1 ก.ย. 2024 เวลา 11:12 • การตลาด

Future of Branding พี่นวล อ.เกด พี่เปี๊ยก

“ธุรกิจที่ยั่งยืนคือธุรกิจที่มีแก่น
เจอ domain ว่าเราเก่งอะไร
คนจะรอดคือคนที่สกัดได้ว่า
อะไรที่ควรคงอยู่ อะไรที่ควรเปลี่ยนแปลง”
อ.เกด กฤตินี เพิ่มทรัพย์
ใน session “Future of Branding”
โดย พี่นวล อ.เกด พี่เปี๊ยก
#BennOte มาจากงาน
#แม่ครับผมอยากมีแบรนด์
คยต x Yindee Design
🔵
Future of Branding
อนาคตของ branding จะต้องรับมือกับหลายสิ่งมาก … เจ้าของแบรนด์หรือเจ้าของธุรกิจจะไปยังไงดีนะ Session นี้เราจะได้ฟังมุมมองจาก 3 จักรวาลรวมกันค่ะ คือ ...
- จักรวาลแห่งความยั่งยืน สายตะวันตก จากพี่นวล พนอจันทร์ แห่งมูลนิธิอมตะ พี่นวลเป็นตัวแม่สายความยั่งยืนหรือ Sustainable Development ขององค์กรค่ะ มาดูกันว่าความยั่งยืนจะเป็นอนาคตของแบรนด์แบบไหน ยังไงซิ
- จักรวาลใจแบบญี่ปุ่น จาก อ.เกด กฤตินี ซึ่งบอกเราว่าคำว่า future หรืออนาคตของญี่ปุ่นไม่ใช่แค่มอง “อนาคต” หรือคิดถึงแต่ “อนาคต” นะคะ สำหรับญี่ปุ่นอนาคตมีที่มาจากอดีต อยู่ในปัจจุบัน และอดีตกับปัจจุบันนี่แหละค่ะที่จะฉายไปยังอนาคต
- จักรวาลยุทธภพจีน จากพี่เปี๊ยก ช่องพี่เปี๊ยกจัดให้ มาดูกันว่า “ท่าจีน” … ที่มีหลักการแบบ “ฆ่าทุกคน โตคนเดียว” มันมีที่มาอย่างไร แล้วโตแบบนี้จะดีไหม
ฟังดูเหมือนจะย้อนแย้ง สรุปจะให้ยั่งยืน โตไปช้า ๆ แบบละมุนใจ ... รึจะให้ “เดินหน้าฆ่ามันฉันต้องรอดและต้องโต” กันล่ะเนี่ย พ่อคิวผู้เป็นมอด (moderator) บอกว่าไม่ว่าจะในฐานะไหน ๆ เราควรฟังให้หมดทุกจักรวาลหรือทุกแนวคิดนั่นแหละค่ะ อย่า bias การไม่ฟัง = การปิดหูตัวเอง ทำให้เราไม่รู้ว่ามันมีอีกสิ่งเกิดขึ้นในโลกนี้ หันมาอีกทีเราอาจหนีตายไม่ทันเหมือนกันนะคะ ดังนั้นฟังเยอะ ๆ ฟังให้หมด แล้วเก็บเอามาปรับ เลือกเอามาประยุกต์ให้เหมาะกะเรา
--------------------------
Future of Branding,
Sustainability is at the heart.
มาฟังเรื่องความยั่งยืนจากพี่นวล พนอจันทร์กันก่อนค่ะ
🟢
ความยั่งยืนคืออะไร?
มันคือการส่งมอบ “โลกที่ดีพอ” ให้คนรุ่นต่อไป ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของทุกคน เพราะเราทุกคนสร้างผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบให้กับสังคม สำหรับธุรกิจ ไม่ว่าจะธุรกิจไหนถ้าคลี่ value chain ออกมาทุกกิจกรรมใน value chain ก็มีผลกระทบต่อโลกใบนี้กันทั้งนั้น
🟢
ผลกระทบเชิงลบมี 3 ระดับนะคะ
1. ผลจากสิ่งที่เราทำเอง ผลิตเอง จากตัวเรา บริษัทห้างร้าน โรงงานของเรานี่แหละ
2. ผลจากสิ่งที่เราสนับสนุนให้เกิด เช่นเราจ้าง outsource แล้วไปเร่งงานเค้า เค้าไม่ได้พักได้ผ่อน เราก็สร้างผลกระทบเชิงลบให้เค้า ซึ่งเท่ากับส่วนหนึ่งของโลกใบนี้แล้ว (SD ไม่หมายถึงแค่สิ่งแวดล้อมค่ะ แต่มันคือ 5Ps เลย คือ people, planet, prosperity, peace และpartnership
 
3. ผลกระทบที่เกี่ยวข้องผ่านกิจกรรมของเราหรือผ่านธุรกิจของบริษัท เช่นเราซื้อของจากใคร เค้าแคร์เวิลด์ไหม ใช้แรงงานเด็กหรือเปล่า fair trade หรือเปล่าเป็นต้น
เราสร้างผลกระทบใด ๆ ขึ้นมา
ดังนั้นเราต้องรับผิดชอบ
และนั่นคือคำที่กำลังเป็นเทรนด์
อยู่ในตอนนี้ค่ะ ...
“Responsibility”
🟢
พอพูดถึง R = Responsibility ในระดับบริษัทหรือองค์กร เราก็คิดถึงคำว่า Corporate Social Responsibility และพอคิดถึงคำนี้ภาพที่แว้บบบมาก็เป็นมอบของ ปลูกป่า เลี้ยงอาหารกลางวันอะไรแนวนั้นใช่ไหมคะ เรามักคิดถึงแค่ส่วนเดียว เพราะที่ผ่านมาเราก็อาจจะเห็นแค่ส่วนนั้นนั่นแหละค่ะ “กิจกรรม” มันเห็นชัดสุดเนาะ แล้วก็ทำง่ายสุด
แต่ที่จริง CSR in the real meaning ไม่ใช่แค่กิจกรรมค่ะทุกคน มันรวมไปถึง
- Economics ความรับผิดชอบต่อสังคมด้านเศรษกิจ เช่น ทำสินค้าราคาไม่แพง สมเหตุสมผล เหมาะกับกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าในกลุ่ม “ปัจจัย 4” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม
- Ethical ความรับผิดชอบต่อสังคมด้านจริยธรรม เช่น แฟร์เทรด หรือ ไม่ใช้สัตว์ในการทดลอง
- Environmental ความรับผิดชอบต่อสังคมด้านสิ่งแวดล้อม เช่นเราผลิตของให้ลดการใช้ CO2 ลง 50% นี่ก็ CSR ค่ะ
- Philanthropic ความรับผิดชอบต่อสังคมด้านการกุศล ก็กิจการงานบุญทั้งหลาย ด้านนี้คือด้านที่เราเห็นคนทำกันมากที่สุดนั่นเองค่ะ
🟢
นอกจาก outward impact ที่เราสร้างออกไปแล้ว เราต้องคิดถึง inward impact ด้วย เช่น trend, geopolitics, global challenge
และเมื่อโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาสร้างผลกระทบกับเราตลอดเวลา เราจึงต้องมี R ที่ 2 เพื่อให้กิจการหรือแบรนด์ของเรา ... รอด อยู่ต่อ เติบโต และยั่งยืนได้ค่ะ
R ที่สองนี้ก็คือ resilience
🟢
นั่นคืออนาคตของแบรนด์ดิ้งค่ะทุกคน
โลกข้างหน้า เราต้องมี 2Rs
Responsibility + Resilience
เราจึงจะเป็น sustainable business
ที่นำมาซึ่ง >> sustainable world
🟢
Sustainable Business (Brand)
ต้องมี 2 performance ค่ะ
- Financial performance (หาเงินมาเลี้ยงชีพให้ได้)
- Non-financial performance = ESG (ในขณะเดียวกันก็ต้องดูแลโลกและสังคมไปด้วย)
ซึ่งการจะเป็น Sustainable Business
มี 5 stage ค่ะ ค่อย ๆ ไต่ระดับไปนะคะทุกคน
1. Pre-compliance เอาตัวให้รอดก่อน
2. Compliance ทำตามที่กำหนด ... ของกฏหมาย ของประเทศที่เราจะต้องค้าขายด้วย พี่นวลเล่าให้ฟังว่าอย่างคิดว่ากฏเรื่องความยั่งยืนที่ออกที่เมืองนอกมันไม่กระทบเราค่ะทุกคน อย่างนิคมอุตสาหกรรม พี่นวลบอกว่าแต่ก่อนโรงงานจะมาตั้งในนิคม พี่นวลก็แค่ขาย location, infrastructure เรียกว่าขนส่งง่าย น้ำไหล ไฟสว่าง ... โอเค
เดี๋ยวนี้ทุกคนถามว่าน้ำที่ใช่ Carbon เป็น 0 ไหม ไฟที่มีเป็น renewal energy หรือเปล่า เพราะอะไรคะ เพราะถ้านิคมไม่ provide สิ่งเหล่านี้ โรงงานต้องซื้อ carbon credit เพื่อให้ได้มาตรฐานของประเทศที่รับสินค้าปลายทาง ต้นทุนเค้าก็สูงขึ้น
ถ้าเราไม่ทำ ลูกค้าชั้นดีที่ต้องไต่มาตรฐานความยั่งยืนก็จะหนีไป คนที่เราจะได้มาเป็นลูกค้าก็จะเป็นคนที่เหลือเลือก ซึ่งก็รู้ว่าจะอยู๋กับเราไปได้ไกลแค่ไหน ในโลกที่ทุกคนกำลังสนใจและหันไปดูแลเรื่องนี้
3. Beyond compliance ทำเกินที่กำหนด
4. Integrated strategy ทำให้เราแตกต่างจากคนในอุตสาหกรรมเดียวกัน
5. Purpose & Passion >> ก็จะเป็น Social Enterprise ต่าง ๆ ex. Patagonia ซึ่งมี purpose คือ “save the world” … เค้าจึงบอกว่าอย่ามาซื้อเสื้อฉันเพิ่มเลย ใช้น้อย ๆ ใช้นาน ๆ พังก็ซ่อม อย่าสร้าง fashion waste >> โดนใจคน กลายเป็นแฟน ช่วย support แบรนด์ มีอะไรก็นึกถึงแบรนด์ก่อน 🥰
หรือบริษัทพรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก “Interface” ซึ่งมี purpose คือ “to lead industry to love the world”
o คิดค้น carpet tile ไม่ต้อง wall to wall จะได้ซ่อมหรือเปลี่ยนได้เป็นชิ้น ๆ
o แต่แค่นั้นไม่พอค่ะ อยู่มาวันนึงในปี 1994 มีคนมาถามว่า “พรมทำจากปิโตเลียมซึ่งเป็นทรัพยากรของโลก แล้ว Interface ทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อมบ้าง
มันจึ้กใจค่ะทุกคน ลุง CEO เลยลุกขึ้นมาเขียน Mt. Interface สู่ mission zero (negative impact) ในปี 2020 เรียกกันว่าเป็น moonshot goal … เป้าหมายตะกายดาวค่ะ มันดูยากมาก ๆ แต่ด้วยความมุ่งมั่น Mission Zero นี้สำเร็จในปี 2019 ที่ผ่านมาค่ะ เมื่อพนักงานทุกคนรู้ว่าตัวเองกำลัง save the world ก็ช่วยกันทำ ช่วยกันคิด … product ทุกชิ้นของ Interface เป็น carbon neutral ในปี 2019
ถามว่าหยุดแค่นี้ไหม ... ไม่ค่ะ >> เป้าหมายใหม่ของ Interface คือ takeback หมายถึงทำให้เป็นบวก ลูกค้าใช้ของ Interface แล้วลด CO2 ให้โลกด้วย! เอาซี้ … อย่าง product ล่าสุดเป็นพรมที่เพิ่ม O2 ให้บ้านเราด้วยอ่ะทุกคน น้องมีนวัตกรรมสักอย่างมาอยู่บ้านเราแล้วน้องจะสร้าง O2 เพิ่มให้บ้านเราค่ะ ... โห่ววว ไปเบอร์นี้
ถามว่าทำไม Interface ถึงทำได้สำเร็จ พี่นวลบอกว่าเพราะ Interface ไม่กลัวล้มเหลวค่ะ #ถ้ามัวแต่กลัวก็ไม่ได้เริ่ม และ Interface ก็คงไม่มีวันนี้นะคะ
เราเองก็เริ่มได้ เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เริ่มทำกันไปได้เช่นกันค่ะ 🥰
--------------------------
Lessons from Japan
--------------------------
อ.เกด กฤตินี เพิ่มทรัพย์ ด้วยเวลาที่มีน้อย อ.เกด นำตะกอนความคิดที่ได้จากการศึกษาแบรนด์ 100 ปีของญี่ปุ่นมาฝากเรา 2 ข้อค่ะ
Brand ยั่งยืนเค้า
1. เห็นซีน (scene) ลูกค้า
2. เข้าไปรู้จักให้ถ่องแท้
⭕1.
#เห็นซีนลูกค้า
หมายถึงเห็นสถานการณ์ที่ลูกค้าจะใช้เป็นว่ายังไง ในบริบทแบบไหน กับผู้คนแบบไหน เรียกว่าเห็นภาพค่ะว่าลูกค้าจะใช้สินค้าหรือบริการของเราที่ไหน กับใคร เมื่อไหร่
เราต้องไปให้ไกลกว่า “สินค้า” นะคะ เราต้องเห็นไปถึงให้ได้ว่า “สถานการณ์” ที่ลูกค้าจะใช้นั้นเป็นอย่างไรได้บ้าง ลูกค้าแต่ละกลุ่มจะใช้ในบริบทแบบไหน ใช้ตอนอยู่กับใครหรือใช้สินค้าของเราร่วมกับผู้คนแบบไหน
เรียกว่าเราต้องเห็นเป็นภาพ (scene) ค่ะ ว่าลูกค้าจะใช้สินค้าหรือบริการของเราอย่างไร ที่ไหน กับใคร เมื่อไหร่ (5W1H ต้องมา)
ถ้าเราเห็นภาพชัด เราก็จะสื่อสารได้และสร้าง environment หรือ ecosystem รอบ ๆ สินค้าเราเพื่อผูกใจให้ลูกค้ากลายเป็นสาวกที่เหนียวแน่นและไม่จากไปไหนได้ค่ะ
เช่น เราให้เช่ากล้อง เราเห็นซีนว่าลูกค้าเอาไปใช้บันทึกการประชุม เราก็สามารถมีอุปกรณ์ประชุมอื่น ๆ ให้เช่าเพิ่มได้ด้วย ไม่ใช่เพื่อให้ได้เงินมากขึ้นนะคะ นั่นมาทีหลังค่ะ แต่ขยายสินค้าที่มีให้บริการเพื่อความสะดวกของลูกค้า
หรือถ้าเราเห็นซีนว่าช่วง summer ลูกค้าจะไปเที่ยว อ่ะ...ก็ต้องมีไม้เซลฟี่ ที่กันกล้องสั่น ขาตั้งกล้องไหมนะ (ยุคนี้ เป็นยุคแห่ง sharing economy นะทุกคน ปีนึงใช้ครั้งเดียว มันต้องมีคนไม่อยากซื้อ แล้วมาเช่าของเราแหละ) หรืออุ๊ย ... ช่วงนี้ฮิตดำน้ำ เราก็มีอุปกรณ์กันน้ำและอื่น ๆ ใด ๆ ให้เช่าได้อีก ... ลูกค้าก็จะประทับใจและเวียนวนอยู่กับเรานี่แหละค่ะ ไม่ไปไหน
เห็นไหมคะถ้าให้เช่า “กล้อง” เราก็จบแค่กล้อง แต่ถ้าเราให้เช่า “อุปกรณ์บันทึกการประชุม” ... “ฉากการประชุม” จะทำให้เราเข้าใจความต้องการและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีความใส่ใจมากกว่าคนอื่นค่ะ อาโน... เค้าอาจจะต้องการ slide clicker ด้วยนะ ไหนจะ voice recorder โปรเจคเตอร์ล่ะ จอไหม รึจะเลเซอร์พอยเตอร์ อาจจะมีคนขอปลั๊กไฟบนโต๊ะประชุมและ ADAPTER ...
[กรณีศึกษาร้านเรนติโอ]
ร้าน Rentio เป็นร้านให้เช่ายืมอุปกรณ์ต่าง ๆ ค่ะ ตอนแรกในปี 2515 เค้าเริ่มจากให้เช่า “กล้อง” ก่อน จากนั้นพอลูกค้ามี request มาขอว่ามีโน่น นี่ นั่นให้เช่าไหมไปเรื่อย ๆ บริการก็เลยขยายไปเรื่อย ๆ จนเว็บนี้กลายเป็น ecosystem ขนาดใหญ่ แล้ว Rentio ก็เซอร์วิสลูกค้า ดูแลลูกค้าดีมาก ๆ จนลูกค้าติด ecosystem ของเค้า
เรามาดูจุดเด่นของ Rentio กันนะคะ
[1] มีการสื่อสารที่เป็นกันเอง และสร้าง engagement กับลูกค้า คือ Rentio จะให้อิสระพนักงานเขียนข้อความอธิบายสินค้า โดยใช้ภาษาที่เป็นกันเอง บอกประโยชน์การใช้งานแบบตรงกับซีนชีวิตลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงแลเข้าใจได้ง่าย ๆ ค่ะ บางอันเขียนจนคนที่ไม่เคยคิดจะเช่าก็เช่า 555 เช่น ...
🥰 กล้องส่องทางไกล พนักงานโปรยว่า...
“ตั้งแต่ผมเข้าบริษัทนี้มาและได้รู้จักกล้องส่องทางไกลตัวนี้ ชีวิตผมก็เปลี่ยนไป แต่ผมก็ไม่รู้จะถ่ายทอดความสุดยอดของกล้องนี้ยังไง รบกวนท่านที่เคยใช้ RT บอกเล่าประสบการณ์หน่อยได้ไหมครับ ถ้าได้เจอกล้องตัวนี้เร็วกว่านี้ก็ดีสินะ ... เฮ้อ!” ... นั่น!!! ได้ review ได้ engagement ไปอีกกกก
🥰 เครื่อง Bitescan
“สำหรับท่านที่เคยบอกหรือถูกบอกให้ “เคี้ยวข้าวให้ละเอียด” ลองใช้ที่วัด Bitescan ของ Sharp ดูสิครับ เราสามารถเห็นจำนวนครั้งที่เคี้ยวข้าวได้ และหากเคี้ยวได้ละเอียดเครื่องก็จะชมเราด้วย ทำให้เด็กและผู้ใหญ่สนุกกับการเคี้ยวข้าวมากขึ้น” ... เออ เอาซี้ อยากได้ขึ้นมาเลย 555
[2] มีการแบ่งหมวดตามซีนลูกค้า Rentio เห็นฉากชีวิตหรือซีนของลูกค้าชัดมากค่ะ จนทำให้การแบ่งหมวดอุปกรณ์ไม่เหมือน web ไหน ๆ เลย มีหมวดอะไรบ้างน่ะเหรอคะ ลองมาดู
- หมวดชีวิตลูกเล็ก
- หมวด WFH อย่างสะดวกสบาย
- หมวดรับมือหน้าร้อน / หน้าฝน
- หมวดกีฬาทางน้ำ
- หมวดแค้ปปิ้ง
- หมวดเที่ยวโอกินาว่า / เที่ยวต่างประเทศ
- หมวดงานแต่ง
- หมวด Home Party
- หมวดงานบ้านแสนสบาย
- หมวดเสริมสวยที่บ้าน
- หมวดเริ่มเล่นดนตรี
- หมวดไปดูกีฬา
อยากกดเข้าไปดูกันเลยใช่ไหมล่ะคะ 😊
การแบ่งหมดแบบนี้ดียังไง? มันทำให้ลูกค้าเห็นของที่เค้าคิดไม่ถึงว่าต้องใช้ในซีนนั้น ๆ ทำให้ของเหมือนเดิมแต่ขายคู่กัน up sale ได้อีก ... แล้วสินค้านึงก็มี scene หลาย scene ได้ด้วย เป็นการ educate การใช้งานต่าง ๆ ให้ลูกค้าได้อีกค่ะ
นี่แหละค่ะ คุณผู้โชมมมม...
“ฉาก” มันพาเราไปได้เบอร์นี้ 😊
อ่ะ กลับมาที่เมืองไทย
กลับมาที่เรา ๆ ค่ะ
แล้วสินค้าของเราล่ะ
อยู่ใน “ฉากชีวิต” ไหนของลูกค้าคะ
เราเห็น scene ลูกค้าชัดพอหรือยัง
⭕2.
#เข้าไปรู้จักให้ถ่องแท้
เราก็รู้กันแหละเนาะว่าคนญี่ปุ่นเป็นคนละเอี๊ยดดดดดด คือบางกิจการก็ยั่งยืนมาได้ด้วยความละเอียดเกินเบอร์นะคะทุกคน อ.เกดยกตัวอย่าง OTA เจ้านึงของญี่ปุ่นค่ะ OTA ก็คือ platform จองโรงแรมเนาะทุกคน มีเจ้าใหญ่มากมาย แถมในญี่ปุ่นยังมีแพลตฟอร์มท้องถิ่นอีกเพียบบบ
แต่มี OTA เจ้านึงที่รอดเพราะ ...
[1] Clear Persona
Persona ชัด ... เค้าเจาะกลุ่มคุณลุงคุณป้าสูงวัยค่ะ
[2] Clear Scene
ลูกค้าชัดไม่พอ เค้าเห็นซีนลูกค้าชัดมากด้วยว่าคนสูงวัยจะใช้แพลตฟอรฺมเค้าเมื่อไหรา ... คำตอบคือไม่ใช้ค่ะ 555 คนสูงวัยกะเทคเป็นเรื่องที่แพ้ทางกันเนอะ ดังนั้นคนแรก ๆ ที่จะใช้คือลูกหลาน ... ทีนี้ลูกหลานจะจองโรงแรมเวลาไปเที่ยวกับผู้สูงวัย มันจะมีปัญหาอะไรบ้างคะ >> เราจะอยากร็ใช่ไหมคะว่าโรงแรมนี้มี universal design ไหม บันไดเยอะหรือเปล่า ห้องน้ำเป็นยังไง ห้องอาบน้ำมีเก้าอี้อาบน้ำสูงไหม ใด ๆ ... ซึ่งไม่มี OTA ไหนบอกเรื่องนี้เลย
YukoYoko.net คือ platform ที่ตอบโจทย์นี้ค่ะ ด้วยการ ...
[3] Clear and Deep Understanding
ไปรู้จักและเข้าใจให้ถ่องแท้ ทีมงานของ YukoYoko ไปสำรวจและทำข้อมูลละเอียดทุกโรงแรมค่ะเพื่อตอบปัญหาผู้สูงวัยโดยเฉพาะ ดังนั้นหน้าเว็บนอกจากรูปภาพสวย และมีรีวิวแล้ว ยังมีรายละเอียดทุกมุมมมม ... ทู้กมุมมมมม ผู้ใช้งานสามารถหาข้อมูลได้หมดเลยค่ะ ไล่ไปตั้งแต่ทางเข้า ทางเดินในอาคาร ห้องอาบน้ำ ห้องทานข้าว ห้องนอน
>> โรงแรมนี้ทางเข้าเป็นยังไงมีระดับละเปล่า มีบันไดไหม มีลิฟท์ไหม ระหว่างห้องนอนกับห้องอาบน้ำมีระดับไหม มีที่จับในอ่างอาบน้ำไหม ห้องน้ำมีสายฉีดก้นหรือเปล่า โถส้วมเป็บแบบอัตโนมัติหรือแบบธรรมดา ทางเดินในอาคารเป็นยังไง การเดินทางมาที่โรงแรมมีอุปสรรคอะไรสำหรับผู้สูงวัยหรือเปล่า และอื่น ๆ อีกมากมาย
ที่สำคัญเค้าเห็น scene ลูกค้าชัดมาก ๆ ค่ะ นอกจากการแบ่งการค้นหาได้ตาม cat ปกติอย่างหาตามภูมิภาค / เมือ ตามแหล่งออนเซ็น ตามธีมแล้ว เว็บของ YukoYuko จึงแบ่ง category ตามซีนลูกค้าด้วยเช่น
- ห้องพักราคาไฟไหม้ (คนสูงอายุไม่มีรายได้แล้ว เรื่องราคาจึงมีผลมาก ๆ ค่ะ)
- ห้องพักที่มีอ่างอาบน้ำส่วนตัว
- ห้องพักที่เสิร์ฟอาหารเช้าที่ห้อง
- ห้องพักที่มีออนเซ็นน้ำนม
- ห้องพักที่เห็นวิวทะเล
- และอื่น ๆ อีกมากมายตามซีนที่คิดว่าลูกค้าสูงวัยจะต้องการ
เป็นไงคะ ... เราละเอียดกับสิค้าของเราเบอร์นี้ไหม ด้วยความแตกต่างนี้ทำให้บริษัทนี้อยู่มาได้ 20 ปีแล้ว
มันกลับมาที่เรื่อง Big Data ค่ะทุกคน แต่ Big Data ของ Yuko Yoko เต็มไปด้วยความใส่ใจ จึงสามารถเอาข้อมูลมาสร้างความแตกต่างได้มากขึ้น
เรารู้จักจักรวาลของสินค้าและลูกค้าเราดีแค่ไหนคะ?
.
เราแตกต่างบนชีวิตหรือพฤติกรรมของลูกค้าเราแล้วหรือยัง?
--------------------------
เข้าใจจีน
--------------------------
โดยพี่เปี๊ยก (เพจพี่เปี๊ยกจัดให้)
 
🔴
พี่เปี๊ยกเล่าว่าหน้าบ้านพี่เปี๊ยกคือ “ร้านวราภรณ์ซาลาเปา” สาขาแรกที่อยู่มายาวนาน จนตอนนี้ขยายไปเป็นร้อยสาขาทั่วประเทศ มีความเป็นตำนาน เป็นการส่งต่อสืบทอดภูมิปัญญากันมารุ่นต่อรุ่น
 
กรณีแบบนี้ที่จีนไม่มี เพราะประเทศมีการกดปุ่ม reset ไปถึง 2 รอบ
- รอบนึงเมือตอนที่จีนกลายเป็น communist
- รอบ 2 เมื่อท่านเติ้งเสี่ยงผิงทำการเปิดประเทศ
ทุกครั้งที่ reset เท่ากับว่าทุกคนเริ่มพร้อมกัน ดังนั้นต้องวิ่งให้เร็วที่สุดเพื่อที่จะชนะ ไม่มีใครมานั่งสนใจว่า “ตัวเองทำอะไรได้ดี” เพราะทุกอย่างเป็นของรัฐบาลหมด ทุกคนมี mindset ว่าทำอะไรก็ได้ให้อยู่รอด จึงไม่มีเวลามาละเมียดทำราเม็งประจำบ้าน สูตรลับประจำตระกูล ทุกคนจะดูว่าตลาดไหนยังโตไปได้ แล้วเร่งทำแข่งกัน
การทำแบบนี้ แน่นอนว่าสักพักก็จะถึงจุดที่ทุกคนในประเทศมีสินค้านั่น ๆ หมดแล้ว ตลาดอิ่มตัว บริษัทจีนอยู่ในประเทศไม่ได้เพราะตลาดเต็ม โตต่อไม่ได้ เลยออกมาตีตลาด SEA
🔴
#จะอยู่รอดต้องต่าง
ตอน 1978 ทุกอย่างทำได้หมด เพราะทุกอย่างไม่เคยมี เมื่อทำไปจนถึงจุดตลาดอิ่มตัว แน่นอนว่าแต่ละตลาดก็อิ่มตัวไม่พร้อมกัน เจ้าของธุรกิจจึงต้องหา “ช่องลม” ให้ได้
“อยู่ในช่องทางที่ลมพัดผ่าน
แม้แต่หมูก็ยังบืนได้”
Lei Jun (CEO of XioMi)
ตัวอย่างของนักหาช่องลมก็เช่น
- หนงฟู >> น้ำกรองตลาดเต็ม หนงฟู (Nongfu Spring) หาความต่าง ขายน้ำแร่ธรรมชาติโดยใช้น้ำที่มาจากทะเลสาบเกาะพันปีในเจ้อเจียง (Zhejiang Thousand Island)
“เราไม่ได้ผลิตน้ำ
เราเป็นแค่กรรมกรขนน้ำ”
Zhong Shanshan (Founder of Nongfu Spring)
- Xiaomi Mi6 ไม่รู้จะต่างยังไงก็ออกมาประกาศว่า hardware จะมีกำไรไม่เกิน 5% ถ้าเกินจะหาวิธีคืนกลับให้ลูกค้า นั่นคือขายความ “คุ้มราคา”
- ร้านอาหารจีน ทำเมนูเด็กเป็นเมนูเล่มน่ารัก ๆ เหมือนหนังสือนิทานภาพสำหรับเด็กกันไปเลย เพื่อให้เด็กอยากไป แล้ววอแวอ้อนพ่อแม่ให้พามา 😊
🔴
#ไม่มัวมองที่ตัวเอง
#ข้ามไปมองตลาด
อย่างที่พี่เปี๊ยกพูดไปก่อนหน้านี้ ความที่เริ่มจากไม่มีอะไรเป็นของตัวเอง ทำให้คนจีนไม่มองที่ตัวเองเป็นหลักค่ะ เค้ามองตลาดว่าตลาดใหญ่แค่ไหน คุ้มไหมที่จะชิงพื้นที่ ใครเป็นเจ้าตลาดอยู่ เบอร์หนึ่งเบอร์สองมีแชร์เท่าไหร่ ซึ่งเค้าคิดสวนทางกับเรานะคะ ปกติเราจะคิดว่าโหวววว... เจ้าตลาดมีแข่งกันอยู่ 3 เจ้า สตรองเกินสู้ไม่ไหว ไม่เข้าดีกว่า แต่จีนคิดอีกแบบค่ะ ที่ประเทศเค้ามีคนแข่งกันอย่างเดือดเป็น 100 เจ้า การมีคู่แช่งชัด ๆ น้อย ๆ เวิร์คกว่า มาแล้วได้สัก 1% ก็คุ้มแล้ว (อยู่ที่ขนาดตลาดด้วยนะคะ)
ex. บรายี่ห้อ Jollynn จะเข้ามาทำตลาดในไทย … ที่จีนส่วนแบ่งตลาด 10% แรกมี 100 เจ้า ในขณะที่บ้านเราอันดับหนึ่งมี 2 เจ้าถ้วน Wacoal + Sabrina กินไปแล้ว 30% แปลว่าเข้าได้เว้ย ... แค่ต้องหา “ช่องลม” หา segment เข้า ดูว่าตลาดขาดอะไรไป >> มาเลยจ้ะ >> Jollynn บราไร้โครง กับ tagline … Boobs on Vacation #โจลีนให้นมได้พักผ่อน
🔴
กลยุทธ์จีน กองทัพที่จะชนะต้องมี 5 องค์ประกอบ
1. คุณธรรม (ธุรกิจดี ไม่ผิดกฏหมาย)
2. ฟ้า (trend อยู่ในขาขึ้นไหม)
3. ดิน (ภูมิศาสตร์) จุดเด่นคืออะไร เราทำอะไรได้ดี
4. วินัยกองทัพ >> ระบบระเบียบบริษัท incentive ต้องละเอียดมี SOP มี why? เพื่อให้ทีมงานทำงานอย่างมีเป้าหมาย … ex. คน recruit คน live มีรายได้ปีละ 10 ล้าน อ่ะ ... ชั้นไม่เป็น Influencer ก็ได้นะ ชั้นเป็นคน recruit ก็มั่นคง แตร่ ... แต่รายละเอียดต้องชัดเจนนะคะ ว่าคนที่ recruit มาต้องทำยอดอะไรได้เท่าไหร่ คน recruit จะได้กี่ % ยังไง ... รายได้ชัดเจน เจิดแจ่ม ใครก็อยากมาทำ ใครก็อยากมาอยู่ใช่ไหมคะ
5. คน (ทีม) ต้องดี
🔴
[[Case]]
- Amortal จะเข้าตลาดเครื่องสำอาง หาช่องว่างยังไง ตลาดเต็มไปหมดแล้ว งั้นไม่ขายเครื่องสำอางเว้ย ขายอุปกรณ์ ซึ่งโคตรเป็นธุรกิจช่องลม เครื่องสำอางดี ๆ มีมากมายแต่อุปกรณ์ เช่น puff ดี ๆ หาไมมีเล้ย ... ช่องลมนี้ทำรายได้ให้ Amortal ไปแล้ว 5,000 ล้านหยวนค่าพี่น้อง
- ดู “ฟ้า” ก็หา “ช่อง” ได้นะคะ เช่น TikTok กำลังมา เราพัฒนาสินค้าให้เข้ากะ TikTok ได้ไหม มีธุรกิจนึงออก SKU ใหม่มาเลยค่ะ เป็นกาแฟถุงเขย่า ทำเพื่อ content โดยแท้ ให้ creator ท้งหลายเอาไปทำ content เกร๋ ๆ ได้ ยอดขายก็มา 😊
-------------------------
ถ้าเป็นธุรกิจ SMEs
ที่กำลังเตาะแตะ
กำลังจะเริ่มใหม่ เริ่มไงดี
-------------------------
🟢 สายยั่งยืน พี่นวลบอกว่าจงให้ความสำคัญกับ purpose เราจะส่งมอบ value อะไร อย่ามองแค่ของเป็นของ … purpose จะ lead เราไปสู่กลยุทธ์
⭕ สาย Japan อ.เกดให้เรา...
- กลับไปดูที่ลูกค้าค่ะ เค้าอึดอัดอะไร?
- ลงให้ละเอียด
- เริ่มทำที่เราถนัด ทำที่เราชอบ แต่ถ้าทำที่ชอบไม่ได้ ให้เอาที่ถนัดก่อน พอมีตังค์แล้วเราค่อยขยับไปหาเรื่องที่ชอบ
- จากนั้นเราจะเจอ purpose ที่ลึกกว่า “สินค้า” เช่น >> ฉันไม่ได้ขายเครื่องสำอางนะ แต่ฉันชอบให้คนตกหลุมรักกัน ชอบให้เด็กสาวสวย ชอบให้ผู้หญิงเจิดจรัส 3 purposes นี้ก็ทำให้ brand เราแตกต่างกันแล้วค่ะ
🔴 สาย Chinese พี่เปี๊ยกแนะนำว่าเราต้องมีความเข้าใจตลาด รู้ insight เห็นช่องว่าง
- เริ่มจาก trend เลือก trend ให้ถูก … #เลือกถูกดีกว่าขยันนะ ขยันผิดที่ทำจนตายก็ไม่รวยว่างั้น
- คิดว่าเราจะสะสมอะไรจากสิ่งที่เราทำ เช่น หลังจาก TikTok แล้วจะเป็นอะไร หรือเข้า TikTok แล้วเราจะสะสม asset ออกไปอะไรได้บ้าง >> พี่เปี๊ยกสอนไปจนรู้สึกว่า เอ๊ะ สอนแล้วต่อยอดไม่ได้ ก็หยุดสอนเพื่อไปสร้าง ecosystem ก่อนเดี๋ยวมาสอนใหม่
- ทำให้ถูกเวลา ผิดเวลาก็เจ็บนะ เช่น เห็นพี่เปี๊ยกทำ Snail White เข้าจีนประสบความสำเร็จมาก ๆ อยากเข้าบ้างตอนนี้ พี่เปี๊ยกแนะนำว่า อย่า! เพราะเทรนด์เปลี่ยนแล้ว
พึงระวังว่า “คนสำเร็จเค้าอาจจะเล่าอดีตอยู่”
อนาคตของแบรนดิ้งจะเป็นอย่างไร
🟢 พี่นวลบอกว่าอีกหน่อยเรื่อง SD จะไม่ต้องมีที่ปรึกษา ความยั่งยืนจะเข้าไปอยู่ในทุกชีวิต น้อง ๆ จะต้องเรียนตั้งแต่ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน คนจะ concern เรื่องนี้มากขึ้น ถ้าเราไม่ทำคนจะไม่ซื้อ >> อย่างที่เล่าไปตอนต้นค่ะ นิคมฯ แต่ก่อนขายที่น้ำไฟ >> เดี๋ยวนี้แบรนด์ดี ๆ ถามเรื่อง carbon / renewal ก่อน >> ดังนั้นถ้าไม่เริ่มตอนนี้ อีกหน่อยจะแพงแน่นอน
⭕ อ.เกดดูอดีตมาตอบอนาคตว่า “ธุรกิจที่จะยั่งยืนคือธุรกิจที่มีแก่น เจอ domain ว่าเราเก่งอะไร” เช่นบริษัททำ packaging ที่อยู่มาได้ยาวนาน เพราะเจาะจงตัวเองไปทำ packaging ยา ... ทำให้รู้กฎ รู้รายละเอียดทุกอย่าง ของ sensitive แบบนี้ ลูกค้าก็ไม่กล้าเปลี่ยนไปใช้ที่อื่น
ดังนั้นคนจะรอดคือคนที่สกัดได้ว่า อะไรที่ควรคงอยู่ อะไรควรเปลี่ยนแปลง … เช่น know-how ยังคงอยู่ แต่วิธีสื่อสารเปลี่ยนไปตามยุคสมัยเป็นต้น
🔴 Flash Foresight จากพี่เปี๊ยก
>> จงจับ trend ที่เป็น fact เช่น aging society, SD จีนจริงจังมาก มีการตั้งเป้าว่าในเมืองใหญ่จะลดรถน้ำมันลงครึ่งนึงใน 5 ปี (ซึ่ง achieve แล้วด้วยนะ) การอิ่มตัวของตลาด AI = คนจีนมาบุกตลาด SEA แน่นอน
>> trend ที่เป็นกระแสมาไวไปไว เช่น NFT อย่าไปจับ (มันเจ็บ 😥)
------------------------
และนั่นคือ Session: Future of Branding ที่เราได้ฟัง 3 school ความคิดเลยค่ะ หยิบจับไปใช้ตามจริต ตาม stage ของธรกิจเรากันน้าทุกคน 💖💖
ขอบคุณ คยต x Yindee ผู้จัดงานดี ดี๊ ดี และวิทยากรทั้ง 3 ท่านนะคะ
- พี่นวล พนอจันทร์ จารุรังสีพงศ์ – ที่ปรึกษาด้าน Sustainability Development ชั้นนําของเมืองไทย
- อ.เกด ผศ. ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ เพิ่มทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องญี่ปุ่น
- พี่เปี๊ยก บุญชัย ลิ่มอติบูลย์ เจ้าของเพจพี่เปี๊ยกจัดให้ ซึ่งเติบโตและทำธุรกิจในจีน จนสามารถแกะสูตร TikTok จากจีนมาสอนทำช่อง TikTok เพื่อธุรกิจให้ปังได้
โปรดติดตาม EP.5 เคสเจ๋ง ๆ ของร้านของฝาก “จี้-ออ” จ.กระบี่ และร้านอาหารเวียดนาม “ครัวเมืองเว้” ที่เบ็นเลิฟมาก ๆ เร็ว ๆ นี้ค่า)
💖💖🥰🥰💖💖
#BennOte went to
#คยต x #YindeeDesign
#แม่ครับผมอยากมีแบรนด์
#bp_ben
#KnowledgeSharing
#benji_is_learning
#benji_is_drawing

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา