8 ธ.ค. 2024 เวลา 17:28 • ศิลปะ & ออกแบบ

ปิเอต้าของเดอลาครัวซ์ (แต่วาดโดยแวนโก๊ะ) : Pieta by Vangoh

หากกล่าวถึงคำว่าปิเอต้า ซึ่งเป็นคำมาจากภาษาอิตาเลียน (Pietà) แปลว่าความสงสาร ผู้ที่สนใจศิลปะยุโรปคงจะนึกถึงภาพพระแม่มาเรียประคองร่างไร้ชีวิตของพระเยซูหลังจากถูกตรึงกางเขน ซึ่งมีศิลปินสร้างงานไว้มากมายแล้ว ในแวบแรกของความคิดคำนึงของคนส่วนใหญ่มักเป็นประติมากรรมปิเอต้าของไมเคิลแองเจโลในมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์แห่งวาติกัน ซึ่งงดงามเป็นที่สุด
1
แต่คงไม่ค่อยมีใครคิดถึงปิเอต้าอีกชิ้นที่อยู่ในวาติกันและวาดโดยศิลปินดังของโลกเช่นกัน นั่นคือภาพวาดปิเอต้าของแวนโก๊ะ ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยรู้ ว่าเขาวาดปิเอต้าด้วยเหรอ เพราะว่ามันผิดไปจากแนวที่เขาชอบ ซึ่งมักจะเป็นภาพสิ่งของ ทิวทัศน์ ผู้คน ต้นไม้ ที่ได้พบเจอในชีวิตประจำวันมากกว่า
ทว่า ที่นี่คือพิพิธภัณฑ์วาติกัน ซึ่งสะสมผลงานศิลปินระดับโลกเอาไว้ และเป็นพิพิธภัณฑ์ในพื้นที่ทางคริสต์ศาสนาคาทอลิก ภาพปิเอต้าของแวนโก๊ะจึงคู่ควรที่จะอยู่ในวาติกันเป็นที่สุด เพราะผลงานแวนโก๊ะที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาอย่างชัดเจนนี้ เป็นกรณีเฉพาะมาก
ความพิเศษของปิเอต้าภาพนี้อีกประการก็คือ งานของแวนโก๊ะที่เราคุ้นเคยมักจะมาจากสิ่งที่ได้เห็นประจักษ์ด้วยตาของเขาเอง ทั้งภาพทิวทัศน์ ห้องหับ ดอกไม้ และผู้คน ต่างๆ แต่ปิเอต้าชิ้นนี้เขาวาดขึ้นโดยมีต้นแบบจากภาพของเดอลาครัวซ์ (Eugene Delacroix) ศิลปินใหญ่ของฝรั่งเศสคนหนึ่ง นำมาเป็นต้นแบบในการวาดในสไตส์ของเขา ซึ่งมีเอกลักษณ์แตกต่างจากเดอลาครัวซ์ นี่คืองานสร้างสรรค์สิ่งใหม่โดยใช้ชิ้นงานเก่ามาเป็นแบบอย่าง (อย่าเพิ่งงงนะ)
(ซ้าย) ปิเอต้า ของเดอลาครัวซ์ (ขวา) ของแวนโก๊ะ
เอาละ ลองนำงานของเดอลาครัวซ์มาเทียบกับแวนโก๊ะให้เห็นเลย จะพบว่าภาพของเขากลับซ้ายเป็นขวาและขวาเป็นซ้ายเมื่อเทียบกับต้นแบบ นั่นเป็นเพราะว่างานต้นแบบของเดอลาครัวนั้นไม่ใช่ภาพวาด แต่เป็นภาพพิมพ์จากแม่พิมพ์หิน (Lithograph) ต่างหาก
แวนโก๊ะชื่นชมงานของเดอลาครัวซ์มาก โดยเฉพาะการนำสีสันมาใช้สำแดงความหมายของภาพ ตัวอย่างเช่นภาพ "Christ’s Boat" ซึ่งเขาได้เขียนพรรณาไว้ในจดหมาย โดยมีความเห็นว่าเดอลาครัวซ์ใช้สีอย่างมีพลัง สื่อเรื่องราวในภาพได้อย่างดีมาก
ภาพ Christ’s Boat (https://en.wikipedia.org/wiki/Eug%C3%A8ne_Delacroix)
เราลองมาดูงานของศิลปินท่านนี้กันเล็กน้อย นำผลงานชิ้นสำคัญของเดอลาครัวซ์มาให้ดูชม ท่านอาจพอรำลึกได้ว่าบางงานเป็นชิ้นที่เราเคยรู้จักหรือเคยเห็นมาก่อน
ภาพชิ้นสำคัญของเดอลาครัวซ์  Self-portrait  Liberty Leading the People The Death of Sardanapalus The Barque of Dante https://en.wikipedia.org/wiki/Eug%C3%A8ne_Delacroix
แวนโก๊ะวาดระบายใส่สีสันต่างไปจากภาพพิมพ์ที่ของเดอลาครัวซ์ จะเห็นได้ว่าปิเอต้นของแวนโก๊ะ นั้นดูเศร้าสร้อยทุกข์ตรมมาก นอกจากเรื่องราวของภาพที่แสนเศร้าแล้ว เทคนิคการวาดของแวนโก๊ะก็ยังทำให้มันระทมยิ่งไปอีกด้วยการใช้สีแห้งแล้งของทิวทัศน์ ท้องฟ้าพร่าซีด และแรงตวัดพู่กันซี่งแสดงร่างบิดเบี้ยวแข็งเกร็ง หลาย ๆ คนตีความว่าเขาเองใช้ภาพนี้เพื่อส่งอารมณ์ภายในตัวตนของเขา
และบางคนบอกว่า พระเยซูในภาพคือภาพของแวนโก๊ะเอง สังเกตจากสีผมและเคราที่ออกแดง เหมือนกับตัวศิลปิน แสดงว่าเขาเองก็คงเป็นเช่นเดียวกับพระเยซูซึ่งอยู่ในช่วงทุกข์ทนเช่นกัน
อันที่จริงตัวแวนโก๊ะเองก็เป็นคนเจ้าทุกข์มาตลอดชีวิตของเขาอยู่แล้ว แล้วเราก็เห็นไฟทุกข์ของเขาในชิ้นงานหรือจดหมายที่เขาเขียนให้ใครบางคนในชีวิตเขามาโดยตลอด และบางทีงานชิ้นนี้อาจจะสื่อถึงความทุกข์ยากแฝงไว้เช่นกัน
(ซ้าย) ปิเอต้า แวนโก๊ะ พิพิธภัณฑ์วาติกัน (ขวา) พิพิธภัณฑ์แวนโก๊ะ เนเธอร์แลนด์ https://www.museivaticani.va/content/museivaticani/en/collezioni/musei/collezione-d_arte-https://www.vangoghmuseum.nl/en/collection/s0168v1962
ปิเอต้าของแวนโก๊ะนั้นไม่ได้มีชิ้นเดียว แต่ยังมีชิ้นที่ไปแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์แวนโก๊ะห์ที่อัมสเตอร์ดัม และมีต้นแบบจากภาพของเดอลาครัวซ์เช่นกัน แต่มีสีสดใสดูแล้วเป็นสไตล์แวนโก๊ะมากกว่า ท้องฟ้าบรรยากาศดูเหมือนช่วงตะวันจะตกดิน และบางคนอาจรู้สึกว่ามันดูเศร้าทุกข์ทนมากกว่าซะอีก (แต่ทำไมฉันเห็นพระแม่มาเรียอมยิ้มนะ ของเดอลาครัวซ์ก็เหมือนกัน) ผมและเคราพระเยซูดูออกแดงจริง คนที่เชื่อว่าพระเยซูคือภาพสะท้อนของแวนโก๊ะก็เลยยืนยันกันไป จะจริงแท้อย่างไรก็แล้วแต่ใครจะเชื่อ
คิดว่าใช่หรือเปล่า? ใบหน้าพระเยซูสื่อถึงแวนโก๊ะใช่ไหม?
เรื่องศิลปินเอาหน้าตนเองไปแทนหน้าพระเยซูไม่ได้มีแวนโก๊ะคนเดียวที่ทำ แต่ยังมีศิลปินคนอื่น ๆ อีก ซึ่งเดี๋ยวเราจะพาไปชม เขาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วาติกันนี่แหล่ะ บทความหน้าจะเล่าให้ฟัง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา