8 ก.ย. 2024 เวลา 13:26 • ท่องเที่ยว

"ผี" ที่เซนต์อัลบันส์ (2)

วิญญาณแห่งมหาวิหาร
หากมองย้อนไปว่า มหาวิหารเซนต์อัลบันส์ (St Albans Cathedral) แห่งเมืองเซนต์อัลบันส์ ประเทศอังกฤษ เป็นศาสนสถานเก่าแก่ ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.793 หรือกว่าหนึ่งพันสองร้อยปีมาแล้ว และยืนยงตระหง่านอลังการงดงามจวบจนปัจจุบัน ก็ย่อมไม่ใช่เรื่องแปลกเลย ที่จะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสถานการณ์ในทางจิตวิญญาณอยู่มากมาย
แต่ในบรรดาเรื่องที่เล่าขาน และทำให้มีเสียวสันหลังกันมากที่สุด น่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับออร์แกนของมหาวิหาร ซึ่งหลังจากผ่านกาลเวลามากกว่าสหัสวรรษ ออร์แกนที่ใช้บรรเลงเพลงสวดของมหาวิหารก็มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้วหลายครั้ง และก็เป็นหลายครั้งที่มีเสียงบรรเลงเพลงจากออร์แกนอันไพเราะดังขึ้นมาเอง
ทั้งๆ ที่ไม่มีใครเล่นออร์แกนอยู่ !
โถงออร์แกนของมหาวิหาร ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า ออร์แกนของที่นี่บรรเลงเพลงเองโดยไม่มีคนเล่นได้บ่อยๆ
เรื่องเล่าที่เป็นตำนานมากที่สุด เกิดขึ้นในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 20 หรือประมาณร้อยปีที่ผ่านมานี้เอง ในตอนนั้น บาทหลวงรูปหนึ่ง คือหลวงพ่อจอร์จ กลอสซอป (George Glossop) บาทหลวงที่เป็นผู้ได้การเคารพจากศาสนิกชน และเป็นผู้ที่เชื่อถือในความซื่อสัตย์ของท่านได้ เพิ่งจะกลับจากประชุมในยามดึก
มหาวิหารเซนต์อัลบันส์ ที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมที่ทำให้ผู้มาเยือนเหมือนจะหลุดเข้าไปสู่โลกแห่งเทพนิยาย
ตอนที่กำลังเดินกลับที่พักซึ่งตั้งอยู่ ณ ถนนโรมแลนด์ (Romeland) ซึ่งเป็นถนนที่อยู่ด้านข้างมหาวิหารนั้น ท่านก็ "ได้ยิน" เสียงเพลงที่ไพเราะที่สุดเท่าที่เคยได้ยินมา เป็นเพลงที่ท่านไม่เคยได้ฟังมาก่อน แต่ในตอนนั้น ท่านคิดว่า น่าจะเป็นเพลงที่นักออร์แกนประจำมหาวิหารทดลองเล่นในตอนกลางคืน จึงไม่ได้คิดอะไรมาก
จวบจนรุ่งเช้า บาทหลวงจอร์จ กลอสซอปได้เดินไปกล่าวชมเชยกับนักออร์แกนว่า เพลงที่เล่นเมื่อคืนนั้น เพราะจับใจมาก แต่คำตอบที่ได้รับกลับมา ทำเอาหลวงพ่อถึงกับอึ้งไป เพราะนักออร์แกนบอกว่า เมื่อคืนนี้ เงียบสงัด และไม่มีนักดนตรีคนไหนเข้าใกล้ออร์แกนเลย แถมโถงห้องดนตรียังถูกปิดไว้อีกต่างหาก
แล้วเพลงอันแสนไพเราะที่หลวงพ่อจอร์จ กลอสซอปได้ยินนั้น "ดัง" มาจากไหน และเป็นเพลงอะไร ถึงขนาดที่ว่า คุณพ่อที่ทำงานในมหาวิหารเซนต์อัลบันส์มานาน ก็ยังไม่เคยได้ยิน ถึงกระนั้น เสียงเพลงปริศนาก็ฝังกังวานอยู่ในความทรงจำของท่าน
ไม่นานต่อมา มีการจัดงานแสดงดนตรีครั้งใหญ่ของมหาวิหาร และคณะนักดนตรีได้เล่นเพลงสำคัญเพลงหนึ่ง พลันที่ บาทหลวงจอร์จ กลอสซอป ได้ยินเพลงนี้อีกครั้งในงานแสดง ท่านก็รำลึกได้ทันทีว่า นี่แหละ ท่วงทำนองอันแสนไพเราะที่ท่านได้ยินในยามค่ำคืนอันเป็นปริศนานั้น
เมื่อเสร็จจากงานแสดงดนตรี บาทหลวงจอร์จ กลอสซอป ก็ไปคุยกับหัวหน้านักออร์แกนอีกครั้งว่า นี่ไง เพลงที่ท่านกล่าวถึง ไหนนักออร์แกนบอกว่า ไม่เคยเล่นเพลงนี้เล่า คราวนี้ นักออร์แกนให้คำตอบว่า ก็ไม่เคยเล่นน่ะซิ แถมไม่รู้จักเพลงนี้มาก่อน แต่เพิ่งจะได้รับโน๊ตเพลงที่ว่าเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว และเมื่อทดลองเล่นก็พบว่า สุดแสนจะไพเราะ จึงตัดสินใจนำมาแสดงในงาน
เมื่อมีการสอบสวน ก็พบว่า บทเพลงดังกล่าว เป็นเพลงที่หายสาบสูญไปเป็นเวลานานแล้ว เพลงนี้ใช้สำหรับบทสวดที่เรียกว่า Albanus Mass ซึ่งประพันธ์โดย โรเบิร์ต เฟย์แฟกซ์ (Robert Fayrfax) นักดนตรีผู้มีชื่อเสียงเลื่องระบือ (23 April 1464 – 24 October 1521) โด่งดังมาในยุครัชสมัยของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 7 (Henry VII) สืบเนื่องมาถึงรัชกาลของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 (Henry VIII)
คาดกันว่า โรเบิร์ต เฟย์แฟกซ์ ได้ประพันธ์เพลง Albanus Mass นี้ขึ้นในช่วงคริสตศตวรรษที่ 15 แต่โน๊ตเพลงได้หายไปหลายศตวรรษแล้ว จนมีการค้นพบโดยบังเอิญในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และได้มีการส่งโน๊ตกลับมาให้นักดนตรีของมหาวิหารเซนต์อัลบันส์ จนนำมาซึ่งการบรรเลงในพิธีใหญ่ดังกล่าว โดยนักออร์แกนยืนยันว่า นับจากที่โน๊ตเพลงนี้หายไปเป็นร้อยๆ ปีมาแล้ว ก็ไม่เคยมีใครเล่นเพลงนี้อีก จวบจนวันงานแสดงดังกล่าว ดังนั้น เพลงที่บาทหลวงจอร์จ กลอสซอปบอกว่า ได้ยินเมื่อก่อนนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีใครเล่นได้ในขณะนั้น
เสียงที่หลวงพ่อได้ยินในค่ำคืนที่ผันผ่าน จึงยังคงเป็นเสียงปริศนา และเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ถูกจารึกว่า เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ออร์แกนของมหาวิหารได้บรรเลงเพลงเอง โดยไม่มีใครเล่น แถมยังเป็นเพลงเก่าแก่ของมหาวิหารที่หายสาปสูญ ฟันธงกันว่า "คน" หรือ "ใคร" ที่เล่นเพลงนี้ในคืนนั้น ต้องเป็นผู้ที่รู้จักเพลงจากคริสตศตวรรษที่ 15 อันเป็นความลึกลับที่ไม่สามารถหาคำตอบได้จนปัจจุบันว่าอะไรทำให้เกิดเสียงเพลงแสนไพเราะนั้น ก่อนที่โน๊ตเพลงจะถูกค้นพบ
แต่การที่ออร์แกนของมหาวิหารเล่นได้ด้วยตัวเองนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ดังได้กล่าวแล้วว่า เรื่องแบบนี้ เกิดขึ้นประจำ โดยอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ได้รับการบันทึกไว้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว เกิดขึ้นในคืนก่อนวันคริสต์มาสของปี ค.ศ.1944
ช่วงนั้นยังเป็นช่วงของสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นห้วงเวลาอันเลวร้าย ที่อาจจะมีระเบิดลงได้ตลอดเวลา และหากเกิดสะเก็ดระเบิดขึ้น ก็จะลุกลามเป็นอัคคีภัยที่สามารถทำลายสถานที่สำคัญได้ จึงต้องมีการมอบหมายให้มีผู้คอยดูแลระแวดระวังฟืนไฟในยามดึก และมหาวิหารเซนต์อัลบันส์ก็เป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่ต้องมีคนคอยดูไฟทุกคืน
ในคืนที่ได้รับการบันทึกไว้นั้น คนที่ทำหน้าที่เฝ้าเวรยามกลางคืน คือ เด็กหนุ่มวัยเพียง 16 ปี ชื่อ เบซิล ซาวิลล์ (Basil Saville) ซึ่งอันที่จริง การทำหน้าที่ยามเฝ้าไฟต้องทำงานกัน 2 คน แต่ในวันนั้น คู่หูของเบซิล ซาวิลล์มาสาย เด็กหนุ่มก็เลยต้องทำงานคนเดียวไปพลางๆ ก่อน และมันเป็นคืนที่มืดสนิท มีเพียงแสงจากคบไฟเล็กๆ ที่แสนสลัวรางเท่านั้นที่เป็นเพื่อนของเบซิล ซาวิลล์
เด็กหนุ่มถือคบเพลิงเดินยามรอบมหาวิหาร ครั้นเมื่อเดินมาถึงสถานที่ฝังศพบุคคลสำคัญภายในโบสถ์น้อยก็พลันเสียวสันหลังวูบ เพราะรูัสึกเหมือนมีสายตาจ้องมองลงมาจากชั้นบน เบซิล ซาวิลล์ทำใจกล้า เงยหน้าขึ้นมอง ก็ได้พบว่ามีเงาของคน 2 คน สวมเสื้อคลุมทึมๆ กำลังเฝ้ามองเขาอยู่
ด้วยความที่ยังหนุ่มบ้าบิ่น เบซิล ซาวิลล์ไม่กลัวอะไรแล้ว เขาอยากรู้ว่า ใครกันที่มายืนอยู่ชั้นบนของมหาวิหารในยามดึก เลยวิ่งอย่างรวดเร็วขึ้นบันไดแคบๆ ไป หวังจะดูให้เห็นกับตาว่า ใครมากล้าลองดีกับเขา แต่เบซิล ซาวิลล์กลับต้องนะจังงัง เพราะในที่แคบๆ เหนือบันไดนั้น ไม่มีใครอยู่เลยแม้แต่เงา !
ถึงกระนั้น เบซิล ซาวิลล์ ก็ยังใจดีสู้เสือ และเดินยามตามหน้าที่ต่อไป แต่ก็ต้องประหลาดใจที่ได้ยินเสียงออร์แกนดังขึ้น ก็เลยตัดสินใจเดินไปยังออร์แกน ก็พบว่า ไม่มีใครอยู่ แต่มีเทียนเล่มหนึ่งปักเอาไว้ พร้อมกับแผ่นโน๊ตเพลงที่เปิดอ้า
นั่นไม่สำคัญเท่ากับตัวออร์แกน เพราะคีย์ออร์แกนกำลังขยับขึ้นลง จนเกิดเป็นเสียงเพลงด้วยตัวเอง โดยไม่มีคนเล่น !
เท่านั้นคงจะยัง "หยอก" เบซิล ซาวิลล์ ไม่พอ เพราะยังไม่ทันหายจากการตื่นตะลึงที่ออร์แกนขยับเองได้ เด็กหนุ่มก็ได้ยินเสียงมาจากอีกด้านของมหาวิหาร เมื่อมองมา ก็พบขบวนของบาทหลวงจำนวนหนึ่ง นำโดยผู้ที่แต่งกายในชุดของเจ้าอาวาสพากันถือเทียนอันส่องแสงริบหรี่เดินเข้ามาสู่แท่นทำพิธี ก่อนจะหายกันไปในโบสถ์น้อยที่อยู่ภายในมหาวิหาร ทำเอาเบซิล ซาวิลล์ถึงกับขนลุกเกรียว ค่ำคืนของปลายเดือนธันวาคมที่ว่าหนาวอยู่แล้ว ก็พลันเย็นมากขึ้น
ก็จะไม่ให้ “หนาว” ได้ยังไง ในเมื่อจุดที่คณะบาทหลวง “หาย” เข้าไปนั้น เป็นการผ่านเข้าไปในโบสถ์น้อยที่ประตู “ปิด” อยู่ พูดง่ายๆ คือ ทั้งคณะ “เลือน” เข้าไปบานประตูที่ไม่ได้เปิด !
ครั้นเมื่อเพื่อนร่วมงานผู้มาช้ามาถึง เด็กหนุ่มละล่ำละลักเล่าเรื่องทั้งหมดให้เพื่อนฟัง แต่เพื่อนไม่เชื่อ ก็เลยชวนกันไปพิสูจน์ แต่ก็พบเพียงความว่างเปล่า และนั่นก็ทำให้เด็กหนุ่มที่เจอสารพัดความหลอนในคืนวันคริสต์มาสอีฟถึงกับพูดไม่ออก เพราะเขาเห็น และได้ยินทุกอย่างจนติดตรึงในมโนสำนึก
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีรายงานว่า ในวันดีคืน (ไม่) ดี ยังมีผู้ได้พบเห็นผู้ที่แต่งกายด้วยชุดบาทหลวงเดินเหมือนลอยผ่านผนังที่ปิดทึบไปอย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งเมื่อมีคณะนักสื่อวิญญาณมาตรวจสอบ ก็พบว่า อันที่จริงแล้ว ผนังของมหาวิหารที่เห็นว่าปิดทึบนั้น หลายแห่งเคยเป็นประตูมาก่อน
แต่การที่มหาวิหารเซนต์อัลบันส์นี้ผ่านกาลเวลามากว่าพันปี ก็เลยมีการบูรณะบ่อย และปรับเปลี่ยนทางเข้า เจาะช่องประตูใหม่บ้าง ปิดช่องประตูเก่าบ้าง ก็เลย "ไม่แปลก" หากผู้ที่ "เคย" อยู่ จะยังเดินเส้นทางเดิมๆ และเข้า-ออกประตูเดิมๆ ทั้งๆ ที่มันไม่มีประตูอีกต่อไปแล้ว
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีผู้เห็นวิญญาณล่องลอยเฉพาะส่วนที่เหนือเข่าขึ้นมาอยู่หลายจุดในมหาวิหาร ซึ่งผู้เชี่ยวชาญก็บอกอีกเช่นกันว่า ในการบูรณะมหาวิหารที่ผ่านมาแสนนานนั้น ได้มีการยกพื้นบางส่วนให้สูงขึ้น แต่ผู้ที่เคยเดินเมื่อเนิ่นนานมาแล้วนั้น ยังเดินอยู่บนพื้นระดับเดิม ก็เลยไม่แปลกอีก ที่จะมีผู้เห็นเงาอันเลือนลางปรากฎมาเฉพาะส่วนเหนือเข่าขึ้นมา เพราะส่วนที่ต่ำไปกว่านั้น ยังย่ำอยู่ที่พื้นเก่า
โดยรวมแล้ว มหาวิหารที่ผ่านกาลเวลามานานกว่าพันสองร้อยปีนี้ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่มีผู้มาเคารพสักการะทุกวัน แต่ก็มีตำนานเกี่ยวกับวิญญาณที่สถิตย์อยู่ที่นี่จำนวนมากด้วยเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่า ผู้จากไปที่ "ยังอยู่" ที่นี่ เป็นวิญญาณที่ดี ไม่ทำร้าย และไม่ทำให้ใครกลัว แต่หากจะขนหัวลุกบ้างก็ต้องเข้าใจว่า สถานที่เก่าแก่นั้น ย่อมมี "ของ" เป็นธรรมดา
ถึงตอนนี้ ขอย้อนไปที่เคยเล่าในตอนก่อนหน้านี้ว่า เมืองเซนต์อัลบันส์นี้ เคยเป็นเมืองโรมันมาก่อน ในชื่อ เวรูเลมิอุม (Verulamium) และต่อมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 3 หรือ 4 มีชายหนุ่มชื่อ อัลบัน (Alban) ผู้ยึดมั่นในคริสตศาสนา ปฏิเสธทหารโรมันที่จะให้เขาละทิ้งความเชื่อในพระเจ้า ทำให้อัลบันถูกประหารในฐานะมรณะสักขี
และในเวลาต่อมา อัลบัน ได้รับการยกย่องให้เป็นนักบุญคนแรกของประเทศอังกฤษ เมืองนี้จึงถูกตั้งชื่อใหม่ตามนามของนักบุญ โดยมีมหาวิหารเซนต์อัลบันส์ เป็นสถานที่ฝังร่างของท่าน และเป็นที่ๆ ผู้ศรัทธามาสักการะกันทุกวัน ในขณะที่ตัวเมืองเองก็พัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ ถึงกับได้รับการยกย่องว่า เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในระดับต้นๆ ของอังกฤษ
ต่อมาในปี ค.ศ.1805 มีคนสำคัญที่บันทึกว่า เป็นบรรพบุรุษของเจ้าหญิงไดอาน่า อดีตเจ้าหญิงแห่งเวลส์ (Diana, Princess of Wales) ได้เดินทางมาสักการะที่มหาวิหารแห่งนี้ และได้ปลูกต้นซีดาร์ขึ้นด้านข้างมหาวิหาร
และโดยไม่มีที่มาที่ไปอันแน่ชัด เมื่อต้นซีดาร์นี้เติบโตขึ้น ก็มีเรื่องเล่ากันว่า ในยามเที่ยงคืน เมื่อระฆังของมหาวิหารตี 12 ครั้ง หากใครใจถึง มาเดินตามเข็มนาฬิการอบต้นซีดาร์นี้ 12 รอบ ก็จะโชคดี ได้พบคนรักที่จะเป็นคู่ชีวิต แต่หากซุกซน แล้วเลือกที่จะเดินทวนเข็มนาฬิกา ก็จะได้พบปิศาจแทน
ต้นซีดาร์ในตำนาน
แหม เรื่องเล่าแบบนี้ มีหรือที่จะไม่มีคนมาลองดี ว่าแล้ว กลุ่มเด็กชายวัยกระเตาะที่เป็นนักร้องประจำมหาวิหารก็นัดกันมาทดสอบตำนานยามเที่ยงคืน พอระฆังดังเหง่งหง่างขึ้น 12 ครั้ง พวกเขาก็เดินทวนเข็มนาฬิการอบต้นซีดาร์ แล้วก็ต้องกระเจิงไป เมื่อพบว่า มีใคร หรืออะไรบางอย่างที่มีรูปร่างสูงใหญ่ มีปีกกว้าง วิ่งตรงมาหาพวกเขา
ทว่า ตำนานนี้ เป็นเรื่องจริงหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า งานนี้ มีการสอบสวนค่ะ และผลของการตรวจสอบก็พบว่า ในขณะนั้น มีบาทหลวงท่านหนึ่งที่ก็ยังมีชีวิตอยู่ดีนั่นแหละ แต่กลับดึก เพราะติดประชุมสำคัญ ครั้นเมื่อท่านเดินกลับมายังมหาวิหาร โดยสวมชุดนักบวชเต็มยศ กับเสื้อคลุมตัวยาว เมื่อเกิดลมพัดแรงเลยดูเหมือนมีปีกดำมืด อันเป็นสิ่งที่ทำให้กลุ่มเด็กหนุ่มที่มาลองดีเกิดตกใจ แต่ที่แน่ๆ ก็ไม่มีใครกล้ามาลองตำนานนี้อีก
ผู้เขียนเอง ทำใจดีสู้เสือ เดินไปดูมหาวิหารในยามดึก ก็ต้องบอกว่า วังเวงทีเดียวค่ะ ยิ่งหากมองรอบๆ มหาวิหาร ที่เต็มไปด้วยหลุมศพของบุคคลสำคัญต่างๆ ที่ได้รับเกียรติให้มาฝังในพื้นที่นี้ ก็ยิ่งทำให้รู้สึกโหวงๆ ชอบกล แต่ก็ขลังไปอีกแบบ และหลังจากเดินไปชมมหาวิหารตอนกลางคืนมานับสิบๆ ครั้ง ก็ยังไม่เจออะไรที่น่ากลัว แต่ความโอ่อ่าของตัวอาคารที่เหมือนจะบีบให้ผู้คนตัวเล็กลง กับป้ายจารึกหลุมศพนั้น ถ้าเป็นไปได้ ก็ขอเดินผ่านแบบเร็วๆ จะดีกว่า
ด้านข้างของมหาวิหาร จะเห็นได้ชัดว่า มีการบูรณะ ทำให้ประตูถูกเปลี่ยนตำแหน่งไปมา จุดที่เคยเป็นประตูเก่าถูกปิด และเปิดช่องประตูใหม่ให้เข้ากับการใช้สถานที่ในแต่ละยุคสมัย แต่ “วิญญาณ” ที่วนเวียน และเคยอยู่ที่นี่ ยังเข้า-ออก ในประตูเดิม ที่แม้จะปิดตายไปแล้ว
ส่วนยามกลางวันนั้น มหาวิหารเซนต์อัลบันส์เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ ด้วยสถาปัตยกรรมที่สร้างมหาวิหารออกมาได้เหมือนปราสาทในเทพนิยาย จนกลายเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์มาแล้วหลายเรื่อง ส่วนด้านในก็ตบแต่งอลังการ และไม่น่ากลัวสักนิด และทำให้จิตวิญญาณสงบขึ้นได้อีกต่างหาก
ส่วนต้นซีดาร์ในตำนานนั้น ผู้เขียนออกเดินตามหาอยู่พักใหญ่ กว่าจะเจอต้นสนใหญ่ต้นหนึ่ง ก็คิดว่า น่าจะเป็นซีดาร์ในเรื่องเล่า ก็เลยลงมือถ่ายรูปอย่างเอาจริงเอาจัง แต่ในตอนนั้นเอง ก็ได้พบคุณยายที่ชราภาพมากท่านหนึ่งมาสะกิด แล้วถามว่า กำลังพยายามถ่ายรูปต้นซีดาร์ในตำนานอยู่หรือเปล่า ถ้าใช่ ท่านก็ขอบอกว่า ผิดต้นจ๊ะเธอจ๋า ไอ้ต้นที่เธอตามหานั้น อยู่อีกด้านหนึ่งของมหาวิหาร
และในยุคปัจจุบันนี้ ได้ถูกขึงเชือกล้อมเอาไว้แล้ว ใครจะไปลองดีอีกก็คงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม คำแนะนำของคุณยายก็ทำให้ผู้เขียนออกไปตามหาต้นซีดาร์จนเจอ
ครั้นกลับมาเล่าให้พรรคพวกฟังว่า มีคุณยายมาสะกิด เพื่อบอกทางไปหาต้นซีดาร์ที่ถูกต้อง ก็กลับถูกเพื่อนๆ ถามว่า แน่ใจหรือว่า "เห็น" และ "ได้คุย" กับคุณยายผู้มีตัวตนจริงๆ
แหม กำลังจะดีอยู่แล้วเชียว เพื่อนดันมาทำให้หัวใจกระตุกขึ้นมาอีก
ว่าแต่ เรื่องผีในเซนต์อัลบันส์จบหรือยัง ?
แหม เมืองที่ตั้งมาเป็นพันๆ ปี จะมีผีแค่นี้ได้ยังไง ว่าแล้วในคราวหน้า ผู้เขียนจะขอพาท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับวิญญาณที่ถูกฆาตกรรมอย่างโหดร้าย และไม่จากไปไหนอีกสักตนหนึ่ง ส่วนวิญญาณในมหาวิหารเซนต์อัลบันส์ที่เขียนมาทั้งหมดในตอนนี้ คงต้องขอย้ำอีกครั้งว่า หากมีวิญญาณอยู่จริงๆ วิญญาณทุกดวงน่าจะเป็นดวงจิตที่ดีงามสมกับสถานที่อันน่าเคารพ
ผู้เขียนเชื่อเต็มที่เช่นนั้น
ช่วงใกล้เทศกาลฮาโลวีน มหาวิหาประดับไฟด้วยสีสันที่ทำให้ดูวังเวงมากขึ้นไปอีก

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา