3 พ.ย. เวลา 12:00 • หนังสือ

สรุปหนังสือ ถึงเวลาบอกลาชีวิตเวิร์กไร้บาลานซ์

ในยุคที่ความสำเร็จในอาชีพกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของชีวิต หลายคนต้องเผชิญกับความท้าทายในการหาสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวหรือที่เราเรียกว่า "Work-life Balance" ความคาดหวังในที่ทำงานที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงภาระงานที่มากขึ้นทำให้คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกเหนื่อยล้าและห่างไกลจากความสุขที่แท้จริง บทความนี้จะมาสรุปหนังสือ "ถึงเวลาบอกลาชีวิตเวิร์กไร้บาลานซ์" ผลงานของ อันซองมิน ที่จะเข้ามาเติมเต็มความต้องการในการสร้างความสมดุลที่หลายคนปรารถนา
หนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับผู้ที่อยากหาสมดุลในชีวิตระหว่างเวลางานกับเวลาส่วนตัว ยิ่งคนที่ชอบทำงานอย่างหนัก ทำงานไม่ลืมหูลืมตา ลืมครอบครัว ลืมตัวเอง จำเป็นต้องอ่านอย่างยิ่ง เพราะในหนังสือจะบอกเล่าว่าทำไมเราควรปรับสมดุลให้ได้
ผู้เขียน: อันซองมิน จบปริญญาเอกด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยคยองฮี เป็นนักวิจัยระดับเชี่ยวชาญของ Korea Productivity Center เป็นที่ปรึกษาด้านการอบรมเรื่องการตลาดและการขายให้กับภาครัฐและภาคเอกชน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กร Korean Academic Society of Sales Management
ด้วยประสบการณ์ทำงานเป็นพนักงานบริษัทที่มากกว่า 10 ปีและยังสนใจเกี่ยวกับการดำรงชีพของมนุษย์ ทำให้คุณอันซองมินสามารถบอกเล่าเรื่องราวการใช้ชีวิต วิธีทำอย่างไรให้มนุษย์สร้างความสมดุลได้
หนังสือมีทั้งหมด 6 บท ซึ่งเก่งสรุปบทเรียนที่สำคัญมาให้ทุกคนได้อ่าน ดังนี้
[ความไม่สมดุลในชีวิต]
ชีวิตวัยทำงานช่วงแรกของใครหลาย ๆ คน คงตั้งหน้าตั้งตาขยันทำงาน เพื่อที่จะเก็บเงิน เพื่ออนาคตที่ดีในวันข้างหน้า เป้าหมายนี้ถือเป็นเป้าหมายที่ดี แต่ในทางกลับกันถ้าเผลอปล่อยให้ตัวเองทำงานหนักจนคานชีวิตเอนลงคงไม่ดีแน่นอน
ความคิดที่ว่าต้องทำงานหนักถูกส่งต่อจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ เพราะสภาพสังคมสมัยนั้นทำให้ผู้คนต้องดิ้นรนและเสียสละ แต่คนรุ่นใหม่ที่โตมาพร้อมกับความอุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องทำงานหนักเท่าคนสมัยก่อน เมื่อคนสองรุ่นมาทำงานร่วมกันก็อาจทำให้เข้ากันได้ยาก
เคยมีการทดลองหนึ่งนำบันไดวางไว้ในห้องหนึ่งและวางกล้วยไว้บนนั้น จากนั้นนำลิง 5 ตัวมาไว้ในห้อง ถ้ามีลิงตัวไหนปีนขึ้นไปก็จะสาดน้ำเย็นลงมาจากเพดานทำให้ลิงไม่ยอมปีนบันได แต่พอลิงที่หิวยอมปีนขึ้นไปก็จะถูกลิงที่ไม่อยากเปียกน้ำโจมตี หลังจากนั้นผู้ทดลองเปลี่ยนลิงตัวใหม่พอเจอบันไดกับกล้วยก็ทำท่าปีนขึ้นไปแต่ก็ถูกลิงที่อยู่มาก่อนโจมตีลิงตัวนั้นก็ไม่คิดจะปีนบันไดอีก
หลังจากนั้นผู้ทดลองก็เปลี่ยนลิงตัวใหม่เข้าไปอีกก็เกิดเหตุการณ์เช่นเดิม ผู้ทดลองได้เปลี่ยนลิงโดยไม่มีลิงชุดแรกอยู่แล้ว สุดท้ายก็ไม่มีลิงตัวไหนกล้าปีนขึ้นไปเพราะกลัวถูกโจมตี ทั้งที่พวกมันยังไม่เคยโดนน้ำเย็นมาก่อนแล้วก็ไม่รู้เหตุผลว่าทำไมถึงปีนบันไดไม่ได้และทำไมถึงถูกโจมตี
การทดลองนี้เปรียบเทียบให้เห็นภาพการยอมรับความไร้เหตุผลที่เราเรียกกันว่า “ธรรมเนียม” ที่ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้ แต่พนักงานรุ่นใหม่ต้องทำตามไม่ว่าจะเหมาะสมหรือไม่
“วันนี้ฉันมีความสุขตอนไหน” แทนที่จะพยายามทำอย่างอื่นเพื่อพาตัวเองหลุดจากวงจรที่ไม่ดี แต่พนักงานส่วนใหญ่เลือกใช้วิธีการซื้อเครื่องใช้ราคาแพงทำกิจกรรมที่ต้องใช้เงินเพื่อถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย ถ้าเปรียบเทียบให้เจ็บแสบเลย ก็คือ พนักงานเหล่านั้นคือนักโทษ ส่วนข้าวของเครื่องใช้ราคาแพงคือโซ่ตรวน ตอนนี้ทุกคนยอมรับการใส่มันและอวดว่าของใครมีประกายมากกว่า(คำกล่าวของ เลอรอย โจนส์ นักเขียนบทละครเวทีชาวอเมริกัน)
1
[ถึงเวลาทบทวนตัวเอง]
ยอมรับนิสัยและเคารพในตัวเอง บทนี้พูดถึงประเภทของคนที่เคยเป็นกระแส นั่นก็คือ นิสัยเก็บตัว(Introvert)กับนิสัยเปิดเผย(Extrovert) สมัยก่อนผู้คนเคยยอมรับคนนิสัยเปิดเผยมากกว่าและบีบบังคับให้คนที่มีนิสัยเก็บตัวเปลี่ยนแปลงตัวเอง
ในสมัยนี้มีบุคคลที่โด่งดังหลายคนที่มีนิสัยเก็บตัวแต่พวกเขาก็สามารถประสบความสำเร็จได้ เช่น มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก, บิลล์ เกตส์ และมีงานวิจัยหนึ่งที่ระบุว่า ผู้นำที่เก็บตัวสามารถสร้างสิ่งแวดล้อมที่ช่วยให้พนักงานแสดงออกถึงความสร้างสรรค์ได้ง่ายกว่า ดังนั้นไม่ว่าตัวเราจะเป็นคนประเภทไหนก็ขอให้เคารพและทำงานออกมาให้ดีในฉบับของตัวเอง
เวลาของเราแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เวลาที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตและเวลาที่สามารถใช้ได้
เวลาที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต : นอนหลับ กินข้าว ขับถ่าย
เวลาที่สามารถใช้ได้ : ทำงาน ส่วนตัว งานอดิเรก เป็นต้น
สิ่งที่หนังสือหลายเล่มได้บอกไปแล้วก็คือ ทบทวนเวลาของตัวเองใน 24 ชั่วโมง ถ้าเป็นไปได้ให้ทำเป็นสัปดาห์ เพราะเวลาเล็กน้อยที่เอาไปทำสิ่งไร้ประโยชน์เมื่อรวมกัน จะกลายเป็นก้อนเวลาขนาดใหญ่ได้เลยทีเดียว
[บอกลา work ไร้ balance]
ถึงเวลาจดจ่อในงาน นักจิตวิทยาแบ่งความจดจ่อออกเป็น 2 ประเภท คือ ความจดจ่อแบบเต็มใจและความจดจ่อแบบตั้งใจ มีงานวิจัยหนึ่งพบว่าผู้ที่มีภาวะจดจ่อเป็นไปได้ว่าจะมีความสุขมากกว่า และเมื่อสำรวจผู้ที่ประสบความสำเร็จหลายคนก็พบว่าพวกเขาจดจ่อในสิ่งที่ทำ เช่น นิวตัน ค้นพบกฎโน้มถ่วงสากลกล่าวว่า “ผมใช้ชีวิตคิดเรื่องนั้นมาตลอด” วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนระดับโลก กล่าวว่า “ผมจะคิดถึงแต่บริษัทที่ลงทุนไปวันละยี่สิบสี่ชั่วโมง”
แม้การทำงานของใครหลาย ๆ คนไม่ได้เกิดจากความสนุก ดังนั้นการจดจ่อการทำงานต้องเป็นการจดจ่อแบบตั้งใจ ยกตัวอย่างการทำงานในบริษัทของประเทศสวีเดนคือ “สถานที่ทำงานต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ” พวกเขามีระยะเวลาที่กำหนด แต่พวกที่ทำงานล่วงเวลาจะถูกหมายหัวว่าทำงานได้ไม่ดีจึงต้องเอาเวลาอื่นมาทำงาน
สิ่งที่จะช่วยให้เราจดจ่อได้ต้องประกอบด้วยเทคนิคและความท้าทาย แต่ต้องไม่ง่ายจนรู้สึกเบื่อหรือยากจนอยากเลิกทำ และอย่างที่เรารู้กันดีว่าการจดจ่อต้องใช้พลังงาน ดังนั้นไม่ควรใช้พลังงานแบบฟุ่มเฟือย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าทราบว่าจะมีการประชุมในช่วงบ่ายก็ไม่ควรที่จะใช้สมองมากในช่วงเช้า
เปลี่ยนแปลงจากสิ่งเล็ก ๆ เริ่มที่การเปลี่ยนความคิด เพราะความคิดจะนำไปสู่พฤติกรรม และสิ่งที่ช่วยได้อีกอย่างนั่นก็คือการจัดสิ่งแวดล้อม เช่น จัดโต๊ะทำงาน การวางหนังสือที่จะอ่านไว้ตรงหน้า สิ่งเหล่านี้จะช่วยเอาชนะความขี้เกียจของสมองได้
สีสันช่วยผ่อนคลายจากทฤษฎีสีบำบัด (Color Therapy) ในบรรดาสีต่าง ๆ มีความยาวคลื่นที่แตกต่างกันไป แต่สีที่ช่วยให้จิตใจผ่อนคลายนั่นก็คือ สีเขียว เนื่องจากเป็นสีที่อยู่ตรงกลางของสเปกตรัมและเป็นสีที่มีสมดุลใกล้เคียงกับธรรมชาติ
การรับพลังงานสีเขียวแบบง่าย คือ แค่นำต้นไม้ใบเขียวมาวางใกล้ ๆ โต๊ะทำงาน หากมีโอกาสให้ลองออกกำลังกายในสวนที่มีต้นไม้เยอะ ๆ หรือออกไปสัมผัสธรรมชาติที่เรียกว่า ป่ารักษา จะเป็นการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจภายในป่า
การรักษาสมดุลในชีวิตไม่ใช่การยอมทิ้งความก้าวหน้า หากเราสามารถเลือกจัดลำดับและใส่ใจความสำคัญ การ work life balance ก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะบางทีอาจถึงเวลาแล้วที่เราต้องกลับมาใช้ชีวิตเพื่อตัวเองเสียที

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา