15 ก.ย. 2024 เวลา 12:47 • อาหาร

ข้าวเหนียวทศกัณฐ์: ข้าวเหนียวสิบหน้า

ทศกัณฐ์มีคาแรกเตอร์ที่ซับซ้อน ดุดัน แต่ก็มีความโรแมนติกและอ่อนโยนซึ่งคนเราก็มีความซับซ้อนอยู่แล้วจึงทำให้ทศกัณฐ์เข้าถึงคนได้ง่าย เราพยายามสะท้อนตัวทศกัณฐ์ในหลายๆ แง่มุม
Moving Sculpture by 18 Monkeys Dance Theatre
"ข้าวเหนียวทศกัณฐ์" สำรับนี้ถูกออกแบบให้มี (กว่า) 10 หน้า เพื่อสะท้อนความความหลากหลายและความนิยมข้าวเหนียวหน้าต่างๆ ในสำรับอาหารหวานไทย ข้าวเหนียวใส่ใบเตย นอกจากให้สีเขียว และความหอมอันเป็นเอกลักษณ์ขนมไทย ความมันวาวดั่งมรกตของข้าวเหนียวเหมือนกายทิพย์ทศกัณฐ์ ด้วยเป็นสีกายทศกัณฐ์ อันเป็นคุณลักษณะตามชาติกำเนิด (กายเปลี่ยนเป็นสีทองตอนลงสวนเกี้ยวนางสีดา) และแม้ทศกัณฐ์จะเป็นยักษ์มีเขี้ยว มี 10 หน้า 20 กร ทว่ารูปงามสมชาย
”ข้าวเหนียวทศกัณฐ์“ ข้าวเหนียว (เกิน) สิบหน้า ได้แก่ ขนุน ลำไย มะม่วง ถั่วแดง เบอรี่ แปะก๊วย พุทราจีน เม็ดขนุน ทองหยอด ฝอยทอง ถั่วทอง ปลาแห้งคลุกน้ำตาล และหน้ากระฉีก
ว่ากันว่า ประวัติศาสตร์การกินข้าวเหนียวของไทยในฐานะอาหารหวานมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย หรือสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่ช้าไปกว่ารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และหากจะระบุให้ชัดเจน คือความนิยมกินข้าวเหนียวมูลคู่กับผลไม้ปรากฎหลักฐานอยู่ในตำรับอาหารหวานไทยเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 และเป็นที่นิยมกันมานับแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน
แช่ข้าวเหนียวเขี้ยวงูกับน้ำคั้นใบเตยหอม ทิ้งไว้ 5-6 ชั่วโมงเพื่อให้ข้าวเหนียวนุ่ม นึ่งสุกใว และได้ข้าวเหนียวนึ่งสีเขียวสวย
พื้นฐานอาหารหวานหรือขนมไทยตลอดจนภาคพื้นอุษาคเนย์ล้วนมีพื้นฐานจากวัตถุดิบหลัก 3 ชนิด คือ ข้าวหรือแป้ง มะพร้าว และน้ำตาล ผ่านกรรมวิธีการปรุงด้วยการหลาม ปิ้ง ย่าง ต้ม กวน และนึ่ง กว่าจะมีส่วนผสมของไข่ซึ่งเคยถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่อาหารคาวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาหารหวานก็เมื่อวัฒนธรรมตะวันตก โดยเฉพาะชาติโปรตุเกส เดินทางเข้ามาถึงราชสำนักอยุธยาพร้อมกับ มารีอา กียูมาร์ ดึ ปีญา (Maria Guyomar de Pinha) หรือท้าวทองกีบม้า ลูกครึ่งญี่ปุ่น-โปรตุเกส ให้กำเนิดขนมตระกูลทอง เช่น ทองหยิบ ทองหยอด และฝอยทอง เป็นต้น
รวมทั้ง “สังขยา” ที่เชื่อกันว่า มีต้นกำเนิดมาจากยุโรปตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมัน ที่เรียกว่า “คัสตาร์ด” (Custard) ลักษณะคล้ายพุดดิ้ง (Pudding) ซึ่งหลายคนลงความเห็นว่าทั้งสองเป็นญาติกัน มีส่วนผสมหลักคือ ไข่ นม และน้ำตาลเช่นเดียวกัน แน่นอนว่าผู้ให้กำเนิดขนมลักษณะนี้คือชาวโปรตุเกส และน่าเชื่อว่า ทั้งคัสตาร์ดและพุดดิ้งเข้าสู่ราชสำนักอยุธยาแล้วเปลี่ยนรูปแปลงชื่อเป็นสังขยาด้วยน้ำมือของท้าวทองกีบม้าเช่นเดียวกับอาหารหวานตระกูลทองอื่นๆ
สังขยาทำจากวัตถุดิบหลัก 3 ชนิด คือ ไข่ไก่ (หรือถ้าได้ไข่เป็ดก็จะดี) กะทิ และน้ำตาลมะพร้าว เหยาะเกลือตัดหวานประมาณปลายช้อนชา ขยำด้วยใบเตยเพื่อดับคาวและยังทำให้ส่วนผสมละลายเข้ากันได้ง่าย
ขยำส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันดี กรองด้วยผ้าขาวบางสองชั้น หรือกระชอนตาถี่ ปล่อยให้ฟองอากาศลอยขึ้นจนหมดแล้วตักทิ้งก่อนนำถาดสังขยาเข้าหม้อนึ่ง
สังขยาทำจากไข่ไก่ สีสวยธรรมชาติได้จากไข่ไก่และน้ำตาลมะพร้าว ส่วนกลิ่นหอมธรรมชาติได้จากกะทิ น้ำตาลมะพร้าว และใบเตย
ข้าวเหนียวแช่น้ำคั้นใบเตยนึ่งสุกพร้อมมูนกับหัวกะทิ หากเลือกใช้กะทิสดคั้นเองโดยไม่ต้องผ่านไฟ ข้าวเหนียวมูนที่ได้จะมีกลิ่นหอม รสหวานมัน นุ่มอร่อยกว่ากะทิกล่องหรือกะทิต้มสุก
"หน้าปลาแห้งคลุกน้ำตาล" เป็นส่วนหนึ่งในสำรับข้าวแช่ของคนมอญ มอญเรียกว่า “กะเจีย” ทำจากปลาช่อนเค็มตากแห้ง ย่างสุก ก่อนย่างก็ชโลมขมิ้นเสียหน่อยเพื่อดับคาว จากนั้นแกะเอาแต่เนื้อ ลงครกตำให้แหลก หรือบางคนอาจชอบหยาบ ๆ รวมทั้งที่แกะเนื้อปลาชิ้นหรือเส้นเล็กๆ ผสมลงไปด้วยก็จะทำให้แลดูน่ากิน เมื่อเคี้ยวโดนชิ้นปลาแห้งกรอบ ๆ จะได้ความรู้สึกมัน สู้ลิ้น จากนั้นก็เจียวหอมแดง ปล่อยให้สะเด็ดน้ำมัน ใส่ตามลงไป ตามด้วยน้ำตาลทราย คลุกเคล้าให้เข้ากัน
คนมอญจะทำ "กะเจีย" หรือ "หน้าปลาแห้งคลุกน้ำตาล" นี้ อันเป็นเมนูบังคับในสำรับข้าวแช่ อาหารในพิธีกรรมบูชาเทวดาช่วงเทศกาลสงกรานต์ของคนมอญ ทีนี้พอหมดเทศกาลสงกรานต์แต่ปลาแห้งนี้ที่แต่ละครอบครัวมักจะทำกันปริมาณมากเหลืออยู่ คนมอญก็มักจะประยุกต์นำเอาปลาแห้งมากินกับแตงโม เป็นเมนู "แตงโมปลาแห้ง" รวมทั้ง "ข้าวเหนียวหน้าปลาแห้ง ทำกันมาเช่นนี้แต่โบราณ
ปลาแห้งคลุกน้ำตาล หรือ "กะเจีย" เครื่องเคียงข้าวแช่ของมอญ กินคู่กับข้าวเหนียวมูนก็ได้ หรือกินเป็นสำรับกับข้าวเหนียวทศกัณฐ์ก็ได้เช่นกัน
"หน้ากระฉีก" ส่วนผสมของขนมหวานที่ปรากฏในตำรับขนมไทยหลากหลาย ทำจากมะพร้าวห้าวขูดฝอย ผัดกับน้ำตาลมะพร้าว (หรือน้ำตาลโตนด) ผสมน้ำตาลทราย (ให้ได้สีสวยนุ่มของน้ำตาลมะพร้าวและความมันเงาของน้ำตาลทราย) นิยมนำไปทำเป็นไส้ขนมหลากหลาย เช่น ขนมใส่ไส้ ขนมเทียน ขนมต้มแดงต้มขาว หรือขนมต้ม ขนมคู รวมทั้งกินคู่กับข้าวเหนียวมูน มีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า "ข้าวเหนียวหน้ากระฉีก"
"หน้ากระฉีก" กินกับข้าวเหนียวทศกัณฐ์ เส้นมะพร้าวสีน้ำตาลส้ม Topping บนข้าวเหนียวมูนสีเขียวมรกต ได้ทั้งความอร่อยทางสายตา ความอร่อยทางโสตนาสิก และความอร่อยผ่านปุ่มลิ้น
ข้าวเหนียวหน้าทศกัณฐ์ ไม่เพียง "หน้า" เท่าที่ปรากฏในภาพ แต่ยังสามารถเลือกสรรหน้าอื่นๆ กินร่วมกันได้หลากหลาย เช่น สังขยา ทุเรียน ถั่วดำ-ถั่วแดงแกงบวด เผือกกวน รวมทั้งไอศกรีม
แม้ทศกัณฐ์จะมีรูปโฉมเป็นยักษ์ แต่โดยเนื้อแท้ทศกัณฐ์นั้นรูปงาม มีรักโรแมนติก แม้จะมีหลายหน้า และแม้จะถอดหัวใจได้แต่ใช่ไม่รู้สึก ด้วยทศกัณฐ์นั้นมีใจเดียวและรักเดียว สำหรับคนคอเดียวกัน มีใจเดียวกัน และรักชอบข้าวเหนียวหลายหน้าเหมือนกันก็สมควรจะต้องรักชอบข้าวเหนียวทศกัณฐ์ เพราะข้าวเหนียวทศกัณฐ์มีหลายหน้า และอร่อยเหมือนทศกัณฐ์ เหมือนดั่งความรักที่ทศกัณฐ์มีให้และยอมตายเพื่อนางสีดาสตรีนางเดียวที่ทศกัณฐ์มีรักแท้อันเป็นรักแรกพบมอบให้
โฆษณา