Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เที่ยว หา เรื่อง
•
ติดตาม
9 ก.ย. เวลา 05:17 • ท่องเที่ยว
"ผี" ที่เซนต์อัลบันส์ (4) วิญญาณอาคารเก่า
ในตอนที่แล้ว ได้เล่าให้ท่านผู้อ่านฟังว่า ณ ถนนมาร์เก็ตเพลส (Market Place) ใจกลางเมืองเซนต์อัลบันส์ (St.Albans) ประเทศอังกฤษนั้น มีผีสิงที่มีชื่อเสียงเรื่องความเฮี้ยนอยู่ที่ผับเรืองนาม ชื่อ เดอะ บูท (The Boot) ซึ่งตั้งอยู่ที่ต้นถนน
แล้วถนนแห่งนี้ มีผีเพียงตัวเดียวหรือเปล่า
คำตอบคือ ไม่ใช่ค่ะ บรรดานักล่าผีนั้น หากได้มาถึงถนนมาร์เก็ตเพลสเมื่อไหร่ เป็นต้องเนื้อเต้น เพราะที่นี่ มีวิญญาณอีกหลายตนให้ได้เที่ยวลองดี โดยเฉพาะอาคารที่ถัดออกไปจากผับเดอะบูทนั้น เป็นอาคารสูงใหญ่ก่อด้วยอิฐสีน้ำตาล ปัจจุบันนี้ ด้านล่างของตึกเปิดเป็นร้านชื่อ เกลส์ เบเกอรี่ (GAIL's Bakery) ร้านนี้เป็นร้านแบบแฟรนไชส์ที่มีหลายสาขาทั่วประเทศค่ะ แต่เฉพาะสาขาเซนต์อัลบันส์ ณ มาร์เก็ตเพลสนี้เท่านั้น ที่มี "บริการ" พิเศษ
บริการที่ว่าคือ "ผีเด็ก" ซึ่งตอนที่เขาเสียชีวิตเมื่อราว 2 ศตวรรษที่แล้วนั้น คาดว่าเด็กชาย นามชาลี มีอายุประมาณ 10 ขวบ
ต้องย้อนไปในครั้งกระโน้นว่า อาคารอิฐแห่งนี้ ในอดีตเคยเป็นโรงแรมมาก่อน ชื่อโรงแรมเดอะ บลู บอร์ (The Blue Boar) ที่เหล่าคนเดินทางที่โดยสารรถม้ามาจากถิ่นต่างๆ และแวะมาเข้าพัก โดยด้านหลังโรงแรมมีสนามหญ้าขนาดใหญ่ให้รถม้าเข้าไปจอดพักได้
ตรงนี้นี่เอง ที่ชาลีกำลังเล่นกับเพื่อนๆ และโดยไม่ได้ระวังตัว เด็กชายถูกรถม้าที่วิ่งมาอย่างเร็วจี๋ชนเข้าให้ น่าเวทนาที่เขาไม่มีโอกาสได้บอกลาคนที่รัก เด็กชายตายคาที่ และจวบจนทุกวันนี้ ชาลีก็ยัง "อยู่" ที่เก่า มีผู้พบเจอเขาในรูปลักษณ์เลือนลางเดินวนเวียนไปมาอยู่แถวๆอาคารอิฐนี้บ่อยครั้ง ทำให้เป็นอีกหนหนึ่งที่มีการนำนักสื่อวิญญาณเข้ามา เพื่อสอบถามชาลีว่า ทำไมยังไม่ไปไหน โดยเหตุการณ์ที่มีการสื่อวิญญาณนี้ เกิดขึ้นเมื่อราว 30 ปีก่อน
คำตอบที่ได้จากการติดต่อกับโลกวิญญาณคือ ชาลีไม่ได้ตระหนักเลยว่า เขาได้ตายไปแล้ว เด็กน้อยจึงยังทำตัวเหมือนปกติที่เคยเป็น คือเดินไปเดินมาเล่นอยู่แถวละแวกบ้าน
นักสื่อวิญญาณบอกว่า เป็นเรื่องธรรมดา ที่คนที่เสียชีวิตอย่างกระทันหันมักจะไม่รู้ตัวเองว่า ถึงเวลาที่ต้องลาโลกไปแล้ว ชาลีก็เป็นหนึ่งในนั้น ทำให้แม้จะผ่านกาลเวลามากว่า 200 ปี ชาลีก็ยังออกมา "หยอก" ผู้คนให้ได้เห็นกันบ่อยๆ
เมื่อนักสื่อวิญญาณถามชาลีว่า ต้องการอะไรหรือไม่ คำตอบที่ได้ช่างน่าสงสาร เด็กชายบอกว่า คิดถึงผู้เป็นแม่เหลือเกิน และเด็กน้อยไม่ได้เข้าใจเลยว่า แม่ของเขาหายไปไหน
ในตอนนั้น มีหญิงที่ทำงานในบาร์คนหนึ่ง ชื่อ ซิลเวีย (Sylvia) ซึ่งชาลีบอกว่า เฝ้ามองเธออยู่ทุกวัน เพราะเธอมีลักษณะคล้ายแม่ที่จากไปของเขา และชาลีบอกกับนักสื่อวิญญาณว่า ถ้าเป็นไปได้ เด็กน้อยอยากจะขอหอมแก้มซิลเวียสักครั้งหนึ่ง
ซิลเวียเป็นสตรีน้ำใจงาม แม้จะดูเป็นเรื่องน่าเสียวสันหลัง แต่เธอก็ยินดี หากจะทำให้วิญญาณของเด็กน้อยได้มีความสุข เธออนุญาตให้เขาหอมแก้มเธอได้ และตอนนั้นเอง ที่ซิลเวียให้การว่า รู้สึกเหมือนมีน้ำแข็งเย็นๆ มาแตะใบหน้า
จากนั้น คณะที่มากับนักสื่อวิญญาณก็เลยบอกชาลีว่า ช่วยส่งสัญญาณให้ทุกคนรู้ด้วยได้หรือไม่ ว่าหนูยังอยู่ตรงนี้
พอพูดไม่ทันขาดคำ ทุกคนที่ยืนตรงนั้นต่างก็สัมผัสได้ถึงความเย็นที่พัดผ่านมาโดนใบหน้าทีละคนๆ ทำให้ทุกคนเชื่อสนิทใจว่า ชาลียังอยู่จริงๆ และชาวเมืองต่างก็ปักใจว่า จนถึงวันนี้ เด็กน้อยก็ยังไม่ไปไหน เขายังวนเวียนอยู่ ณ อาคารอิฐสีน้ำตาล บางทีในยามค่ำ ก็จะมีคนเห็นเด็กผู้ชายตัวน้อย แต่งชุดย้อนยุค โผล่ออกมาจากด้านหลังร้านเบเกอรี่ แต่ก็ไม่ค่อยจะมีใครกลัว เพราะผ่านมา 2 ศตวรรษแล้ว ที่ชาลีไปๆ มาๆ โดยไม่ทำร้ายใคร แม้อาจจะทำให้ตกอกตกใจอยู่บ้างในบางทีก็ตาม
ที่ว่าตกใจนั้น ตกใจกันขนาดไหน ?
เรื่องนี้ต้องไปฟังเรื่องเล่าจากพนักงานร้านค้าย่านนั้นคนหนึ่ง ที่บอกในปี ค.ศ.2010 ว่า ในตอนนั้น มีร้านมาใหม่ที่กำลังจะเปิดกิจการอยู่ร้านหนึ่ง ใกล้ๆ กับอาคารอิฐสีน้ำตาลนั้น และเจ้าของร้านได้ซื้อลูกโป่งจำนวนมากมาทำการประชาสัมพันธ์ โดยปล่อยพวงลูกโป่งเอาไว้ในร้าน ให้ลูกโป่งลอยไปติดเพดานแบบกระจัดกระจาย แต่แล้วจู่ๆ ลูกโป่งทั้งหมดก็จับกลุ่มมารวมกัน เหมือนมีมือที่มองไม่เห็นมารวบสายลูกโป่งเอาไว้ แถมยังลอยเร็วจี๋ลงบันไดมา ประหนึ่งมีคนถือพวงลูกโป่งวิ่งอย่างสนุกสนาน
อาคารอิฐสีน้ำตาล ที่วิญญาณของเด็กชายชาลียังไม่รู้ตัวว่า ตัวเองได้ตายไปแล้วจากการถูกรถชนที่นี่
งานนี้ คนที่มาร่วมแสดงความยินดีในพิธีเปิดร้านใหม่ถึงกับกรีดร้องไปตามๆ กัน แต่เสียงกรีดร้องนั่นเองที่อาจจะทำให้ "มือที่มองไม่เห็น" พลอยตกใจตามไปด้วย ก็เลยปล่อยลูกโป่งให้ลอยกลับขึ้นไปดังเก่า
และเมื่อมาสนทนากัน ทุกคนก็เชื่อว่า คนที่รวบลูกโป่งลงมาเล่นนั้น คงไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นชาลี “เด็กน้อยสองร้อยปี” แห่งมาร์เก็ตเพลสนั่นเอง
แล้วนอกจากชาลี ย่านนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาคารอิฐสีน้ำตาลแห่งนี้ ยังมีวิญญาณตนอื่นอีกหรือเปล่า ?
คำตอบคือ น่าจะมีค่ะ เพราะก่อนหน้าที่จะกลายเป็นร้านเบเกอรี่นั้น อาคารีอิฐสีน้ำตาลนี้เคยถูกใช้เป็นโรงแรมมาก่อน และมีแขกที่มาเข้าพักตะโกนโวยวายว่า เจอชายปริศนามากระโดดอยู่นเตียงของเขา จนต้องร้องขอความช่วยเหลือจากพนักงาน ที่ก็ช่วยอะไรไม่ค่อยได้ นอกจากทำตาปริบๆ เพราะในที่สุด ชายปริศนานั้นก็เลือนหายไปดื้อๆ เรียกว่า จู่ๆ ก็มากระทันหัน แล้วก็พลันจากไปไม่บอกกล่าว
แหม ไม่ร่ำไม่ลากันซะด้วยซิน่า
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีรายงานว่า แขกโรงแรมอีกคนหนึ่งเจอเหตุการณ์สยองขวัญ เมื่อไม้กอล์ฟของเขาที่ควรจะวางพิงอยู่กับผนังห้องอย่างเรียบร้อยนั้น กลับเคลื่อนที่ได้เอง และหมุนวนไปรอบห้อง
ส่วนแขกอีกคนหนึ่งบอกว่า ตอนที่กำลังนอนพักอยู่ดีๆ ก็ตกใจตื่นเพราะมีเสียงรบกวน เมื่อลุกขึ้นมามอง ก็เห็นเสื้อผ้าของตัวเองที่ใส่ตู้ไว้อย่างดีถูกรื้อค้นออกมาซะอย่างนั้น
อาคารอิฐแห่งนี้ เลยเป็นอีกจุดหมายหนึ่งของบรรดานักล่าผี ที่ยังมาด้อมๆ มองๆ กันบ่อยๆ
แต่ย่านนี้ ไม่ได้ "มีดี" แค่ตึกเดียวหรอกค่ะ ไม่ห่างไปจากอาคารเฮี้ยนที่เล่ามาแล้ว พอเลยออกจากถนนมาร์เก็ตเพลส อันเป็นถนนสายสั้นๆ ออกไป จะกลายเป็นถนนที่เชื่อมต่อกัน คือ ถนนเซนต์ปีเตอร์ส (St Peter's St)
ซึ่งในตอนที่แล้ว ผู้เขียนก็ยังเล่าว่า มีผับผีสิงอยู่ และไม่ห่างจากผับที่ว่า เคยมีอาคารชื่อ ทิโมธี ไวท์ส (Timothy Whites) ที่ทำธุรกิจตัดเสื้อผ้าในช่วงกลางคริสตศตวรรษที่ 20 ซึ่งคนที่ทำงานที่นั่นบอกว่า ไม่มีใครกล้าขึ้นไปชั้นบนของร้านเพียงลำพังเลย เพราะเจอผีหลอกไปตามๆ กัน รายงานบอกว่า หลายคนเจอผีผู้ชายที่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์อยู่ในห้องเก็บของชั้นสอง
แต่ในโลกใหม่นี้ ชั้นสองของอาคารที่ว่า มีคนเดินขึ้นกันคึกคัก เพราะตั้งแต่ปี ค.ศ.1968 หรือกว่า 56 ปีมาแล้วนั้น บริษัท บู๊ทส์ เพียว ดรัก (Boots Pure Drug Co.) ได้เข้ามาซื้อตึกทิโมธี ไวท์สไป และในปัจจุบัน อาคารนี้คือร้านบู๊ทส์ ที่ขายทั้งยา และของใช้ในบ้าน เป็นร้านเครือข่ายที่คนไทยเราก็รู้จักกันดี และหลังจากที่ร้านบู๊ทส์เข้ามาครอบครองอาคารนี้ ก็ดูเหมือนเรื่องเล่าของผีผู้ชายตัวเหม็นจะหายไป เพราะฉะนั้นหากใครอยากได้คาถาปราบผี เห็นทีต้องไปถามผู้บริหารร้านบู๊ทส์
ส่วนอาคารอีกแห่งหนึ่งใกล้ๆ กัน ก็มีเรื่องเล่าว่า ในตอนที่มีนายช่างมาทำงานตบแต่ง โดยพาลูกชายติดมาทำงานด้วยนั้น ตอนที่คุณพ่อกำลังทำงานอยู่ชั้นล่าง และลูกชายเดินขึ้นบันไดไปนั่งเล่นชั้นสอง จู่ๆ ก็ได้ยินเสียงลูกชายหัวร่อคิกคัก จนคุณพ่อสงสัยต้องเดินไปถามว่า หัวเราะอะไรนักหนา ก็ได้คำตอบว่า กำลังเล่นกับผู้ชายคนหนึ่งตรงหน้า แต่คุณพ่อกลับไม่เห็นใครเลย
เจอแบบนี้ ก็หอบลูกเผ่นซิคะ จะรออะไรเล่า !
ถัดออกไปอีกไม่ไกล ในถนนเส้นเดิม มีร้านขายหนังสือ เครื่องเขียน และของใช้อื่นที่มีชื่อเสียงอีกร้านหนึ่ง เป็นร้านที่มีสาขาทั่วประเทศเหมือนกัน คือร้าน WHSmith ร้านนี้ คนที่มาเที่ยวอังกฤษอาจจะคุ้ยเคยดี เพราะมักจะไปเปิดตามสนามบินต่างๆ ส่วนสาขาที่เมืองเซนต์อัลบันส์นี้ ก็ไม่ต่างจากร้านค้าอื่นๆ ในย่านเดียวกัน คือ ต้องเช่าอาคารเก่าแก่มาเปิดกิจการ และได้ "ของแถม" มาด้วย นั่นคือ พนักงานในสาขานี้ ต้องเจอประตูปิด-เปิดเองประจำ จนเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่เลื่องชื่อว่า "ผีหยอก" กันบ่อยๆ
ร้าน WHSmith ที่เลื่องลือว่า พนักงานมักจะเจอ “ผีหยอก”
อันว่าตัวอาคารที่ปัจจุบันเป็นร้าน WHSmith นี้ สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1570 หรือ 454 ปีมาแล้ว เพื่อเป็นศาลาว่าการเมือง โดยออกแบบให้ด้านบนเป็นที่ทำการของเจ้าหน้าที่ และผู้ว่าการ รวมถึงเป็นศาลสำหรับตัดสินคดี ส่วนด้านล่างเป็นที่กักขังผู้ต้องหาระหว่างรอการพิจารณา มันเป็นเพียงห้องเล็กๆ ที่หนาวเย็น เนื่องจากไม่มีระบบให้ความร้อน เหล่าผู้ต้องหาแออัดกันอยู่ในห้องแคบๆ นั้น ทั้งหิว กระหาย จนน่าจะมีบางคน “ตายคาคุก” และอาจจะ “ติดคุก” ไปตลอดกาล ด้วยวิญญาณที่ไม่ยอมจากไปของพวกเขา
ร้าน WHSmith ก็เลยเป็นอีกแห่งหนึ่งที่ผู้เขียนไม่ค่อยชอบไปตอนกลางคืนสักเท่าไหร่ ในขณะที่อาคารอื่นๆ นั้น ยังถือว่า “พอไหว” แต่ในภาพรวมแล้ว ตามวัฒนธรรมของอังกฤษ ร้านในย่านการค้าจะเปิดไม่ดึก ส่วนใหญ่แค่ 16.00-18.00 น. ก็พากันปิดร้านหมดแล้ว ระยะหลังเลยไม่ค่อยมีคนเจออะไรน่าตกใจมากนัก แต่ก็เชื่อกันว่า ณ มาร์เก็ตเพลส และถนนเซนต์ปีเตอร์ส ที่เต็มไปด้วยตึกเก่าแก่นี้ “ไม่ธรรมดา”
ว่าแต่ ทำไมมาร์เก็ตเพลส และถนนเซนต์ปีเตอร์ส์ถึงได้ “มีผี” เยอะนัก
ถ้าจะให้ตอบแบบจริงจัง คงขอตอบแบบกวนๆ ว่า ไม่ทราบค่ะ แต่แทบทุกตึกต่างก็มีผู้รายงานว่า เคยโดนหยอกเย้าด้วยสิ่งที่มองไม่เห็นบ่อยๆ จนรู้กันว่า อาคารเก่าแถวนี้เฮี้ยน แต่เกิดจากอะไรก็ไม่รู้ มีเพียงกรณีของเด็กชายชาลีคนเดียว ที่มีบันทึกแน่นอนว่า เขาถูกรถชนตายที่นี่
ส่วนผีตนอื่นจะมาจากไหน
อาจจะต้องมองปัจจัยแรกที่ว่า เมืองเซนต์อัลบันส์เป็นเมืองเก่า และแถวนี้ ก็เปิดเป็นย่านการค้ามานานแสนนาน อาคารแต่ละหลังก็เก่าเป็นร้อยๆ ปีทั้งนั้น แล้วจะแปลกอะไร หากจะมีวิญญาณมา "พักอาศัย" กันเยอะ
ส่วนอีกปัจจัยหนึ่ง คงต้องย้อนไปไกลกว่านั้น นั่นคือ ถ้าพูดถึงราชวงศ์อังกฤษ หลายท่านคงพอจะนึกถึงเรื่องสงครามดอกกุหลาบ (Wars of the Roses) ขึ้นมาได้ อันว่าสงครามนี้ เป็นการรบรากันระหว่างสายเลือดราชวงศ์แพลนแทเจเนต (House of Plantagenet) ที่แบ่งออกเป็น 2 สาย คือ กลุ่ม ยอร์ก (York) และแลงแคสเตอร์ (Lancaster) ที่ชิงอำนาจกันนานถึง 32 ปี ในช่วง ค.ศ.1455 – 1487 โดยการรบสงครามกลางเมืองนี้ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ.1455
ทำไมต้องเล่าเรื่องสงครามดอกกุหลาบ นั่นก็เพราะสมรภูมแรกที่รบกันนั้น มีชื่อว่า สมรภูมิเซนต์อัลบันส์ (The First Battle of St Albans)
ใช่แล้วค่ะ เมืองเซนต์อัลบันส์ เป็นเมืองแรกที่สงครามกลางเมืองระหว่างราชวงศ์เริ่มต้นขึ้น และกองกำลังทั้งสองฝ่ายตรึงกันอยู่แถวๆ มาร์เก็ตเพลสนั่นเอง ในตอนนั้น คาดว่ามีกองกำลังของฝ่ายยอร์กประมาณ 3,000 - 7,000 นาย ในขณะที่ฝ่ายแลงแคสเตอร์มีน้อยกว่า คือประมาณ 2,000 นาย เลยไม่แปลกที่ฝ่ายยอร์กจะได้ชัยชนะไปก่อน แต่ก็สูญเสียทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายแรกบาดเจ็บล้มตายประมาณ 60 นาย ส่วนฝ่ายหลัง สูญเสียราวๆ 100 นาย
นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้บางคนเรียกสมรภูมิเซนต์อัลบันส์ว่าเป็นสมรภูมิเลือด
แล้วจะแปลกอะไร ถ้ายังมี "ใคร" ติดอยู่ย่านการค้าเก่าแก่นี้
อีกด้านของถนนมาร์เก็ตเพลส จะเห็นกลุ่มอาคารอิฐสีน้ำตาลอยู่ลึกเข้าไปทางซ้ายซึ่งเป็นหัวถนน
ประวัติศาสตร์
เรื่องเล่า
เที่ยวต่างประเทศ
บันทึก
2
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เล่าเรื่องผีในอังกฤษ
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย