป็นอันตราย ทำให้ประสิทธิภาพ สุขภาพ การเรียนรู้และการพัฒนาลดลง
กรอบคิดที่ 2 ความเครียดเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ส่งผลในเชิงบวกและเป็นสิ่งที่ควรนำมาให้เกิดประโยชน์
(ตอบตามความคิดก่อนที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้นะคะ)
ผู้คนส่วนใหญ่พอได้ยินคำว่า “ความเครียด” ก็มักจะส่ายหน้าหนีหรือมองความเครียดในด้านลบ ไม่แปลกหรอกค่ะ เพราะเก่งเองก็เคยคิดว่าในชีวิตของเราไม่ควรมีความเครียด(ก่อนที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้ เก่งมีกรอบคิดที่ 1 ค่ะ) ตอนที่เก่งเรียนวิชาจิตเวชอาจารย์สอนว่าถ้าคนที่เครียดมาก ๆ จะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า ซึ่งนั่นก็เป็นคำพูดที่ถูกค่ะ สำหรับคนที่มีความเครียดแต่ไม่สามารถอยู่กับมันหรือแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง
ผลของการมองความเครียดในแง่ลบมีอยู่ด้วยกันหลายอย่าง ได้แก่
- หลีกเลี่ยงความเครียดหรืองาน ทำให้เราเป็นคนที่ไม่กล้าลงมือทำ
- เราจะพยายามกำจัดความรู้สึกเครียด แต่ไม่ได้กำจัดต้นเหตุ
- ไม่ทุ่มเทพลังงานและความสนใจ ทำให้ละเลยหน้าที่ พลาดโอกาสในการเติบโต
ศิลปะของการเปลี่ยนกรอบคิด ในหัวข้อนี้มีสิ่งที่น่าสนใจคือ การแทรกแซงกรอบคิดโดยการยกตัวอย่างจากนักศึกษาปี 1 ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเครือไอวีลีก ที่เลือกชั้นปีนี้เป็นเพราะว่านักศึกษาบางส่วนรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่ส่วนหนึ่งของสังคม ความเชื่อดังกล่าวส่งผลเลวร้ายกว่าที่คิด เช่น การคิดว่าตนเองไม่เก่งหรือคิดว่าคนอื่นมองเราไม่เก่ง การไม่เชื่อมั่นในตนเอง การหาข้ออ้าง เป็นต้น
สิ่งที่พวกเขาทำการแทรกแซงความคิดของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 คือการนำข้อความบางส่วนของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ถึง 4 เกี่ยวกับประสบการณ์ในมหาวิทยาลัยมาให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 อ่านหลังจากนั้นให้เขียนเรียงความ สุดท้ายคือการส่งต่อข้อความให้แก่น้องใหม่ปีหน้า ทั้งหมดนี้คือ กระบวนการที่เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจแล้วส่งผลต่อไปยังสังคม ผลของการแทรกแซงความคิดนี้ช่วยให้ลดอัตราการลาออกกลางคันได้ถึงครึ่งหนึ่ง ผูกมิตรกับผู้อื่นมากขึ้นและยังมีแนวโน้มที่จะกล้าพูดคุยหาคำปรึกษาอีกด้วย
สำหรับหนังสือเล่มนี้ เก่งมองว่าเป็นการปรับความคิดคล้ายกับการที่เราต้องมี Growth mindset การมองความเครียดในแง่บวก มองว่าสถานการณ์นี้ให้อะไรแก่เรามากกว่าการมองว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์นี้กับเรา มีการทดลองหนึ่งชี้ให้เห็นคนที่มีมุมมองต่อความเครียดที่ดีมักอายุยืนกว่าคนที่ไม่มีความเครียดเลย ที่บอกอย่างนี้เพราะว่าคนที่มีความเครียดมักจะตระหนักถึงความเป็นจริง มีการเตรียมตัวต่อสถานการณ์และสามารถใช้ความเครียดเป็นทรัพยากรในชีวิตได้
บทที่ 3 ของหนังสือมีชื่อว่า ชีวิตที่มีความหมายคือชีวิตที่มีความเครียดเป็นองค์ประกอบ เป็นบทที่น่าสนใจมาก ๆ เพราะมีการเชื่อมโยงระหว่างความเครียดกับความหมายของชีวิตหรือว่าค่านิยมของเรา ทั้งที่มันไม่น่าจะนำมารวมกันได้ แต่เชื่อมั้ยคะว่าหนังสือทำออกมาได้ดีเลย หนังสือได้อธิบายว่า ความเครียดเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการพยายามทำหน้าที่ตามบทบาทต่าง ๆ และไปให้ถึงเป้าหมายที่ตอบสนองจุดมุ่งหมายของชีวิต ยกตัวอย่างเช่น บรรดาผู้ประกอบการที่บอกว่าเขารู้สึกเครียดมากมักจะมีแนวโน้มที่ได้เรียนรู้อะไรบางอย่างในวันนั้น
ผู้คนส่วนใหญ่คิดว่าจะมีความสุขมากขึ้นถ้ายุ่งน้อยลง แต่ความเป็นจริงคือ เราจะมีความสุขมากขึ้นเมื่อเรายุ่ง ลองสังเกตได้ง่าย ๆ ก็คือ ผู้ที่เกษียณบางส่วนยุ่งน้อยลงแบบกะทันหัน ปัจจัยนี้ทำให้เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์ อีกหนึ่งการศึกษาได้สำรวจชายวัยกลางคนที่รู้สึกเบื่อหน่ายกับชีวิต มักมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตจากหัวใจวายภายใน 20 ปีข้างหน้ามากกว่าสองเท่า
บทแปรรูปความเครียด
ตัวอย่างจากการศึกษาของ ซัลวาทอร์ แมดดิ ที่ได้สำรวจพนักงานบริษัทอิลลินอยส์ เบลล์ เทเลโฟน เกี่ยวกับผลกระทบของความเครียด มีพนักงานกลุ่มหนึ่งไม่ว่าสถานการณ์บริษัทจะแย่เพียงใด พนักงานกลุ่มนี้มักเติบโตในหน้าที่การงานและยังสามารถค้นพบจุดมุ่งหมายใหม่ของชีวิตได้เสมอ
พนักงานกลุ่มนี้มีลักษณะเด่นอยู่ด้วยกัน 3 ประการ
1. พวกเขามองความเครียดเป็นเรื่องปกติในชีวิต รวมถึงมองว่าความเครียดเป็นโอกาส
2. ต้องทุ่มเทความสามารถเมื่อเผชิญความยากลำบาก ไม่ใช่ยอมแพ้หรือปลีกตัวออกจากสังคม
3. พวกเขาเชื่อว่าไม่ว่าตัดสินใจแบบไหน สถานการณ์ก็สามารถพลิกได้อยู่เสมอ ความคิดนี้ช่วยให้พวกเขากล้าลงมือทำและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นเมื่อรู้สึกเครียด
เปลี่ยนภัยคุกคามให้เป็นความท้าทาย
เมื่อเราเผชิญกับความเครียด สังเกตได้จากสัญญาณทางกาย เช่น เหงื่อออก หัวใจเต้นเร็ว ท้องไส้ปั่นป่วน หรือแสดงออกมาในรูปแบบใด สิ่งที่ต้องทำคือเข้าใจว่าร่างกายพยายามทำให้เรามีพลัง กำลังดึงจุดแข็งออกมา ดังนั้นเราต้องใช้เวลานี้รับมือกับความท้าทาย ให้คิดว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้างหรือตัดสินใจให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่วางไว้
ในหนังสือยังมีการกล่าวถึงการศึกษา งานวิจัย รวมไปถึงสารสื่อประสาท ได้แก่ โดปามีน เซโรโทนิน และออกซิโทซิน ที่ส่งผลต่อร่างกายหรือความรู้สึกของเราอย่างไรอีกด้วย สำหรับผู้อ่านท่านใดที่สนใจ ก็สามารถหาซื้ออ่านได้
แทนที่จะมองความเครียดเป็นศัตรู เราควรมองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาและความสำเร็จได้ หากเราเรียนรู้ที่จะจัดการกับความเครียดอย่างถูกวิธี ความเครียดจะไม่ใช่เพียงแค่ภาระที่หนักอึ้ง แต่จะกลายเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการก้าวผ่านความท้าทายของชีวิตได้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา