Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เที่ยว หา เรื่อง
•
ติดตาม
12 ก.ย. 2024 เวลา 05:16 • ท่องเที่ยว
ผีที่อังกฤษ ตอนที่ 7 - "ผี" ที่วัตฟอร์ต (2) รวมมิตรผีประจำเมือง
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้เล่าว่า ณ เมืองวัตฟอร์ด (Watford) ประเทศอังกฤษนั้น มีสถานที่ที่ "เฮี้ยน" ที่สุด คือ สวนแคสซิโอเบอรี (Cassiobury Park) แต่พอสอบถามชาวเมือง ก็มีคนตอบว่า โอ๊ย ไม่ใช่หรอกอีหนู มีที่เฮี้ยนกว่า ว่าแล้วก็ชี้บอกทางให้ตรงดิ่งเข้าไปในเมือง เพราะที่ที่ว่าหลอนที่สุดน่ะ อยู่กลางเมืองเลยทีเดียวเชียวแหละคุณเอ๋ย
สถานที่ที่ว่าคือ โรงละครวัตฟอร์ด พาเลซ (Watford Palace Theatre) อันเป็นโรงละครเก่าแก่ประจำเมือง โรงละครแห่งนี้ เปิดมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1908 ในยุครัชสมัยของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 (Edward VII: ครองราชย์ระหว่างปี ค.ศ.1901 – 1910) นั่นคือ เป็นโรงละครที่เก่ามานานกว่าศตวรรษแล้ว เป็นโรงละครขนาดใหญ่ที่มีความจุถึง 600 ที่นั่ง และในยามเฟื่องฟู มีการแสดงละครที่โรงละครนี้ถึงปีละ 50 เรื่อง บางคืนถึงกับต้องจัดแสดง 2 รอบ เพราะผู้ชมเรียกร้องกันมาก
โรงละครวัตฟอร์ด พาเลซ
สิ่งที่เลื่องลือของโรงละครวัตฟอร์ด พาเลซนี้คือ ปกติแล้ว ถ้าเป็นโรงละครอื่นๆ พอเสร็จสิ้นการแสดง ก็จะดับไฟบนเวทีจนมืดสนิท แต่ไม่ใช่กับที่นี่ เพราะโรงละครวัตฟอร์ด พาเลซจะเปิดไฟเวทีไว้ตลอดเวลา
เอ้า ไม่กลัวเปลืองไฟกันเลยนิ
งานนี้ผู้บริหารของโรงละครให้เหตุผลว่า ที่ต้องเปิดไฟเวทีไว้ตลอดก็เพราะว่า เผื่อ "วิญญาณ" ที่สถิตย์อยู่ ณ ที่แห่งนี้ อยากจะลุกขึ้นมาแสดงละครในยามที่ไม่มีคนดู !
อ่ะๆ มาแบบนี้แล้ว แสดงว่า โรงละครแห่งนี้ "มีของ"
ก็จะไม่มีได้ยังไงล่ะค่ะ ไม่รู้ว่าใครเป็นต้นคิด ณ สถานที่ตั้งของโรงละครแห่งนี้ ในยุคก่อนกระโน้น เคยเป็นสุสานเก่ามาก่อน จนเล่าลือกันว่า มี "ผีสิง" อยู่ที่นี่ แถมเป็นผีที่คนคุ้นเคย ถึงกับตั้งชื่อเล่นให้ผีตนนี้ว่าแอกกี้ (Aggie) ซึ่งชอบเดินมาตอนมืดๆ แถมยังโผล่มาตามมุมตึกจนตกอกตกใจกันบ่อยๆ
เจอแบบนี้ ก็เลยมีการนำนักสื่อวิญญาณเข้ามาเกี่ยวข้องอีกแล้ว และได้บอกว่า แอกกี้นั้น ชอบเดินไปเดินมาแบบแอบๆ ซ่อนๆ เพราะว่าในยามที่เคยมีชีวิตอยู่นั้น เป็นช่วงที่อังกฤษมีความคุกรุ่นกับฝรั่งเศส ที่นำโดยนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoléon Bonaparte) ทำให้แอกกี้ต้องคอยสอดส่องว่าจะมีทหารฝ่ายศัตรูโผล่มาแหยมแดนผู้ดีหรือเปล่า แอกกี้ก็เลย "ติดนิสัย" ผลุบๆ โผล่ๆ จนเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว แอกกี้ก็ไม่ยอมเปลี่ยน
แต่แหม แอกกี้นะแอกกี้ ไอ้ตอนเป็นคนแล้วผลุบๆ โผล่ๆ มันก็พอทน แต่พอกลายเป็นผี แล้วยังผลุบๆ โผล่ๆ นี่ ไม่รู้ว่าทำให้คนขวัญกระเจิงกันไปสักแค่ไหนแล้ว
ไม่เพียงเท่านั้น มีรายงานว่า ณ โรงละครวัตฟอร์ด พาเลซนี้ เคยมีคนเสียชีวิตอย่างน้อย 2 คน แต่ไม่ได้บันทึกว่าเป็นอะไรตาย รู้แต่ว่า วิญญาณทั้ง 2 ตนยังชอบที่นี่ และเดินท่อมๆ ส่งเสียงฝีเท้าในยามมืดให้คนในโรงละครได้ยินกันเสมอ และมาเมื่อไหร่ก็มักจะทำให้พนักงาน รวมถึงผู้เข้าชมละครบางคนเกิดความรู้สึกเหมือนมี "เงา" เดินตาม จากนั้น อุณหภูมิโดยรอบก็จะเย็นยะเยือกลงกระทันหัน ที่นี่ก็เลยเป็นโรงละครที่ "เจอดี" กันถ้วนหน้า
ส่วนผู้เขียนนั้น เคยไปโรงละครแห่งนี้มาหลายครั้งแล้ว ตัวตึกเป็นอาคารขนาดใหญ่ โดดเด่นด้วยอิฐสีน้ำตาล เป็นอาคารที่ค่อนข้างทึบ ซึ่งก็เป็นปกติของสถานที่อันเป็นโรงละครทั่วไป มองจากด้านนอก ตัวตึกน่าจะได้รับการปรับปรุงให้ดูทันสมัย ไม่ค่อยดูเป็นอาคารเก่า ส่วนภายในก็มีห้องขายตั๋ว และมีแผ่นใบปิดโปสเตอร์โฆษณาการแสดงละครเรื่องต่างๆ ติดอยู่เต็มไปหมด เคยคิดว่าจะตีตั๋วมาชมสักเรื่อง แต่ก็เล่นตอนกลางคืนทุกที เลยต้องบอกผ่าน
แฮ่..
กลัวพี่แอกกี้แกจะโผล่มาทักนะซิ !
ย้อนไปเรื่องที่เล่าในตอนต้นว่า โรงละครแห่งนี้ จะเปิดไฟเวทีเอาไว้ตลอดเวลา เผื่อว่า "พี่ๆ" ที่ "สิง" อยู่เกิดมีอารมณ์ศิลปิน อยากลุกขึ้นมาแสดงละครกันเมื่อไหร่ ก็จะได้แสดงเลย ไม่ต้องเสียเวลาจัดไฟกันให้เมื่อย ก็ทำให้คาดว่า ในบรรดาวิญญาณที่อยู่ในโรงละครนี้ น่าจะเคยมีนักแสดงที่อาจจะผูกพันกับสถานที่ พอวายชีวีไปแล้ว ก็เลยมา "อาศัย" ที่นี่ อันเป็น "ที่ชอบๆ" นั่นแหละ
ส่วนจะมีใครดู หรือไม่มีใครดู พี่ๆ เค้าไม่ว่ากระไรหรอก
นั่นทำให้คนจำนวนไม่น้อยเลยบอกว่า โรงละครวัตฟอร์ด พาเลซ นี่แหละ ที่เฮี้ยนที่สุดในเมือง
แต่จริงหรือ
ผู้เฒ่าบางท่านยังบอกว่า ยัง..ยังไม่ที่สุด หากไม่ได้ไปเจอที่แจ็กสัน จิวเวลเลอร์ส (Jackson Jewellers)
แล้วอะไรคือแจ็กสัน จิวเวลเลอร์ส ด้วยความอยากรู้ ผู้เขียนเดินต่อจากโรงละครวัตฟอร์ด พาเลซไปไม่ไกลค่ะ คือเดินไปแค่ 2 นาทีเท่านั้น ก็ได้เห็นอาคารที่ค่อนข้างเก่าแห่งหนึ่ง โครงสร้างเป็นอาคารที่ทาด้วยสีขาว แต่มีส่วนที่ปิดด้วยประตูเหล็กสีดำดูเคร่งขรึม ทำให้อาคารนี้ดูน่าเกรงขามอยู่ ครั้นเมื่อไปอ่านประวัติดูแล้ว ตึกนี้มีอายุย้อนไปถึงปี ค.ศ.1480 – 1520 ซึ่งไม่แน่ชัดว่า แต่ก่อนใช้ทำอะไร
อาคารแจ็กสัน จิวเวลเลอร์ส
ทว่าตั้งแต่ ค.ศ.1876 ได้กลายมาเป็นที่ทำการของบริษัทแจ็คสัน ร้านขายเครื่องเพชรพลอย และของโบราณ ถึงตอนนี้ ก็เปิดกิจการมาเกือบ 150 ปีแล้ว จนได้ชื่อว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องเพชรที่โด่งดังของเมือง ถึงกับบางคนบอกว่า แจ็กสัน จิวเวลเลอร์ส ไม่ได้เป็นเพียงบริษัทผู้ค้าเพชร แต่เป็นหนึ่งในสถาบันอันทรงเกียรติของเมืองวัตฟอร์ด
ด้วยตัวอาคารที่มีอายุเกิน 5 ศตวรรษแห่งนี้ มีบันทึกว่าในตอนแรกมันเป็นตึกชั้นเดียว แต่ต่อมาในช่วงคริสตศตวรรษที่ 16 ได้มีการต่อเติมให้เป็น 2 ชั้น และการที่มีความเป็นมาไม่ชัดเจนนัก พอมีคนเจอ "ผี" ที่นี่ เลยไม่รู้กันว่า เป็นวิญญาณของใคร
แต่ที่แน่ๆ มีรายงานว่า ผู้ที่เดินผ่านอาคารเก่าแก่แห่งนี้ มักจะได้เจอเงาทึบๆ ที่มีลักษณะชื้นๆ เหมือนหมอกหนา และแม้จะเห็นไม่ชัดเจน แต่ก็พอจะมองออกว่า วิญญาณที่อยู่ที่นี่ แต่งกายด้วยเสื้อผ้าจากยุควิคตอเรีย ซึ่งตรงกับสมัยการปกครองของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Queen Victoria) ระหว่างปี ค.ศ. 1837-1901 คร่อมๆ กับช่วงเวลาที่เปิดกิจการแจ็กสัน จิวเวลเลอร์ส เลยไม่แน่ชัดว่า ผีจากยุควิตคอเรียนี้ อยู่มาก่อนการเปิดกิจการเครื่องเพชร หรือมาอยู่ในตอนที่เปิดร้านแจ็กสัน จิวเวลเลอร์สแล้ว
ที่แน่ๆ ตอนนี้ แจ็กสัน จิวเวลเลอร์ส ยังดำเนินกิจการอยู่ ภายใต้การบริหารของทายาทรุ่นที่ 5 ว่ากันว่า ใครอยากตีราคาเครื่องเพชร ต้องมาหาผู้เชี่ยวชาญที่นี่ เพราะขึ้นชื่อว่า เก่งที่สุด
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไปเที่ยวเมืองวัตฟอร์ดมาหลายครั้ง ไปทีไรก็เจอร้านปิดทุกที แต่เมื่อเข้าไปสอบถาม ก็ได้ความว่า ร้านเคยปิดไปจริงๆ ในช่วงการระบาดของโควิด แต่ตอนนี้ กลับมาเปิดกิจการแล้ว แต่ก็ทำแบบออนไลน์เป็นหลัก ส่วนตัวร้านที่เก่าแก่นั้น จะเปิดเฉพาะวันอังคาร - เสาร์ เวลา 10.00-18.00 น. ส่วนดึกกว่านั้น ไม่รับประกันว่าจะเจอเครื่องเพชร หรือเจอผียุควิคตอเรีย !
และเท่านี้เห็นทีจะยังไม่พอสำหรับเมืองวัตฟอร์ด เราไปต่อกันที่หอสมุดประจำเมือง ที่นี่มีอาคารที่เก็บหนังสือ อันเป็นห้องแบบที่ถ้าหากเรียกแบบคดีฆาตกรรมต้องบอกว่า เป็น "ห้องปิดตาย" เพราะมีทางเข้าออกทางเดียว ไม่มีหน้าต่าง และประตูถูกปิดสนิทไว้เสมอ แต่ก็มักจะเกิดสัญญาณเตือนว่า มีผู้บุกรุกอยู่เรื่อยๆ
หอสมุด
จนเจ้าหน้าที่หอสมุดต้องคอยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปปิดสัญญาณเตือนที่ดังแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย จนเชื่อกันว่า เป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ แต่ก็ไม่ได้มีคำอธิบายที่ชัดเจนว่า ทำไมห้องปิดตายนี้ ถึงได้มีสัญญาณผู้บุกรุกดังขึ้นบ่อยๆ เพราะก็ไม่ได้มีเรื่องเล่าว่า เคยมีใครมาตายที่นี่สักหน่อย
เอ หรือจะมี แต่ไม่ได้รับการบันทึก
เรื่องผีในวัตฟอร์ตยังไม่จบเพียงเท่านี้ สถานที่ถูกเล่าลือว่า เฮี้ยนมากๆ อีกแห่งหนึ่ง คือโรงเรียนมัธยมวัตฟอร์ด (Watford Grammar School) ที่ก่อตั้งในปี ค.ศ.1704 มีเรื่องเล่าว่า เคยเกิดอัคคีภัยขึ้นในโรงเรียนเมื่อปี ค.ศ.1840 และครูคนหนึ่งต้องเสียชีวิตลง จากความพยายามในการช่วยลูกศิษย์ให้รอด และพยายามดับไฟ ชื่อของเขาคือ คุณครูคุก (Mr.Cooke) ที่จนบัดนี้ก็ไม่ยอมไปผุดไปเกิด
แต่เดินไปเดินมา ทำให้ธุรกิจการค้าย่านนั้นถูกหลอนในหลายวิธี เช่น ไฟฟ้าเปิด-ปิดเอง ข้าวของเคลื่อนย้ายที่แบบไม่มีเหตุผล แต่ก็อธิบายกันว่า เป็นการหยอกเล่นของครูคุกนั่นแหละ
อันที่จริง ถือว่าคุณครูเป็นผู้เสียสละ และทำความดี แต่ไม่รู้ว่าทำไมครูท่านจึงยังไม่ยอมไปไหนสักทีซิน่า
เมื่อเดินถัดไปอีก เมืองวัตฟอร์ดมีอุโมงค์สำหรับให้รถขับผ่านด้วย มีเรื่องเล่าว่า ช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสตศตวรรษที่ 20 นั้น เหล่านักดับเพลิงของเมืองใช้รถไอน้ำแบบที่ต้องใส่ถ่านหิน ก็เลยต้องมีที่บรรทุกถ่านหินท้ายรถมาด้วย และพอรถเข้าอุโมงค์ทีไร ถ่านหินกลับถูกโยนออกมาทั้งๆ ที่ไม่มีใครไปยุ่ง เลยเป็นที่เลื่องลือกันว่า ในอุโมงค์มีผี
พอสืบสาวราวเรื่องต่อไป ก็เจอว่า ในตอนที่มีการสร้างถนน ขุดอุโมงค์นั้น ได้มีการพบศพที่น่าจะฝังมานานมาแล้วอยู่แถวๆ นั้นจำนวนหนึ่ง อาจจะเป็นสุสานเก่าแก่ของตระกูลที่ถูกลืมไปแล้ว และเมื่อคนรุ่นใหม่ไปรบกวนการนอนหลับพักผ่อนนิรันดร์ของพวกเขา ทำให้วิญญาณไม่สงบสุข ผีก็เลยออกมาหยอกบ่อยๆ แต่พอขึ้นคริสตศตวรรษที่ 21 เรื่องผีๆ ในอุโมงค์วัตฟอร์ดก็หายไป ก็อาจเป็นไปได้ว่า พวกเขาไปผุดไปเกิดแล้ว หรือไม่ก็เบื่อจะเล่นด้วยแล้ว เพราะระยะหลังนี่ รถวิ่งผ่านอุโมงค์กันเยอะเหลือเกิน แถมขับกันเร็วๆ อีกตะหาก
ที่สุดท้ายของเมืองวัตฟอร์ด ที่นักล่าผีชอบไปเยือนคือ ที่ถนนเชิร์ช (Church Street) ซึ่งมีรายงานการพบหญิงสวมชุดขาว ที่ชอบออกมาข้ามถนนไปๆ มาๆ ให้คนเห็นกันบ่อยๆ ไม่มีใครรู้ว่าเธอเป็นใคร แต่เมื่อไหร่ที่ข้ามถนนเชิร์ช ก็มองดีๆ แล้วกันว่า คนที่เดินข้ามถนนด้วยน่ะ เป็น "คน" จริงหรือเปล่า
แล้วจะหาว่าไม่เตือน.
เที่ยวต่างประเทศ
เรื่องเล่า
ประวัติศาสตร์
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เล่าเรื่องผีในอังกฤษ
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย