2 ก.พ. เวลา 08:36 • หนังสือ

รีวิวหนังสือ Good Vibes, Good Life ใช้คลื่นพลังบวกดึงดูดพลังสุข

เป้าหมายของคุณไม่ใช่การกำจัดความคิดลบ แต่เป็นการเปลี่ยนวิธีตอบรับต่อความคิดนั้น”
Vex King
เมื่อคุณรู้สึกดี ชีวิตก็จะพลอยดีไปด้วย หากคุณสัมผัสความรู้สึกดีอย่างต่อเนื่อง ก็จะมองชีวิตในทางบวกอยู่เสมอ
Vex King
หนังสือที่แนะนำให้เรามองโลกในแง่บวกมีมากมาย แต่เล่มนี้มีคำคมโดนใจที่อ่านแล้วรู้สึกอึ้ง ต้องโห่ร้องชมในใจว่า โห คิดได้ไงเนี่ย!
เล่มที่ 44
ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการที่ผู้เขียนคอยอัปเดตคำคมเกี่ยวกับความคิดเชิงบวกใน IG ของผู้เขียนอยู่เสมอ ทำให้ต้องคอยฝึกพัฒนาตนเองอ่านหนังสือเยอะและคิดถ้อยคำสร้างแรงบันดาลใจแชร์ให้แก่ผู้คนเป็นแนวทางในการใช้ชีวิต
การเปลี่ยนกรอบความคิดของคนเราให้มองโลกในแง่บวก แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ และทำเพียงชั่วคราวแล้วจะได้ผลติดตัว ผู้เขียนจึงบอกว่า “การกระทำใหม่ๆ และการเปลี่ยนกรอบความคิดไปในเชิงบวกต่างก็เป็นองค์ประกอบของการรักตัวเองเพื่อให้คุณกลายเป็นคนที่ดีที่สุด และมีความสุขที่สุดเท่าที่จะเป็นได้…หากทำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานก็จะกลายมาเป็นพฤติกรรมที่ให้ผลลัพธ์ยั่งยืนได้”
ผู้เขียนเปรียบเทียบพลังด้านบวกต่างๆ เข้ากับแรงสั่นสะเทือน ในเล่มนี้ ผู้เขียนใช้คำว่า vibration ซึ่งตัวย่อของคำนี้ที่เราเห็นใช้กันมากมายในโซเชียลมีเดีย ก็คือ vibe เป็นคำเดียวกับศัพท์แสลงที่แปลว่า อารมณ์ ความรู้สึก บรรยากาศ นั่นเอง
ผู้เขียนบอกว่า “กฎแห่งแรงสั่นสะเทือนเชื่อว่า เราควบคุมความเป็นจริงของตัวเองได้…เปลี่ยนวิธีที่คุณคิด รู้สึก พูด และกระทำ แล้วคุณจะเริ่มเปลี่ยนโลกของตัวเอง”
”ต้องเชื่อมต่อกับความถี่ในแรงสั่นสะเทือนของสิ่งนั้น ยิ่งนึกภาพว่าสิ่งนั้นเป็นจริง หรือเป็นรูปเป็นร่างมากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งเข้าใกล้แรงสั่นสะเทือนของมัน นี่คือเหตุผลว่าทำไมเวลาเชื่อบางสิ่งบางอย่างจริงจัง หรือทำเสมือนว่าสิ่งนั้นเป็นจริงอยู่แล้ว โอกาสที่สิ่งนั้นจะเป็นรูปเป็นร่างจริงยิ่งเพิ่มขึ้น“
ผู้เขียนยกตัวอย่างให้เราเข้าใจอย่างง่ายๆ ว่า “ถ้าอยากได้ความรู้สึกดี เราก็ต้องสร้างความรู้สึกดี…แรงสั่นสะเทือนที่ส่งออกไปจะดึงดูดสิ่งที่สั่นสะเทือนในความถี่เดียวกับเราเสมอ หมายความว่า ความรู้สึกต่างๆ ที่เราส่งออกไปแก่จักรวาลจะย้อนกลับมาหาเราผ่านแรงสั่นสะเทือนที่เข้ากัน ดังนั้นหากส่งความรู้สึกเบิกบาน คุณก็จะได้รับสิ่งต่างๆ ที่ทำให้รู้สึกเบิกบานมากขึ้น”
เป้าหมายของผู้เขียน คือ การช่วยให้ผู้อ่านเป็นคนที่ดีกว่าตัวเองในเมื่อวาน
ผู้เขียนแนะแนวทางให้เรารู้จักความสุขที่ยั่งยืนโดยการ “เลือกความคิดที่ให้กำลังใจแทนความคิดที่จำกัด ต้องสร้างนิสัยที่จะมองด้านดีของสิ่งต่างๆ และปล่อยอดีตให้ผ่านไป เลิกใช้ชีวิตในอนาคต และยินดีในจุดที่อยู่และในสิ่งที่มีตอนนี้ ถอนตัวออกจากการเปรียบเทียบ และรักทุกสิ่งในโลกอย่างไร้เงื่อนไข โอบกอดสิ่งที่เป็นอยู่มีความสุขเข้าไว้”
อาจจะฟังดูเหมือนโลกสวย แต่ผมว่ามันเป็นแนวคิดที่ทำให้โลกสงบสุขอย่างแท้จริง หากคนส่วนใหญ่สามารถทำได้อย่างที่หนังสือเล่มนี้บอกขอแค่เกินครึ่งของประชากรโลกมานิดนึง ผมว่าโลกเราจะมีอาชญากรรมน้อยลงและน่าอยู่ขึ้นเยอะ
ผู้เขียนยังชวนให้เราสังเกตความต่างของความคิดคนเรา โดยกล่าวว่า “เราใช้ชีวิตอยู่บพื้นฐานความเชื่อที่มาจากประสบการณ์และการสะสมความรู้ ทำให้เรามองโลกต่างกัน”
ผู้เขียนจึงแนะให้ว่าไม่ต้องไปสนใจกับความคิดของคนอื่นมากนัก หากเราเชื่อมั่นในการกระทำของตนเองจงทำไป โดยผู้เขียนกล่าวไว้ว่า “อำนาจจิตของคุณสร้างความจริงของคุณ ดังนั้นถ้ามีคนบอกว่าคุณตั้งเป้าหมายโดยไม่มองโลกตามความเป็นจริงและขอให้คุณกลับมาอยู่กับความเป็นจริงให้ตระหนักว่าความจริงที่เขาพูดถึงคือความจริงของเขาเท่านั้น ไม่ใช่ของคุณ”
“การเชื่อในบางสิ่งคือกุญแจที่จะทำให้มองเห็นสิ่งนั้น ถ้าไม่เชื่อสิ่งนั้นก็ไม่จริงสำหรับคุณ แล้วก็ไม่อาจเป็นความจริงของคุณได้
ผู้เขียนยังแนะนำ “ให้อยู่ท่ามกลางคนคิดบวก อยู่รอบๆ ผู้คนที่รู้สึกดีกว่าคุณ เพราะพลังงานถ่ายทอดกันได้”
”อย่างที่รู้จากกฎแห่งแรงสั่นสะเทือนว่า ถ้าเชื่อสิ่งที่เป็นลบเราก็จะเจอสิ่งที่เป็นลบ ประสบการณ์ที่เป็นลบเหล่านี้จะคอยสนับสนุนความเชื่อที่มีมาแต่แรกเริ่ม ทำให้คุณยิ่งเชื่อถือมากขึ้น และข้อเท็จจริงอันไร้สุขก็อาจยิ่งจริงแท้จนกว่าคุณจะเปลี่ยนความเชื่อ“
ผู้เขียนยกตัวอย่างผลของความคิดและการกระทำในแง่บวก หากเราสะสมไปเรื่อยๆ จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ เช่น “ทฤษฎีความไร้ระเบียบเป็นคณิตศาสตร์สาขาหนึ่ง ซึ่งนำไปใช้ในสาขาต่างๆ เช่น ฟิสิกส์ ชีววิทยา เศรษฐศาสตร์และปรัชญา
ทฤษีนี้กล่าวว่าแม้ตัวแปรเริ่มต้นจะมีความต่างเพียงเล็กน้อย ก็นำไปสู่ผลลัพธ์อันซับซ้อนและคาดการณ์ได้ยาก บางคนเรียกว่า ทฤษฎีผีเสื้อขยับปีก กล่าวคือ การขยับปีกของผีเสื้อตัวหนึ่งในป่าแอมะซอนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในบรรยากาศเล็กน้อย แต่พอผ่านไประยะหนึ่งก็อาจส่งผลถึงสภาพอาาศของสถานที่ที่ไกลโพ้นอย่างนิวยอร์กได้”
ข้อคิดนี้ตรงกับที่ James Clear กล่าวไว้ในหนังสือ Atomic Habits เพราะชีวิตดีได้กว่าที่เป็น ว่า “การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ สร้างการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ได้ การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในกิจวัตรประจำวัน สามารถนำไปสู่จุดหมายปลายทางที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง การเลือกให้ดีขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์ หรือแย่ลง 1 เปอร์เซ็นต์ อาจดูเหมือนไม่มีสาระสำคัญในตอนแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไปมันจะส่งผลต่อคุณไปทั้งชีวิต”
ผู้เขียนชี้ให้เห็นพลังแห่งคำพูดว่า “พูดให้กำลังใจบ่อยๆ สิ่งที่คุณพูดจะค่อยๆ กลายเป็นรูปธรรม คุณมีพลังที่จะพูดให้ความจริงในแง่มุมต่างๆ มีตัวตนขึ้นมา อย่าดูถูกพลังของคำพูดสร้างกำลังใจ ซึ่งก็คือ ถ้อยคำเชิงบวกเกี่ยวกับสิ่งที่คุณปรารถนาจะทำให้สำเร็จ
เพียงกล่าวบางสิ่งซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างแรงกล้า ก็สร้างความเชื่อลึกลงไปในจิตใต้สำนึกของเราว่าคำกล่าวนี้เป็นจริง
เราโดนสังคมปัจจุบันป้อนความคิดเกี่ยวกับโลกนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่นแม่คอยบอกลูกว่าขี้อาย ทำให้ความคิดนี้ฝังหัวเด็ก เด็กอาจจะไม่ได้ขี้อายจริง แต่การย้ำความคิดนี้อาจทำให้เด็กเริ่มเชื่ออย่างนั้น และอาจโตมาขี้อายจริงๆ คำพูดของแม่จึงกลายเป็นคำทำนายที่เป็นจริงตามความเชื่อส่วนตัว“
ผู้เขียนยังกล่าวต่อไปว่า ”ผมจึงอยากย้ำอีกครั้งถึงความสำคัญของการอยู่ท่ามกลางคนที่ป้อนความคิดที่ส่งเสริมคุณ ไม่ได้จะบอกว่าควรรักษาไว้เฉพาะเพื่อนที่พูดถึงคุณในแง่ดีเท่านั้น แต่หมายถึงว่าควรเลือกคนที่ให้กำลังใจ ไม่ใช่บั่นทอน ถ้าคุณโดนบอกอยู่เรื่อยๆ ว่าไม่สามารถทำบางสิ่งได้คุณก็จะเชื่อว่าตัวเองทำไม่ได้จริงๆ“
ผู้เขียนยังแนะแนวความคิดเกี่ยวกับการทำตามเป้าหมายในชีวิตด้วยว่า “ความคิดแง่ลบเช่น เราทำไม่ได้หรอก จะกีดกันคุณไม่ให้เดินหน้าต่อเพื่อบรรลุเป้าหมาย และมีแนวโน้มชัดเจนว่าจะบรรลุเป้าหมายยากขึ้นด้วย
ความคิดแง่บวกเช่น เราทำได้ จะปล่อยให้คุณได้พยายาม และมีโอกาสบรรลุเป้าหมายมากกว่า...ผมได้แรงบรรดาลใจจากคนที่เริ่มชีวิตอย่างยากลำบากแต่ก็ยังทำสิ่งที่เหลือเชื่อให้สำเร็จได้ ผมบอกตัวเองว่า “ถ้าพวกเขาทำได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้ จึงเปลี่ยนความสนใจไปยังสิ่งที่สามารถทำได้ มากกว่าสิ่งที่ไม่สามารถทำได้”
และผู้เขียนก็แนะนำวิธีคล้ายกับหนังสือพัฒนาตนเองเล่มอื่นๆ ว่า “คุณคือนักเขียนอนาคตของตัวเองจงเขียนสิ่งที่ปรารถนาและใช้ชีวิตด้วยเรื่องราวของคุณเอง ถ้าจดเป้าหมายไว้ก็จะเบนความตั้งใจไปยังสิ่งที่จับต้องได้ การเขียนรายละเอียดจะช่วยให้คุณจดจ่อและไม่หลงทาง”
“หลายคนมีข้อแก้ตัวยืดยาวว่าทำไมถึงทำอะไรไม่สำเร็จ บ่อยครั้งที่คุณจะได้ยินคนแสดงความกังขาหรืออธิบายว่าไม่มีเวลา ความเชี่ยวชาญ แหล่งข้อมูล เงิน และอื่นๆ แต่ถ้าต้องการเป้าหมายอย่างหนึ่งมากพอ เราจะยอมแลกกับเรื่องอื่นๆ เพื่อทำให้สำเร็จ เราไม่จำเป็นต้องมีเวลาว่างเหลือเฟือถึงจะทำฝันให้เป็นจริงได้ เรื่องเงินทอง และแหล่งข้อมูล อื่นๆ ก็เหมือนกัน สิ่งที่คุณต้องการคือภาพจินตนาการความเชื่อและการทุ่มเทอย่างจริงจังคุณจะพบหนทางถ้ารู้จักทำอย่างต่อเนื่อง”
แถมยังมีคำพูดที่อ่านแล้วจุกกันไปตามๆ กันมากมาย เช่น “คุณอาจไม่อยากเสียความสะดวกสบาย หรือต้องทรมานกับการทำงานหนักเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ปรารถนา เราไม่อยากก้าวออกจากคอมฟอร์ทโซน ยอมอยู่ในระดับปานกลาง ในขณะที่ก็บ่นไม่เลิกว่าผลลัพธ์นั้นไกลเกินเอื้อม เราบอกว่ายังไม่พร้อม แล้วเมื่อไหร่คุณถึงจะพร้อมล่ะ”
“คนจำนวนมากรู้ว่าต้องทำอะไร แต่ก็ไม่ทำ พวกเขาเอาแต่แก้ตัว หรือเลือกทางออกที่ง่ายกว่า เพราะทางออกที่แท้จริงดูยากเย็นเกินไป บางคนใช้พลังงานไปกับการค้นหาทางที่ลงทุนลงแรงน้อยกว่าแต่ให้ผลลัพธ์แบบเดียวกัน”
ผู้เขียนยกตัวอย่างเรื่องการลดน้ำหนักว่า “ถ้าอยากลดน้ำหนัก ก็ต้องรับพลังงานให้น้อยกว่าที่ใช้ ไม่ว่าจะด้วยการเพิ่มการออกกำลังกาย ปรับเปลี่ยนอาหาร หรือทั้งสองอย่าง คนส่วนใหญ่รู้ว่าต้องทำสิ่งเหล่านี้แต่ก็ไม่ทำ…
เราไม่อยากลงมือทำถ้ามองว่ากระบวนการไปให้ถึงเป้าหมายยากเกินไปความคิดเรื่องการไปฟิตเนส หรือรับประทานอาหารสุขภาพอาจดูทรมานยิ่งกว่าการปล่อยให้ตัวเองเป็นอย่างเดิม คนเหล่านี้จึงไม่ลงมือทำ พวกเขามีแนวโน้มที่จะยึดทางเลือกที่ง่ายกว่าและสบายกว่า น่าเศร้าที่หลายคนรอจนกว่าไม่มีทางเลือกอื่นแล้วถึงจะยอมเปลี่ยนแปลง…“
ผมเห็นด้วยมากครับ หลายคนไม่ยอมออกกำลังกายกินอาหารดีมีประโยชน์ ผมเองก็เคยเป็นหนึ่งในนั้น รอจนวันที่เป็นโรคหรือต้องไปหาหมอแล้วจึงจะเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง ผมว่าถ้ามันยังแก้ไขได้ก็ดีไปครับ แต่ร่างกายเราบางอย่างมันพังแล้วพังเลยไม่สามารถซ่อมแซมได้ ถึงเวลานั้นคิดได้ก็อาจสายไปแล้วครับ
ผู้เขียนยังให้แง่คิดดีๆ ในการทำตามความฝัน เช่น ”ความต่อเนื่องนำไปสู่ผลลัพธ์ต้องฝึกฝนให้สม่ำเสมอและจริงจังมุ่งมั่นกับการลงมือทำ ความต่อเนื่องจะทำให้เราสร้างความเคยชินที่เปลี่ยนชีวิตได้
อย่าแก้ตัวว่าไม่มีเวลา ถ้าไม่หาเวลาเพื่อบางสิ่งได้ แสดงว่าสิ่งนั้นไม่สำคัญมากพอสำหรับคุณ แต่ถ้าบางสิ่งสำคัญจริงๆ คุณจะหาเวลาให้มันได้เอง“
ผู้เขียนยังบอกว่า “ความต่างระหว่างธรรมดากับไม่ธรรมดานั้นง่ายนิดเดียว คนที่ไม่ธรรมดาจะกระทำการใดๆ เสร็จสิ้นแม้ไม่อยากทำเพราะพวกเขาเอาจริงกับเป้าหมายอย่างเต็มที่”
”อะไรๆ จะง่ายขึ้นเสมอเวลาคุณมีอารมณ์จะทำ แต่ถ้าต้องการใช้ชีวิตที่ดีกว่าคนทั่วไปก็ต้องทุ่มเทความพยายามแบบเดียวกันแม้ในเวลาที่ไม่มีอารมณ์จะทำด้วย“
ประเด็นนี้ตรงกับที่ James Clear กล่าวไว้ในหนังสือ Atomic Habits เพราะชีวิตดีได้กว่าที่เป็น ว่า “คนที่ประสบความสำเร็จจริงๆ นั้น เขาก็รู้สึกหมดแรงจูงใจได้เหมือนคนอื่นๆ ความแตกต่างคือพวกเขายังพยายามหาทางทำให้ต่อเนื่องสม่ำเสมอทั้งๆ ที่รู้สึกเบื่อหน่าย…”
ผู้เขียนจึงเน้นย้ำว่า ”ความอดทนเป็นสิ่งจำเป็นในการทำให้เป้าหมายลุล่วง ความปรารถนาของคุณอาจใช้เวลาช่วงหนึ่งกว่าจะเป็นจริง ถ้าเชื่อว่าคุณทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อให้เป้าหมายเป็นจริงแล้วละก็ บางครั้งสิ่งเดียวที่ต้องทำก็คือ “การฝึกความอดทน”
ยอมรับปัจจุบันอย่างที่เป็นและรักษาการมองโลกในแง่ดีไว้ หากเจอกับความล่าช้า การก้าวถอยหลัง หรือความท้าทาย…เราด่วนสรุปว่าสิ่งต่างๆ จะต้องมาถึงอย่างรวดเร็วด้วยความพยายามอันน้อยนิด…อย่าลืมข้อเท็จจริงว่าสิ่งต่างๆ ในชีวิตส่วนใหญ่อาศัยความพยายามและความอดทน…
ส่วนใหญ่แล้วเป้าหมายไม่ได้หลบหลีกไปไหน แต่เป็นคุณเองที่ไม่ได้พยายามมากพอ หรือไม่ก็คาดหวังว่าสิ่งต่างๆ ต้องเกิดทันทีทันใด ฝึกความอดทนเอาไว้ครับ“
ผู้เขียนแนะนำพฤติกรรมของวิถีชีวิตที่เป็นบวกว่า “ควรใช้เวลาท่ามกลางธรรมชาติ…มีงานวิจัยที่พบว่าสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติช่วยเยียวยาให้เกิดสถานะทางอารมณ์อันเป็นบวกและส่งเสริมสุขภาพจิต” ซึ่งวิธีนี้ตรงกับที่คะบะซาวะ ชิอง แนะนำไว้ในหนังสือ The Three Happiness สู่จุดสูงสุดของชีวิต ด้วยพีระมิดสามสุข ว่า “เพียงแค่มีเวลาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติมากกว่า 5 ชั่วโมงในหนึ่งเดือน นอกจากความเครียดจะลดลงอย่างมาก สมองยังกระปรี้กระเป่า รวมทั้งความจำ ความคิดสร้างสรรค์ สมาธิ และความสามารถในการวางแผนจะดีขึ้น”
ผู้เขียนยังให้แง่คิดเกี่ยวกับการนินทาคนอื่นว่า ”การนินทานั้นทำลายตัวตน เราทำไปเพื่อพยายามให้ตัวเองรู้สึกดีเหมือนว่าได้อยู่เหนือคนอื่น การนินทามักมีอคติและอคติส่วนใหญ่ก็มีพื้นฐานมาจากความเกลียดชังซึ่งเป็นสถานะแรงสั่นสะเทือนที่ต่ำและมีแต่จะดึงดูดประสบการณ์ที่ไม่น่าพึงพอใจเข้ามาในชีวิตคุณ“
”ดังนั้นจงพาตัวเองออกห่างจากบทสนทนาเกี่ยวกับผู้อื่นหรือพยายามเปลี่ยนไปคุยเรื่องบวกแทนสังเกตได้ว่าผู้คนที่มัวแต่นินทาคนอื่นมักเป็นคนที่ชอบบ่นหรือจมอยู่กับความทุกข์โดยไม่พยายามทำอะไรให้ดีขึ้น ถ้ารับอุปนิสัยเหล่านั้นมาก็จะค่อยค่อยหมดศรัทธาในชีวิต“
ผู้เขียนยังชี้ให้เห็นความจริงของสังคมที่ว่า ไม่ใช่ทุกครอบครัวที่จะมีพ่อแม่ที่ดี โดยกล่าวไว้ว่า “การเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ไม่ได้แปลว่าพวกเขาจะหวังดีที่สุด เราถูกสอนว่าครอบครัวสำคัญที่สุดแต่ความสัมพันธ์ทางชีวภาพเช่นนี้ไม่ได้เป็นความสัมพันธ์ที่ใส่ใจกันหรือใกล้ชิดเสมอไป เพื่อนบางคนอาจเป็นครอบครัวยิ่งกว่าครอบครัวจริงๆ เสียอีก เราไม่ควรปิดบังความจริงที่ว่าบางครั้งสมาชิกในครอบครัวก็คือคนที่เป็นพิษที่สุดในชีวิต”
โดยผู้เขียนแนะนำว่าถ้าจำเป็นต้องตัดใครเพราะพฤติกรรมทำลายล้างที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ละก็ ทำไปเถอะ ไม่ต้องเสียใจ
อ่านเล่มนี้แล้วรู้สึกอยากพัฒนาตนเองให้เป็นคนที่ดีขึ้นพร้อมรับมือกับนิสัยของคนทุกประเภท อย่างที่ผู้เขียนบอกไว้ว่า “จริงๆ แล้ว เราก็อยากอยู่ในจุดที่อารมณ์ตัวเองไม่เหวี่ยงตามพฤติกรรมของคนอื่น แต่มีเฉพาะคนที่พัฒนาทางจิตวิญญาณดีแล้วถึงจะแสดงความรักไร้เงื่อนไขอยู่เสมอได้ไม่ว่าคนอื่นจะมีทีท่าอย่างไร”
ผู้เขียนแนะนำให้แสดงความขอบคุณกับสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่นให้นับเรื่องดีๆ ในแต่ละวัน และขอบคุณเรื่องเหล่านั้น จะช่วยพัฒนาจิตใจให้มองหาสิ่งดีในทุกสิ่งที่อยู่รอบตัว เช่นเดียวกับหนังสือพัฒนาตนเองของญี่ปุ่นหลายเล่มที่แนะนำเช่นนี้ แต่เล่มนี้ผู้เขียนแนะนำได้อย่างเห็นภาพทำให้เห็นข้อดีของการแสดงความขอบคุณจริงๆ
ยิ่งอ่านยิ่งรู้สึกใจฟู ถ้อยคำที่ผู้เขียนใช้แต่ละบทนำไปเป็นคำคมสอนใจได้เยอะมาก ผู้เขียนบอกว่าไม่ได้เป็นนักปรัชญา นักจิตวิทยา นักวิทยาศาสตร์ หรือผู้นำทางศาสนา แต่เป็นคนที่ชอบเรียนรู้และแบ่งปันสิ่งเหล่านั้นกับคนอื่น ซึ่งผมบอกเลยว่าผู้เขียนยอดเยี่ยมมากที่สามารถนำความรู้ที่ได้จากการอ่านและประสบการณ์มารวบรวมตกผลึกและเขียนเล่าเรื่องด้วยภาษาที่สละสลวย แม้จะเป็นสำนวนการเขียนของฝรั่งแต่คนเอเชียอย่างเราอ่านแล้วไม่รู้สึกติดขัดเลย
เล่มนี้เป็นเล่มแรกที่ผมเริ่มอ่านหนังสือฉบับภาษาไทยควบคู่ไปกับฉบับภาษาอังกฤษ จึงได้เห็นตัวอย่างการแปลของผู้แปลที่ต้องแปลให้เข้ากับบริบท ไม่สามารถแปลให้ตรงตามตัวอักษรต้นฉบับได้ ซึ่งก็ทำออกมาได้ดี แม้ความหมายจะเปลี่ยนไปแต่ก็ไม่ได้ทำให้ความเข้าใจในเนื้อหาต่างออกไป เช่น
ต้นฉบับ
Say the word ‘silk’ 10 times out loud.
Now tell me: what do cows drink?
Did you say ‘milk’?
ฉบับแปลไทย
พูดคำว่า “ลม” 10 ครั้งดังๆ
คราวนี้บอกสิว่า วัวดื่มอะไร
คุณตอบว่า “นม” รึเปล่าครับ
อ่านจบได้ข้อสรุปว่าผมจะทำตามคำแนะนำของผู้เขียนที่ว่า
1.Surround yourself with positive people. ผมจะพยายามไปอยู่ใกล้คนที่มีความคิดบวก เพราะพลังงานแง่บวกสามารถถ่ายทอดมาสู่เราได้และจะทำให้เราเห็นสิ่งที่ดีในชีวิตง่ายกว่าปกติ
2.If you fake a smile, you can actually trick your brain into thinking you’re happy by releasing feelings-good hormones called endorphins. ผมจะฝึกยิ้มให้เป็นนิสัยติดตัวแม้จะต้องแกล้งยิ้มก็ตาม เพราะมันทำให้สารแห่งความสุขหลั่งออกมานั่นเอง ต้องเชื่อว่า “you can fake it til you make it”
3.Don’t underestimate the importance of taking time to relax. ผมจะหาเวลาพักผ่อนให้บ่อยขึ้น เพราะบางครั้งการทำงานและการใช้ชีวิตของเราในทุกๆ วัน อาจทำให้เราเครียดโดยไม่รู้ตัว
4.Exprees gratitude. Being thankful is one of the simplest, and yet most powerful. ผมจะฝึกขอบคุณ ไม่ว่าจะกับผู้คนหรือสิ่งของ โดยจินตนาการว่าหากเราไม่มีสิ่งนั้นให้แสดงความขอบคุณชีวิตเราจะต่างไปอย่างไรบ้าง จะทำให้เรารู้สึกขอบคุณสิ่งนั้นอย่างเต็มเปี่ยม
5.Check your own behavior. So it’s important that you can identify any toxic tendencies you might have and that are hurting others - or yourself. ผมจะคอยระลึกถึงพฤติกรรมของตัวเองว่านิสัยใดเป็นพิษต่อคนอื่น อย่างเช่น เวลาหงุดหงิดผมจะพูดจาไม่ดีต่อคนอื่น ผมต้องคอยเตือนตัวเองให้ปรับเปลี่ยนนิสัยนี้ และเคารพผู้อื่นมากขึ้น
สรุป ให้ 5 ดาว ⭐️⭐️⭐️⭐️⭐️
ผู้เขียน : Vex King
ผู้แปล : กิษรา รัตนาภิรัต คุโด
หมวด : จิตวิทยาพัฒนาตนเอง
ขนาดรูปเล่ม : 210 x 140.5 x 14 มม.
น้ำหนัก : 284 กรัม
เนื้อในพิมพ์ : ขาวดำ
ชนิดกระดาษ : กระดาษถนอมสายตา
จำนวนหน้า : 221 หน้า ปกอ่อน
ISBN : 9786161844899
พิมพ์ครั้งที่ 11 ปี 2566
หนังสือราคา 245 บาท มี 221 หน้า

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา