29 ก.ย. เวลา 12:00 • หนังสือ

หนังสือ FOUR PERFECTIONISTS แด่คุณ...ที่อยากให้ทุกอย่างเพอร์เฟกต์

เพอร์เฟ็คต์ชันนิสต์ (Perfectionism) เป็นลักษณะบุคลิกภาพที่ผู้คนมีความต้องการและคาดหวังให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ ทั้งในเรื่องส่วนตัว การทำงาน และความสัมพันธ์ ความคาดหวังนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงมาตรฐานที่พวกเขาตั้งให้ตัวเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความคาดหวังจากผู้อื่นด้วย
ในโพสต์นี้จะพาทุกคนเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับเพอร์เฟ็คต์ชันนิสต์กับหนังสือ FOUR PERFECTIONISTS แด่คุณ...ที่อยากให้ทุกอย่างเพอร์เฟกต์ ซึ่งจะเปิดเผยวิธีการรับมือและมองความสมบูรณ์แบบในมุมมองใหม่ ที่อาจช่วยให้คุณยอมรับความไม่สมบูรณ์ได้มากขึ้น
ผู้เขียนหนังสือมีทั้งหมด 3 ท่าน ได้แก่ อีดงกวี ศาตราจารย์ประจำสาขาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยยอนเซ ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องความสมบูรณ์แบบนิยม โรคผัดวันประกันพรุ่ง ความรู้สึกถึงคุณค่าตัวเอง, ซนฮาริม จบปริญญาเอกสาขาจิตวิทยาการปรึกษา จากมหาวิทยาลัยยอนเซ ศึกษาเกี่ยวกับความสมบูรณ์แบบนิยม และสุขภาพทางอารมณ์ และคิมซอยอง กำลังศึกษาปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา จากมหาวิทยาลัยยอนเซ ศึกษาความสมบูรณ์แบบนิยม ความหดหู่ในความสัมพันธ์ของผู้ใหญ่ และสิ่งที่ส่งผลให้ทำร้ายร่างกายตนเอง เป็นต้น
หนังสือมีทั้งหมด 4 บท เราจะได้รู้จักและเข้าใจเกี่ยวกับคนที่แสวงหาความสมบูรณ์แบบมากขึ้น ทำให้รู้ปัจจัยที่หล่อหลอมให้เขากลายเป็นคนแบบนี้ และสุดท้ายเราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการเปลี่ยนความเพอร์เฟ็คต์ชันนิสต์ให้กลายเป็นคนที่ยอดเยี่ยมขึ้นแบบมีความสุข
มุมมองเกี่ยวกับเพอร์เฟ็คต์ชันนิสต์ทั้ง 5
เพอร์เฟ็คต์ชันนิสต์มีทั้งแง่มุมด้านบวกและด้านลบ ในอดีตได้มีการศึกษาเกี่ยวกับมุมมองของเพอร์เฟ็คต์ชันนิสต์ซึ่งได้มาทั้งหมด 5 มุมมอง ดังนี้
[มุมมองที่ 1] ศาสตราจารย์เดวิด เบิร์นส์ ให้นิยามในด้านลบ โดยมองว่าเป็นลักษณะของบุคคลที่ชอบกำหนดมาตรฐานระดับสูง ประเมินตนเองยึดติดกับผลลัพธ์เท่านั้น
[ลักษณะ] ทุกอย่างต้องเป็นตามที่คิด ต้องมีการวางแผน ตรวจสอบอย่างเคร่งครัด ไม่มีคำว่า “ทำไม่ได้”
[มุมมองที่ 2] กอร์ดอน เฟลตต์ และพอล ฮิวอิตต์ มองว่าความสมบูรณ์แบบไม่ได้เฉพาะในปัจเจกบุคคล แต่มีถึง 3 รูปแบบ ดังนี้
มุ่งต่อตนเอง: พูดว่าตนเองเป็นเพอร์เฟ็คต์ชันนิสต์ ทำงานไม่หยุดจนกว่าจะเสร็จ
มุ่งต่อคนอื่น: โกรธเมื่อคนอื่นไม่เป็นตามที่หวัง
สังคมกำหนด: หนักใจเมื่อคนอื่นคาดหวังในผลงานของเรา ไม่กล้าปฏิเสธเมื่อคนอื่นขอความช่วยเหลือ
[มุมมองที่ 3] ศาตราจารย์โรเบิร์ต สเลนีย์ มองว่ามี 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่
มาตรฐานสูง: ทำให้ดีที่สุดทุกเรื่อง
ระเบียบ: เป็นคนมีระเบียบ สะอาด
ความไม่สอดคล้องกัน: เป้าหมายสูงแต่ทำไม่ได้
[มุมมองที่ 4] ศาตราจารย์เดวิด ดันคลีย์ ศาสตรจารย์เคิร์ก แบลงก์สไตน์ มองว่ามี 2 องค์ประกอบหลัก คือ กำหนดมาตรฐานของตัวเองสูงและมีความกังวลเกี่ยวกับการประเมินเชิงลบ
[มุมมองที่ 5] ทีมวิจัยของศาสตราจารย์แรนดีย์ ฟรอสต์ มองว่ามี 6 องค์ประกอบหลัก ได้แก่
1. กังวลเกี่ยวกับความผิดพลาดเกินเหตุ
2. เจ้าระเบียบ
3. ความคาดหวังของพ่อแม่
4. คำวิจารณ์ของพ่อแม่
5. มาตรฐานความสำเร็จที่สูง
6. ความสงสัยในสิ่งที่ทำ
ปัจจัยที่ทำให้กลายเป็นเพอร์เฟ็คต์ชันนิสต์
การแสวงหาความสมบูรณ์แบบแม้จะไม่ได้มีการยืนยันว่าเป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่ส่วนใหญ่แล้วคนที่เลี้ยงดูในวัยเด็กย่อมมีผลต่อพฤติกรรมในอนาคต โดยคนที่มีผู้เลี้ยงดูคอยกดดัน คาดหวัง และวิจารณ์เด็กบ่อยๆ เมื่อเด็กโตขึ้นมักมีแนวโน้มเป็นคนที่แสวงหาความสมบูรณ์มากขึ้น หรือบางคนอาจเกิดจากนิสัยส่วนตัว เช่น กังวลความผิดพลาดมากเกินไป มีมาตรฐานสูง สงสัยในสิ่งที่ทำ ปัจจัยทั้งหมดนี้ล้วนมีความสัมพันธ์กัน
เพอร์เฟ็คต์ชันนิสต์ที่มีความสุข
ว่ากันว่าในทุกอาชีพย่อมต้องมีคนประเภทเพอร์เฟ็คต์ชันนิสต์ แต่จะเป็นแบบมีความสุขหรือไม่มีความสุขมักดูได้จากผลลัพธ์ของงานและการใช้ชีวิตของพวกเขา ถ้าคุณเป็นเพอร์เฟ็คต์ชันนิสต์ที่ไม่มีความสุข จะทำให้มีชุดความคิดในด้านลบ ตั้งเป้าหมายสูงเกินไป โทษตัวเองเมื่อล้มเหลว ความคิดและพฤติกรรมเหล่านี้หลอมรวมกลายเป็นวงจรอุบาทว์
เพอร์เฟ็คต์ชันนิสต์ที่มีความสุขมีคุณสมบัติ ได้แก่
- มีความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมาย
- รู้จักยืดหยุ่นในกระบวนการ
- มองความล้มเหลวในเชิงบวก
หากเราทำความเข้าใจความสมบูรณ์แบบของตัวเองและใช้มันเป็นจุดแข็ง จะทำให้เรากลายเป็นแสวงหาความสมบูรณ์แบบที่มีความสุข
เพอร์เฟ็คต์ชันนิสต์ 4 แบบ เกิดจากการแบ่งคนเป็น 4 ประเภท ระหว่างการมุ่งเน้นการควบคุมตนเอง(เน้นพัฒนากับเน้นป้องกัน) และที่ตั้งแห่งการประเมิน(ภายในกับภายนอก)
[โหยหาการยอมรับ]
(จุดแข็ง) เป็นมิตร อ่านสถานการณ์เก่ง รู้สึกมั่นใจเมื่อได้รับคำชม
(จุดอ่อน) ใส่ใจคนอื่นมากเกินไป กังวลเมื่อไม่ได้รับการยอมรับ โลภงาน
(วิธีพัฒนา) หาสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับตัวเอง มุ่งความสนใจไปที่ตัวเองมากกว่าคนอื่นบ้าง
[นักสู้รอบสุดท้าย]
(จุดแข็ง) แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี ทำงานเสร็จเร็ว
(จุดอ่อน) ส่งงานช้าหรืออาจส่งเลยกำหนด มีโอกาสทำงานผิดพลาดง่าย
(วิธีพัฒนา) สะสมประสบการณ์ความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเอาชนะนิสัยการผัดวันประกันพรุ่ง
[มุ่งสู่ความปลอดภัย]
(จุดแข็ง) ตั้งใจทำงาน ละเอียด รอบคอบ เป็นคนน่าเชื่อถือ
(จุดอ่อน) ไม่รับคำชม สัมพันธภาพกับผู้อื่นน้อย พลาดโอกาสดีๆ
(วิธีพัฒนา) เน้นการพัฒนาเรื่องการรับมือกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและความยืดหยุ่นในโอกาสที่ได้รับมาแบบไม่คาดคิด
[มุ่งสู่การเติบโต]
(จุดแข็ง) มีความเป็นผู้นำ มั่นใจ ตัดสินใจได้อย่างกล้าหาญ
(จุดอ่อน) ไม่ชอบความขัดแย้ง เบื่อหน่ายง่าย บางคนอาจมองว่ามีความยโสโอหัง
(วิธีพัฒนา) อย่าแสดงความเบื่อหน่าย ควรแสดงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ใส่ใจความคิดเห็นของผู้อื่น
หนังสือ FOUR PERFECTIONISTS แด่คุณ...ที่อยากให้ทุกอย่างเพอร์เฟกต์ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้คุณเข้าใจตัวเองและสามารถจัดการกับความคาดหวังได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงยอมรับความไม่สมบูรณ์ที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ว่าคุณจะเป็นคนประเภทไหน จงอย่าลืมว่าทุกคนมีจุดแข็งของตนเอง หากสามารถดึงออกมาใช้ได้อย่างถูกต้องก็จะได้ชื่อว่าเป็น “คนแสวงหาความสมบูรณ์แบบที่มีความสุข”

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา