22 ก.ย. เวลา 12:00 • หนังสือ

สรุปหนังสือ small rules วิชาคนตัวเล็ก

สถิติการอ่านหนังสือพัฒนาตนเองมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้คนให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะทั้งในด้านอาชีพ การจัดการชีวิต และสุขภาพจิต
หนึ่งในสำนักพิมพ์หนังสือในด้านจิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง ที่หลายคนรู้จักนั่นก็คือ we learn จุดเด่นก็คือการสร้างปกหนังสือที่โดนใจกับเนื้อหาประเภทฮาว ทู ที่ทำได้ง่ายและทำได้เลย ในโพสต์ทุกคนจะได้เข้าใจที่ของสำนักพิมพ์มากขึ้น รวมถึงเข้าใจปรัชญาและวิสัยทัศน์ของสำนักพิมพ์ กับหนังสือ“small rules วิชาคนตัวเล็ก”
คุณพูนลาภ อุทัยเลิศอรุณ (ผู้เขียน) ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ we learn จบการศึกษาปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และปริญญาโทด้านการจัดการเทคโนโลยี หลังจากการทำงานในบทบาทวิศวกรและที่ปรึกษาธุรกิจ จึงได้ตัดสินใจออกมาทำธุรกิจส่วนตัว
หนังสือเล่มนี้ได้รับคำนิยมจากนักเขียนชื่อดัง ได้แก่ นิ้วกลม, อาจารย์นพดล จาก Nopadol’s story และคุณพอล จากเพจและยูทูป Paul Pattarapon ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการเงิน การลงทุน
เนื้อหามีทั้งหมด 33 บท แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ Business, Creativity และ People บอกเลยว่าเนื้อหาอัดแน่นทุกบท สำหรับโพสต์นี้เก่งจะเลือกบทที่น่าสนใจแล้วเสริมด้วยความคิดเห็น (ไม่อยากสปอยล์เนื้อหา อยากให้ทุกคนไปอ่านกันเยอะ ๆ)
Business ในส่วนนี้เราจะได้รู้เกี่ยวกับความเป็นมาของสำนักพิมพ์ we learn และหลักคิดการทำธุรกิจที่ทำให้สำนักพิมพ์ติดอันดับหนึ่งหมวดหมู่หนังสือประเภทฮาวทู จิตวิทยาและ non-fiction
ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้ โดยไม่ต้องละทิ้งสิ่งที่ตัวเองเป็น
หนังสือ small rules
บทเปล่งประกายจากมุมมืดและบทอย่าพยายามเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวคุณ ทั้งสองบทนี้ว่าด้วยเรื่องการเป็นตัวของตัวเอง อย่างในหนังสือได้มีได้เล่าว่าคนในบริษัทส่วนใหญ่เป็นอินโทรเวิร์ต จึงเป็นเรื่องยากในการสร้างคอนเนคชั่น แต่บริษัทไม่จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนความเป็นตัวตนของพนักงาน ดังนั้นจึงต้องมีการดึงศักยภาพด้านอื่นมาทดแทน นั่นก็คือการใส่พลังลงไปในหนังสือหรือผลิตภัณฑ์ วิสัยทัศน์ของบริษัทคือ “ต้องทำให้ลูกค้าที่เดินเข้าร้านหนังสือ หยิบหนังสือของเราเป็นเล่มแรกและปิดการขายให้ได้ตรงนั้น”
สถานการณ์โควิด-19 ทำให้บริษัทหลายแห่งได้รับผลกระทบรวมถึง we learn บริษัทต้องทำการปรับตัวลองทำสิ่งใหม่ ๆ แต่ก็มาถึงจุดที่เริ่มหลงทาง จึงต้องมีการตอบคำถามว่า “แล้วเราเป็นอะไร” วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน การวางแพลนและเริ่มลงมือทำ ไม่มีใครรู้ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรแต่ที่แน่ ๆ คือเราจะไม่หลงทาง
>>> เก่งเลือกสองบทนี้มาสรุปเพราะว่าอินมากกับการเป็นตัวของตัวเอง เอาจริง ๆ เก่งเป็นคนอินโทรเวิร์ตเหมือนกัน มันมีช่วงที่เก่งขึ้นมหาลัยบวกกับอ่านหนังสือธุรกิจแล้วเขาบอกว่าจะรวยได้ต้องมีคอนเนคชั่น ก็พยายามฝืนเข้าสังคม ทำกิจกรรมที่เราก็ไม่ได้ชอบขนาดนั้น หาเพื่อนให้ได้มาก ๆ จนกระทั่งตัวเองเริ่มเหนื่อย (ที่พยายามทำตัวแบบนั้นเพราะคิดว่าการเป็นอินโทรเวิร์ตมันไม่ดี)
เก่งเริ่มตกตะกอนได้ว่า “เรากำลังเป็นสิ่งที่ตัวเราไม่ได้อยากเป็น” ทำความเข้าใจกับคำว่าคอนเนคชั่นใหม่ ว่ามันคือการสร้างเครือข่ายที่มีคุณภาพไม่ใช่ปริมาณ และสิ่งสุดท้ายคือคุณค่าในตัวของเรา ไม่ว่าเราจะเป็นคนประเภทไหนอย่างน้อยเราต้องมีจุดเด่นที่ไม่มีใครสามารถเทียบเทียมเราได้แน่นอน เก่งเชื่ออย่างนั้น
Creativity ส่วนที่คนทำงานต้องอ่าน!! เก่งคิดว่ามีประโยชน์กับคนที่ต้องทำงานใช้ความคิด (แน่ล่ะ ทุกงานใช้ความคิด แต่หมายถึงคนที่ต้องสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ เช่น นักเขียน นักดนตรี) หลักการทำงานเมื่อสมองคิดอะไรไม่ออก พร้อมหลักคิดถ้างานที่เราทำมันไม่ประสบความสำเร็จ เราจะรับมือกับมันยังไงให้ชีวิตไปต่อ
บทจงเลียนแบบ เค้าว่ากันว่าความคิดเจ๋ง ๆ ล้วนมาจากการต่อยอดไอเดียที่เคยมีอยู่แล้ว คุณพูลลาภเล่าว่าช่วงที่ทำหนังสือแรก ๆ เริ่มจากการเลียนแบบ โดยเข้าร้านหนังสือหาเล่มที่โด่งดังแล้วก็เอาไปทำตาม แต่พอจุดหนึ่งเมื่อเราจับทางได้ เราจะเริ่มพัฒนาจนกลายเป็นสไตล์ของเรา กลายเป็นต้นแบบที่ให้คนอื่นเลียนแบบต่อ นี่คือกลไกการทำงานของวงการความคิดสร้างสรรค์
>>> เก่งเลือกบทนี้เพราะให้มุมมองในการทำงานของเก่งแบบใหม่ มันไม่ใช่การคัดลอกผลงานของผู้อื่น เพราะหากคนที่มีปัญญาจริงต้องสามารถต่อยอดสิ่งที่รับชมมาได้ บางงานเก่งก็ได้ไอเดียจากคนอื่น แต่พอเก่งเห็นว่ามีคนเอาไอเดียของเราไปใช้ (ตอนนั้นก็แอบเคืองอยู่บ้าง) ตอนนี้เก่งเริ่มเข้าใจกระบวนการทำงานและอีกอย่างคนที่นำไอเดียไปต่อยอดก็ทำออกมาได้ดีมาก ๆ
People เนื้อหาส่วนนี้จะเกี่ยวกับผู้คนตามชื่อเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หุ้นส่วน ผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจอื่นๆ และหลักคิดการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
บทโลกมันกลมกว่าที่คุณคิด คุณพูนลาภ ได้เล่าว่าในช่วงที่สำนักพิมพ์ยังไม่ได้เป็นที่โด่งดัง โทรไปหาร้านหนังสือขนาดใหญ่ ผลก็คือรอสายนานมาก ที่เป็นเช่นนี้เพราะใคร ๆ ก็มองว่าสำนักพิมพ์ยังใหม่ ขายหนังสือได้ไม่กี่เล่ม อีกไม่นานก็เจ๊ง น้อยคนที่อยากจะลงทุนด้วย แต่สุดท้ายคุณพูนลาภก็พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า we learn เติบโตเพียงใดในระยะเวลา 7 ปี และเรื่องที่พีคก็คือ คนที่เราเคยขอความช่วยเหลือในวันนั้น กลับมาขอความช่วยเหลือในวันนี้ ดังนั้นบทเรียนที่สำคัญคือ “ถ้าสร้างมิตรไม่ได้ ก็อย่าสร้างศัตรู”
>>> บทนี้ก็ชอบมาก แม้จะยังไม่เคยเจอเหตุการณ์นี้กับตัวเอง แต่ก็จะพยายามเตือนใจตัวเองว่าอย่าไปสร้างศัตรูที่ไหนเลย เพราะเราไม่รู้เลยว่าในวันใดวันหนึ่งเราอาจต้องพึ่งพาเขาคนนั้น หรือว่าการที่เราเจอคนที่ประสบความล้มเหลวก็อย่าไปซ้ำเติม เพราะเราก็ไม่รู้เลยว่าในวันหนึ่งเขาอาจจะประสบความสำเร็จ
“วิชาคนตัวเล็ก” แต่ใจใหญ่ (ตามที่นิ้วกลมเขียนคำนิยม) เป็นหนังสือที่ทำให้เห็นความเป็นมาของสำนักพิมพ์ we learn ประสบความสำเร็จและเป็นที่หนึ่งด้านหนังสือจิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง นอกจากนี้ยังใส่วิธีคิดที่ช่วยให้คนธรรมดาทั่วไปสามารถทำสิ่งที่ใหญ่เกินตัวได้ ปรัชญาที่ใช้ในการดำเนินชีวิต และการทำงานร่วมกับผู้อื่นในสังคม
สุดท้ายนี้ คุณพูนลาภอยากให้หนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนตะเกียงในเรื่อง “คนตาบอดกับตะเกียง” ที่ช่วยส่องแสงท่ามกลางความมืด ส่วนเรื่องราวรายละเอียดจะเป็นยังไง เก่งอยากให้ทุกคนได้ลองอ่านในบทส่งท้ายของหนังสือเล่มนี้นะคะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา