Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Letter From History
•
ติดตาม
6 ธ.ค. เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
จีน
ประเทศจีน ตอนที่ 10 มังกรสิ้นท่า(สงครามฝิ่นครั้งที่ 2 ตอนที่ 2)
ในตอนนี้.. เรายังคงอยู่ในบรรยากาศของสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 โดยตอนที่แล้ว กล่าวถึงกองกำลังผสมของอังกฤษกับฝรั่งเศสนั้น ได้ทำสงครามสู้รบกับทหารต้าชิงอย่างดุเดือดถึง 3 ครั้งในสมรภูมิที่เรียกกันว่า “สงครามทาคู” และเข้ายึดเอาเมืองเทียนจินได้สำเร็จ อันนำไปสู่การเจรจาสงบศึก รอบที่ 1 จนก่อให้เกิด“สนธิสัญญาเทียนจิน” ขึ้นมา แต่ด้วยข้อเรียกร้องที่มากเกินไปของชาติตะวันตก ทำให้ต้าชิงปฏิเสธที่จะลงนามในสนธิสัญญาฉบับดังกล่าว การสู้รบก็ยังคงดำเนินต่อไป และได้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
จนราชสำนักต้าชิงต้องเปิดการเจรจาที่เมืองทงโจ อยู่ห่างจากกรุงปักกิ่งเพียงแค่ 20 กม. โดยมีคณะทูตจากอังกฤษและฝรั่งเศสเข้าร่วม ซึ่งการเจรจาในครั้งนี้ไม่เป็นผลสำเร็จ แถมเกิดเหตุการณ์จับตัวคณะทูตอังกฤษไปคุมขังและโดนทรมานจนเสียชีวิต ทำให้อังกฤษมีข้ออ้างที่จะยกทัพใหญ่บุกเข้า “กรุงปักกิ่ง” และนั่นคือ จุดเริ่มต้นของ “สงครามทาคู ครั้งที่ 4 ครั้งสุดท้าย”
ซึ่งถือว่าเป็นสงครามแตกหักกันเลยก็ว่าได้ ในศึกครั้งนี้ต้าชิงเองรู้ว่า อังกฤษนั้นต้องมาแรงอย่างแน่นอน และฝรั่งเศสก็เป็นกองกำลังเสริมที่ดีด้วย ดังนั้นจึงต้องมีการระดมพลครั้งใหญ่มากคือ 150,000 นาย ภายใต้การนำของเจ้าชายมองโกลองค์เดิมซึ่งก็คือ “เซ่อเต๋อหลิวเฉิง ”
เหตุการณ์จำลองของสงครามทาคู ครั้งที่ 4
และการสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือด ทหารต้าชิงได้พลีชีพตลอดรายทางที่กองกำลังผสมของข้าศึกบุกรุกเข้ามาจนประชิดใกล้จะถึงเมืองหลวงแล้ว สำหรับทหารต้าชิงมันคือ.. “สมรภูมิสุดท้าย” เพราะด้านหลังของพวกเขาก็คือ ”กรุงปักกิ่ง“ เมืองหลวงที่ประทับขององค์จักรพรรดิจึงต้องรักษาไว้ด้วยชีวิต ซึ่งการรบตรงจุดนี้เป็นศึกสุดท้ายของ “สงครามทาคู” เรียกกันว่า “ยุทธการปาลิเกียว“ เป็นสะพานที่ทอดยาวเข้าสู่กรุงปักกิ่งนั่นเอง
แน่นอนฝ่ายหนึ่ง.. มีดาบ มีธนู ขี่ม้าออกไปรบ แต่อีกฝ่ายหนึ่ง.. มีปืนไรเฟิลที่มีความแม่นยำสูงและมีปืนใหญ่ที่มีแสนยานุภาพมาก ไม่ต้องถามว่าสงครามในครั้งนั้นจบลงอย่างไร?? ฝ่ายกองกำลังผสมของอังกฤษและฝรั่งเศส เสียชีวิตรวมทั้งบาดเจ็บหลักหลายสิบนาย แต่ทางฝ่ายต้าชิงนั้น เสียชีวิตหลักร้อย บาดเจ็บนับพันคน และนั้นก็คือ อีกเพียงหนึ่งก้าวที่กองกำลังผสมจะเดินหน้าเข้าสู่เขตพื้นที่กรุงปักกิ่งได้แล้ว
ในขณะเวลานั้นเอง ราชสำนักต้าชิงจึงจำเป็นต้องยอมปล่อยตัวทูตของอังกฤษคือ ”เซอร์ เฮนรี แสตนลีย์“ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ถูกราชสำนักต้าชิงควบคุมตัวเอาไว้พร้อมกับผู้ติดตาม และโดนทรมานจนเสียชีวิตในที่คุมขังไปหลายคน นั่นทำให้ ”เซอร์ เฮนรี่ แสตนลีย์“ ผู้นีต้องกลับมาพร้อมกับแรงแค้นมากมายมหาศาล
เซอร์ เฮนรี แสตนลีย์
ขอย้อนกลับไปที่ราชสำนักต้าชิงกันบ้าง หลังจากที่ จักรพรรดิเสียนเฟิงทรงรู้ว่า เมืองเทียนจิน นั้นแตกแล้ว เป้าหมายต่อไปต้องเป็น“ปักกิ่ง“แน่นอน ดังนั้นในปีที่ 10 แห่งรัชสมัยของพระองค์ซึ่งตรงกับปี ค.ศ. 1860 พระองค์จึงได้ตัดสินพระทัยในการที่จะลี้ภัยจากการรุกรานในครั้งนี้
โดยทรงบอกว่าจะไปล่าสัตว์ที่พระราชวังเฉิงเต๋อ ซึ่งอยู่นอกกำแพงเมืองจีน และได้มีการมอบหมายให้พระอนุชาก็คือ “องค์ชายกง”(Prince Gong) หรือที่เรียกว่า ”อี้ซิน”(Yixin) คือองค์ชายที่ 6 นั้นเป็นผู้เจรจากับพวกชาติตะวันตก และบัญชาการสถานการณ์อยู่ที่กรุงปักกิ่งด้วย
โดยนอกเหนือไปจากจักรพรรดิเสียนเฟิงแล้ว ยังมีฮองเฮาก็คือ ”ซื่ออันฮองเฮา“ รวมถึงชายาเอกคือ “ซีกุ้ยเฟย” หรือว่า พระนางซูสีไทเฮาในเวลาต่อมา รวมถึงพระราชธิดา และพระราชโอรสพระองค์เดียวของจักรพรรดเสียนเฟิง ซึ่งแน่นอนก็คือ องค์รัชทายาท ผู้ที่ต่อมาได้ขึ้นเป็น “จักรพรรดิถงจื้อ” และข้าราชบริพารจำนวนมาก รวมทั้งขุนนางชั้นผู้ใหญ่ได้ตั้งขบวนไปล่าสัตว์ที่เฉิงเต๋อกันด้วย
พระราชวังเฉิงเต๋อ ซึ่งอยู่นอกกำแพงเมืองจีน
พูดง่ายๆ ก็คือเพื่อความปลอดภัยของพระองค์เอง เลยทรงทิ้งราษฎรเอาไว้ที่กรุงปักกิ่ง รอการบุกเข้ามาของกองทหารชาติตะวันตก 2 ชาติ ซึ่งคนที่จะเข้ามายังกรุงปักกิ่งได้นั้น จะต้องผ่านเข้ามาทาง “สะพานแปดลี้ หรือปาหลี่เฉี่ยว“ หรือเรียกอีกชื่อนึงว่า.. “สะพานปาลิเกียว” นั่นเอง
หลังจากที่กองทหารของอังกฤษและฝรั่งเศส สามารถบุกเข้ามายังกรุงปักกิ่งได้สำเร็จแล้ว ในครั้งนั้น ”ลอร์ดเอลจิน“ ได้ส่งข่าวและปรึกษากับรัฐสภาที่ลอนดอนว่า.. เราสมควรจะยกกองทัพบุกเข้าไปที่พระราชวังต้องห้าม เพื่อเป็นการประกาศชัยชนะอย่างเด็ดขาดหรือไม่???
ในที่สุด.. เวสต์มินสเตอร์ได้ตอบกลับมาว่า ในสถานะการณ์เช่นนี้ จริงๆแล้วหากว่า มีการบุกเข้าไปยังพระราชวังต้องห้าม ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นพระราชฐานชั้นในนั้น อาจจะนำไปสู่ความเสียหาย และการเสียชีวิตของข้าราชบริพารที่เป็นพลเรือนมากเกินกว่าที่คิด อันจะเป็นการท้าทายอำนาจของจักรวรรดิต้าชิงเกินจำเป็น อีกทั้งย่อมไม่เป็นผลดีต่อการลงนามในสนธิสัญญาด้วย
ภาพถ่ายปัจจุบันของ พระราชวังฤดูร้อน “หยวนหมิงหยวน”
เมื่อได้คำตอบแบบนี้ “ลอร์ดเอลจิน” จึงคิด.. งั้นเปลี่ยนเป้าหมายเราจะบุกไปพระราชวังฤดูร้อน “หยวนหมิงหยวน” ที่ชานกรุงปักกิ่งแทนล่ะกัน!!.. เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ให้เห็นถึงชัยชนะ และเป็นการท้าทายอำนาจโอรสสวรรค์ หรือว่าฮ่องเต้ของจักรวรรดิต้าชิงโดยตรง ทั้งยังไม่ต้องเสียกำลังพลมากเกินจำเป็นอีกด้วย
เมื่อพูดถึงพระราชวังฤดูร้อน “หยวนหมิงหยวน” ต้องขออธิบายกันสักนิด เพราะว่าพระราชวังแห่งนี้ได้ถูกเผาทำลายลงอย่างน่าเสียดาย ในปี ค.ศ.1860 นั้นแหละ ดังนั้นจึงไม่มีใครได้เห็นความงดงามของพระราชวังแห่งนี้อีกเลย
สำหรับพระราชวังหยวนหมิงหยวน มีพื้นที่ 3,500,000 ตรม. กว้างใหญ่ไพศาล เป็นพระราชวังที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงกลางรัชสมัยของจักรพรรดิคังซี โดย ณ เวลานั้น จักรพรรดิคังซีตั้งใจจะสร้างขึ้นเพื่อพระราชทานเป็นของขวัญให้กับโอรสของพระองค์ ซึ่งก็คือ “อิ้นเจิน องค์ชาย 4 ” ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระชนก คือ “จักรพรรดิหย่งเจิ้น”
โดยที่พระองค์ได้มีการต่อเติมขยายพระราชวังแห่งนี้เรื่อยๆ ตลอดช่วง 13 ปีในรัชสมัยของพระองค์ จนมีพื้นที่เทียบเท่าสนามฟุตบอล 600 สนาม ใหญ่เป็น 8.5 เท่าของพระราชวังต้องห้าม และพื้นที่ตำหนักในหยวนหมิงหยวนมีพื้นที่รวมกันมากกว่า พื้นที่ของสิ่งก่อสร้างทั้งหมดในวังต้องห้ามเลยทีเดียว และที่สำคัญคือ สิ่งก่อสร้างในพระราชวังแห่งนี้
ภาพวาดรูปปั้นหัวนักษัตรสัมฤทธิ์ 12 หัว
ได้ผนวกเอาศิลปะแขนงต่างๆ เข้ามาช่วยทำให้มีความงดงามมาก ด้วยการผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมตะวันออกกับสถาปัตยกรรมตะวันตก และมีการใช้เทคโนโลยีหลากหลายเช่น การใช้เทคโนโลยีน้ำพุ มีประติมากรรมตะวันตกหลายชิ้น และหนึ่งในนั้นก็คือ
รูปปั้นหัวนักษัตรสัมฤทธิ์ 12 หัวซึ่งจะมีน้ำไหลออกมาจากรูปปั้นนั้นตามแต่ละโมงยามที่ผ่านไป จัดตั้งอยู่ตรงบริเวณใจกลางลานน้ำพุกลแบบตะวันตก ซึ่งหัวนักษัตรสัมฤทธิ์ทั้ง 12 หัวนี้ ปั้นโดยปฏิมากรชาวอิตาเลียนที่มีชื่อว่า ”จูนเซปเป กัสตีลโยเน“ ผู้ถือเป็นศิลปินคนโปรดของจักรพรรดิเฉียนหลงด้วย
และแล้ววันนั้นก็มาถึงคือวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1860 เมื่อกองทัพผสมอังกฤษ-ฝรั่งเศสได้เดินทางมาถึงพระราชวังฤดูร้อนหยวนหมิงหยวน ทางฝ่ายฝรั่งเศสได้แจ้งกับอังกฤษว่า.. ตัดสินใจจะไม่เข้าร่วมกับปฏิบัติการในการบุกเข้าไปในพระราชวังแล้ว ดังนั้นจึงเป็นกองกำลังฝ่ายอังกฤษ แต่เพียงฝ่ายเดียวที่ทำการในครั้งนี้
ซึ่งนำโดย “เซอร์ เฮนรี่ แสตนลีย์“ ผู้มาด้วยแรงแค้นอย่างเต็มเปี่ยมได้บุกเข้าไปในพระราชวัง โดยมีข้ออ้างแบบนี้ เราจำเป็นต้องบุกเข้าไปในหยวนหมิงหยวน เพราะว่า มีพลเรือนและทหารจีนที่ทำร้ายพวกเราซ่อนตัวอยู่ในพระราชวังแห่งนี้
ภาพวาดแสดงการปล้มสะดม และขนโบราณวัตถุออกจากพระราชวัง โดยกองทหารอังกฤษ
แต่ในการบุกเข้าไปนั้น ไม่ได้เป็นการเข้าไปเพื่อค้นหาหรือจับกุม ควบคุมตัวคนร้ายตามที่กล่าวอ้างเลย แต่เข้าไปเพื่อปล้นชิงทรัพย์สิน หยิบฉวยสิ่งของมีค่าในพระราชวังหยวนหมิงหยวนออกไปมากมาย แถมยังมีการเข่นฆ่าข้าราชบริพารที่เฝ้าดูแลรักษาพระราชวังเป็นจำนวนมาก
และด้วยความที่พระราชวังนี้ มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ได้รับใช้องค์จักรพรรดิถึง 5 รัชกาล จึงมีทรัพย์สมบัติอันประเมินค่ามิได้มากมายมหาศาล ถึงขนาดที่กองทหาร.. (เรียกกองโจรดีกว่า) กลุ่มนี้ ต้องใช้เวลาในการขนย้ายนานนับสิบกว่าวัน
ยิ่งไปกว่านั้น ในวันที่ 18 ตุลาคม “ลอร์ดเอลจิน” คนนี้ได้ตัดสินใจข่มขวัญราชสำนักต้าชิง โดยการสั่งให้กองกำลังอังกฤษเผาทำลายพระราชวังหยวนหมิงหยวน ที่มีอายุมากกว่า 150 ปีให้ราบเป็นหน้ากลอง และต้องใช้เวลาเผาถึง 3 วัน 3 คืน
ภาพวาดเหตุการณ์ ขณะกองทัพอังกฤษเผาพระราชวังหยวนหมิงหยวน
ซึ่งการกระทำของกองทัพจักรวรรดินิยมนอกจากการเผาทำลายพระราชวังแล้ว สิ่งที่พวกเขาได้กระทำต่อก็อย่างที่บอกนั่นคือ มีการนำเอาทรัพย์สิน ของมีค่าจำนวนมากมายมหาศาลในพระราชวังทุกๆ ชิ้น และหลายๆ ชิ้นถูกเอาไปประมูลขายกันเองภายในหมู่ของทหารอังกฤษและครอบครัว
ซึ่งราคาประมูลในเวลานั้น มีหลายชิ้นเป็นของที่มีอายุเป็นร้อยๆ ปี และมีอีกหลายๆ ชิ้นก็มีอายุเป็นหลักพันปีขึ้นไปด้วย ราคาประมูลกันในตอนนั้น มีตั้งแต่ 3 ชิลลิง 5 ชิลลิง 1 ปอนด์ 5 ปอนด์
ชิ้นงานเหล่านี้ไม่ทราบว่า.. ในปัจจุบันอยู่ที่ไหนกันบ้าง แต่มีหลายชิ้นอยู่ที่ “บริติชมิวเซียม” และก็มีอีกหลายชิ้นอยู่ที่ “วิคตอเรีย แอนด์อัลเบิร์ต”ในลอนดอน แถมยังมีอีกหลายชิ้นก็อยู่ในมือของคหบดีชาวยุโรป ดังนั้นคงต้องบอกว่า.. นี่คงไม่ใช่แค่การทหารเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือไม่ใช่แม้กระทั่งเรื่องความขัดแย้งในเชิงนโยบาย แต่เป็นเรื่องของการปล้นชิงสมบัติอันล้ำค่าของชาติ ซึ่งถือเป็น “ การปล้นชิง อันบรรลือลั่น..สนั่นโลก ” เลยก็ว่าได้
เมื่อข่าวนี้.. ถึงพระราชวังเฉิงเต๋อ ลำพังแค่ความโทมนัสของจักรพรรดิเสียนเฟิง คงไม่ช่วยอะไร เพราะต้องยอมรับว่า.. หลังจากการพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 เมื่อปี ค.ศ.1812 แล้วนั้น จีนเองก็ไม่ได้เรียนรู้จากการพ่ายแพ้ หรือกระตือรือล้นที่จะปรับปรุงแก้ไขจุดด้อยต่างๆ ซึ่งแตกต่างไปจากคู่ปรับเก่าคือ “ญี่ปุ่นสมัยเมจิ” หรือแม้กระทั่งมหามิตรอย่าง “สยามประเทศ” ที่สำคัญอย่างนึงคือ.. จีนไม่เคยเปิดรับเทคโนโลยี หรือวิทยาการใหม่ๆ จากโลกภายนอก เพื่อที่จะทำให้ตัวเองเข้มแข็งขึ้นเลยแม้แต่นิดเดียว
องค์ชาย 6 หรือองค์ชายกง หรือ กงชินหวัง
สิ่งที่จีนทำได้ในเวลานั้น ก็คือการส่งทูตออกไปเจรจาเพื่อให้ชาติตะวันตกนั้น หยุดการสู้รบขยายอำนาจเพิ่มเติมไปอีกสักระยะหนึ่ง ในเวลานัั้น ”องค์ชาย 6 หรือองค์ชายกง” พระอนุชาในจักรพรรดิเสียนเฟิงได้ทำหน้าที่เป็นผู้เจรจากับอังกฤษ ซึ่งฝ่ายอังกฤษผู้เจรจาก็คือ “ลอร์ดเอลจิน” ส่วนฝรั่งเศสได้แก่ “บารอน ฌ็อง-บาติสต์ หลุยส์ โกรธ“(Jean-Baptiste Louis Gros) ในขณะที่รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ก็ได้ส่งตัวแทนมาด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ “ นิโคไล พาเวลโลวิช อิกนาตีเยฟ“(Nikolay Pavlovich Ignatyev) และทูต ”เฮนรี่ แบรดฟอร์ด“
เพราะเกรงว่าจะพลาดโอกาสในการขยายอำนาจ และหวังผลในสัญญาที่เป็นอนุสัญญาจะต้องให้ผลประโยชน์กับทั้ง 2 ชาติเพิ่มเติมด้วย ซึ่งได้มีการเรียกสัญญานี้ว่า “ อนุสัญญาปักกิ่ง หรือข้อตกลงปักกิ่ง 1 (อังกฤษ: First Convention of Peking) และถือเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาเทียนจินด้วย
ใจความสำคัญของข้อตกลงในครั้งนี้คือ พื้นที่ตอนใต้ของคาบสมุทรเกาลูน ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นพื้นที่ที่อังกฤษขอเช่าจากสนธิสัญญาเทียนจินนั้น “สิ้นสุดลง” และต้องยกพื้นที่ดังกล่าวให้อยู่ในอาณัติของอังกฤษรวมกับเกาะฮ่องกง(รวมถึงเกาะStonecutters)โดยสมบูรณ์
อนุสัญญาปักกิ่ง
นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงให้จีนต้องเสียพื้นที่กว้างใหญ่มหาศาลทางตอนเหนือของจีน (แมนจูเรียนอก)ให้กับรัสเซีย เพื่อที่รัสเซียจะสามารถขยายเมืองออกไปยังฝั่งทะเลแปซิฟิคได้อีกด้วย และจีนยังต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามอีก รวมเป็นจำนวน 8 ล้านตำลึงเงิน ถ้าถามว่าเยอะขนาดไหน?? ก็เยอะเท่ากับครึ่งหนึ่งของความมั่งคั่งของจีนทั้งชาติในเวลานั้น แน่นอน.. มันไม่เป็นธรรมเอาเสียเลย แต่มันก็ไม่มีทางอื่นอีกแล้ว ที่จะหยุดยั้งสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับจักรวรรดิต้าชิงได้เลย
นอกจากการยอมลงนามในสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเหล่านั้นให้จบกันไป และหลังจากนั้นไม่กี่เดือนต่อมา ในปี ค.ศ.1861 จักรพรรดิเสียนเฟิงเสด็จสวรรคต ด้วยพระชนมายุแค่ 30 ชันษาเท่านั้น และองค์ชายรัชทายาทวัย 5 ปี ได้ขึ้นครองราชย์เปลี่ยนศักราชจากเสียนเฟิง เป็น“ถงจือ” จากการที่ทรงเป็น “ยุวจักรพรรดิ“ และจักรพรรดิเสียนเฟิงไม่ได้มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ 8 คน เป็นผู้ช่วยราชกิจ (รูปที่ปกคือธงของราชวงศ์ชิง)
จึงทำให้แผ่นดินจีนร้อนเป็นไฟ นอกเหนือไปจากภัยคุกคามของชาติตะวันตกแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในปี 1898 อังกฤษได้ทำข้อตกลงปักกิ่งครั้งที่ 2 ขอเช่าพื้นที่ทางตอนใต้ของลำน้ำเซินเจิน (ปัจจุบันคือ ซินเจี้ย หรือ New Territory) ส่งผลให้อังกฤษได้ครอบครองพื้นที่กว้างใหญ่มากกว่าเมื่อครั้งที่อังกฤษเข้ายึดครอง เมื่อคราวที่ชนะสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 เกือบสิบเท่าโดยพื้นที่ทั้งหมดเป็นเขตเช่าของอังกฤษเป็นเวลา 99 ปี (ค.ศ.1898-1997)
ทว่าภายในราชสำนักเองนั้น ก็ยังมีเรื่องของการเมืองและการแย่งชิงอำนาจกันอยู่ตลอดเวลา เพราะว่า.. ฝั่งของพระมารดาของจักรพรรดิถงจื้อก็คือ ”พระนางซูสีไทเฮา“ ต้องการที่จะผนวกอำนาจ และได้มีการประกาศสงครามกับบรรดาผู้สำเร็จราชการบางขั้วที่ไม่ยอมอ่อนข้อกับพระนาง
จนท้ายที่สุดแล้ว.. การศึกภายในท่ามกลางศึกภายนอกในครั้งนี้ ก็จบลงด้วยชัยชนะของพระนางซูสีไทเฮานั่นเอง และพระนางได้กุมอำนาจของจักรวรรดิต้าชิงแบบเบ็ดเสร็จตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จวบจนปี ค.ศ.1908 สำหรับเส้นทางก้าวขึ้นสู่อำนาจของพระนางนั้นมาได้อย่างไร?? โปรดติดตามได้ตอนหน้าครับ
ฝากกดถูกใจ กดแชร์ เพื่อเป็นกำลังใจให้ผมด้วยนะครับ
Reference ประเทศจีน ตอนที่ 10 มังกรสิ้นท่า(สงครามฝิ่นครั้งที่ 2 ตอนที่ 2)
https://shorturl.asia/NFdYZ
https://shorturl.asia/juWiq
https://shorturl.asia/Ted6m
https://shorturl.asia/80UAT
https://shorturl.asia/197R6
https://shorturl.asia/QOJrM
https://shorturl.asia/CpUKz
https://shorturl.asia/HuwIh
https://shorturl.asia/k6MLK
https://shorturl.asia/BtMaO
https://shorturl.asia/IDCV8
ประวัติศาสตร์
เรื่องเล่า
ความรู้รอบตัว
2 บันทึก
13
6
15
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ประเทศจีน ดินแดงมังกร
2
13
6
15
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย