28 ก.ย. เวลา 02:01 • ประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์ “สมรสเท่าเทียม” เกิดขึ้นที่ไหนเป็นที่แรก?

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ก็ได้มีข่าวใหญ่อีกครั้งหนึ่งในประเทศไทยอย่างการที่มีราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ออกมาว่าพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติแก้ไข้ประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ใหม่ ซึ่งรองรับการสมรสเท่าเที่ยมอย่างเป็นทางการ และจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในอีก 120 หรือในเดือนมกราคมปี 2568
การที่มีการแก้ไขกฏหมายให้บุคคล 2 คน(ไม่ระบุเพศ)สมรสกันได้นี้ก็อาจจะไม่ได้มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมากนัก แต่ก็มีการสมรสแบบผิดกฏหมายมานานก่อนหน้านั้นเหมือนกัน ในสัปดาห์นี้ Bnomics จะมาไล่เรียงเรื่องราวของการสมรสเท่าเทียมของโลก จากยุคที่ไม่มีกฏหมายระบุว่าผิด มาจนถึงยุคที่ป็นเรื่องต้องห้าม กระทั่งมาจบลงในยุคที่มีกฏหมายรองรับสถานะความสัมพันธ์อย่างชัดเจน ที่ชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการและมุมมองของสังคมที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ
⭐ชาวโรมันกับการ “สมรสเท่าเทียม”(?)
คู่รักเพศเดียวกันเป็นอะไรที่มีมานานแสนนาน ดังที่ผู้อ่านประวัติศาสตร์หลาย ๆ คนอาจจะทราบอย่างเช่นในกรีกโบราณที่มองว่าเป็นรื่องปกติ แต่อย่างไรก็ดีมันก็ยังไม่ปรากฏหลักฐานใด ๆ ที่บอกว่าชาวกรีกมีการสมรสระหว่างบุคคลสองคนที่มีเพศเดียวกันแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี หลักฐานที่กล่าวถึงการสมรสเท่าเทียมในยุคโบราณนี้ปรากฏขึ้นครั้งแรกในยุคโรมัน ในกรณีที่โด่งดังที่สุดก็คือในกรณีของ “จักรพรรดิเนโร” ทรราชผู้โด่งดังแห่งโรมัน
เนโร เคยแต่งงานกับผู้ชาย 2 คนด้วยกัน โดยคนแรกเป็นเสรีชนนามพีธากอรัส (คนละคนกับนักคณิตศาสตร์เจ้าของทฤษฎีสามเหลี่ยมชวนปวดหัว) ที่ซึ่งเนโรนิยามตัวเองว่าเป็นเจ้าสาวของพีธากอรัส ในขณะที่การแต่งงานครั้งที่สอง เนโรแต่งกับทาสชายนามสโปรัส ซึ่งในกรณีของสโปรัสนี้น่าเศร้า เพราะเขาถูกตอนทั้งที่ไม่เต็มใจเพื่อที่จะให้เป็นเจ้าสาวของเนโร
นอกเหนือจากกรณีของเนโรแล้วก็ยังมีกรณีของจักรพรรดิเอลากาบาลัส ที่แต่งงานกับนักกีฬาหนุ่มนามโซติคัส อยู่เหมือนกัน ถึงแม้ว่ากฏหมายโรมันในช่วงแรกจะไม่ได้ระบุว่าต้องแต่งงานเฉพาะกับคนต่างเพศ แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็ไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฏหมายเพราะกฏหมายไม่เคยระบุว่าห้ามและไม่เคยระบุว่าอนุญาตแต่อย่างใด
⭐การสมรสท่ามกลางยุคสมัยที่ห้ามปราม
อย่างไรก็ดี เมื่อโรมันได้รับเอาศาสนาคริสต์เข้าไป ก็ได้มีกฎหมายที่เข้าการสมรสของบุคคลเพศเดียวกันอย่างเป็นทางการ ทำให้การสมรสแบบที่เคยปรากฏในยุคก่อนหน้าได้หายไป และถูกทำให้เป็นเรื่องที่ผิดบาป และผิดกฏหมาย ทำให้ในยุคหลังจากนั้นเป็นต้นมา อาจจะมีการแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกันอยู่บ้าง แต่เป็นการหลบ ๆ ซ่อน ๆ และเก็บเป็นความลับ เช่นในกรณีของเอลิซ่ากับมาร์เซล่าในสเปนช่วงต้นศตวรรษที่ 20
เอลิซ่ากับมาร์เซล่าเป็นคู่รักหญิงหญิงจากสเปน ที่ซึ่งสามารถแต่งงานได้โดยอาศัยช่องโหว่ ผ่านการที่ตัวของเอลิซ่าปลอมตัวเป็นผู้ชาย เพื่อที่จะสามารถแต่งงานกับมาร์เซล่าได้ ซึ่งข่าวการแต่งงานของทั้งคู่ก็แพร่กระจายไปทั้งทั้งสเปนและยุโรป เป็นข่าวใหญ่สำคัญในยุคนั้น ซึ่งเอลิซ่ากับมาร์เซล่าก็ได้เดินทางหนีจากยุโรปไปตั้งหลักใหม่และใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันที่อาร์เจนติน่า และที่สำคัญก็คือเอกสารทะเบียนสมรสของทั้งคู่ ก็ไม่เคยถูกยกเลิกด้วย
ทำให้กลายเป็นกรณีศึกษาของการสมรสเท่าเทียมครั้งแรกของสเปนทั้ง ๆ ที่ยังคงเป็นเรื่องผิดกฏหมายอยู่ในสมัยนั้น กว่าที่สเปนจะมีกฏหมายสมรสเท่าเทียมก็หลังจากนั้นเกือบ 100 ปีให้หลัง
⭐สมรสเท่าเทียมกับกฏหมายที่ไม่เลือกปฏิบัติ
กระบวนการเรียกร้องทางกฏหมายให้มีการรับรองคู่สมรสเพศเดียวกันเทียบเท่ากับคู่สมรสต่างเพศนั้นเริ่มเกิดขึ้นมาในช่วงทศวรรษที่ 1980s โดยกว่าที่จะมีทางรัฐบาลให้สิทธิทางกฏหมายอย่างเป็นทางการ ก็เป็นในช่วงปี 1989 ที่เดนมาร์ก ซึ่งตระหนักรู้ในเรื่องของการสมรสของบุคคลเพศเดียวกัน แต่ถึงอย่างนั้นรัฐบาลก็ยังคงห้ามไม่ให้มีการอุปถัมป์บุตรในครอบครัวคู่สมรสเพศเดียวกันอยู่ดี
กว่าที่จะมีกฏหมายสมรสเท่าเทียมที่เท่าเทียมกันจริง ๆ ก็ล่วงเข้ามาในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเกิดขึ้นในเนเธอร์แลนด์เมื่อปี 2001 เท่านั้นเอง โดยร่างกฏหมายได้ผ่านเข้ามาในปี 2000 โดยได้รับการโหวตจากสภาผู้แทนราษฎรเป็นจำนวน 109 ต่อ 33 เสียง และได้รับการโหวตจากสภาซีเนตด้วยจำนวน 49 ต่อ 26 เสียง ตลอดจนได้รับพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์ และประกาศใช้อย่างเป็นทางการใน 2001 ทำให้เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศแรกของโลกที่ให้สิทธิทางกฏหมายแก่คู่สมรสเพศเดียวกัน เทียบเท่ากับคู่สมรสต่างเพศ
จากการออกกฏหมายสมรสเท่าเทียมของเนเธอร์แลนด์ ได้กลายมาเป็นแรงกระเพื่อมสำคัญที่ส่งอิทธิพลต่อประเทศอื่น ๆ ให้เกิดการออกกฎหมายสมรสเท่าเทียมเพื่อคุ้มครองสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่นในประเทศเพื่อนบ้านของเนเธอร์แลนด์อย่างเบลเยี่ยมที่ออกกฏหมายตามมาในปี 2003 เป็นต้น
ในปัจจุบันนี้(2024) มีประเทศที่มีกฏหมายสมรสเท่าเทียมรองรับอยู่ทั่วโลกกว่า 36 ประเทศ และมีแนวโน้มจะมีเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ ตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เริ่มหันมายอมรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
อย่างไรก็ดียังคงมีอีกหลากหลายประเทศที่กฏหมายสมรสเท่าเทียมอาจจะเป็นฝันที่อยู่ออกไปสักหน่อยเนื่องด้วยสภาพทางสังคม ศาสนา และวัฒนธรรมที่ละเอียดอ่อน โดยสำหรับประเทศไทยนี้นับว่าเป็นประเทศที่ 2 ในเอเชียที่มีกฏหมายสมรสเท่าเทียมรองรับอย่างเป็นทางการต่อจากไต้หวัน ซึ่งนับว่าป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของสิทธิมนุษยชนในเอเชียด้วย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา