19 พ.ย. เวลา 05:45 • อาหาร

เคล็ดลับอาหารต้านมะเร็งกระเพาะอาหาร กินหลากหลาย เติมเครื่องเทศ ลดปิ้งย่าง

วิจัยพบ 1ใน3 ลดเสี่ยงมะเร็งได้ คือการเลือกอาหารให้เหมาะสม เผยเคล็บลับ ต้านอนุมูลอิสระต่างๆ เพิ่มภูมิคุ้มกันโรค สร้างความสมดุลให้ร่างกาย
“มะเร็ง” ไม่ว่าเป็นส่วนไหนหรือระยะใดก็ไม่มีใครอยากเป็น งานวิจัยพบว่าพฤติกรรมการกินมีผลทำให้เกิดมะเร็งมากถึง 1 ใน 3 ของปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ โดยเฉพาะโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม และมะเร็งตับอ่อน ดังนั้นการรู้จักเลือกอาหารให้เหมาะสมและถูกต้องจึงมีส่วนอย่างมากในการป้องกันไม่ให้เป็นโรคมะเร็ง
เคล็บลับเลือกกินอาหารต้านมะเร็ง
เลือกกินให้หลากหลายและครบหมู่
การกินอาหารเหมือนเดิมทุกวัน เราจะได้รับสารอาหารที่จำกัด และไม่เพียงพอต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ
อาหารต้านมะเร็ง
หากอาหารมีความหลากหลายและมีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ จะเสริมสร้างสุขภาพที่ดี เพิ่มภูมิคุ้มกันโรค สร้างความสมดุลให้ร่างกาย
กินผักผลไม้หลากสี ต้านมะเร็ง
● สีแดง อุดมด้วยไลโคปีน (Lycopene) พบมากในมะเขือเทศ พริกแดง บีทรูท และแอปเปิ้ลสีแดง
● สีเหลืองและส้ม อุดมด้วยวิตามินเอ และเบต้าแคโรทีน (Beta carotene) พบมากใน ฟักทอง แครอท และส้ม
● สีเขียว อุดมด้วยอัลฟ่าแคโรทีน (Alpha Carotene)และคลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) พบมากใน ผักโขม คะน้า บล็อคโคลี
● สีม่วง อุดมด้วยสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) พบมากในกะหล่ำม่วง ดอกอัญชัน บลูเบอร์รี่ ลูกพรุน และข้าวเหนียวดำ
● สีขาว อุดมด้วยสารแซนโทน (Xanthone) พบมากในกระเทียม กล้วย ขิง หัวไชเท้า กะหล่ำ รวมถึงเห็ดต่างๆ
เพิ่มธัญพืชและถั่ว
ธัญพืชเต็มเมล็ดที่ไม่ผ่านการขัดสีและถั่วต่างๆ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทั้ง วิตามิน เกลือแร่ ไฟเบอร์ และโปรตีน รวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ ธัญพืชและถั่วที่แนะนำ ได้แก่ ข้าวกล้อง ลูกเดือย อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ พิเทชิโอ ถั่วขาว
นอกจากช่วยรักษาระดับน้ำตาลให้สมดุลแล้ว กากใยในธัญพืชและถั่วยังช่วยในการขับถ่าย ช่วยลดอาการท้องผูก ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
หมั่นเติมเครื่องเทศในอาหาร
เครื่องเทศส่วนใหญ่นอกจากช่วยเพิ่มรสชาติและกลิ่นหอมให้อาหารแล้ว ยังมีสรรพคุณลดการอักเสบ กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน และลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง เช่น พริก ขมิ้น กระเทียม และขิง
เลี่ยงอาหารรสจัด อาหารไขมันสูง และเนื้อแดง
อาหารรสจัดโดยเฉพาะเค็มจัดและอาหารหมักดองที่ใช้เกลือจำนวนมาก ส่งผลให้ความดันเลือดสูง
อาหารที่มีไขมันสูงจะส่งผลให้น้ำหนักตัวเกิน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ เช่น เนื้อติดมัน ไขมันสัตว์ เนย และกะทิ
การบริโภคเนื้อแดงปริมาณมากเป็นประจำส่งผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง และอาจกลายเป็นมะเร็งลำใส้ใหญ่ได้ หากต้องการโปรตีนควรรับประทานอาหารประเภทปลา
หลีกเลี่ยงอาหารก่อมะเร็ง
อาหารทอดหรือปิ้งย่าง โดยเฉพาะอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำหรือปิ้งย่างจนไหม้เกรียม หากจะกินควรตัดส่วนที่ไหม้เกรียมทิ้ง จะช่วยลดสารพิษได้บ้าง แต่ก็ไม่ควรรับประทานบ่อยจนเกินไป
อาหารที่ขึ้นราง่าย เช่น พริกแห้ง กระเทียม และถั่วลิสง ก่อนกินควรดูให้แน่ใจว่าไม่ได้ทิ้งไว้นานจนเกิดเชื้อรา
อาหารหมักดอง อาหารสำเร็จรูป ใส่สี รมควัน หรือใส่ดินประสิว เช่น ไส้กรอก แหนม ปลาร้า ขนม หรือเนื้อแดงที่สีสดมากๆ
อาหารสุกๆ ดิบๆ อาหารที่ปรุงไม่สุกอาจทำให้เกิดการติดเชื้อพยาธิ ส่งผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง จนกลายเป็นมะเร็งได้
อีกสิ่งหนึ่งที่ควรทำนอกจากการระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหาร นั่นก็คือการหมั่นสังเกตดูความผิดปกติของอุจจาระของตัวเองทุกวัน ฝึกให้เป็นนิสัย เพราะการสังเกตุลักษณะของอุจจาระ เป็นการคัดกรองอาการป่วยเบื้องต้นแบบง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้ หากพบว่าอุจจาระมีสี กลิ่น หรือลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
นอกจากการ “เลือก” และ “เลี่ยง” อาหารต่างๆ ที่ส่งผลดีและผลร้ายต่อร่างกายแล้ว ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่ปล่อยให้น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน งดการสูบบุหรี่และดื่มเหล้า รวมถึงทำจิตใจให้แจ่มใส เพื่อเป็นการป้องกันมะเร็งด้วยตัวเอง การพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพประจำปีตามช่วงอายุที่เพิ่มขึ้นก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่ง เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงและห่างไกลมะเร็ง
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/health/food/6129
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา