Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อิจฉาอิตาลี
•
ติดตาม
14 ธ.ค. เวลา 11:10 • ศิลปะ & ออกแบบ
อิตาลี
ถ้าจะเศร้าก็เศร้าให้สุดไปเลยจ้า : Carlo Crivelli, Pietà
ดูปิเอต้าของแวนโก๊ะกันแล้ว ก็ขอพาย้อนกลับมาดูปิเอต้าในยุคเรเนอซองท์อีกชิ้นซึ่งพิพิธภัณฑ์วาติกันได้เก็บไว้ ซี่งน่าสนใจไม่แพ้กัน มีความงามสะเทือนใจในอีกแบบหนึ่ง ดังปรากฏในภาพด้านบน
ต่อไปขอเชิญให้ดูภาพปิเอต้าอีกภาพ ที่น่าจะเป็นของราฟาเอล ด้านล่างนี้
The Pietà attributed to Raphael (Museum of Fine Arts, Boston)
เทียบกันแล้วชอบอันไหนกว่ากันครับ?
จะเห็นว่านี่มันคนละอารมณ์กันเลย แม้ว่าทั้งสองภาพจะอยู่ในสมัยเรเนอซองท์เหมือนกัน แต่ก็ต่างกันมากลิบ ภาพของราฟาเอลมีความนุ่มละไม พระแม่ยังดูสาวสวย เศร้าแบบพองาม รักษากริยาอาการตามแม่แบบอุดมคติ แต่ในอีกภาพนั้นดูคร่ำครวญฟูมฟายไม่เกรงใจคนดูเลย
ขอบอกว่าผมเองก็ชอบภาพของศิลปินคนนี้นะ เป็นความชอบส่วนตัว เพราะเขามีเอกลักษณ์ชัดเจน และมันก็เป็นความงามแบบหนึ่ง
นี่คือภาพปิเอต้า (pieta) ของ Carlo Crivelli จิตรกรยุคเรอเนซองส์ชาวอิตาลี มีชีวิตในช่วงปี 1430 ถึง 1495 เป็นเจเนอเรชั่นก่อนราฟาเอล ไมเคิลแองเจโล และดาวินชี
งานของคริเวลีอยู่ในช่วงเรเนอซองท์ที่ยังไม่พัฒนาสูงสุดจึงยังเห็นความเป็นโกธิค(ศิลปะในยุคกลาง) อยู่ในนั้น ลักษณะบุคคลที่ยังมีความแข็งและแบน เส้นผมก็ยังเป็นก้อนเป็นลอนเกลียว สัดส่วนรูปร่างที่ยังไม่สมบูรณ์แบบ รัศมีรูปแผ่นจานทองแปะติดบนหัวทุกตัวละคร แม้ว่าจะมีการใช้แสงเงาแล้ว แต่รอยยับของผ้าก็ยังดูเป็น กระดาษ ไม่อ่อนพริ้ว
Pieta ของ carlo crivelli ที่พิพิธภัณฑ์วาติกัน ภาพเต็มเป็นครึ่งวงกลม
สิ่งที่น่าทึ่งอีกประการในงานเขาคือลงรายละเอียดพวกลวดลายประดับ เช่น ลวดลายบนผ้า ลายประดับบนสถาปัตยกรรมไว้ละเอียดลออมาก จะเห็นได้จากผืนผ้าที่ห้อยมาด้านหน้า รวมทั้งวอลเปเปอร์รูปหัวเด็กที่คงโดนตัดคอแล้วเอาปีกมาปักลงไป แทนที่รูปเทวดาน้อยล่องลอยแบบที่เราเคยเห็น การใช้สีทั้งหมดก็เป็นแบบเดียวกัน คือสีที่เป็นโทนน้ำตาลทั่วทั้งภาพ ซี่งคงวาดลงบนพื้นที่เป็นสีน้ำตาลไว้ก่อน
วอลเปเปอร์รูปหัวเด็กที่โดนตัดแล้วแปะอีกเข้าไป แทนที่รูปเทวดาน้อยล่องลอย
ทว่างานของคริเวลีก็เหวี่ยงหนีออกจากยุคโกธิคด้วยการแสดงอารมณ์วายป่วงแบบไม่บันยะบันยัง ยั้งไม่อยู่ โดยเฉพาะคนซ้ายสุดซี่งก็คือนักบุญจอห์นอ้าปากร้องโฮ ๆ ๆ เต็มที่ จนมีคนบอกว่าภาพพวกนี้แสดงอารมณ์จนดูเหมือนภาพการ์ตูนล้อ (Caricature) เลย ซึ่งเราก็เห็นด้วยแหละ ส่วนรอยยับรอยย่นของใบหน้านอกจากจะเน้นความชราแล้วยังทำให้เห็นความทุกข์ระทมหม่นหมองอีก
ลองเทียบดูนะจ๊ะ ว่าคล้ายกันไหม
ภาพปิเอต้าของเขาไม่ได้มีรูปเดียว ลองมาดูอีกรูป อยู่ที่ Metropolitan museum of art ที่ New York ก็ออกมาแบบเดียวกัน แต่ดูโหดกว่าด้วยซ้ำ งานนี้มีน้ำตาหยาดหยดอีกด้วย
ปิเอต้าอีกรูปหนึ่ง ที่ Metropolitan museum of art ที่ New York
ซูมใกล้ๆจะเห็นหยาดน้ำตา เห็นกันบ้างไหม
อันที่จริงคริเวลีเป็นศิลปินเรเนอซองท์ที่โด่งดังมากคนหนึ่งแต่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จัก บางทีเราอาจเคยเห็นงานเขามาบ้างแต่ไม่รู้จักคนวาด ผมก็เลยขอโอกาสแนะนำตัวศิลปินและผลงานอื่นในบทความนี้ไปเลยแล้วกันนะ
คริเวลีมีชีวิตในช่วงศตวรรษที่ 15 (c. 1435–1495) มีความร่วมสมัยกับบอตตีเชลลี รุ่นน้อง (c. 1445–1510) ผู้วาดภาพวีนัส สาวน้อยยืนบนหอย ผมสลวยบิดเกลียว เป็นรุ่นพี่ของมิเคลานเจโล ราฟาเอล ดาวินซี ซึ่งเป็นอีกเจนเนอเรชั่น (ห่างกันแค่ระดับทศวรรษแต่อยู่ร่วมราวศตวรรษที่ 15 เหมือนกัน) ซึ่งกลุ่มหลังนี้เป็นเรเนอซองท์ที่พัฒนาสมบูรณ์แล้ว
งานของเขาก็มีสไตล์แบบที่เห็นแหละ คือเป็นเรเนอซองท์ แต่ยังคงมีความกอทิกอยู่ เช่น ความแข็ง ทั้งรูปร่างท่าทางและเนื้อผ้าที่ยังดูไม่อ่อนพริ้ว เส้นผมเป็นก้อนเป็นลอนเกลียว สถาปัตยกรรมและสิ่งทอมีลวดลายยิบยับ มะยุ่บมะยั่บ พร้อมกับสีทองจากแผ่นทองคำเปลว ซึ่งเป็นเทคนิคจากยุคโกธิค ซึ่งทำให้ดูมีความศักดิ์สิทธิ์ มีความขลังขึ้น
เส้นผมแบบคริเวลลี (ขวา) บอตติเชลลี (ซ้าย) ซึ่งเป็นเรเนอซองท์ตอนต้นเหมือนกัน
ต่อไปนี้ ผมจะขอเลือกภาพของศิลปินคนนี้มาให้ดู คัดมาเฉพาะงานเด่น 4 ภาพนะครับ ใครบางคนอาจจะเคยเห็นมาบ้างแล้วก็เป็นได้ แต่ต้องไปแกลรี่อื่น ไม่ใช่ที่วาติกันนะ
ภาพนี้คือ นักบุญจอร์จสังหารมังกร (Saint George Slaying the Dragon) อยู่ในหอศิลป์ลอนดอน (National Gallery, London) เราสามารถเห็นความเป็นโกธิคจากเรื่องราวอัศวินที่มาช่วยเจ้าหญิงให้พ้นจากสัตว์ร้ายตามตำนานศักดิ์สิทธิ์ และฉากหลังเป็นปราสาทในยุคกลาง
งานดังอีกชิ้นคือพระแม่มารีกับกุมารเยซู (Virgin and Child with Saints and Donor) ที่ Walters Art Museum, Baltimore บุคคลแต่ละภาพดูใบหน้านิ่งเฉย ตรงกันข้ามกับ Pietà เลย ยืนเอียงคอตามแบบกอทิก มีจานกลมสีทองครบทุกองค์ ลวดลายบนหมอนและแผ่นผ้าละเอียดละออเหมือนเดิม รูปนี้แม้ว่าพระแม่มารีจะดูสาว แต่กุมารน้อยกลับดูแก่เกินอายุ ส่วนคุณตาด้านขวา (ผู้สนับสนุนทุนสร้างงาน) มีใบหน้าเหี่ยวได้สมจริงเช่นเคย บอกแล้วว่าคริเวลีเก่งมากในการวาดภาพคนให้ดูแก่
ส่วนรูปนี้ Virgin of Passion ที่ Castel Vecchio, Verona ดูสนุกสนานเหมือนเราเอาตุ๊กตาสารพัดมาวางสะสมไว้หน้าแท่นบูชาแบบศาลเจ้าหรือศาลพระภูมิเจ้าที่ของเรา แถมยังมีพวงผลไม้ห้อยไว้แบบงานฉลองคริสต์มาสอีก การห้อยผลไม้นี้เป็นลักษณะเด่นของคริเวลีที่ชอบแฝงสัญลักษณ์บางอย่างไว้ อย่างเช่นแอปเปิ้ลคือความบาปจากสวนอีเดน แตงกวาคือการเจริญพันธุ์ เป็นต้น
อย่าลืมสังเกตว่าด้านหน้าของภาพมีผ้าปูโต๊ะห้อยล้นลงมาด้านหน้าเรา อันนี้จะเห็นได้จากภาพ ของเขาอีกหลายภาพ
และนี่ก็คือภาพที่ดังมากภาพหนึ่ง ชื่อ การประกาศข่าวประเสริฐ (Annunciation) อยู่ในหอศิลป์แห่งลอนดอน ที่นำเอาคุณสมบัติของตัวศิลปินและสไตล์เรเนอซองท์ตอนต้นมาแสดงไว้ชัดเจนดี แวบแรกเราจะได้เห็นการใช้ perspective ที่ถูกต้องแต่ก็ทื่อตรง มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางของจุดสนใจ ซึ่งสิ่งนี้เป็นแลนด์มาร์คว่านี่เราได้เข้ามาสู่เขตแดนของศิลปะเรเนอซองท์แล้ว
ลายประดับถูกเน้นถูกวาดไว้ โดดเด่นกว่าบุคคลหลายคนในภาพ แถมถ้าปูหน้าระเบียงที่เราคุ้นตาในงานอื่นๆ ก็มาหลอกหลอนอยู่ในภาพนี้อีกเช่นกัน ส่วนยูเอฟโอที่พุ่งแสงลงมาที่พระนางมาเรียนั้นที่แท้เป็นสัญลักษณ์ของประกาศิตจากพระบิดาให้พระนางมาเรียตั้งครรภ์
เหี่ยวฟ้ายังคงตามมาเช่นเคย
ใครที่คิดว่าภาพนี้เราไม่ได้เห็นใบหน้าชราอีกแล้วก็ขอบอกว่าคิดผิด เพราะเมื่อซูมดูจะเห็นผู้คนแอบแฝงอยู่ในภาพอยู่ และยังคงเจอเหี่ยวฟ้าในมุมเล็กๆ แต่ต้องสังเกต
ส่วนผ้าปูที่ห้อยลงมามี 2 ผืน ดูดีๆ
นอกจากนั้น เราจะได้เห็นผู้คน ดอกไม้ นกยูง และอะไรต่อมิอะไร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์บอกความหมายเรื่องราวต่างๆทางศาสนาไว้ ตามที่เราเห็นกันมาก่อนในยุคโกธิค แต่วันนี้จะขอไม่เล่ารายละเอียดมาก เพราะวันนี้จะเล่าเรื่องปิเอต้าเป็นหลัก (แต่จะว่าไปเราก็ออกนอกเรื่องไปเยอะแล้วด้วยละ)
ก่อนจะออกจากบทความนี้ ขอชวนให้ท่านลองมาดูภาพปิเอต้าของคริเวลีกับราฟาเอลกันอีกครั้ง แม้ว่าจะถูกวาดห่างกันไม่กี่สิบปี แต่มันแสดงยุคสมัยของพัฒนาการจากงานเรเนอซองท์ที่เพิ่งคลานออกมานอกโกธิค จนกลายร่างมาเป็นเรเนอซองท์ที่สมบูรณ์สูงสุดสมบูรณ์ ทว่าสิ่งที่คริเวลีสร้างจุดเด่นเอาไว้โดดเด่นคือสำแดงอารมณ์ที่เกินเลยไปจากศิลปินอื่นๆในยุคสมัยเหล่านั้น ทำให้เราจดจำภาพและสไตล์ของศิลปินคนนี้ได้อย่างดี
พิพิธภัณฑ์ศิลปะ
เที่ยวยุโรป
ประวัติศาสตร์
บันทึก
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อิจฉากรุงโรม
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย