8 พ.ย. เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
จีน

ประเทศจีน ตอนที่ 8 ถอดเกล็ดมังกร(สงครามฝิ่นครั้งที่ 1)

สงครามครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจตะวันออก กับมหาอำนาจตะวันตกคือ “ จีนกับอังกฤษ ” นั้น เกิดขึ้นมาจากการค้าที่ไม่เสรี โดยที่จีนได้กำหนดขอบเขตให้ชาวตะวันตกสามารถทำการค้าอยู่เฉพาะแต่ในเมืองกวางโจว ซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑลกวางตุ้ง และด้วยระบบผูกขาดกับพ่อค้าจีนที่เรียกกันว่า “ก้งหอง“ ส่วนอังกฤษเองก็มี บริษัท อินเดียตะวันออก เป็นผู้ดำเนินการ และได้นำเข้าสินค้าต่างๆ เช่น ถ้วยชาม เครื่องเคลือบ เครื่องลายคราม และผ้าไหมเป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ใบชา” ซึ่งเป็นที่ต้องการของอังกฤษ และตลาดในยุโรปมาก เพราะในสมัยนั้นจีนเป็นแหล่งผลิต ซื้อขายใบชาเพียงแห่งเดียวของโลก ในขณะที่อังกฤษเองกลับมีสินค้าส่งออกให้กับจีนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงทำให้อังกฤษเสียเปรียบดุลการค้ากับจีนอย่างมหาศาล เป็นเวลายาวนาน ทั้งที่อังกฤษก็พยายามจะเจรจาต่อรอง ขอลดข้อตกลงเพื่อลดการเสียดุลการค้า แต่จีนกลับบ่ายเบี่ยงที่จะตอบสนองเรื่อยมา
3
จนกระทั่ง ในช่วงปลายรัชกาลเฉียนหลง อังกฤษได้เริ่มนำเอา“ฝิ่น”เข้ามาจำหน่ายในเมืองจีน ซึ่งเพาะปลูกใน “บริติชราช หรืออินเดีย” แถมเป็นอาณานิคมของอังกฤษเองด้วย จึงทำให้มีต้นทุนที่ต่ำมาก แต่ขายให้จีนได้ในราคาแพง เพื่อถ่วงดุลการค้าที่เสียเปรียบกันมาตลอด และเหตุการณ์นี้ก็ดำเนินไปเรื่อยๆ นานหลายสิบปี จนถึงขั้นที่ชาวจีนเกือบครึ่งค่อนประเทศ พากันติดฝิ่นงอมแงม งานการไม่ยอมทำ สูบฝิ่นแล้วนอนขี้เกียจ สร้างความหนักใจให้กับราชสำนักต้าชิงเป็นอย่างมาก
จักรพรรดิเต้ากวัง
และต่อมา ในสมัย “จักรพรรดิเต้ากวัง”(Daoguang Emperor) ซึ่งก็คือหลานของ “จักรพรรดิเฉียนหลง” ต้าชิงได้ประกาศออกกฎหมายห้ามนำ“ฝิ่น” เข้ามาในประเทศ รวมทั้งออกบทลงโทษอย่างจริงจังต่อผู้ขายและผู้เสพ แต่อังกฤษเองก็ยังพยายามที่จะเอาฝิ่นเข้ามาขายในเมืองจีนให้ได้ โดยการลักลอบขนมากับเรือสินค้า ทำให้ต้าชิงต้องส่งข้าหลวงไปที่ “กวางตุ้ง” เพื่อที่จะไปกวาดล้างแล้วก็ เผาทำลายฝิ่นของพ่อค้าอังกฤษ ซึ่งแน่นอน “ฝิ่นก็คือ.. ยาเสพติด” ที่ไปมอมเมาประชาชน
1
ซึ่งการเผาทำลาย”ฝิ่น“ ในครั้งนั้นที่ ”มณฑลกวางตุ้ง“ ก็ได้เป็นมูลเหตุให้นำไปสู่ การที่อังกฤษมีข้ออ้างในการที่จะทำสงครามเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาวอังกฤษในจีน โดยในเวลานั้นรัฐสภาที่ ”เวสต์มินสเตอร์“ ได้มีการโหวต ด้วยคะแนนก้ำกึ่งว่าจะทำสงครามกับจีนหรือเปล่า??
เพราะว่า.. คนอังกฤษบางส่วนไม่เคยเห็นคนจีนเลย แต่บางส่วนเคยได้ยินเขาเล่าลือกันมาว่า “ จีนเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่มาก เดี๋ยวถ้าเกิดรบแพ้แล้วทำยังไง??..” และผลสรุปในครั้งนั้น ก็คือ รัฐสภาอังกฤษได้ผ่านกฎหมาย ด้วยคะแนน 272 เสียงต่อ 264 เสียงในการที่จะเดินหน้าส่งกองทัพเรือบุกไปที่ “มณฑลกวางตุ้ง” เพื่อทำสงครามกับต้าชิงอย่างเต็มที่.
อ่านได้ที่.. “ ประเทศจีน ตอนที่ 1 เรื่องเล่าในวงอังกฤษ "
เป็นที่ทราบกันดีว่า.. ต้าชิงเป็นจักรวรรดิที่ไม่เคยเปิดกว้างต่อโลกภายนอกกันเลย จึงต้องพ่ายแพ้แก่อังกฤษ ใน ”สงครามฝิ่นครั้งที่ 1” อย่างราบคาบ และยังถูกบังคับให้ลงนามในสนธิสัญญาที่มีชื่อว่า “ สนธิสัญญานานกิง” ซึ่งเป็นสนธิสัญญาฉบับแรก ที่จีนต้องทำกับมหาอำนาจตะวันตกและสนธิสัญญาฉบับนี้ ชาวจีนเรียกกันว่า “ ความอัปยศของชาติ”
หน้าภาษาจีนและภาษาอังกฤษ สนธิสัญญานานกิง
ดังที่เราได้ยินคำว่า “สงครามฝิ่นสิ้นฮ่องกง” เพราะฮ่องกงซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ ทางตอนใต้ของมณฑลกวางตุ้ง รวมทั้งเกาะเล็กเกาะน้อยโดยรอบ และมีอีก 1 ใจความสำคัญของสนธิสัญญาฉบับนี้ก็คือ การที่จีนถูกบังคับให้เปิดเมืองท่าชายทะเลทั้งหมด 5 แห่งด้วยกันคือ กวางโจว ฝูโจว เซี่ยะเหมิน หนิงปอ และซั่งไห่หรือเซียงไฮ้ ให้เป็นเขตเช่า 99 ปีของอังกฤษ โดยชาวอังกฤษและคนที่อยู่ใต้อาณัติสามารถอาศัยอยู่ได้ พร้อมทั้งต้องชดใช้ค่า“ฝิ่น”ที่ถูกทำลาย และยังต้องจ่ายค่าปฏิกรณ์สงครามให้แก่อังกฤษอีกด้วย
อีกส่วนหนึ่งในเชิงของกฎหมาย อังกฤษต้องการสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้กับคนอังกฤษ พูดง่ายๆ คือ คนอังกฤษทำผิดไม่ต้องขึ้นศาลจีน ให้ไปขึ้นศาลอังกฤษกันเอง หากมีสนธิสัญญาคู่กันก็คือภาษาจีน และภาษาอังกฤษ ให้ใช้สำเนาคู่ฉบับภาษาอังกฤษเป็นตัวหลักด้วย
1
นอกจากนี้ยังมี “ฝรั่งเศส” ที่มองเห็นอังกฤษได้อำนาจมากขึ้น และตัวเอง ณ เวลานั้น ก็กำลังขยายอิทธิพลอยู่ในพื้นที่อินโดจีนเหมือนกันโดยเฉพาะกับเวียดนาม ซึ่งในขณะนั้นเวียดนามมีความสัมพันธ์กับจีนใน“ระบบบรรณาการ” มาช้านานแล้ว และฝรั่งเศสต้องการให้จีนตัดเวียดนามออกเป็น 3 ส่วน ทางตอนเหนือคือ “พื้นที่ตังเกี๋ย” ตอนกลางคือ “อันนัม” และตอนใต้ชื่อว่า “โคชินไชนา”
ภาพแผนที่ของจีน
ดังนั้นจึงบังคับให้ราชสำนักต้าชิง ต้องทำสนธิสัญญาคล้ายคลึงกับของอังกฤษ มีชื่อว่า “สนธิสัญญาหวัมเปา” (Whampoa) เป็นสนธิสัญญาที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างราชอาณาจักรฝรั่งเศสกับราชวงศ์ชิงของจีน และตามติดมาแจมด้วยคือ “สหรัฐอเมริกา” ก็ยังมีการลงนามในสนธิสัญญาที่มีชื่อว่า ”สนธิสัญญาวังเกีย“ หรือเรียกว่า ”สนธิสัญญาหวางเซีย“
เป็น สนธิสัญญาที่ไม่เท่าเทียมกันฉบับแรก ของสหรัฐอเมริกากับราชวงศ์ชิง มีลักษณะคล้ายคลึงกันคือ ต้องการที่จะให้ประเทศตัวเองเข้าไปค้าขายในต้าชิงได้ง่ายยิ่งขึ้นอีกด้วย และจากที่ “ต้าชิงหรือจีน” โดนรุมทึ้งนั้น ทำให้ในปี ค.ศ.1842 ถือได้ว่า.. “เป็นปีแห่งการเริ่มต้นของประวัติศาสตร์จีนในยุคใหม่ ” นั่นก็คือ เป็นประวัติศาสตร์ที่จีนนั้น “ ตกต่ำถึงขีดสุด“.. ก่อนที่จะกลับกลายมาเป็น ”มหาอำนาจในอีกกว่า 100 ปีถัดมา“.. นั่นเอง
โดยนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1842 ราชสำนักจีนในสมัย “จักรพรรดิเต้ากวัง” ซึ่งก็เสด็จสวรรคตหลังจากนั้นในอีก 8 ปีถัดมาคือปี ค.ศ. 1850 พระโอรสองค์ที่ 4 ซึ่งก็คือ “จักรพรรดิเสียนเฟิง” ทรงขึ้นครองราชย์ไม่ได้มีการพัฒนาแสนยานุภาพทางทหารอะไรกันเลย เพราะคิดว่าพวกฝรั่งน่าจะจบที่ “กวางตุุุ้ง” แล้วไม่น่าที่จะสามารถรุกคืบขึ้นมา หรือขยายผลเพิ่มเติมได้อีก ดังนั้นจึงทรงวางเฉย ส่วนทางชาติตะวันตกเองนั้น โดยเฉพาะ“ เอ็มไพร์จักรวรรดิอังกฤษ“ ก็มองแบบนี้ว่า.. “ถ้ามีเหตุอันควรเมื่อไหร่ เราจะหาเรื่องบุกต้าชิงอีก”
1
“จักรพรรดิเสียนเฟิง”
และโอกาสนั้นก็มาถึงในปี ค.ศ.1856 หรืออีก 14 ปี ต่อมา ในปีนั้นทหารเรือต้าชิง ซึ่งเป็นทหารประจำชายฝั่งที่ “แม่น้ำจูเจียง หรือแม่น้ำกวางตุ้ง“ ที่ไหลเข้าไปยังบริเวณกวางโจว ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ของมณฑลกวางตุ้ง ทหารต้าชิงเห็นเรือลำหนึ่งหน้าตาคล้ายๆ เรือโจรสลัด ที่ครั้งนึงตัวเองเคยจับได้
1
ดังนั้นเรือลำนี้ต้องเป็นโจรสลัดอย่างแน่นอน จึงได้เข้าทำการจับกุมและควบคุมเรือลำนั้น ซึ่งผลปรากฏว่า.. พบลูกเรือทั้งหมด 12 คน และเป็นคนจีนด้วยกันทั้งหมดจึงจับตัวเอาไว้ แต่การที่พบแบบนี้ ไม่รู้ว่า “เป็นกลอุบาย”ของอังกฤษด้วยรึเปล่า? เพราะเรือลำนั้นเป็นเรือโจรสลัดจริง และเคยถูกจับกุมมาแล้วจริง
2
ซึ่งทางการต้าชิงได้มีการนำเรือขายทอดตลาดออกไปแล้ว แต่คนที่ซื้อเรือต่อๆ กันมาคือชาวอังกฤษ ที่อาศัยอยู่ในเกาะฮ่องกง แล้วบอกด้วยว่า.. เรือลำนี้ได้มีการติดธง ”ยูเนี่ยนแจ็ค“(Union Jack) ซึ่งเป็นธงชาติของสหราชอาณาจักร และการที่จีนเข้าไปจับเรือลำนี้ โดยมีการดึงเอา “ธงยูเนี่ยนแจ็ค” ออกมาเขวี้ยงมันทิ้งไป จึงถือเป็นการดูถูกเหยียดหยาม “จักรวรรดิอังกฤษ หรือบริติชเอ็มไพร์“ อย่างรุนแรง
ภาพทหารต้าชิงปลดธง”ยูเนี่ยนแจ็ค“(Union Jack)
ดังนั้นจึงขอให้ทาง “อุปราชเหลียงกวง หรืออุปราช 2 มณฑล” ปล่อยตัวลูกเรือชาวจีน ซึ่งอยู่ในอาณัติของอังกฤษออกมาทั้งหมด 12 คน และจะต้องมีการขอโทษต่ออังกฤษอย่างเป็นทางการด้วย สำหรับเรือลำนั้นมีชื่อว่า “เรือแอร์โรว์“(Arrow) ซึ่งพยานฝ่ายอังกฤษ บอกแบบนี้ว่า.. การเอาธงออกจากเรือ แล้วก็มีการเขวี้ยงทิ้งเป็นการดูถูกกันอย่างรุนแรงด้วย ในที่สุดทางการต้าชิงก็ส่งลูกเรือแอร์โรว์กลับไปให้กับอังกฤษเพียงแค่ 8 คน เก็บเอาไว้ 4 คน และปฏิเสธที่จะขอโทษต่ออังกฤษอย่างเป็นทางการด้วย
จากการที่ต้าชิงเองได้พยายามที่จะปกป้องศักดิ์ศรีของตัวเอง ซึ่งทางอังกฤษก็รู้ดีในข้อนี้ เลยใช้โอกาสนี้ ในการที่จะรุกคืบหน้าและหันไปหาพันธมิตรชาติฝรั่งด้วยกันอีก 3 ชาติ อันได้แก่ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย ในการที่จะเข้ามารุมกินโต๊ะจีนด้วย ซึ่งสหรัฐอเมริกาและรัสเซียบอกว่า.. เราไม่เคยมีความบาดหมางอะไรกันเลยกับต้าชิง เพราะฉะนั้นเราขอไม่ร่วมด้วย
ขณะที่ฝรั่งเศสในครั้งนั้น สบโอกาสเหมาะพอดีเลย เพราะว่า มีหนึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นคือ กรณีที่บาทหลวงฝรั่งเศสถูกสังหารโดยคนจีนที่ “มณฑลกว่างสี” เนื่องจากคนจีนไม่พอใจที่ฝรั่งต่างชาตินั้น เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในพื้นที่ของตัวเอง จึงทำให้ข้าหลวงใหญ่ของฝรั่งเศสตอบตกลงยินยอมในการที่จะร่วมมือกัน สร้างกองทัพผสมเข้าโจมตีมณฑลกวางตุ้ง
ภาพวาดเรือแอร์โรว์
สงครามในครั้งนั้น ซึ่งเบื้องต้นเลยเรียกชื่อว่า“สงครามแอร์โรว์ ”(Arrow War) ก็คือตั้งชื่อตามเรือสินค้าลำนั้น และสงครามแอโรว์ในครั้งนี้ถือเป็นสงครามที่หนักหนาสำหรับต้าชิง เพราะลำพังอังกฤษเองเนี่ย ต้าชิงก็ไม่สามารถที่จะต้านทานได้อยู่แล้ว ยิ่งคราวนี้มาพร้อมกันทั้งคู่เลย
ที่จริงแล้วมันเป็นสงครามที่ทั้ง 2 ชาติคือ อังกฤษและฝรั่งเศสต้องการที่จะหาข้ออ้างในการขยายอิทธิพลของพวกเขา ไม่ใช่แค่ในมณฑลกวางตุ้งเท่านั้นหรอก แต่พวกเขาหาทางตลอดเวลาในการที่จะล่องเรือขึ้นเหนือเพื่อที่จะเข้าใกล้กรุงปักกิ่งให้มากที่สุด ซึ่งเป็นการท้าทายศูนย์กลางอำนาจของต้าชิงกันด้วย
และถ้าเรามองย้อนเข้าไปในกรอบเวลาของ “สงครามฝิ่นครั้งที่ 2” จะพบว่า ในช่วงแรกคือปี ค.ศ.1856 นั้นใช้เวลาค่อนข้างนานทีเดียว กว่าจะรุกคืบขึ้นไปสู่เฟสที่ สองนั่นก็คือ การนำเรือรบขึ้นเหนือไปท้าทายศูนย์กลางอำนาจของจีนที่ปักกิ่ง ส่วนสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่าในเวลานั้นทางฝ่ายอังกฤษเองมีปัญหาที่หนักกว่ามากคือ มีการลุกฮือขึ้นของชาวอินเดียจำนวนมาก ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของ ”บริษัท อินเดียตะวันออก“
ดังนั้นพวกเขาคิดว่า ลำดับความสำคัญสูงสุดที่ต้องจัดการในตอนนี้คือ การเข้าไปรักษาฐานที่มั่นอาณานิคมที่อินเดียก่อน ส่วนอีกด้านหนึ่งก็คือ ปัญหาการเมืองภายในของรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์ ที่ลอนดอน เพราะว่าในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 1857 ณ เวลานั้นรัฐบุรุษของอังกฤษ
ไวเคานต์พาเมอร์สตัน“ (Henry John Temple, 3rd Viscount Palmerston)
ผู้ซึ่งครั้งใดก็ตามที่นึกถึงจักรวรรดินิยมอังกฤษ เราจะต้องนึกถึงนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนนี้ที่ชื่อว่า “ ไวเคานต์พาเมอร์สตัน“ (Henry John Temple, 3rd Viscount Palmerston) ก่อนจะเป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรควิก เขาเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีสงคราม และรัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ แล้วก็มีส่วนร่วมในสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 ด้วย
ซึ่งตอนนี้ได้ยกฐานะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว และในเวลานั้น “พาเมอร์สตัน” ไม่สามารถควบคุม ส.ส.ในพรรคของตัวเอง ให้โหวตคะแนนเสียงเพื่อผ่านกฎหมายส่งกองกำลังอังกฤษไปรบที่มณฑลกวางตุ้งได้ และในที่สุด“พาเมอร์สตัน” ซึ่งถือได้ว่าเป็นนักการเมืองที่มากด้วยประสบการณ์ จึงตัดสินใจยุบสภา และใช้นโยบายการที่จะเดินหน้าต่อสู้กับจีนนั้น ให้เป็น หนึ่ง ในนโยบายหลักของการหาเสียง
จนถึงเดือนเมษายนในปีเดียวกันนี้ คือ ปี ค.ศ. 1857 ที่อังกฤษได้มีการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งผลปรากฎว่า “พาเมอร์สตัน” ได้ชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย โดยมีคะแนนเสียงประมาณ 2 ใน 3 ของรัฐสภา และสามารถผ่านกฎหมายในการที่จะส่งกองทัพไปรบยังมณฑลกวางตุ้งได้สำเร็จ แต่แผนการของเขาในครั้งนี้ อย่างที่ย้ำมาตั้งแต่แรกว่า..ไม่ใช่เฉพาะการควบคุมแค่เมืองกวางตุ้งเท่านั้น แต่ต้องการขยายอำนาจออกไปไกลกว่านั้นมาก
การโจมตีของอังกฤษต่อกวางตุ้งจากที่สูง และภาพการควบคุมตัว เย่หมิงเฉิน อุปราชเหลียงกวง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเลย คือการขึ้นทางเหนือ ซึ่งนายกรัฐมนตรี “พาเมอร์สตัน” คนนี้กล่าวได้ว่าเป็นบุคคลที่อยู่เบื้องหลัง การขยายอิทธิพลของ“จักรวรรดิบริติช” ในยุคที่รุ่งโรจน์ จนได้รับฉายา “แพม หรือเจ้าพังพอน” และสำหรับการสู้รบ คงไม่ต้องพูดถึงว่า ทางด้านของอังกฤษและกองกำลังผสมระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสนั้น สามารถเอาชนะต้าชิงได้ขนาดไหน
เพราะในที่สุดแล้ว พวกเขาสามารถชนะสงครามที่มณฑลกวางตุ้งได้ง่ายดายมากๆ จนสามารถที่จะควบคุมตัว “เย่หมิงเฉิน อุปราชเหลียงกวง” ได้เป็นผลสำเร็จ และนำตัวอุปราชของต้าชิงไปควบคุมตัวไว้ใน “เมืองกัลกัตตา ที่อินเดีย” แต่ด้วยความมานะ และด้วยความรักในเกียรติยศ ศักดิ์ศรีของตนเอง อีกทั้งจักรวรรดิแผ่นดินเกิด
ทำให้ ”เย่หมิงเฉิน อุปราชเหลียงกวง“ นั้นอดอาหารประท้วง และเสียชีวิตในพื้นที่ควบคุมตัวในเมืองกัลกัตตา ที่อินเดีย ด้านนายกรัฐมนตรี ”พาเมอร์สตัน“ ก็ไม่ได้คิดแค่ยึดกวางตุ้งแน่นอน พวกเขาต้องการเดินหน้าในการขยายอิทธิพลด้วยการเดินเรือจากกวางตุ้ง ลัดเลาะไปตามชายฝั่งของจีนแล้วขึ้นไปทางเหนือ โดยพื้นที่เป้าหมายของพวกเขาก็คือ ”ทะเลปั๋วไห่หรืออ่าวปั๋วไห่“ ชะตากรรมของจักรวรรดิต้าชิงจะเป็นอย่างไร จะต้องสูญเสียสิ่งใดอีกหรือไม่ ติดตามได้ในตอนต่อไปครับ
ฝากกดถูกใจ กดแชร์ เพื่อเป็นกำลังใจให้ผมด้วยนะครับ
Reference ประเทศจีน ตอนที่ 8 ถอดเกล็ดมังกร(สงครามฝิ่นครั้งที่ 1)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา