13 ธ.ค. เวลา 02:23 • หนังสือ

รีวิวหนังสือ “แด่คุณที่กลัวการเปลี่ยนแปลงมาตลอดชีวิต”

ผู้เขียน คือ มัทซึมารุ ไดโกะ ผู้เรียกตัวเองว่า นักอ่านใจไดโกะ
เขาบอกว่าเขานำเสนอเทคนิค positive change หรือการเปลี่ยนแปลงตัวเองทางบวกให้เราลองทำตามดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 กฎเพื่อการเปลี่ยนแปลง 3 ข้อ
- ไม่ต้องใช้สมอง
- ไม่ต้องหาข้ออ้าง
- ไม่ต้องมีความหวัง
ขั้นตอนที่ 2 สวิตช์ทั้ง 7 ที่จะเปลี่ยนคุณเป็นคนใหม่!
ขั้นตอนที่ 3 การฝึกฝน 5 สัปดาห์ที่จะช่วยดึงพลังที่ซ่อนอยู่ในตัวคุณออกมาอย่างสูงสุด!
เล่มที่ 43
ส่วนที่ผู้เขียนบอกว่าจะเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ต้องใช้สมองให้ลงมือทำทันทีนั้นผมเห็นด้วยส่วนหนึ่งเห็นต่างส่วนหนึ่ง คือ ถ้ามันเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ทำได้ทันทีอย่างเช่นอยากให้ห้องสะอาดก็เก็บทำความสะอาดทันที ไม่ต้องคิดอะไรอยู่แล้ว
แต่ถ้าเป็นเรื่องการทำตามเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่บางครั้งมันก็ต้องมีการวางแผนลงมือทำ ไม่ใช่ทำไปเรื่อยเปื่อย ผมเห็นด้วยกับ Brian Tracy มากกว่า ที่เขากล่าวไว้ว่า “เป้าหมายที่ไร้แผนการเป็นเพียงความฝันลมๆ แล้งๆ”
ผู้เขียนบอกว่า “ร่างกายและสมองของมนุษย์เกลียดความเปลี่ยนแปลงเป็นทุนเดิมอยู่แล้วหากอ่านหนังสือเล่มนี้ คุณจะเต็มไปด้วยอารมณ์ในแง่บวกไม่ว่าจะเป็นความเพลิดเพลินจากกระบวนการการเปลี่ยนแปลง ความสนุกสนาน และความตื่นเต้นเร้าใจ”
แต่ผมว่าการลงมือทำเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง บางครั้งมันก็ไม่ได้สนุกเร้าใจหรอก ต้องยอมอดทนทำสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบก็มี และเนื้อหาที่ผู้เขียนเขียนไว้ก็ไม่ได้ดูน่าสนุกสนานเร้าใจอะไรเลย แถมไม่ได้ทำให้มีอารมณ์แง่บวกด้วย บางเรื่องทำให้คิดลบด้วยซ้ำ
ผู้เขียนยังบอกว่า “ผมกล้าพูดได้เต็มปากว่า เมื่อคุณอ่านหนังสือเล่มนี้จบจะเปลี่ยนแปลง
ตัวเองได้แน่ๆ” ซึ่งผมว่าไม่จริงครับ อ่านจบถ้าไม่ทำอะไรเลยมันก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรอก แถมผมก็เห็นว่าวิธีต่างๆ ของผู้เขียนก็ไม่ได้เป็นวิธีที่น่าทำตามสักเท่าไหร่
แนวคิดบางเรื่องก็แปลกๆ อย่างเช่นเรื่องที่ผู้เขียนบอกว่า “ผู้เขียนชอบสะสมหนังสือ เมื่อหนังสือเริ่มเต็มจนไม่มีที่ว่าง ก็จะย้ายไปบ้านที่กว้างกว่า” ซึ่งมันดูไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดี แถมยังรู้สึกว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้รวยขนาดย้ายบ้านเรื่อยๆ เพราะหนังสือเต็มบ้านมะ ถึงจะรวยก็ไม่น่าจะมีความคิดแบบนี้
คำแนะนำบางอย่างก็ดูจะใช้ได้เฉพาะที่ญี่ปุ่น อย่างเช่น “เวลานั่งรถไฟฟ้าไปทำงาน ให้ลองลงก่อน 1 สถานีแล้วเดินไปทำงานเพื่ออาบแดดให้เซโรโทนินหลั่ง ช่วยให้คลายเครียด สบายใจ” ซึ่งผมว่าถ้านำมาใช้กับประเทศที่ไม่ได้มีรถไฟฟ้าทั่วประเทศ และอากาศร้อนตลอดปี แถมฟุตปาททางคนเดินเท้าทางชำรุด อย่างประเทศเรา ก็คงรู้นะว่าจะช่วยคลายเครียดและรู้สึกสบายใจขึ้นมั้ย 555
และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์บางอย่างน่าจะไม่ถูกต้อง เช่น บอกว่าโดพามีน และเซโรโทนิน เป็นฮอร์โมน ซึ่งจริงๆ แล้ว สารทั้งสองดังกล่าวเป็นสารสื่อประสาท ไม่ใช่ฮอร์โมน อย่างที่คุณหมอคาบะซาวะ ชิอง ให้ข้อมูลไว้ในหนังสือ The Three Happiness สู่จุดสูงสุดของชีวิต ด้วยพีระมิดสามสุข และดร.ข้าวก็ให้ข้อมูลไว้ใน youtube ช่อง Top to Toe EP.113 ตอน ลดไขมัน เพิ่มเซโรโทนินในสมองได้ ว่า “สารสื่อประสาทในสมองทำงานแตกต่างกับฮอร์โมน”
อีกทั้งตามเว็บไซต์วิทยาศาสตร์ก็บอกว่าฮอร์โมน (Hormone) คือ สารเคมีที่ร่างกายผลิตขึ้นมาจากต่อมไร้ท่อหรือเนื้อเยื่อและลำเลียงไปตามกระแสเลือด แต่สารเคมีในสมองเป็น สารสื่อประสาท หรือ Neurotransmitters เป็นสารที่เซลล์ประสาทสร้างขึ้นจากเซลล์ประสาท
สไตล์การเขียนของผู้เขียนบางอย่างก็จะพูดตรงๆ แรงๆ หน่อย ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ได้นะ แต่ก็ไม่ต้องเอามาเขียนก็ได้มั้ง เช่น “ยิ่งเป็นคนที่ชอบเอ่ยชื่อองค์กรใหญ่หรือคนดังทำนองว่า ฉันรู้จักกับคนดังคนนั้น มีความเป็นไปได้สูงว่าเขาอาจมีปมด้อยเรื่องตัวเอง…ยิ่งแสดงออกอย่างภูมิใจว่าตัวเองรู้จักกับคนที่มีคุณค่าหรือเป็นที่ยอมรับทางสังคมมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นการยอมรับว่าตัวเองไม่มีคุณค่ามากเท่านั้น”
เรื่องนี้ผมว่ามันไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์มากกว่าที่ต้องการให้คนอื่นมองเราว่าพิเศษ หรืออาจะเป็นแค่ความภูมิใจของตัวเราเองที่อยากเล่าให้ฟังเฉยๆ มันไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไรถึงขนาดยอมรับว่าตัวเองไม่มีคุณค่า
สิ่งหนึ่งที่ทำให้รู้สึกได้จากการอ่าน คือ รู้สึกว่าผู้เขียนเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเองสูง และดูจะภูมิใจกับยอดกดถูกใจทวีตของตนเองด้วย นั่นก็อาจจะเป็นเพราะทำให้มีผลต่อรายได้ของเขาด้วยล่ะมั้ง
อ่านจบแล้วไม่ได้มีความรู้สึกว่าอยากหยิบขึ้นมาอ่านซ้ำ อาจจะมีหยิบมาเปิดชื่อหนังสือที่ผู้เขียนอ้างอิงไว้เพื่อไปหาอ่านต่อบ้าง ส่วนตัวคิดว่าหนังสือพัฒนาตนเองเล่มอื่นเขียนได้ดีและน่าอ่านกว่านี้เยอะ
อย่างไรก็ตาม ขณะอ่านก็รับรู้ได้ว่าผู้เขียนอ่านหนังสือมาเยอะมากมีการอ้างอิงข้อมูลหรือคำพูดจากหนังสือเล่มต่างๆ เยอะ ซึ่งก็เป็นข้อดีที่ทำให้เราได้ไปตามอ่านเล่มที่ผู้เขียนอ้างอิงมาอ่านบ้าง
ข้อดีที่ได้จากเล่มนี้
1.ทำให้ระวังคำพูดมากขึ้น เพราะผู้เขียนบอกว่า “การพูดเรื่องต่างๆ ในแง่ลบเสมอยิ่งทำให้สมองสร้างเครือข่ายไปในแง่นั้น สมองจะสนใจและมองสิ่งต่างๆ ในแง่ลบมากขึ้น”
2.ทำให้ฝึกพูดแต่เรื่องดีๆ เพราะผู้เขียนบอกว่า “ไม่สำคัญว่าเราคิดบวกจริงๆ หรือเปล่า จะใช้คำพูดที่ไม่ได้มาจากใจจริงก็ได้ ขอแค่ให้ใช้คำพูดในแง่บวกก็พอ จะทำให้คุ้นเคยกับการมองเรื่องต่างๆ ในแง่บวกไปเอง“
3.ทำให้มีความคิดอยากจะลดข้าวของลง เพราะผู้เขียนบอกว่า “ยิ่งข้าวของเยอะจะทำให้ลังเลหรือคิดมาก สิ้นเปลืองแรงและเวลาในการเลือก”
4.ทำให้อยากตื่นเช้าขึ้น เพราะผู้เขียนอ้างอิงคำกล่าวของแดน อาริลี ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ที่บอกว่า “ตอนเช้า 2 ชั่วโมงแรกนับจากตื่นนอนอย่างสมบูรณ์ จะเป็นช่วงเวลาที่มีประสิทธิผลสูงสุด”
สรุปเล่มนี้ให้ 2 ดาวเต็ม 5 ⭐️⭐️
ผู้เขียน : Mentalist Daigo
ผู้แปล : ธนัญ พลเสน
สำนักพิมพ์ : อมรินทร์ howto
หมวด : จิตวิทยาพัฒนาตนเอง
ขนาดรูปเล่ม : 14.4 x 20.9 x 1 ซม.
น้ำหนัก : 223 กรัม
จำนวนหน้า : 162 หน้า ปกอ่อน
ISBN : 9786161828110
หนังสือราคา 195 บาท

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา