9 ต.ค. เวลา 10:06 • อาหาร

ความล้มเหลวแสนอร่อย: ถั่วงอกผัดกับเต้าหู้และกุ้ง

Are unsuccessful researches valuable too? I thought that unsuccessful research at least shows what doesn't work and allows other scientists not to repeat a mistake that was already made.
(การวิจัยที่ไม่ประสบความสำเร็จก็มีคุณค่าเช่นกันหรือไม่ เนื่องจากการวิจัยที่ไม่ประสบความสำเร็จอย่างน้อยก็แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ไม่ได้ผล และช่วยให้นักวิทยาศาสตร์คนอื่นไม่ทำผิดซ้ำ...)
Quora
เป็นเวลาเกือบสองสัปดาห์ที่ผู้เขียนพิเรนทร์(?) ทดลองเพาะถั่วงอกกับทัปเปอร์แวในตู้เย็น ด้วยความคาดหวังว่า อุณหภูมิ -3-4 °C ในตู้เย็นคงทำให้การเพาะปลูกได้ผลผลิตใกล้เคียงกับพืชเมืองหนาว ตู้เย็นเมื่อปิดจะมืดสนิท และหนาวเย็น ถั่วเขียวที่กลายเป็นถั่วงอกก็น่าจะขาวดั่งหิมะเพราะแทบจะไม่ได้สัมผัสแสง แถมรากและลำต้นก็คงจะอวบอ้วนน่ากิน รสชาติก็น่าจะหวานกรอบ แต่เกือบทั้งหมดนี้ไม่เป็นไปตามคาด แต่ผลที่ออกมาก็ไม่น่าจะเข้าข่ายล้มเหลว แม้ผลการทดลองต่างออกไปจากสมมุติฐาน แต่ยังคงเป็นผลที่น่าพอใจ
ถั่วงอกในจานผัดนี้ได้จากการเพาะเมล็ดถั่วเขียวในทัปเปอร์แวกรุด้วยผ้าชุบน้ำและเก็บเอาไว้ในชั้นแช่ผักผลไม้ในตู้เย็น
ลักษณะการงอกของถั่วงอกเพาะในทัปเปอร์แวที่เก็บไว้ในตู้เย็นเป็นวันที่ 4 มีอัตราการงอก 100 เปอร์เซ็นต์ แต่พัฒนาการการเติบโตยังคงเป็นเช่นนี้จนถึงวันที่ 12 วันที่ผู้เขียนนำมาปรุงอาหาร
ผัดถั่วงอกกับเต้าหู้และกุ้งสด แกล้มกับน้ำพริกมะนาวรสเปรี้ยวนำ รสชาติที่ได้สามารถเข้ากันดี
ภาพโคลสอัพถั่วงอกอายุ 12 วันเมื่อนำมาปรุงอาหารที่มีสัดส่วนการงอกของรากเพียงเล็กน้อย
ความหอมของจานผัดจานนี้ได้จากกระเทียมและพริกไทย ได้ความนุ่มจากเต้าหู้ ได้ความหวานได้จากกุ้ง ส่วนความมันที่ได้จากถั่วงอกนั้นมีมากกว่าทุกสัมผัส
แม้จะเคยเพาะถั่วเขียวเป็นถั่วงอกกินเองมาแล้วหลายครั้ง แปลกสุดเท่าที่เคยเห็นเป็นวิธีการของเกษตรกรชาวอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ใช้ฟางข้าวชุบน้ำ ห่อหุ้มเมล็ดถั่วเขียว ยัดไว้ในไหดินเผาและคว่ำปากไหลงกับพื้น นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้ศึกษารายละเอียดการเพาะมาอย่างดีกว่าครั้งก่อนหน้า มีการนำเมล็ดถั่วเขียวแช่น้ำข้ามคืน เพื่อให้อุ้มน้ำพร้อมงอก รวมทั้งแช่น้ำอุ่นกระตุ้นการงอก
ที่สุดของความพยายามเพาะพันธุ์ธัญพืชเมืองร้อนให้เป็นพืชเมืองหนาว พบอัตราการงอก 100 เปอร์เซ็นต์ แต่พัฒนาการการงอกเป็นอย่างที่เห็น ส่วนรสชาติ โดยรวมเนื้อถั่วฟู อร่อยดี ผิวสัมผัสไม่แน่นเหมือนถั่วเขียวนึ่ง ไม่ร่วนเหมือนถั่วเขียวต้มน้ำตาล ไม่กรอบและเนื้อแกร่งอย่างถั่วเขียวคั่วที่กินกับข้าวเหนียวมูล ไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว และไม่ต้องเคี้ยวต้นอ่อนที่รสออกขมติดปลายลิ้นนิดๆ
รสชาติโดยรวมไม่กรอบสดชื่นเหมือนเคี้ยวถั่วงอกแบบที่เป็นต้นอ่อนสมบูรณ์ แต่จะออกมัน ข้น นุ่มนวล กลิ่นแป้งชัดเจน หอมยวนจมูก ลักษณะกระเดียดไปทางแกงใบมะรุมอ่อนหรือดอกมะรุมกับถั่วเขียวของคนมอญทางราชบุรี และแกงฟักหรือหัวตาลกับถั่วเขียวของคนไทยพื้นถิ่นแถบกาญจนบุรี
ผลการทดลองเพาะถั่วเขียวให้เป็นถั่วงอก การงอกค่อนข้างพอเพียง คาดน่าจะเกิดจากการช็อกกับอุณหภูมิที่ไม่เคยคุ้น แต่ก็ได้เม็ดถั่วเขียวงอกซึ่งผลการวิจัยพืชในลักษณะเดียวกันพบว่าให้วิตามินสูงมากกว่าเมล็ดธัญพืชปกติ นักวิชาการพบว่า เมื่อแช่เมล็ดพืชในน้ำเป็นระยะเวลาหนึ่ง เมล็ดพืชจะงอกขึ้น ทำให้เปลือกชั้นนอกฉีกขาดและแตกออก ทำให้ยอดอ่อนแตกออก เมล็ดพืชจะมีสุขภาพดีและมีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น การงอกของเมล็ดพืชตระกูลถั่ว หรือถั่วชนิดต่างๆ จะเพิ่มระดับแร่ธาตุ วิตามิน และโปรตีน
ถั่วงอกมีเอนไซม์ที่มีชีวิตในปริมาณที่สูงผิดปกติ เอนไซม์เหล่านี้ยังช่วยเสริมสร้างสุขภาพระบบย่อยอาหารของเราและช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ถั่วงอกยังมีใยอาหารจำนวนมากซึ่งช่วยควบคุมระบบย่อยอาหาร เพิ่มการไหลเวียนโลหิตโดยรักษาจำนวนเม็ดเลือดแดงด้วยธาตุเหล็กและทองแดงจำนวนมาก ถั่วงอกมีใยอาหารสูง ทำให้เรารู้สึกอิ่มนานขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยยับยั้งการหลั่งของฮอร์โมนเกรลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกหิว จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก
นอกจากนี้ การงอกของถั่วยังช่วยเพิ่มระดับวิตามินซีซึ่งทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพและเสริมสร้างสุขภาพภูมิคุ้มกันของเรา การงอกยังช่วยให้สุขภาพดวงตาและการมองเห็นของเราดีขึ้น
ดังจะพบว่า ถั่วงอกมีคุณสมบัติเป็นด่างในร่างกาย ช่วยควบคุมและรักษาระดับ pH ในร่างกายโดยการลดระดับกรด จึงช่วยป้องกันความเป็นกรดในร่างกาย รวมทั้งมีสารต้านอนุมูลอิสระจำนวนมากซึ่งช่วยป้องกันการแก่ก่อนวัย ตลอดจนมีประโยชน์ต่อผิว เส้นผม และเล็บที่แข็งแรงด้วย
โดยสรุปแล้ว ถั่วงอกให้สารอาหารมากกว่าถั่วไม่งอก แม้งานวิจัยจะไม่ได้บอกรายละเอียดว่าต้องงอกแค่ไหนเรียกว่า "งอก" แต่เท่าที่เห็นก็น่าจะพออนุโลมได้ว่า "งอก" รวมทั้งหลักฐานเชิงประจักษ์ คือ รสชาติแสนอร่อย แปลก และแตกต่างจากถั่วงอกทั่วไปโดยสิ้นเชิง กินแต่น้อยได้รสสัมผัสแปลกใหม่ อร่อยแบบหาตัวเทียบยาก แต่หากกินมากก็จะเกิดอาการเอียนเลี่ยนเพราะความมันแบบถั่วๆ ที่เราต่างก็คุ้นเคยกันดี
โฆษณา