12 พ.ย. 2024 เวลา 08:00 • ธุรกิจ

การตั้งเป้าหมายเพื่อเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยเป้าหมาย

[#FutureofWork] [#WellBeing]: การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยเป้าหมายกำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากองค์กรทั่วโลก โดยเฉพาะในมิติของการเป็นสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมวัฒนธรรมการทำงานเชิงบวกและการสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับพนักงาน
รายงานของ McKinsey ระบุว่าผลงานของพนักงานสามารถดีขึ้นถึง 33% หากทำให้พนักงานรู้สึกว่างานที่ทำอยู่มีความหมาย โดย 75% ของพนักงานจะรู้สึกยึดมั่นกับองค์กร และมีโอกาสลาออกลดลงถึง 40 - 57% โดยหลังจากที่ทั่วโลกผ่านวิกฤติโควิดมาได้ มีพนักงานถึง 82% ให้ความเห็นว่าองค์กรควรประกาศเป้าหมายและทิศทางการขับเคลื่อนที่ชัดเจนและให้ความสำคัญกับพนักงานในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม พบว่ามีพนักงานเพียง 45% ที่สัมผัสความรู้สึกนี้ได้จากองค์กรของตน
การเปลี่ยนแปลงของประชากร (Demographic Change) มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้องค์กรต้องเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยเป้าหมาย เพราะคนเจเนอเรชัน Y และ Z ซึ่งเป็นแรงงานส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับคุณค่าและเป้าหมายมากกว่าการทำงานเพื่อแลกเงินเพียงอย่างเดียว มีรายงานว่ามีคนเจน Y มากถึง 83% จงรักภักดีต่อองค์กรมากขึ้นหากองค์กรสนับสนุนให้พวกเขาแก้ไขปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ยังพบว่า คนวัยเกษียณจำนวนมากยังตัดสินใจที่จะทำงานต่อหากพวกเขาค้นพบความหมายในงานที่ทำ ในขณะเดียวกัน การทำงานโดยไร้เป้าหมายยังสัมพันธ์กับปรากฏการณ์การลาออกเงียบ (Quiet Quitting) หรือการทำงานแต่ละวันอย่างไร้เป้าหมายในสหรัฐอเมริกาหรือปรากฏการณ์ Lying Flat ในประเทศจีน เป็นต้น
การมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนขององค์กรยังเป็นการกระตุ้นการมีส่วนร่วม เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และลดโอกาสการลาออกของพนักงานและแรงงานศักยภาพสูงลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการคาดการณ์ว่าทั่วโลกจะต้องเผชิญกับกับภาวะขาดแคลนผู้มีความสามารถสูง คิดป็นมูลค่าความเสียหายถึง 8.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี ค.ศ. 2030
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือองค์กรต้องแน่ใจว่าเป้าหมายที่ต้องการจะขับเคลื่อนเป็นความจริงและสอดคล้องกับสินค้าหรือบริการของตน ตัวอย่างเช่น การปรับโครงสร้างองค์กรให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, and Corporate Governance: ESG) เพราะปัจจุบัน พนักงานและคนที่กำลังหางานโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเจน Y ลงมา คาดหวังให้องค์กรแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับประเด็นด้านความยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม พบว่า 49% ของผู้นำด้านทรัพยากรบุคคลยังขาดการวางแผนกลยุทธ์ในประเด็นดังกล่าวที่ชัดเจน
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- การส่งเสริมองค์กรให้ขับเคลื่อนด้วยเป้าหมายที่จริงใจและจริงจังเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานและความสำเร็จขององค์กร
- การยอมรับและปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้องค์กรยังสามารถรักษาแรงงานศักยภาพสูงเดิมที่มีและผู้มีความสามารถเข้ามาอยู่ในองค์กรได้
อ่านเพิ่มเติม: Futures from Now to 2030 EP.1 https://bit.ly/409gacI, EP.2 https://bit.ly/3Fvaxhh, EP. 3 https://bit.ly/42h2a2C
อ่านเพิ่มเติม: Climate Quitting https://www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC/posts/1414881952650008?ref=embed_post
Sources: KPMG, Gartner, Ceridian, McKinsey, MIT Sloan Management Review
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก www.futuretaleslab.com หรือติดตามที่ https://www.blockdit.com/futuretaleslab
#FutureTalesLAB #Work #Corporate #Employee #พนักงาน #อนาคตการทำงาน #องค์กร #MQDC
โฆษณา