18 ต.ค. เวลา 12:26 • หนังสือ

รีวิวหนังสือ Grit : The power of passion and perseverance

“การมีความทรหดคือการก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง การมีความทรหดคือการยึดมั่นในการทำเป้าหมายที่เราสนใจและเต็มไปด้วยจุดมุ่งหมาย การมีความทรหดคือการลงแรงฝึกฝนทำสิ่งท้าทายวันแล้ววันเล่า สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่า ปีแล้วปีเล่า การมีความทรหดคือการล้มลงเจ็ดครั้งแล้วลุกขึ้นมาใหม่แปดครั้ง”
Agela Duckworth
ถ้าจะสรุปสั้นๆ สรุปได้เลยว่า “เป็นหนังสือสร้างแรงบันดาลใจ ความทรหด นิสัยที่ดี แนะแนวให้รู้วิธีการตั้งเป้าหมาย และใช้ความพยายามอย่างถูกต้อง เป็นหนังสือที่ดีมาก ต้องมีติดบ้าน”
Agela Duckworth ผู้เขียนหนังสือ Grit เป็นนักจิตวิทยา ซึ่งคิดค้นทฤษฎีจิตวิทยาของความสำเร็จ โดยมีสมการของความสำเร็จให้เราพิจารณาพร้อมกับยกตัวอย่างของบุคคลต่างๆ มาศึกษา เปรียบเทียบกับสมการของเธอ หัวใจสำคัญของสมการนั้นก็คือ “ความอุตสาหะ” (Perseverance)
เธอยังกล่าวไว้ในหนังสือเกี่ยวกับเรื่องที่พ่อของเธอไม่คิดว่าเธอจะเป็นอัจริยะ ไม่สามารถฉลาดเทียบเท่าไอน์สไตน์ เธอถูกตอกย้ำซ้ำๆ ว่าตนเองไม่ได้เป็นอัจฉริยะ และพ่อกังวลว่าความอ่อนด้อยทางปัญญาของเธอจะจำกัดสิ่งที่เธอสามารถทำได้ในชีวิตนี้ แต่สุดท้ายเธอก็พิสูจน์ให้เห็นด้วยการได้รางวัลแมคอาเธอร์ เฟลโลว์ชิพ หรือบางครั้งก็ถูกเรียกว่า “เงินทุนสำหรับอัจฉริยะ” ซึ่งเป็นผลจากการที่เธอค้นพบว่า “ความสำเร็จในชีวิตของคนเราอาจเกิดจากความหลงใหลและความอุตสาหะมากกว่าพรสวรรค์ที่ติดตัวมาแต่เกิด”
และเธอยังบอกในหนังสือดังกล่าวด้วยว่า “หากมองในระยะยาวความทรหดอาจสำคัญกว่าพรสวรรค์….ความฉลาดในการเรียนรู้ไม่สามารถรับประกันความสำเร็จได้”
เล่มที่ 41
จากการที่ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ผู้นำทั้งจากแวดวงธุรกิจ ศิลปะ กีฬา สื่อ การศึกษา การแพทย์ และกฎหมาย ทำให้ผู้เขียนได้ทราบว่า “บุคคลที่ประสบความสำเร็จนั้นมีความพยายามทำสิ่งที่ตัวเองสนใจและมองว่าสำคัญที่สุดให้สำเร็จ และความพยายามนี้เองที่ทำให้พวกเขารู้สึกอิ่มเอมใจมากพอๆ กับความสำเร็จที่เกิดขึ้นในตอนท้าย แม้ว่าบางสิ่งที่พวกเขาจำเป็นต้องทำจะน่าเบื่อ น่าหงุดหงิดจิตใจ หรือแม้กระทั่งเจ็บปวด พวกเขาก็ไม่เคยคิดที่จะยอมแพ้“
ผู้เขียนยังสรุปอีกว่า “ไม่ว่าจะจะอยู่ในแวดวงไหน ผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงจะมีความมุ่งมั่นตั้งใจซึ่งปรากฏออกมาในสองรูปแบบด้วยกัน รูปแบบแรกคือ พวกเขาจะทำงานหนักและฟื้นตัวจากความล้มเหลวได้เร็วกว่าคนทั่วไป รูปแบบที่สองก็คือ พวกเขาเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าตัวเองต้องการอะไร คนเหล่านี้ไม่เพียงความมุ่งมั่นเท่านั้น แต่ยังมีทิศทางสำหรับก้าวเดินไปข้างหน้าด้วย”
ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “เพราะเหตุใดคนเราถึงยังให้ความสำคัญกับพรสวรรค์กันอยู่ทำไมเราถึงยึดติดกับข้อจำกัดที่ว่าเราจะไปได้ไกลแค่ไหน ทั้งที่พวกเราส่วนใหญ่เพิ่งจะเริ่มต้นเดินทาง เพราะเหตุใดเราถึงจึงทึกทักกันไปเองว่าพรสวรรค์จะเป็นตัวตัดสินว่าเราจะไปได้ไกลแค่ไหนในระยะยาวแทนที่จะเป็นความพยายาม”
ผู้เขียนบอกว่า “คนเรามักจะตัดสินบุคคลที่ประสบความสำเร็จและทำสิ่งน่าทึ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถทำได้ว่า เขาคนนั้นเป็นอัจฉริยะ”
ผู้เขียนอธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า “เราไม่ต้องการนั่งแล้วคอยเฝ้าดูในขณะที่เขาค่อยๆ พัฒนาจากมือสมัครเล่นไปเป็นมืออาชีพ เราอยากเห็นความจริงที่สมบูรณ์แบบในทันที เราชอบความลึกลับมากกว่าความธรรมดา ความทะนงตัวและความรักตัวเองของเราส่งเสริมลัทธิบูชาอัจฉริยะ หากเรามองความเป็นอัจฉริยะว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์แล้ว เราก็จะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น และพบว่าตัวเองไม่ดีพอ“
ผู้เขียนยังยกตัวอย่างบุคคลในประวัติศาสตร์ อย่างเช่น ชาลส์ ดาร์วิน ที่เชื่อว่าความกระหายและการทำงานหนักสำคัญกว่าพรสวรรค์ด้านสติปัญญา และมีคนเขียนอัตชีวประวัติของเขาไว่ว่า “ผมไม่สามารถทำความเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว…ผมขาดพรสวรรค์ในการขบคิดอะไรที่เป็นนามธรรมและต้องใช้หลักเหตุผล…ในแง่หนึ่งก็ต้องบอกว่าความจำของผมแย่มาก แย่จนผมจำวันที่เพียงวันเดียวหรือบทกวีแค่บรรทัดเดียวได้เพียงไม่กี่วัน”
และยังบุคคลมีชื่อเสียงที่ประสบความสำเร็จอีกหลายคน ซึ่งบุคคลที่ผู้เขียนยกตัวอย่างมากมายในเล่มนั้น ต่างเป็นคนที่ไม่ย่อท้อต่อความผิดพลาด และความล้มเหลวของตนเอง แม้ว่าคนเหล่านั้นจะไม่มีแต้มต่อในชีวิต แต่เขามีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือความพยายามและการแก้ไขในสิ่งที่ตัวเองผิดพลาด เช่น
“ผมเป็นไก่รองบ่อน…หากเพื่อนร่วมชั้นสามารถอ่านการบ้านวิชาประวัติศาสตร์ได้จบภายในหนึ่งชั่วโมง ผมจะต้องเผื่อเวลาไว้สองสามชั่วโมง หากผมสะกดคำไม่ได้ ผมก็จะจดบันทึกคำศัพท์ที่ตัวเองสะกดผิดบ่อยๆ ไว้”
ผู้เขียนยังชี้ให้เห็นว่าความทรหดเป็นสิ่งสำคัญในการที่คนเราจะประสบความสำเร็จหากไม่มีความทรหดแล้วแม้คนนั้นจะเป็นบุคคลที่มีพรสวรรค์แต่เมื่อเจอกับอุปสรรคมากมายก็อาจจะล้มเลิกความตั้งใจในการทำตามความฝันไปก่อนก็ได้
และยังชวนให้คิดตามว่า “บ่อยครั้งเพียงใดที่คนเราเริ่มเดินหน้าในเส้นทางหนึ่งแล้วล้มเลิกไปกลางคัน ลองนึกถึงเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันนี้ที่เกิดขึ้นกับการออกกำลังกาย ปลูกผักสวนครัว …หรือการลดน้ำหนักดู มีพวกเรากี่คนที่ริเริ่มทำอะไรใหม่ๆ ด้วยความตื่นเต้นและตั้งใจ ก่อนจะล้มเลิกไปยังถาวรเมื่อพบกับอุปสรรคที่แท้จริงเป็นครั้งแรก…” จริงมากเลยครับ อ่านแล้วจุกเลย
ผู้เขียนยกตัวอย่างบทสนทนาที่เธอพูดกับนักศึกษาเพื่อสื่อให้เห็นถึงความทรหดในการทำตามเป้าหมายว่า “ความเป็นเลิศไม่มีทางลัดการพัฒนาความเชี่ยวชาญและค้นหาทางออกให้กับปัญหาต่างๆ ที่ยากอย่างแท้จริงล้วนต้องใช้เวลา และใช้เวลามากกว่าที่คนส่วนใหญ่คิด…กรุงโรมไม่ได้สร้างภายในวันเดียวหรอกนะ”
ผู้เขียนได้อธิบายองค์ประกอบทางจิตวิทยา 4 องค์ประกอบด้วยกันคือ ความสนใจ การฝึกฝน จุดมุ่งหมาย และความหวัง
ซึ่งหัวข้อที่ผมสนใจมากที่สุดคือ การฝึกฝน ผู้เขียนบอกว่า “ข้อกำหนดพื้นฐานสำหรับการฝึกฝนอย่างจดจ่อมี 4 ประการคือ
1.มีเป้าหมายที่ชัดเจนและท้าทาย
2.พยายามและจดจ่ออย่างเต็มที่
3.เปิดรับคำติชมที่เป็นประโยชน์อย่างทันท่วงที
4.ทำซ้ำอย่างมีการครุ่นคิดและขัดเกลา”
ผู้เขียนบอกว่า “มีงานวิจัยมากมายแสดงให้เห็นว่าหากเราฝึกฝนในเวลาเดียวกันและสถานที่เดียวกันทุกวันจนเป็นกิจวัตร เราแทบไม่ต้องสั่งให้ตัวเองเริ่มฝึกฝน แต่เราจะทำไปเองโดยอัตโนมัติ”
ปกติผมจะไม่ค่อยชอบสำนวนการเขียนของฝรั่ง แต่เล่มนี้เป็นสำนวนการเขียนที่อ่านง่าย แม้จะมีสำนวนการเขียนฝรั่งบ้างก็ยังเข้าใจง่าย อาจจะเป็นเพราะผู้เขียนเป็นลูกครึ่งจีนอเมริกัน จึงทำให้คนเอเชียอย่างเราก็อ่านแล้วสนุกได้
ผู้เขียนพูดถึงเนื้อหาในหนังสือ Mindset : The New Psychology of Success ของแครอล นักจิตวิทยาซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานกับผู้เขียนด้วย โดยเธอกล่าวถึงกรอบความคิดแบบตายตัวและกรอบความคิดแบบพัฒนาได้
ซึ่งแครอลได้อธิบายเรื่องนี้ไว้มีสาระสำคัญว่า คนที่มีกรอบความคิดแบบตายตัวจะมีความเชื่อว่า ความฉลาดและความสามารถในการสร้างสรรค์เป็นเรื่องที่มีมาแต่กำเนิด ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้มากนัก ความสำเร็จคือการยืนยันของความฉลาดโดยธรรมชาติที่ทุกคนได้มาไม่เท่าเทียมกัน ล้มเหลวไม่ได้ เพราะความล้มเหลวจะเป็นหลักฐานว่าตนเป็นผู้แพ้ ความพ่ายแพ้ครั้งเดียวสามารถลบล้างและลดคุณค่าความสำเร็จในอดีตทั้งหมด ความพยายามมีไว้สำหรับคนที่ไม่มีความสามารถ ความพยายามทำให้ความเป็นอัจฉริยะแปดเปื้อน
ต่างกับผู้ที่มีกรอบความคิดแบบพัฒนาได้ที่เชื่อว่าคนเราสามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเองได้ เราจะฉลาดขึ้นหากได้รับโอกาสและการสนับสนุนที่ดี รวมถึงมีความพยายามมากพอและเชื่อว่าตัวเองทำได้ ล้มแล้วสามารถลุกขึ้นใหม่ได้และหาทางแก้ไขข้อผิดพลาดของตนเอง
สอดคล้องกับแนวคิดของผู้เขียนที่เห็นว่า “ทัศนคติแบบคนทรหดต้องอาศัยการตระหนักได้ว่าคนเราพัฒนาได้ คนเราเติบโตได้…เราควรสร้างความสามารถในการลุกขึ้นยืนอีกครั้งหลังจากที่ล้มลง“
นอกจากนี้ ผู้เขียนยังมีตัวอย่างการเลี้ยงดูลูกให้มีความทรหดของครอบครัวคนดังหลายคนมาเปรียบเทียบให้เราเห็นว่าการเลี้ยงดูลูกแบบส่งเสริมและแบบเคี่ยวเข็ญสามารถไปด้วยกันได้ หากเราเป็นพ่อแม่ที่มีจิตวิทยาสูง มีความหลงใหลและความอุตสาหะมากในการทำเป้าหมายให้สำเร็จและมีแนวโน้มมากที่จะกระตุ้นให้ลูกเอาอย่างเรา ก็ถือเป็นการเลี้ยงลูกให้มีความทรหดแล้ว
อีกทั้งการส่งเสริมให้ลูกทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมากขึ้นยิ่งส่งผลดีให้ลูกมีผลการเรียนดี มั่นใจมากกว่า มีความทรหด และมีแนวโน้มจะสร้างปัญหาน้อยกว่า
หากใครอยากฟังเรื่อง Grit แบบสรุปสั้นๆ ภายใน 6 นาที ก็ฟังจากที่ผู้เขียนเล่าให้ฟังด้วยตนเองได้ในรายการ Ted Talks ตามลิ้งค์ https://youtu.be/H14bBuluwB8?si=DVq4OBHd0E0xll8w
ผมจะนำคำพูดของโคดี้ โคลแมน ที่ผมชอบในหนังสือเล่มนี้มาเป็นแรงผลักดันในการทำตามเป้าหมายในชีวิต “จงมองโลกในแง่ดีเข้าไว้ เอาชนะความเชื่อในแง่ลบทั้งหลายเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ แล้วก็แค่ลองพยายามดู”
สรุป หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เป็นเพียงการนำคำพูดสละสลวย หรือประสบการณ์ของคนที่ประสบความสำเร็จมาเป็นแรงบันดาลในการทำตามความฝัน แต่เป็นการนำงานวิจัยต่างๆ มาแสดงให้เห็นประกอบกับคำพูดและประสบการณ์ดังกล่าว มีการสังเกต ตั้งสมมุติฐาน ทดลอง และสรุป เหมือนวิทยาศาสตร์ จึงทำให้ข้อมูลที่ผู้เขียนเล่าให้เราฟังนั้นมีความน่าเชื่อถือ และสามารถนำไปปฏิบัติตามได้ ให้ 5 ดาว ⭐️⭐️⭐️⭐️⭐️
ผู้เขียน : Angela Duckworth
ผู้แปล : จารุจรรย์ คงมีสุข
สำนักพิมพ์ : วีเลิร์น
หมวด : จิตวิทยาและพัฒนาตนเอง
ขนาดรูปเล่ม : 143 x 210 x 21 มม.
น้ำหนัก : 435 กรัม
เนื้อในพิมพ์ : ขาวดำ
ชนิดกระดาษ : กระถนอมสายตา
จำนวนหน้า : 368 หน้า ปกอ่อน
ISBN : 9786162873614
หนังสือราคา 340 บาท มี 368 หน้า

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา