Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สองข้างทาง
•
ติดตาม
20 ต.ค. เวลา 13:37 • ท่องเที่ยว
Ryusei Matsuri : เทศกาลบั้งไฟญีปุ่น
. เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสทำตามความตั้งใจที่ตั้งไว้ว่าจะทำหลังเกษียณจากการทำงาน คือ การไปชมเทศกาลบั้งไฟของประเทศญี่ปุ่น ที่เมืองชิชิบุ (Chichibu City) เขตจังหวัดไซตามะ (Saitama Prefecture) อีกครั้งหนึ่งในแบบไม่เป็นทางการเหมือนที่เคยเป็นหัวหน้าคณะจากจังหวัดยโสธรไปร่วมงานนี้มาก่อนหลายครั้ง
. เมืองชิชิบุกับเมืองยโสธร มีประเพณีการจุดบั้งไฟคล้ายคลึงกัน จึงได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์เป็นเมืองคู่แฝดกันมาถึง 30 ปี แล้ว ตั้งแต่ปี 2539 ตั้งแต่เป็นเมืองโยชิดะ (Yoshida town) ซึ่งเป็นเขตการปกครองท้องถิ่นที่มีอิสระในการบริหารจัดการพื้นที่ของตนเอง แต่ต่อมาในเดือนเมษายน 2548 เมืองโยชิดะ ได้ถูกผนวกรวมเข้าไปอยู่ในการปกครองของเมืองชิชิบุ
1
. ขอนอกเรื่องเล่าถึงเกร็ดเรื่องการควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (amalgamation) ของญี่ปุ่น สักเล็กน้อย เพื่อจะได้เข้าใจว่าทำไมเมืองโยชิดะ ถึงไปรวมเข้าอยู่ในเทศบาลเมืองชิชิบุ
. ในประเทศญี่ปุ่นเดิมนั้นมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก โดยในปี พ.ศ.2423 (1880) มีมากถึง 71,314 แห่ง แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2442 (1899) ได้มีการปฏิรูปลดจำนวนเทศบาลลงเหลือเพียง 15,895 แห่ง และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีปฏิรูปรวมเทศบาลต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อลดจำนวนเทศบาลลงจาก 9,868 แห่งในปี พ.ศ. 2496 (1953) เหลือ 3,472 แห่งในปี พ.ศ. 2504 (1961)
. แต่ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2543 (2000) เป็นต้นมา ญี่ปุ่นได้มีการออกกฎหมาย Decentralization Law รวมกฎหมายกว่า 475 ฉบับเข้าด้วยกัน และได้ยกเลิกระบบการมอบอำนาจ (delegated function system) จากส่วนกลาง เป็นให้ท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่โดยตรงภายใต้กฎหมาย และได้มีรวมเทศบาลต่างๆ เข้าด้วยกันอีกครั้งทำให้จำนวนเทศบาลลดลงจาก 3,299 ในปี พ.ศ. 2542 (1999) เหลือ 1,719 ในปี พ.ศ.2555 (2012)
. ถ้าบ้านเรามีการปฏิรูปควบรวมเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2566 มีมากถึง 7,772 แห่ง ให้ลดจำนวนลงได้โดยเฉพาะในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก ก็คงจะดีเพราะจะทำให้ประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่าย มีการใช้ทรัพยากรต่างๆ ได้อย่างประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
. กลับมาเรื่องการไปชมเทศกาลบั้งไฟของประเทศญี่ปุ่นกันต่อ การจุดบั้งไฟของเมืองชิชิบุ นั้นจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับการจุดบั้งไฟของบ้านเรา แก่นสำคัญของการจุดบั้งไฟทั้งของเมืองชิชิบุและของไทยจะเหมือนกันคือ เพื่อเป็นการบูชาเทพเจ้า และเกี่ยวข้องการทำการเกษตร
การจุดบั้งไฟที่เมืองชิชิบุ
. โดยการจุดบั้งไฟของญี่ปุ่นขึ้นไปบนท้องฟ้านั้น ญี่ปุ่นเขาเปรียบบั้งไฟเสมือนมังกร (dragon) เมื่อทะยานขึ้นฟ้าจะส่งเสียงคำรามแสดงถึงพลังความเข้มแข็งออกมา บั้งไฟที่ถูกจุดขึ้นไปก็เพื่อเป็นการแสดงความเคารพบูชาและขอบคุณต่อเทพเจ้าในศาสนาชินโต ซึ่งเป็นลัทธิความเชื่อดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่นที่ได้ประทานความอุดมสมบูรณ์ให้กับการเพาะปลูกข้าวและผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ ก่อนถึงเวลาการเก็บเกี่ยวในฤดูใบไม้ร่วง
. การจุดบั้งไฟของญี่ปุ่นจึงกำหนดไว้ในช่วงเดือนตุลาคม โดยทางเมืองชิชิบุได้กำหนดวันจัดงานที่แน่นอนไว้เป็นวันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนตุลาคมของทุกปี
. ส่วนการจุดบั้งไฟขึ้นไปท้องฟ้าของไทยที่ยโสธร ก็เพื่อเป็นการเคารพบูชาและเป็นสัญญานบอกกล่าวขอฝนไปยังพญาแถนซึ่งเป็นผู้ดูแลการให้น้ำตกลงมาเป็นฝนให้คนบนโลก ให้ทราบว่าถึงเวลาที่จะต้องปล่อยน้ำฝนลงมาเพื่อให้คนได้เตรียมการเพาะปลูก ดังนั้นการจุดบั้งไฟของไทยและยโสธรจึงเป็นหนึ่งในประเพณีของชาวอีสานเรียกว่า บุญเดือนหก หรือ บุญบั้งไฟ การจุดบั้งไฟจึงทำกันในช่วงเดือนหก ซึ่งจะเป็นช่วงเริ่มต้นของฤดูกาลเพาะปลูก
. เดือนหกจะตกอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม ดังนั้น งานประเพณีบุญบั้งไฟของยโสธร ซึ่งมีเทศบาลเมืองยโสธรเป็นเจ้าภาพ จึงถูกกำหนดวันจัดงานไว้แน่นอนในวันศุกร์ เสาร์และอาทิตย์ที่สองของเดือนพฤษภาคม ของทุกปี โดยวันอาทิตย์จะเป็นวันจุดบั้งไฟ เช่นเดียวกับญี่ปุ่น
. ประเพณีการจุดบั้งไฟของยโสธรนั้นมีพื้นฐานจากคติความเชื่อดั้งเดิมของชาวอีสาน เรื่องตำนานพญาคันคาก ซึ่งเป็นเรื่องราวความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่าง 3 โลก โดยพญาแถน (โลกสวรรค์) ซึ่งมีหน้าที่อนุญาตให้พญานาค (โลกบาดาล) ขึ้นไปเล่นน้ำบนสวรรค์ ได้เกิดความแค้นเคืองที่หลังจากพญาคันคากขึ้นปกครองบ้านเมืองทำให้คนอยู่ดีมีสุข เลยละเลยการเซ่นไหว้บูชาพญาแถน พญาแถนจึงห้ามไม่ให้พญานาคขึ้นไปเล่นน้ำบนสรวงสวรรค์ ทำให้โลกมนุษย์เกิดความแห้งแล้งไปทุกหย่อมหญ้า
. พญาคันคากจึงรวมกำลังกับพญานาคขึ้นไปเจรจากับพญาแถนบนสวรรค์ แต่การเจรจาไม่เป็นผลจึงมีการต่อสู้กัน ซึ่งตำนานการต่อสู้นี้ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้กำหนดชื่อให้ว่า “มหายุทธแดนอีสาน”
. การต่อสู้จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของพญาแถน จึงได้ทำข้อตกลงประนีประนอมกัน โดยที่จังหวัดยโสธรเราได้เรียกข้อตกลงนี้ว่าเป็น MOU ฉบับที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังบังคับใช้อยู่มากว่า 3,000 ปี จนถึงปัจจุบัน โดยมีข้อตกลงความร่วมมือ 3 ข้อด้วยกันคือ
. 1.เมื่อถึงเวลาที่โลกมนุษย์ต้องการน้ำ จะส่งบั้งไฟที่มีพญานาคพันอยู่ส่วนหัวขึ้นมา เมื่อพญาแถนเห็นบั้งไฟนี้แล้ว ก็ให้ปล่อยน้ำฝนลงไปยังโลกมนุษย์
2.เมื่อฝนตกลงถึงพื้นโลกแล้ว จะให้กบเขียดส่งเสียงร้องให้รู้ว่าฝนตกลงมาแล้ว
3.เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวแล้ว จะส่งเสียงว่าวสนูให้รู้ว่าถึงเวลาหยุดปล่อยฝนลงไป
. ถ้าใครเคยไปที่จังหวัดยโสธร จะมีพื้นที่ๆ เรียกว่าวิมานพญาแถน ภายในพื้นที่จะมี อาคารพิพิธภัณฑ์พญาคันคาก กับอาคารพิพิธภัณฑ์พญานาค จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประเพณีบุญบั้งไฟ เรื่องราวเกี่ยวกับคางคกและพญานาค และมีองค์พญาแถนตั้งอยู่ให้คนสักการะ
Muku Shrine
. การไปเที่ยวชมการจุดบั้งไฟที่เมืองชิชิบุนั้น สถานที่จัดงานจะอยู่บริเวณศาลเจ้ามูกุ (Muku shrine) แต่การเดินทางไปเมื่อไปถึงจะต้องจอดรถบริเวณอาคารจัดแสดงบั้งไฟ (Ryusei Kaikan) แล้วต้องเดินเข้าไปยังบริเวณสถานที่จัดงาน
ภายในอาคารจัดแสดงบั้งไฟ เมทองชิชิบุ
. ที่อาคารจัดแสดงบั้งไฟของเมืองชิชิบุนี้ จะมีการจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับบั้งไฟ มีการฉายภาพยนต์แสดงวิธีการทำบั้งไฟ มีตัวอย่างจำลองฐานจุดบั้งไฟ (tower) และมีการรวบรวมบั้งไฟจากประเทศต่างๆ ที่มีการจุดบั้งไฟแสดงไว้ด้วย โดยประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นโดยมีขบวนแห่บั้งไฟเอ้จำลองของจังหวัดยโสธรตั้งแสดงอยู่อย่างโดดเด่นด้วย
ขบวนบั้งไฟจำลองจากเมืองยโสธร
. จากอาคารจัดแสดงบั้งไฟเดินไปตามถนนที่ในวันงานปิดให้คนเดินไปอีกประมาณ 15 นาทีก็ถึงบริเวณที่จัดงาน สิ่งที่จะพบเห็นคือ คนญี่ปุ่นจะปูเสื่อ กลางโต๊ะ เก้าอี้พับนั่งกันเป็นกลุ่มๆ รับประทานอาหารและดื่มกินสนทนากันเหมือนการเที่ยวปิคนิคกันอย่างสนุกสนาน
. จากถนนที่เราเดินเข้าไปงาน ทางซ้ายมือด้านหลังบริเวณที่คนนั่งปูเสื่อรอดูการยิงบั้งไฟกันจะเป็นศาลเจ้ามูกุ ส่วนทางด้านขวามืออีกฝั่งถนนจะเป็นบริเวณที่ตั้งฐานจุดบั้งไฟมีรั้วตะแกรงกั้นไม่ให้คนเข้าไปดูใกล้ๆ ด้านหลังฐานจุดบั้งไฟจะมีภูเขาเป็นฉากหลัง
. ในช่วงเช้าก่อนเริ่มการจุดบั้งไฟ จะมีพิธีการทางศาสนาที่ศาลเจ้ามูกุก่อน หลังจากนั้นก็จะเริ่ม การจุดบั้งไฟ ซึ่งบั้งไฟที่จะถูกจุดขึ้นไปนั้นมีทั้งหมด 30 บั้ง การจุดเริ่มตั้งแต่ประมาณเก้าโมงเช้าไปจนถึงประมาณบ่ายสี่โมง โดยจะมีช่วงเว้นระยะเวลาจุดบั้งไฟแต่ละครั้งประมาณ 15 นาที
. เมื่อเสียงสัญญานบอกว่าบั้งไฟกำลังจะถูกจุดขึ้น สายตาทุกคู่จะจับจ้องไปยังฐานจุดบั้งไฟ และช่วยกันลุ้นให้บั้งไฟพุ่งทะยานออกจากฐานจุด พุ่งตรงขึ้นสู่ท้องฟ้าไปให้สูงๆ เท่าที่จะไปได้
. ถ้าใครอยากลองหาประสบการณ์ชมบรรยากาศการจุดบั้งไฟ อยากแนะนำให้ไปชมและร่วมงานประเพณีบุญบั้งไฟที่ยโสธรได้ในเดือนพฤษภาคมของทุกปี จะได้ความสนุกสนานที่คล้ายๆ กัน
เล่าเรื่องโดย Bt
20 ตุลาคม 2567
ติดตามอ่านเพิ่มเติม
https://www.blockdit.com/bntham1
https://www.blockdit.com/bntham2
เรื่องเล่า
ท่องเที่ยว
หนังสือ
บันทึก
9
6
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เล่าเรื่องเมืองยโส
9
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย