2 ม.ค. เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์

พ.ศ. ๒๓๑๔ : ก่อร่างสร้างบ้านสิงห์ท่า

สารบัญเรื่องในซีรีย์ เล่าเรื่องเมืองยโส
๑.เล่าเรื่องเมืองยโส
๒.พุทธศตวรรษที่ ๑๑ : ยโสธรกับอาณาจักรเจนละ
๓.พุทธศตวรรษที่ ๑๓ (พ.ศ.๑๒๑๘) : พระธาตุอานนท์ https://www.blockdit.com/posts/676816c2e89582687fd7fc6a
ในตราสัญลักษณ์ของจังหวัดยโสธร ตรงกลางภาพจะเป็นรูปพระธาตุอานนท์ พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัด ด้านล่างพระธาตุจะเป็นรูปดอกบัวแดงซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัด
ตราสัญลักษณ์จังหวัดยโสธร
ด้านข้างขององค์พระธาตุจะเป็นภาพสิงห์หันหน้าเข้าหาองค์พระธาตุฝั่งละหนึ่งตัว สิงห์ทั้งสองตัวนี้ตัวหนึ่งมีชื่อเรียกว่า “สิงห์โคก” อีกตัวหนึ่งมีชื่อเรียกว่า “สิงห์ท่า”
3
“สิงห์โคก” และ “สิงห์ท่า” เป็นสัญลักษณ์ เป็นตำนานเรื่องราวการก่อเกิดกำเนิดเมืองยโสธร ย้อนเวลาไปเมื่อ ๒๕๐ ปีก่อน เมื่อแรกเริ่มที่ผู้คนได้อพยพลงมาเพื่อหาที่ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนแห่งใหม่ จนมาตั้งบ้านแปลงเมืองเป็น “บ้านสิงห์ท่า” จุดเริ่มต้นของเมืองยโสธรในวันนี้
ประวัติศาสตร์เมืองยโสธรในยุคปัจจุบันเริ่มเมื่อ ๒๕๐ ปีที่แล้ว เริ่มต้นเมื่อมีการอพยพของผู้คนมาก่อร่างสร้างเมือง “บ้านสิงห์ท่า” ขึ้น ณ บริเวณที่ตั้งบ้านสิงห์ท่าในปัจจุบัน
เส้นทางการเดินทางมายังบ้านสิงห์ท่าเมื่อ ๒๕๐ ปีที่แล้ว มีจุดเริ่มต้นมาจากเมืองหนองบัวลุ่มภู หรือจังหวัดหนองบัวลำภูในปัจจุบัน
กำเนิดของเมืองยโสธรมาจากปัญหาความขัดแย้งในราชสำนักกรุงเวียงจันทน์ โดยในช่วงเวลาปลายกรุงศรีอยุธยาถึงต้นกรุงธนบุรี อาณาจักรล้านช้างได้แบ่งแยกออกเป็น อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ และอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์
เหตุการณ์เริ่มมาตั้งแต่เมื่อ พระวอ พระตา เสนาบดีกรุงเวียงจันทน์ได้เกิดความบาดหมางกับพระเจ้าสิริบุญสาร ซึ่งพระวอ พระตาได้เคยสนับสนุนช่วยเหลือให้ได้เสวยราชสมบัติกรุงเวียงจันทน์
พระวอ พระตานั้น ในเอกสารประวัติศาสตร์กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระวอ พระตา ไว้แตกต่างกัน
จากเอกสารประวัติพระวอ-พระตา ผู้สร้างเมืองหนองบัวลำภู (สภาวัฒนธรรมจังหวัดหนองบัวลำภู) บันทึกไว้ว่า พระตาเป็นบิดาของพระวอ เป็นบุตรของเจ้าปางคำซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้านายเมืองเชียงรุ้งในสิบสองปันนา เจ้าปางคำนั้นได้รับความช่วยเหลือจากกษัตริย์ผู้ครองนครเวียงจันทน์ในการอพยพมาตั้งเมืองที่หนองบัวลุ่มภู เป็นอิสระไม่ได้ขึ้นกับกรุงเวียงจันทน์หรือหลวงพระบางแต่อย่างใด
แต่เอกสารบันทึกประวัติศาสตร์บางฉบับจะกล่าวว่าพระวอ พระตา เป็นพี่น้องกัน (ประวัติศาสตร์อีสาน : เติม วิภาคย์พจนกิจ) และในหนังสือปริวรรตใบลาน เรื่องพงศาวดารเมืองยศ ได้จารึกไว้ว่า ท้าวคำสูมีบิดาคือพระตา มีอาคือพระวอ
“เฮานี่ชื่อคำสูท้าวนามมังเป็นชื่อ อันว่ายาพะตาเจ้าเป็นท้าวพ่อคิ่ง
อันว่ามารดานั้นนางสนมเป็นแม่ เจ้าเฮย พระวอนั้นเป็นอาวเบื้องพ่อเฮาแล้ว”
เรื่องราวความขัดแย้งที่มีการบันทึกไว้กล่าวว่า เมื่อพระเจ้าสิริบุญสารได้ขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว ได้เกิดความบาดหมางกับพระวอพระตา ด้วยคิดว่าพระวอพระตาจะแย่งชิงราชสมบัติ จึงคิดจะปราบปรามโดยการขอบุตรธิดาของพระตาเข้าไปรับราชการที่เวียงจันทน์เป็นมหาดเล็กและสนมเพื่อเป็นตัวประกัน แต่พระวอพระตาต่างไม่ยินยอม
พระตาจึงได้ปรึกษากับพระวอ ท้าวคำผง ท้าวทิดพรหม และญาติพี่น้อง ต่างมีความเห็นตรงกันว่า คงไม่อาจจะสู้ทางเวียงจันทน์ได้ จึงได้อพยพผู้คนกลับไปตั้งมั่นที่บ้านเมืองเดิมของตนคือ เมืองหนองบัวลำภู และได้เตรียมการอพยพครอบครัว ญาติพี่น้องและพรรคพวกไปตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองขึ้นใหม่ที่ห่างไกลจากเวียงจันทน์ไว้ล่วงหน้า หากมีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้น
โดยพระตามอบหมายให้ ท้าวคำสู ท้าวคำโส ท้าวคำสุย ท้าวคำสิงห์ ท้าวมุม ท้าวก่ำ ยกกำลังเดินทางมาทางลำน้ำพะชี (แม่น้ำชี) หาที่ตั้งเป็นเมือง ท้าวคำสูกับพวกจึงได้ยกกำลังมาตั้งบ้านเรือนขึ้นบริเวณบ้านสิงห์หิน (สิงห์โคก) และ บ้านสิงห์ทอง (สิงห์ท่า)
ในขณะเดียวกันนั้น การสู้รบระหว่างพระเจ้าสิริบุญสารกับฝ่ายพระวอพระตา ยังคงมีการดำเนินไปหลายครั้งจนถึง ปี พ.ศ.๒๓๑๓ กำลังฝ่ายพระวอพระตาก็พ่ายแพ้ พระตาเสียชีวิตในการสู้รบ พระวอจึงยกกำลังพร้อมด้วยท้าวฝ่ายหน้าบุตรพระตา ท้าวคำผง ท้าวก่ำ และท้าวทิดพรหม ถอยหนีจากหนองบัวลำภูมาพักอยู่ที่บ้านสิงห์ท่า กับท้าวคำสู ท้าวคำสุย ท้าวคำโส และท้าวคำสิงห์ ก่อนที่พระวอจะยกกำลังไพร่พลอพยพต่อไปพักไพร่พลอยูที่บ้านดอนมดแดง (จังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน)
จากบันทึกประวัติการก่อร่างสร้างเมืองยโสธร ในปี พ.ศ.๒๓๑๓ ซึ่งมีการจารึกอยู่ในใบลาน ซึ่งศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดยโสธร ได้ทำการอ่าน และปริวรรตโดยอาจารย์ลุน เสน่หา พิมพ์เป็นเอกสาร “ปริวรรต ใบลาน เรื่องพงศาวดารเมืองยศ” ได้จารึกเรื่องราวไว้ว่า
ท้าวคำสู ได้นำญาติพี่น้องและไพร่พลเดินทางจากเมืองหนองบัวลำภูลงมาเพื่อหาที่ตั้งบ้านเมืองเตรียมการรอไว้ ได้เดินทางมาตามลำน้ำพะชีแล้วให้นายพรานออกไปสำรวจหาพื้นที่ที่จะตั้งบ้านเมือง พรานได้สำรวจพบพื้นที่ที่เหมาะจะเป็นเมืองสองที่ด้วยกัน คือ บริเวณ “ดงหัวช้าง” (ดงหลวงหัวซวงใหญ่) กับ ”ดงโต่งโต้น” จึงได้นำความกลับไปรายงานท้าวคำสู ท้าวคำสูจึงได้นำคณะไพร่พลออกเดินทางเพื่อเลือกที่ตั้งเมือง โดยให้ท้าวอินทิสารเดินทางไปสำรวจล่วงหน้า
ท้าวอินทิสารและคณะได้เดินทางมาที่ดงหัวช้างแล้วออกสำรวจที่ตั้งเมือง ได้พบกองกระดูกช้างกองใหญ่อยู่ในป่า และยังพบสิงห์หิน แล้วได้เดินเลาะดงไปจนถึงไปพบ พระธาตุเก่า ซึ่งในปริวรรตใบลาน เรื่องพงศาวดารเมืองยศ เรียกชื่อ ธาตุองอาจกระบานหลวง (ปัจจุบันตั้งอยู่ที่วัดศรีธาตุ ตำบลสิงห์ อำเภอเมืองยโสธร) จึงได้ทำพิธีเสี่ยงทายขอตั้งบ้านเมืองที่บริเวณพระธาตุนี้ แต่ผลการเสี่ยงทายออกมาไม่ดี
เมื่อท้าวอินทิสารกลับไปรายงานท้าวคำสู ท้าวคำสูจึงได้ให้ไพร่พลจุดพักอยู่บริเวณนี้ ตั้งบ้านเรือนขึ้นเป็นการชั่วคราว และเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านสิงห์” หรือ “บ้านสิงห์หิน” ในปริวรรตใบลาน เรื่องพงศาวดารเมืองยศ บันทึกเรื่องการตั้งชิ่อบ้านไว้ว่า
“จัดไพร่เต็มอื้อตื้อเป็นบ้านซุ่มเย็น เฮาจิงใส่ชื่อบ้านเฮียกชื่อบ้านสิงห์”
ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “บ้านสิงห์โคก” (ปัจจุบันอยู่ในตำบลสิงห์ อำเภอเมืองยโสธร)
สิงห์หิน (สิงห์โคก) วัดศรีธาตุ ตำบลสิงห์ อำเภอเมืองยโสธร
หลังจากนั้นจึงได้เดินทางไปยัง “ดงขวางท่าชี” หรื “ดงโต่งโต้น” ซึ่งอยู่ริมน้ำมีหาดทราย บริเวณดงนั้นพบพระพุทธรูปองค์ใหญ่ (ปัจจุบันคือ หลวงพ่อสิงห์ฤทธิ์ปราบปวงมาร วัดสิงห์ท่า อำเภอเมืองยโสธร) กับสิงห์ทองรูปงาม และยังแลเห็นผีตัวใหญ่ ๒ ตน คือ ผีพระละงุม กับพระละงำ แสดงอิทธิฤทธิ์ด้วยการหักต้นไม้ใหญ่ล้มลง ทั้งที่เป็นเวลาแดดเที่ยง
คณะที่มาจึงได้ทำพิธีเสี่ยงทายจับสลากได้ผลดี จึงได้ตั้งบ้านเมืองขึ้นเรียกชื่อว่า “บ้านสิงห์ทอง” หรือต่อมาเรียกว่า “บ้านสิงห์ท่า” โดยมีเจ้าคำสูเป็นผู้ปกครองบ้านสิงห์ท่าตั้งแต่นั้นมา ก่อนที่จะได้รับยกฐานะเป็นเมืองสิงห์ท่า ในปี พ.ศ.๒๓๕๗
สิงห์ทอง (สิงห์ท่า) วัดสิงห์ท่า อำเภอเมืองยโสธร
ในปริวรรตใบลาน เรื่องพงศาวดารเมืองยศ บันทึกเรื่องการตั้งชิ่อบ้านไว้ว่า
“จึงได้หานามเมืองสืบมาเดี่ยวนี้ แล้วจึงได้เอิ้นชื่อบ้านเฮียกชื่อสิงห์ทอง”
เรื่องราวและสถานที่ที่ปรากฏในจารึกใบลานเกี่ยวกับการตั้งบ้านสิงห์ท่านั้น ยังคงอยู่ให้เห็นมาจนถึงปัจจุบันเกือบทั้งหมด
เรื่องแรกคือ สิงห์หินและสิงห์ทอง สิงห์หินนั้นพบที่ดงหัวช้าง หรือที่บ้านสิงห์ และสิงห์ทองนั้นพบที่ดงขวางท่าชี หรือที่บ้านสิงห์ท่าในปัจจุบัน ซึ่งปรากฏอยู่ในตราสัญลักษณ์จังหวัดยโสธรในทุกวันนี้
สิงห์หินนั้นเป็นสิงห์เพศเมีย ทำจากหินทรายสีแดง เป็นโบราณวัตถุที่ยังคงอยู่ที่วัดศรีธาตุ บ้านสิงห์ แต่สิงห์ทองซึ่งเป็นสิงห์เพศผู้ที่บ้านสิงห์ท่าได้หายสาบสูญไป ในปริวรรตใบลาน เรื่องพงศาวดารเมืองยศ ได้มีการบันทึกบอกเพศของสิงห์ทั้งสองตัวไว้ดังนี้
“ข้ามะหาดเจ้าเอาเล่าสิงห์หิน มีสิงห์หินแต่เมียโตน้อย
สิงห์ทองนั้นโตผัวรูปใหญ่ อยู่แห่งเบื้องดินดำเจ้าท่าชี”
“แล้วจึงพรากที่นั้นเลยล่วงพระคีรี จึงถึงหัวดงท่าชีแคมน้ำ
ดงนั้นมีพระใหญ่เจ้าองค์ประเสริฐเรืองรศ
กับสิงห์ทองฮูปงามตัวผู้ มันก็หยุดอยู่ยั้ง
น้ำใหญ่แคมชี เป็นฮูสิงห์เที่ยวไปตามน้ำ
ฮูมันนั้นก็ไปเถิงเท่าสิงห์หินโตแม่ คนจึงได้เยื่องเค้า ความนี้สืบมา ท่านเฮย”
เรื่องที่สอง พระเจ้าใหญ่ กลางดงขวางท่าชี เมื่อเดินทางไปถึงดงขวางท่าชีนั้นคณะที่ไปสำรวจเสี่ยงทายได้ไปพบพระพุทธรูปองค์ใหญ่อยู่ในดง หักชำรุดทรุดโทรม พระอารามผุพัง จึงได้ทำการซ่อมแซมบูรณะและสร้างพระอารามขึ้น พระพุทธรูปองค์นี้ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดสิงห์ท่า และมีชื่อเรียกในปัจจุบันว่า หลวงพ่อสิงห์ฤทธิปราบปวงมาร
หลวงพ่อสิงห์ฤทธิ์ปราบปวงมาร วัดสิงห์ท่า หรือ พระเจ้าใหญ่ ดงขวางทางชี ที่พบตั้งแต่เริ่มสำรวจตั้งเมือง
เรื่องที่สาม เป็นเรื่อง ผีพระละงุมกับพระละงำ ที่ได้แสดงอิทธิฤทธิ์ให้คณะที่เดินทางไปสำรวจเสี่ยงทายตั้งบ้านเมืองได้เห็นด้วยการหักต้นไม้ใหญ่ล้มลง ทั้งที่เป็นเวลาแดดเที่ยง เมื่อมีการตั้งบ้านเมืองจึงได้นำไม้ต้นที่หักนั้น มาทำเป็นเสาหลักบ้าน ๓ เสา แล้วเชิญดวงวิญญาณทั้งสองมาสถิตย์เพื่อให้รักษาหลักบ้านหลักเมือง อยู่ร่วมกับ ศาลหลักเมือง โดยเสาแรกและเสาที่สามจะเป็นผีพระละงุมกับพระละงำ ส่วนเสาตรงกลางจะเป็นเสาหลักเมือง ทำให้ ศาลหลักเมืองของจังหวัดยโสธรจะมีเสาหลักเมืองอยู่ ๓ เสาด้วยกัน
ศาลหลักเมืองจังหวัดยโสธรตั้งอยู่ในบริเวณเมืองเก่าบ้านสิงห์ท่า อำเภอเมืองยโสธร และได้รับการบูรณะซ่อมแซมหลายครั้ง ทำให้ปัจจุบันเป็นศาลหลักเมืองที่มีการผสมผสานศิลปะทั้งแบบลาว ไทยและจีน อยู่รวมกัน
ศาลหลักเมืองยโสธรปัจจุบัน ประกอบด้วยศิลปะ ไทย ลาว และจีน ภายในมีเสาหลักเมือง ๓ เสา
เรื่องที่สี่ เรื่อง พระธาตุเก่า ซึ่งเป็นสถานที่ทำการเสี่ยงทายขอตั้งเมืองที่บริเวณดงหัวช้างหรือบ้านสิงห์โคกนั้น ในปริวรรตใบลาน เรื่องพงศาวดารเมืองยศ บันทึกไว้ว่า
“อินทิสารท้าวเทียวดงเลาะเบิ่งก็จึงเห็น ฮูปพระธาตุเจ้าฮิ่มน้ำแม่นัทที
ก็จึงเฮืยกชื่อ ธาตุองอาจกะบานหลวง เทวบุตรลงคู่ยามแฝงเฝ้า
ก็จึงเฮียกชื่อธาตุปางนี่สืบมา เจ้าเฮย”
พระธาตุองค์นี้ในปัจจุบันได้รับการบูรณะซ่อมแซมสร้างสถูปครอบไว้ มีชื่อเรียก พระธาตุองอาจกระบาลหลวง ตั้งอยู่วัดศรีธาตุ บ้านสิงห์ ตำบลสิงห์ อำเภอเมืองยโสธร
พระธาตุองอาจกระบาลหลวง วัดศรีธาตุ ตำบลสิงห์ อำเภอเมืองยโสธร
จากบ้านสิงห์ท่าในปี พ.ศ.๒๓๑๔ ได้ผ่านกาลเวลามาเป็น เมืองสิงห์ท่า และเมืองยศสุนทร ในปี พ.ศ.๒๓๕๗ และได้เป็นจังหวัดยโสธรในที่สุด ในปี พ.ศ.๒๕๑๕ แม้อานุภาพแห่งกาลเวลากว่า ๒๕๐ ปีจะเปลี่ยนแปลงสรรพสิ่งไป แต่เรื่องราวการก่อร่างสร้างเมืองยโสธรจะยังคงถูกจารึกเป็นประวัติศาสตร์ถ่ายทอดผ่านกาลเวลาไปให้คนรุ่นต่อๆ ไปได้ภาคภูมิใจ
อนุสาวรีย์พระสุนทรราชวงศา (สิงห์) เจ้าเมืองยศสุนทรคนแรก
ย่านเมืองเก่าบ้านสิงห์ท่า ในปัจจุบันมีอาคารสถาปัตยกรรม ชิโนโปรตุเกสปรากฎอยู่หลายอาคาร
หนังสือที่ใช้ในการเรียบเรียง
๑.พระวอ-พระตา ผู้สร้างเมืองหนองบัวลำภู. สภาวัฒนธรรมจังหวัดหนองบัวลำภู รวบรวมเรียบเรียง
๒.ปริวรรตใบลาน เรื่องพงศาวดารเมืองยศ. ลุน เสน่หา. ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดยโสธร (เอกสารโรเนียว)
๓.ปกิณกศิลปวัฒนธรรม เล่ม ๑๘ จังหวัดยโสธร. กรมศิลปากร. ๒๕๕๕.
๔.วัฒนธรรม พัฒนาการประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา. กรมศิลปากร. ๒๕๔๒.
ติดตามอ่านเพิ่มเติม

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา