14 ก.ย. 2024 เวลา 03:01 • ประวัติศาสตร์

ทำไมวัฒนธรรม “ชาวเมารี” ไม่ถูกกลืน ทั้ง ๆ ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวผิวขาว?

เมื่อสัปดาห์ก่อน ในนิวซีแลนด์ก็มีข่าวใหญ่ข่าวใหม่ขึ้นมาเนื่องในการสวรรคตของกษัตริย์เมารีพระองค์ก่อนอย่าง “ตูเฮเตีย” (Tūheitia) และการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์เมารีพระองค์ใหม่ซึ่งเป็นพระธิดานาม “งาไว โฮโน อิ เต โป” (Ngā Wai Hono i te Pō) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่น่าสนใจไม่น้อย
3
บทบาทของชนพื้นเมืองในกลุ่มประเทศอาณานิคมหลาย ๆ ที่มักจะถูกกลืนทางวัฒนธรรมไปเสียมาก อาทิ กลุ่มชนพื้นเมืองอเมริกัน หรือกลุ่มชนพื้นเมืองออสเตรเลีย
ซึ่งวัฒนธรรมของพวกเขาเหล่านี้แทบไม่ได้รับการเชิดชูโดยรัฐบาล กลับกันถ้าเราหันมาดูที่นิวซีแลนด์ เรากลับพบว่าชาวเมารียังคงดำรงอัตลักษณ์ของพวกเขาเอาไว้ได้ พวกเขาทำได้อย่างไร? วันนี้ Bnomics จะขอพาย้อนไปดูถึงเรื่องราวของชาวเมารีกับการต่อสู้เพื่อดำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยกัน
2
⭐ประวัติศาสตร์นิวซีแลนด์โดยสังเขป
มนุษย์กลุ่มแรกที่เดินทางมาถึงนิวซีแลนด์ ก็คือกลุ่มชาวโพลีนีเซียที่อพยพมาทางเรือเมื่อราวศตวรรษที่ 14 เท่านั้นเอง โดยหลักฐานทางโบราณคดีและภาษาศาสตร์ให้ข้อมูลว่ากลุ่มชาวโพลีนีเซียนี่เดินทางจากเกาะไต้หวันลงมาและตั้งถิ่นฐานกันในหมู่เกาะต่าง ๆ ตามทะเลแฟซิฟิก ไม่ว่าจะเป็นที่นิวซีแลนด์ ซามัว ตองกา หรือแม้แต่ฮาวาย โดยตามตำนานของชาวเมารีบอกว่าชายผู้ที่นำพาเหล่าเมารีมาขึ้นฝั่งที่นิวซีแลนด์คือ “กูเป” โดยตั้งรกรากอยู่ที่เกาะเหนือหรือที่เรียกว่า “ออเตอารออา” (Aotearoa)
2
อนุสาวรีย์กูเปที่เวลลิงตัน
ชาวยุโรปเริ่มรู้จักนิวซีแลนด์ โดยมีชาวดัตช์เป็นชนกลุ่มแรกที่มาถึงในช่วงศตวรรษที่ 17 แต่ก็ถูกโจมตีจากชนพื้นเมือง ชาวดัตช์เรียกแห่งนี้ว่า “โนวา ซีแลนเดีย” ซึ่งมาจากชื่อเมืองซีแลนด์ของดัตช์ ก่อนที่ในศตวรรษที่ 18 กัปตันเจมส์ คุกจะเดินทางมาถึงดินแดนแห่งนี้ และมีการติดต่อกับชาวเมารีบ้าง ซึ่งชาวเมารีแต่ละกลุ่มก็มีท่าทีต่อชาวยุโรปเหล่านี้ที่ต่างกัน บ้างก็เป็นมิตร บ้างก็ไม่เป็นมิตร
⭐ปาเกฮาและเมารี
ชาวยุโรป หรือที่ภาษาเมารีเรียกว่า “ปาเกฮา” ได้เริ่มลงหลักปักฐานบนดินแดนแห่งนี้อย่างหนาแน่นในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 มีบาทหลวงเข้ามาเผยแพร่ศาสนา ตลอดจนมีการบันทึกภาษาเมารีเป็นตัวเขียนโรมันด้วย มีการติดต่อซื้อที่ดินกับชาวเมารี ซึ่งชาวเมารีก็อาจจะไม่ค่อยเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับการซื้อที่ดินเท่าไหร่นัก ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันอยู่เนื่อง ๆ
3
การติดต่อค้าขายระหว่างเมารีกับปาเกฮาดำเนินกันไปอย่างเรื่อย ๆ หนึ่งในสินค้าหลักที่ชาวเมารีได้มาก็คือปืนคาบศิลา ซึ่งมีส่วนสำคัญในพัฒนาการด้านสงครามระหว่างเผ่าของชาวเมารีเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ชาวยุโรปเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสังคมของชาวเมารีมากเกินไป ทำให้ชาวเมารีรับรู้ได้ถึงการรุกรานจากชาวยุโรปเหล่านี้ พวกเขาจึงรวมตัวกันลงนามในคำประกาศอิสรภาพ “เฮ ฟากาปูตางา” ร้องต่อพระเจ้าจอร์จที่ 4 ให้รับรองเอกราชของชาวเมารีและปกป้องความปลอดภัย
โดยให้มีการตรากฏหมายขึ้นมาโดยผ่านความเห็นชอบของชาวเมารี ทำให้ชาวเมารีกับปาเกฮาใช้ชีวิตร่วมบนแผ่นดินเดียวกัน จนกระทั่งต่อมา อังกฤษก็วางแพลนที่จะจัดตั้ง “อาณานิคม” ขึ้นมาอย่างเป็นทางการ
1
⭐สนธิสัญญาไวตางิ
ทางอังกฤษตัดสินใจที่จะกว้านซื้อที่ดินจำนวนมากจากชาวเมารีเพื่อจัดตั้งอาณานิคมนิวซีแลนด์ ทำให้เกิดการเจรจากับชาวเมารีและเกิดสนธิสัญญาไวตางิขึ้นมาในปี 1840 โดยเนื้อหาย่นย่อความได้ว่า “ชาวเมารีเป็นเจ้าของประเทศแต่ยินยอมยกประเทศให้อังกฤษปกครอง”
1
การลงนามในสนธิสัญญาไวตางิ
แต่อย่างไรก็ดี ในสนธิสัญญาทั้งฉบับเมารีและฉบับอังกฤษต่างมีการแปลความที่ไม่ตรงกัน กล่าวคือในฉบับอังกฤษระบุว่า “ชาวเมารีเป็นประชาชน และสหราชอาณาจักรจะปกครองประชาชน” ในขณะที่ฉบับภาษาเมารีมีเนื้อหาประมาณว่า “สหราชอาณาจักรจะสนับสนุนการปกครองของผู้นำที่ชาวเมารีพึงใจให้ปกครอง”
ทั้งนี้มีการตั้งผู้ว่าการจากอังกฤษให้มาปกครอง โดยในส่วนของสองคนแรกก็ถือว่าดีอยู่และให้สิทธิของชาวเมารีกับปาเกฮาเท่าเทียมกัน ทว่าหลังจากนั้น เมื่อผู้ว่าการนาม “จอร์จ เกรย์” ได้มาปกครอง เขาก็ดำเนินนโยบาย “กลืนวัฒนธรรม” ทันที กลายเป็นว่าสิทธิของชาวเมารีเริ่มถูกริดรอน ความเป็นเจ้าของที่ดินก็เริ่มหายไป ที่ดินของชาวเมารีถูกซื้อออกไปเรื่อย ๆ พร้อม ๆ กับการขยายตัวของอาณานิคมนิวซีแลนด์
⭐เมารีในเกมการเมืองและการต่อสู้เพื่อวัฒนธรรม
ในช่วงหลังสนธิสัญญาไวตางิชาวเมารีไม่ได้มีบทบาทมากเป็นพิเศษ ถึงแม้ว่าจะมีสงครามขนาดย่อมซึ่งลงเอยด้วยการยึดที่ดินของชาวเมารีที่เป็นกลุ่มชนเผ่าที่ก่อกบฎก็ตาม ทางรัฐบาลเองก็มีกระทรวงที่ดูแลเกี่ยวกับการพัฒนาและสานสัมพันธ์ระหว่างคนขาวกับชาวเมารีโดยตรง
แต่ถึงอย่างนั้นรัฐมนตรีของกระทรวงก็แทบจะไม่มีชาวเมารีเลย กว่าจะมีรัฐมนตรีลูกครึ่งไอริชเมารีคนแรกก็เป็นช่วงปี 1899 คือเซอร์เจมส์ แคร์โรล และมีรัฐมนตรีที่เป็นชาวเมารีแท้ ๆ คนแรกในปี 1928 คือเซอร์อาปิรานา งาตา
ในช่วงแรกตั้งกระทรวง รัฐมนตรีคนแรกค่อนข้างมีความพยายามในการกลืนชาวเมารีมาก ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าวัฒนธรรมของชาวเมารีคงจะสูญสิ้นหมดในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ผ่านจำนวนประชากรที่ลดลงและการถูกกลืนทางวัฒนธรรม
1
อย่างไรก็ดีหลังจากที่กระทรวงมีชาวเมารีเข้าไปเป็นรัฐมนตรี ก็เริ่มมีการดำเนินนโยบายในการปกป้องปกป้องวัฒนธรรมของชาวเมารีเอาไว้ไม่ให้ถูกกลืนไป
ตัวอย่างสำคัญก็เช่นในสมัยที่เซอร์อาปิรานา งาตา เป็นรัฐมนตรีกระทรวงได้มีการตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับนิทานและบทเพลงมุขปาฐะของชาวเมารีเอาไว้ มีการพยายามโปรโมทการเต้นฮากาของชาวเมารีให้เป็นที่รู้จัก
2
ตลอดจนตั้งโรงเรียนหัตถศิลป์เมารีเพื่ออนุรักษ์งานหัตถศิลป์ดั้งเดิมของชาวเมารีเอาไว้ไม่ให้สูญหายไป ทำให้อัตลักษณ์ของชาวเมารีในช่วงยุคเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกยังคงมีอยู่อย่างชัดเจนไม่หายไปไหน ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวเมารีทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมทั่วทั้งนิวซีแลนด์ด้วย
3
เซอร์อาปิรานา งาตา บนธนบัตร 50 ดอลลาร์นิวซีแลนด์
⭐ชาวเมารี กับมรดกที่หลงเหลือ
การตระหนักรู้ทางด้านวัฒนธรรมของชาวเมารีเริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา สำนึกทางวัฒนธรรมของชาวเมารียังคงดำรงอยู่ในชุมชนของพวกเขา จะมีบางวัฒนธรรมที่ถูกส่งออกคนผิวขาวเองก็รับมาเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมของนิวซีแลนด์เช่นเรื่องเล่าปกรณัม คติชนวิทยาท้องถิ่น ไปจนถึงวัฒนธรรมอย่างการเต้นฮากาที่ค่อนข้างมีชื่อเสียง โดยมีทีมรักบี้ทีมชาตินิวซีแลนด์เป็นผู้ส่งออกฮากาไปสู่สายตาชาวโลกด้วย
3
การเต้นฮากาของทีมรักบี้นิวซีแลนด์ (All black) ภาพจากเว็บไซต์รอยเตอร์
ท้ายที่สุดแล้ว สนธิสัญญาและบทบาทของรัฐบาลล้วนมีส่วนสำคัญอย่างมากในการรักษาไว้ซึ่งสำนึกทางวัฒนธรรมของชาวเมารีไม่ให้ถูกกลืนกินไปหมดสิ้น ตลอดจนความมุ่งมั่นและตั้งใจของชาวเมารียุคใหม่อย่างในกลุ่มที่เป็นรัฐมนตรีและสมาชิกของกระทรวงเมารีก็ได้เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม
1
ในบริบททางการเมืองเราจะสามารถมองเห็นได้ถึงการที่รัฐบาลได้ให้คนพื้นเมืองในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครอง ทำให้สภาพสังคมนั้นเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่แท้จริง มีความหลากหลาย และสามารถตอบรับถึงความต้องการของประชาชนตัวเล็ก ๆ ซึ่งเป็นส่วนน้อยของประเทศได้เป็นอย่างดี

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา