8 ก.ย. เวลา 12:00 • หนังสือ

สรุปหนังสือ flow โฟลว์ ภาวะลื่นไหล

ถ้าหากคุณเคยดูภาพยนตร์ Soul อัศจรรย์วิญญาณอลเวง เป็นเรื่องราวของ Joe Gardner ครูสอนดนตรีวัยกลางคน ที่ยังพยายามทำตามความฝันในการเป็นนักดนตรีแจ๊สชื่อดังเหมือนพ่อ แต่ก็ได้ประสบอุบัติเหตุเสียก่อน ในช่วงที่วิญญาณออกจากร่าง โจได้เรียนรู้เหตุผลของการมีชีวิต ที่หยิบภาพยนตร์เรื่องนี้มากล่าว เพราะมีฉากหนึ่งที่ทำให้เข้าใจเกี่ยวกับหนังสือที่จะนำมาสรุปในโพสต์นี้ นั่นก็คือ “Flow สภาวะลื่นไหล”
มีฉากหนึ่งในภาพยนตร์ Soul โจกำลังเล่นเครื่องดนตรีเปียโน แล้วอยู่ ๆ โจก็หลุดไปอีกมิติ ซึ่งอีกมิตินั้นเข้าก็กำลังเล่นเปียโนอยู่ มันเป็นภาวะที่มนุษย์จดจ่ออยู่กับสิ่งหนึ่งมาก ๆ ร่างกายตัดสิ่งแวดล้อมภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ มันช่วยดึงศักยภาพในตัวของเราออกมา สภาวะนี้ส่วนใหญ่มักเกิดในกลุ่มคนนักดนตรี นักกีฬา และผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เป็นต้น
มิฮาย โรเบิร์ต ซิกเซนต์มิฮายี นักจิตวิทยาชาวฮังการี ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและการจัดการที่มหาวิทยาลัยแคลร์มอนต์ มิฮายเป็นที่รู้จักในเรื่องของแนวคิดทางจิตวิทยาสภาวะการลื่นไหล เป็นสภาวะที่มีสมาธิสูงและนำไปสู่ความสามารถในการสร้างสรรค์ ได้นำความรู้เผยแพร่ให้คนทั่วไปอ่านผ่านหนังสือที่มีชื่อว่า “flow โฟลว์ ภาวะลื่นไหล”
หนังสือเล่มนี้มีทั้งหมด 10 บท ซึ่งในแต่ละบทก็จะมีการย่อยลงไปอีก หนังสือไม่ได้มีการบอกวิธีเข้าสู่สภาวะลื่นไหลอย่างเป็นขั้นเป็นตอน แต่จะเป็นการยกตัวอย่างหรืออธิบายให้เห็นภาพให้ผู้อ่านสามารถตีความทำความเข้าใจได้เอง และเนื้อหามีประมาณ 430 หน้า ค่อนข้างเยอะ ใช้เวลาอ่านมากพอสมควร แต่สิ่งหนึ่งที่หนังสือทำก็คือการเขียนสรุปว่าในบทนี้ได้เรียนรู้อะไรและบทต่อไปจะกล่าวถึงเรื่องอะไร ทำให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องราวมากขึ้น
โปรแกรมทางพันธุกรรมที่มนุษย์ส่งต่อกันมา มีอยู่สองอย่าง ได้แก่ การกินและการสืบพันธุ์ ถ้าควบคุมทั้งสองอย่างนี้ไม่ได้จะทำให้ร่างกายและจิตใจอ่อนแอ เกิดอาการผิดปกติหรือความไม่เป็นระบบทางจิต
สมัยก่อนคนส่วนใหญ่มีเป้าหมายของชีวิตที่เรียบง่ายนั่นคือการมีชีวิตรอด แต่เมื่อดำรงชีวิตเลยขั้นพื้นฐานมาแล้วความสามารถอย่างหนึ่งของมนุษย์ก็คือ เพิ่มความต้องการหรือความปรารถนาใหม่ เช่น อยากร่ำรวย อยากมีอำนาจ เมื่อความต้องการมากขึ้นความรู้สึกถึงการมีชีวิตที่ดีกลับน้อยลง ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความต้องการมีมากขึ้น แต่เกิดขึ้นเมื่อผู้คนหมกมุ่นจนไม่ได้รับความสุขในปัจจุบัน
“ความสามารถในการหาความเพลิดเพลิน” ประโยคนี้ไม่ค่อยได้ยินบ่อยนัก แต่เชื่อไหมว่ามันเป็นสิ่งที่มนุษย์อย่างเรา ๆ ควรจะมีติดตัวไว้ เก่งคิดว่ามันต่างจากการอยู่กับความเบื่อหน่าย เพราะการหาความเพลิดเพลินมันท้าทายกว่านั้น ยิ่งในปัจจุบันเราถูกดึงดูดความสนใจไปกับสื่อโซเชียล (ไม่ได้กล่าวหาว่าเป็นสิ่งไม่ดี แต่เดี๋ยวจะอธิบายให้เข้าใจ)
กิจกรรมที่ทำให้เกิดภาวะลื่นไหล มันสามารถช่วยให้เปลี่ยนแปลงตัวตน ทำให้มีระดับการทำงานที่สูงขึ้น ตอนนี้เก่งอยากให้ทุกคนนึกภาพตาม แกน x คือระดับทักษะ และแกน y คือระดับความท้าทาย มีช่องทางภาวะลื่นไหลที่จุดศูนย์ในแนวทแยง พื้นที่เหนือภาวะลื่นไหลคือความวิตกกังวล พื้นที่ต่ำกว่าภาวะลื่นไหลคือความน่าเบื่อ
ในช่วงแรกที่เราเริ่มกิจกรรมบางอย่างทักษะเราจะต่ำและความท้าทายน้อย แต่เรายังอยู่ในช่องทางภาวะลื่นไหล เมื่อเวลาผ่านไปเราเริ่มมีทักษะมากขึ้นเราหลุดออกจากช่องทางลื่นไหลจึงอยู่ในช่วงความน่าเบื่อ ซึ่งช่วงนี้จะเป็นตัวตัดสินว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้ ถ้าเราไปต่อทักษะใหม่จะกลับมาต่ำอีกครั้งแต่ความท้าทายสูงขึ้น ทำให้มีความวิตกกังวลจนต้องเพิ่มทักษะ และในที่สุดเราจะมีภาวะลื่นไหลอีกครั้งรวมถึงมีทักษะ ความท้าทายที่สูงขึ้น
พันธุกรรม การเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อม ล้วนมีผลต่อสภาวะการลื่นไหล กลุ่มคนที่มีความบกพร่องทางสมาธิอาจจะต้องต่อสู้อย่างหนักในการรวบรวมพลังงานทางจิตในการควบคุมความสนใจ ผู้ที่ไม่มีความมั่นใจในตนเองรวมถึงผู้ที่มั่นใจในตัวเองมากจนเกินไป ก็ยากที่จะควบคุมจิตและเข้าสู่สภาวะลื่นไหลเพราะขาดพลังงานทางจิตหรือจิตเคลื่อนไหวมากจนเกินไป
“ดอกไม้ไม่ควรค่าแก่การมองเป็นครั้งที่สองถ้ามันไม่อาจนำไปใช้ประโยชน์ได้ ผู้ชายหรือผู้หญิงที่ไม่สามารถทำให้ความสนใจของเราพัฒนาไปได้ ก็ไม่คู่ควรที่จะได้รับความสนใจอีกต่อไป”
ครอบครัวเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเด็ก หากครอบครัวกดดัน บังคับ ควบคุมตลอดเวลาจะทำให้เด็กวิตกกังวลเรื่องความคาดหวังของพ่อแม่และขาดความอิสระในการพัฒนากิจกรรมต่าง ๆ ส่วนเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่ให้อิสระเด็กจะรู้ตัวว่าตนเองสามารถทำอะไรได้บ้าง จะมีความสุข เข้มแข็ง ร่าเริง และพอใจมากกว่า
บางครั้งการอยู่กับตัวเองก็มีประโยชน์เช่นกัน มันช่วยให้เราได้ทบทวนความคิด ดึงความสามารถที่มีอยู่ออกมา เรื่องนี้เก่งนึกถึง Lilly Franky ในหนังสือ Slow Success ยิ่งใหญ่ด้วยก้าวเล็ก ๆ ของคุณวสุ โรจรจิราภาและคุณกฤตินี พงษ์ธนเลิศ โดยมีช่วงหนึ่งที่ลิลลี่อยู่ในจุดที่ต่ำสุดของชีวิต ทำให้ต้องเก็บตัวก่อเกิดจินตนาการหลังจากนั้นชีวิตของเขาก็กลับมาดีอีกครั้ง
ดังนั้นคนที่มีภาวะลื่นไหลแม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เผชิญความเครียดมากแค่ไหน สุดท้ายแล้วพวกเขาก็สามารถพลิกสถานการณ์ให้กลับมาดีได้
ความย้อนแย้งระหว่างเวลาว่างกับเวลางาน ก็คือ ในช่วงที่มนุษย์ทำงานก็มักจะนึกถึงช่วงเวลาว่าง แต่พอถึงวันหยุดเป็นช่วงที่มีเวลาว่าง เรากลับไม่หาสิ่งที่มีประโยชน์ทำแถมยังมองว่าเป็นเวลาที่น่าเบื่อไปซะงั้น
มีงานวิจัยหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเรามีความสุขเมื่อทำงานอดิเรกหรือทำกิจกรรมที่ใช้ทรัพยากรทางวัตถุน้อย โดยคนเราจะมีความสุขมากที่สุดเมื่อพูดคุยกัน ทำสวน ถักไหมพรม แต่สำหรับกิจกรรมที่ใช้ทรัพยากรทางวัตถุราคาแพง เราใช้ความสนใจน้อยกว่าผลที่ตามมาคือมันให้ความน่าจดจำน้อยกว่า (วิจัยนี้แหละที่จะอธิบายว่าทำไมสื่อโซเชียลหาความเพลิดเพลินได้น้อยกว่า)
การที่จะมีภาวะลื่นไหลไม่ได้ยากอย่างที่คิด สิ่งที่ต้องมีก็คือเป้าหมาย การลงมือทำ การเพ่งความสนใจ และความมีวินัย และถ้ายังจำกันได้ตรงแกน x แกน y ทักษะกับความท้าทาย จงอย่าลืมว่าทุกกิจกรรมย่อมมีความเบื่อหน่าย ถ้าอยากมีภาวะลื่นไหลอีกครั้งก็ขอให้ลงมือทำอย่างสม่ำเสมอและหาความท้าทายในงาน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา