7 ต.ค. 2024 เวลา 00:01 • ประวัติศาสตร์
จีน

ประเทศจีน ตอนที่ 5 ศึกสายเลือด

ตอนนี้.. เรายังคงติดตามกันต่อที่ “องค์จักรพรรดิคังซี” ถึงแม้ว่าจะปราบกบฏที่เกาะไต้หวัน คือ “กบฏเจิงจิง“ ได้เป็นผลสำเร็จแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีอีกหนึ่งพื้นที่ซึ่งถือว่า ”เป็นหอกข้างแคร่“ ของราชวงศ์ต้าชิงในเวลานั้นด้วย ก็คือ “ชนเผ่ามองโกล” โดยก่อนหน้าที่ต้าชิงจะเข้ามาปกครองแผ่นดินจีนนั้น “ราชวงศ์หยวน” ที่ก่อตั้งโดยชาวมองโกลเป็นผู้ครอบครองอยู่ ได้เกิดทำสงครามรบพุ่งจนพ่ายแพ้แก่ชาวแมนจู
ซึ่งก็คือ “ราชวงศ์ชิง” หลังจากการล่มสลายของ “ราชวงศ์หยวน”แล้ว พวกเขาได้อพยพ แยกย้ายเป็นกลุ่มก้อน โดยอยู่กระจัดกระจายไปทั่วพื้นที่ราบสูงทางตอนเหนือของจีน แม้จะเป็นชนเผ่าที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่ก็ไม่น่าไว้วางใจ
1
ทหารมองโกลปะทะกับกองทัพของเจ้าชายรัสเซีย (ภาพโดย Mila Lana ใน Quora)
ที่สุดจำเป็นต้องมีการมอบบรรณาการไม่ว่าจะเป็นให้ ”ต้าหมิง” ก็ดีหรือให้ “ต้าชิง” ที่ปกครองโดย ”ราชวงศ์ชิง“ ก็ดี และในช่วงนั้นเกิดมีกบฏ “ลิกดาน ข่าน ”(Ligdan Khan) ซึ่งถือว่าเป็นข่านหนุ่มของชาวมองโก ได้สถาปนาตัวเองเป็นข่าน ต้องการที่จะประกาศเอกราชจาก”ราชวงศ์ชิง“ ยิ่งทำให้ ”จักรพรรดิคังซี“ จำเป็นต้องมีการกำราบ เพื่อไม่ให้ขยายอำนาจออกไปอีก
ด้วยการส่งกองกำลังทหาร ซึ่งนำกองทัพด้วยพระองค์เองไปกำราบ ”ลิกดาน ข่าน“ จนในที่สุดแล้วสามารถปราบปราม “มองโกล” ซึ่งครั้งหนึ่งเคยกระด้างกระเดื่องได้สำเร็จ และตอนนี้กลับมาอยู่ภายใต้อ้อมอกของ”จักรวรรดิต้าชิง” อีกครั้งหนึ่ง และจะต้องไม่ลืมอีกหนึ่งจักรวรรดิ ซึ่งเป็นจักรวรรดิที่ใหญ่มาก อยู่ทางตอนเหนือของจีน และมีความระหองระแหงกันมาตลอดเวลานั่นก็คือ “รัสเซีย“
เนื่องด้วยบริเวณพื้นที่ชายขอบของรัสเซียทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ และก็เป็นด้านตะวันออกเฉียงเหนือของจีนนั้น เป็นพื้นที่ทับซ้อนกันซึ่งทั้งจีนและรัสเซียต่างเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์และด้วยพื้นที่อันกว้างใหญ่นี้ มีผืนดินหลายส่วนที่เหมาะสำหรับการทำกสิกรรม
แผนที่ประเทศจีนกับรัสเซียทางเหนือ
อีกทั้งในผืนป่าก็ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์ป่าประเภทที่มีขนหนานุ่ม เหมาะสำหรับใช้ทำเครื่องนุ่งห่มราคาแพง จึงเป็นที่ต้องการของทั้งสองฝ่าย และนำไปสู่การสู้รบกันหลายครั้งนับตั้งแต่.. ยุคต้าหมิง
แต่เนื่องจากทั้งจีนและรัสเซียนั้น ต่างก็มีปัญหาภายในที่ต้องสะสาง และใน ปี ค.ศ.1684 หลังปราบกบฏอู๋ซานกุ้ยและพิชิตเกาะไต้หวันได้แล้ว “จักรพรรดิคังซี” จึงตัดสินพระทัยใช้กำลังทหารเพื่อยุติปัญหาชายแดนกับรัสเซียที่คาราคาซังมานาน ได้เกิดการสู้รบเป็นสงครามใหญ่ยาวนานถึง 5 ปี
จนกระทั่งใน ปี ค.ศ.1689 พระเจ้าซาร์ปีเตอร์ที่ 1 และ ซาร์อิวานที่ 5 ผู้ครองราชย์ร่วมกัน ได้ส่งทูตมาเจรจาสงบศึกกับต้าชิงถึงกรุงเป่ยจิง โดยฝ่ายรัสเซียยอมรับข้อเสนอในการเปิดเจรจาเกี่ยวกับปัญหาพรมแดนของสองฝ่าย
พระเจ้าซาร์ปีเตอร์ที่ 1 และ ซาร์อิวานที่ 5 แห่งรัสเซีย
ต่อมา“จักรพรรดิคังซี” ได้ส่งขุนนางไปทำสนธิสัญญากับฝ่ายรัสเซียที่เมืองเนอชินส์ (Nerchinsk) ซึ่งอยู่ตรงพรมแดนของสองฝ่ายโดยสนธิสัญญานี้เรียกว่า “สนธิสัญญาเนอชินส์”(Nerchinsk Treaty) โดยเนื้อหาในสนธิสัญญานั้น
ระบุว่า ” รัสเซียได้ยกเลิกเขตปกครองทางตอนเหนือของแม่น้ำอามูร์ และยอมให้ต้าชิงมีอำนาจเหนือพื้นที่ในหุบเขาลุ่มแม่น้ำอามูร์ไปจนถึงชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก “ สรุปเป็นอันว่า.. ทรงสามารถยุติปัญหาความขัดแย้งกับ “รัสเซีย” ได้เป็นผลสำเร็จ
ถึงแม้จะมองว่า ”รัชสมัยคังซี“ เป็นรัชสมัยที่มีความราบรื่น เพราะนโยบายการปกครองขององค์จักรพรรดิแมนจูนั้น ได้มีการลงพื้นที่เพื่อไปเยี่ยมเยียนอาณาประชาราษฎร์อยู่หลายครั้ง ทรงมีปฏิสันถารกับข้าราชการในพื้นที่ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ทรงขอให้เข้าใจหลักการปกครองแบบต้าชิงด้วย ซึ่งจะช่วยให้สามารถอยู่ร่วมกับชาวฮั่นได้เป็นอย่างดี
1
จักรพรรดิคังซีในวัย 45 ปี เขียนเมื่อ ค.ศ. 1699
จวบจนถึงในช่วงปลายรัชกาล เกิดมีประเด็นสำคัญขึ้นมา เพราะว่า “จักรพรรดิคังซี” นั้นทรงมีพระราชโอรสหลายพระองค์ และพระราชโอรสหลายพระองค์นี้ ก็ล้วนแต่มีความมักใหญ่ใฝ่สูงเป็นอย่างยิ่ง ถ้าหากมองหรืออ่านในประวัติศาสตร์แล้วจะพบว่า “จักรพรรดิคังซี” ทรงมีการแต่งตั้งองค์รัชทายาทไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ต้นรัชกาลเลยทีเดียว
โดยที่จำเป็นต้องแต่งตั้งองค์ชายรอง หรือองค์ชาย 2 ซึ่งมีชื่อว่า "อิ้นเหริง" (Yinzhen) เป็นรัชทายาท และถ้าถามว่าองค์ชาย ใหญ่ หรือองค์ชาย 1 หายไปไหนล่ะ คำตอบคือ องค์ชาย 1 เนี่ยเป็นพระโอรสที่ไม่ได้เกิดจากหญิงสูงศักดิ์ ดังนั้นด้วยคุณสมบัตินี้เอง จึงทำให้ไม่สามารถที่จะรับพระราชบัลลังก์ต่อไปได้
2
ในขณะที่พระมารดาขององค์ชายรองนั้น เป็นหลานสาวของ ”สั่วหนี“ ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการอาวุโสที่สุดในรัชกาลก่อน และมีกองทัพธงขาวอยู่ในมือ ดังนั้นเมื่อมีการแต่งงานเกิดขึ้นแล้ว จึงเป็นเรื่องของการสร้างสมดุลอำนาจทางการเมือง ”จักรพรรดิคังซี“ เองก็ต้องการกำลังทหารของกองทัพธงขาวสนับสนุนด้วย จำเป็นที่จะต้องยกระดับมเหสีของตนเอง ซึ่งก็คือหลานสาวของ ”สั่วหนี“ ขึ้นมา
1
องค์ชาย 2  อิ้นเหริง
นอกเหนือจากนี้ยังได้มีการสัญญาต่อกันว่า.. หากต่อไปภายหน้ามีโอรสด้วยกัน โอรสนั้นจะต้องเป็น “องค์รัชทายาท” นั่นหมายความว่า.. ได้มีการแต่งตั้งรัชทายาทไว้แต่แรกแล้ว แต่เวลานั้นองค์ชายรอง"อิ้นเหริง" ยังทรงพระเยาว์มาก และพระองค์เองก็ยังไม่รู้ ”อุปนิสัยใจคอขององค์ชายรอง“ แม้แต่น้อย เมื่อกาลเวลาผ่านไปองค์ชายรองเติบโตขึ้น และรู้ตัวแล้วว่า
” พระองค์นั้นยังไงก็ได้ครองบัลลังก์เป็นพระจักรพรรดิองค์ต่อไปอย่างแน่นอน “ จึงได้ทรงมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหลากหลายประการ ซึ่งทำให้ ”จักรพรรดิคังซี“ นั้นเสียพระทัยเป็นอย่างมาก เช่น ในช่วงที่พระองค์นั้นยกทัพไปปราบกบฏ ”ลิกดาน ข่าน“ (Ligdan Khan) พอเสด็จกลับมาได้พบว่า.. “ องค์ชายรองพยายามที่จะสวมชุดมังกร และนั่งบนบัลลังก์มังกร “ ถ้าแปลเป็นภาษาชาวบ้านก็คือว่า ” อยากให้องคังซี ซึ่งเป็นพ่อตัวเองนั้นสวรรคตโดยเร็วที่สุด”
นำมาซึ่งความเสียพระทัยของ “จักรพรรดิคังซี” เป็นอย่างยิ่ง จึงได้มีการปลดองค์ชายรองจากตำแหน่งรัชทายาท แต่หลังจากนั้นไม่นาน ทรงหวนนึกถึงคำสัญญาที่มีต่อมเหสีองค์แรกว่า.. “ยังไงก็ตามโอรสองค์นี้จะต้องเป็นรัชทายาท” จึงจำเป็นต้องมีการแต่งตั้งองค์ชายรองให้กลับมาเป็นรัชทายาทอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นครั้งที่ 2
ซฺหวินจวิ้นหวัง พระนามเดิมอิ้นที องค์ชาย 14 และ องค์ชาย 8 ยฺหวิ่นซื่อพระนามเดิม อิ้นซื่อ
สำหรับองค์ชายที่เหลืออยู่นั้น ซึ่งมีความมักใหญ่ใฝ่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์ชาย 4 ,องค์ชาย 14 และองค์ชาย 8 ซึ่งทั้ง 3 พระองค์นี้ รู้ตัวว่า เป็นคนโปรดของพระราชบิดา จึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้องค์ชายรองนั้น หลุดออกจากการเป็นรัชทายาทให้ได้
และในที่สุดก็เกิดเรื่องขึ้นมาจนได้นั่นคือ.. เหตุการณ์ที่ องค์ชายรองใช้จังหวะที่ “จักรพรรดิคังซี”ไม่อยู่ ไปร่วมหลับนอนกับพระสนมของพระชนก จึงเป็นเหตุให้ต้องถูกปลดออกอีกเป็นครั้งที่ 2
ดังนั้น.. เมื่อใดก็ตามที่มีผู้ศึกษาประวัติศาสตร์จีน หรือดูหนังจีน มักจะมีคำที่กล่าวเปรียบเปรยว่า.. “ แต่งตั้ง 2 ครั้งและปลด 2 ครั้ง ” ซึ่งก็หมายถึง “องค์ชายรองอิ้นเหริง” นั่นเอง และช่วงเวลาที่เกิดความไม่แน่นอนในราชสำนักนั้น เป็นช่วงยุคปลายรัชสมัยของ “ จักรพรรดิคังซี “
ตัวพระองค์เองยังไม่สามารถที่จะตัดสินพระทัยได้ว่า.. แล้วจะให้องค์ชายคนใด?? เป็นพระจักรพรรดิองค์ต่อไป ณ เวลานั้น มีองค์ชาย 4 และองค์ชาย 14 ซึ่งทั้ง 2 พระองค์นี้ เป็นพี่น้องจากพระราชมารดาองค์เดียวกัน
จักรพรรดิยงเจิ้ง (องค์ชาย 4)
หมายความว่า ”ทรงเป็นพี่น้องสายเลือดเดียวกัน“ แต่ทั้ง 2 พระองค์นี้ไม่ลงรอยกัน เพราะรู้ดีว่า จะมีเพียงแค่ ”หนึ่ง“ เดียวเท่านั้น ที่ได้ครองบัลลังก์เป็นพระจักรพรรดิองค์ต่อไป ส่วนอีกหนึ่งพระองค์คือ องค์ชาย 8 ซึ่งได้ร่วมมือกับองค์ชายคนอื่นๆ ในการที่จะก้าวขึ้นสู่อำนาจ
ใครก็ตามที่เคยได้ดูหนังจีนที่มีชื่อว่า ”ศึกสายเลือด“ แล้วจะรู้ว่า..”จักรพรรดิคังซี“ ก็ไม่ได้มีการประกาศออกมาว่า ใครจะเป็นผู้สืบทอดบัลลังก์ของพระองค์ต่อไป แต่มีการเขียนพินัยกรรมเอาไว้ว่า จะมอบให้กับองค์ชายคนใด โดยการผูกพระราชโองการนี้ไว้ที่ขื่อใต้เพดานในพระราชวังต้องห้าม ก็คือ ที่บริเวณท้องพระโรงใหญ่นั่นเอง
ซึ่งในเวลานั้นจะไม่มีใครล่วงรู้ แต่เรื่องราวในหนังบอกว่า ได้มีการเขียนเอาไว้ว่า ”องค์ชาย 14 คือผู้ได้รับการแต่งตั้ง “ และหลังจากนั้น ก็มีผู้ไปแต้มแก้ไขตัวอักษร ส่วนองค์ชาย 4 กับพวกได้มีการส่งสายลับเข้าไปเพื่อนำราชโองการลงมา และแก้ไขราชโองการด้วยการเติมตัวอักษรเข้าไป 2 ขีด จากองค์ชาย 14 เป็นองค์ชาย 4 แทน
หลังป้าย "正大光明-เจิ้งต้ากวงหมิง" ในพระตำหนักเฉียนชิงกง คือที่เก็บ “พินัยกรรมลับ” แต่งตั้งรัชทายาท, ภาพจักรพรรดิผู่อี๋ ปี 1917 (ภาพจาก Wikimedia Commons)
แต่นักประวัติศาสตร์จีนสันนิษฐาน ในยุคสมัยของต้าชิงเนี่ยไม่ว่าการทำอะไรก็ตามจำเป็นต้องมีการทำสำเนาคู่ฉบับ 1 ฉบับเป็นภาษาฮั่น และอีก 1 ฉบับเป็นภาษาแมนจู ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการเปลี่ยนราชโองการ 2 ฉบับ เพราะตามภาษาแมนจูการแก้จากคำว่า องค์ชาย 14 เป็นองค์ชาย 4 นั้น ไม่สามารถทำได้ง่ายๆ
การทำเป็น 2 สำเนา จะเห็นได้ชัดเจนยืนยันซึ่งกัน และกันว่า ฉบับไหนเป็นฉบับจริง ดังนั้นนักประวัติศาสตร์จีนให้ความเห็นตรงกันว่า.. เป็นความตั้งใจของ ”จักรพรรดิคังซี“ ในการที่จะตั้ง องค์ชาย 4 ”อิ้นเจิน“
ซึ่งก็คือพระนามเดิมของ "จักรพรรดิยงเจิ้ง" (Yongzheng) เป็นจักรพรรดิองค์ต่อไป เป็นผู้สืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์อย่างชัดเจนด้วย มีคำถามว่า.. เหตุไฉนจึงเลือกที่จะแต่งตั้งองค์ชาย 4
สำหรับคำตอบนั้นเข้าใจว่า พระองค์นั้นมองทะลุไปถึงหลานของตัวเอง ซึ่งในบรรดาหลานของตัวเองที่เก่งที่สุดก็คือ ลูกขององค์ชาย 4 คนนี้ซึ่งมีชื่อว่า “หงลี่” ซึ่งต่อมาก็คือ “พระจักรพรรดิเฉียนหลง” ย่อมแสดงให้เห็นถึง.. สายพระเนตรที่ยาวไกล
1
พระจักรพรรดิเฉียนหลง
ทรงเชื่อว่า จากรัชกาลคังซี สู่รัชกาล ยงเจิ้ง ถัดจากนั้นก็จะเป็นรัชกาลของเฉียนหลง เป็นการมองคาดการณ์ไว้สำหรับอนาคตของลูกหลาน และทรงครองราชย์เป็นเวลาถึง 61 ปี
และในปี ค.ศ. 1722 “จักรพรรดิคังซี” เสด็จสวรรคต พระชนมายุ 68 ชันษา โดยผู้ที่มาสืบทอดอำนาจต่อจากพระองค์ก็คือ ”องค์ชาย 4 หรือ จักรพรรดิยงเจิ้ง “ ตามพระราชดำริของพระองค์นั่นเอง และองค์จักรพรรดิยงเจิ้ง ทรงครองราชย์อยู่ 13 ปี ก็นำไปสู่ยุคสมัยของรัชกาลที่มีชื่อว่า “ จักรพรรดิเฉียนหลง”
ซึ่งจักรพรรดิเฉียนหลงนั้น อันที่จริงแล้วทรงสามารถที่จะครองราชย์ได้ยาวนานมากกว่า ”พระอัยกา หรือว่าเสด็จปู่ คือจักรพรรดิคังซี“ เหตุเพราะทรงมีพระชนม์ชีพยืนยาวถึง 88 ชันษา
แต่ว่า หลังจากที่ทรงครองแผ่นดินได้ 60 ปี แล้วพระองค์บอกว่า ยาวนานเพียงพอแล้วต้องการที่จะมอบพระเกียรติยศให้กับเสด็จปู่ จึงได้มีการสละราชสมบัติและมอบบัลลังก์ของตนเองนั้นให้กับพระโอรส ก็คือ “จักรพรรดิเจียชิ่ง” ซึ่งเป็นพระจักรพรรดิองค์ต่อมา โดยที่พระองศ์ก็นั่งเป็นพระชนกมีอำนาจในการบริหารราชการบางส่วนอยู่ต่อไปอีก 2 ปี จึงสวรรคต
1
จักรพรรดิเจียชิ่ง
นี่ก็คือเรื่องราวของ จักรพรรดิคังซี(ปู่) , จักรพรรดิยงเจิ้ง(ลูก) และจักรพรรดิเฉียนหลง(หลาน) โดยที่ทั้ง 3 รัชกาลนี้ถือได้ว่า “เป็นรัชกาลที่มีความรุ่งเรืองที่สุดในสมัยราชวงศ์ชิง” นอกเหนือไปจากการกระชับอำนาจ การสร้างความสมดุลย์กลมกลืนกันระหว่างชาวฮันและชาวแมนจู
รวมทั้งการเริ่มต้นรับวิทยาการจากชาวตะวันตก สงครามเริ่มน้อยลง ยังมีเรื่องของความผาสุกของคนในชาติ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกสิ่งในโลกนี้ ก็เป็นไปตามพุทธวจน คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็นธรรมดา ไม่มีอะไรคงทน
เพราะในสมัยต่อมาอีกร้อยกว่าปี คือ สมัยรัชกาล ”จักรพรรดิเต้ากวัง“ อังกฤษซึ่งมีแสนยานุภาพมหาศาล ได้เริ่มต้นเข้ามาทำสงครามกับจีน และทำให้จีนนั้นเกิดวิกฤตอยู่ในช่วงขาลงจนนำไปสู่การสิ้นสุดของราชวงศ์ชิง ในปี ค.ศ.1911
ฝากกดถูกใจ กดแชร์ เพื่อเป็นกำลังใจให้ผมด้วยนะครับ
Reference ตอนที่ 5 ศึกสายเลือด

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา