Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สองข้างทาง
•
ติดตาม
9 ม.ค. เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
พ.ศ. ๒๓๓๔ : เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์
สารบัญเรื่องในซีรีย์ เล่าเรื่องเมืองยโส
๑.เล่าเรื่องเมืองยโส
https://www.blockdit.com/posts/6766b0bbe89582687fc258ea
๒.พุทธศตวรรษที่ ๑๑ : ยโสธรกับอาณาจักรเจนละ
https://www.blockdit.com/posts/6766b6cf7322283af94b01e6
๓.พุทธศตวรรษที่ ๑๓ (พ.ศ.๑๒๑๘) : พระธาตุอานนท์
https://www.blockdit.com/posts/676816c2e89582687fd7fc6a
๔.พ.ศ. ๒๓๑๔ : ก่อร่างสร้างบ้านสิงห์ท่า
https://www.blockdit.com/posts/6768625756303ac3da01edbe
ภายในวัดมหาธาตุ พระอารามหลวง นอกจากจะมีเจดีย์พระธาตุพระอานนท์ที่ตั้งโดดเด่นเป็นสง่าให้ประชาชนได้กราบสักการะแล้ว บริเวณด้านข้างระหว่างพระอุโบสถและพระธาตุพระอานนท์ยังมีสถูปอยู่องค์หนึ่งตั้งอยู่
สถูปองค์นี้ เป็นสถูปที่บรรจุธาตุอัฐิ พระวิชัยราชสุริยวงศ์ขัติยราช หรือ เจ้าฝ่ายหน้า ซึ่งเคยเป็นผู้ปกครองบ้านสิงห์ท่า แต่ที่สำคัญคือยังเป็น ผู้ครองนครจำปาศักดิ์ อีกด้วย
ธาตุอัฐิพระวิชัยราชสุริยวงศ์ขัตติราช (เจ้าฝ่ายหน้า) เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ ข้างพระธาตุอานนท์ที่วัดมหาธาตุอำเภอเมืองยโสธร (ภาพจากอินเตอร์เน็ต)
ย้อนไป เมื่อพระวอได้นำผู้คนเดินทางออกจากนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (จังหวัดหนองบัวลำภูในปัจจุบัน) หลบทัพเวียงจันทน์ลงมาตามลำพะชี (แม่น้ำชี)
ได้เดินทางมาถึงบ้านสิงห์ท่า ที่ได้มีท้าวคำสู ยกกำลังเดินทางมาหาที่ตั้งเป็นเมืองไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว และแวะพักไพร่พลก่อนที่พระวอพร้อมด้วยท้าวฝ่ายหน้าและท้าวคำผงซึ่งเป็นบุตรพระตา ท้าวทิดพรหม และท้าวก่ำจะออกเดินทางต่อไปที่บ้านดอนมดแดง ริมน้ำมูล ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจการปกครองของนครจำปาศักดิ์ และไปตั้งบ้านเรือนที่บ้านเวียงฆ้อนกลอง (บ้านดู่บ้านแก ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี)
ครั้นต่อมา พระวอได้มีข้อบาดหมางกับผู้ครองนครจำปาศักดิ์ พระวอจึงได้แต่งเครื่องราชบรรณาการไปยังเมืองนครราชสีมาขอสมัครขึ้นอยู่ในปกครองของกรุงธนบุรี
และเมื่อกองทัพกรุงธนบุรีได้ยกทัพขึ้นมาปราบทัพเวียงจันทน์ที่ยกตามมาปราบพระวอ ผลจากเหตุการณ์นี้ ทำให้นครจำปาศักดิ์ได้ถูกผนวกเข้าไปอยู่ในเขตการปกครองของกรุงธนบุรีเป็นเมืองประเทศราชไปด้วย
ในปี พ.ศ.๒๓๒๓ ได้เกิดการจลาจลขึ้นในกัมพูชา เจ้าฝ่ายหน้า เจ้าคำผง เจ้าพรหม และเจ้าคำสิงห์ (บุตรเจ้าฝ่ายหน้า) ได้ร่วมไปราชการทัพสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเพื่อปราบเมืองเขมรด้วย แต่ยังไม่ทันที่จะเสร็จศึกทางกรุงธนบุรีเองได้เกิดการจลาจลขึ้น ทำให้ต้องยกทัพกลับกรุงธนบุรี
เจ้าคำผง จึงได้ขอพระราชทานย้ายครอบครัวจากบ้านดู่บ้านแก ไปตั้งที่บ้านห้วยแจะระแม ส่วนเจ้าฝ่ายหน้ากับเจ้าคำสิงห์ได้ขอพระราชทานย้ายไปตั้งครอบครัวที่บ้านสิงห์ท่า เมื่อเจ้าฝ่ายหน้าได้มาอยู่ที่บ้านสิงห์ท่าก็ได้สร้างบ้านเมืองให้ใหญ่โต และได้สร้างวัดมหาธาตุขึ้น
ถึงปี พ.ศ.๒๓๓๔ นครจำปาศักดิ์ได้เกิดกบฏอ้ายเชียงแก้วขึ้น อ้ายเชียงแก้วได้ยกกำลังมาล้อมนครจำปาศักดิ์ ทางกรุงเทพฯ จึงให้เจ้าพระยานครราชสีมา ยกกองทัพขึ้นไปปราบปราม และให้เจ้าฝ่ายหน้ายกกำลังไปช่วยในการปราบปรามด้วย แต่ยังไม่ทันที่ทัพเจ้าพระยานครราชสีมาจะมาถึง เจ้าฝ่ายหน้าและเจ้าคำผงได้พากันยกกำลังไปตีอ้ายเชียงแก้วแตก และเจ้าฝ่ายหน้าได้ตามไปจับอ้ายเชียงแก้วได้แล้วฆ่าเสีย
เจ้าฝ่ายหน้าได้บำเหน็จความชอบโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็น พระวิชัยราชสุริยวงศ์ขัติยราช ครองเมืองนครจำปาศักดิ์ เป็นประเทศราชขึ้นกับกรุงเทพฯ
พระวิชัยราชสุริยวงศ์ขัติยราช (หน้า) ได้ครองเมืองนครจำปาศักดิ์มา ๒๐ ปี จึงได้ถึงแก่พิราลัย ในปี พ.ศ.๒๓๕๓
ต่อมา เจ้าคำสิงห์ บุตรเจ้าฝ่ายหน้า ซึ่งขณะนั้นเป็น ราชวงศ์ (สิงห์) เมืองโขง ไม่สมัครใจที่จะทำราชการกับเมืองนครจำปาศักดิ์ต่อไป จึงได้ขอโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะบ้านสิงห์ท่า ขึ้นเป็นเมืองยศสุนทร ในปี พ.ศ.๒๓๕๗ และเจ้าคำสิงห์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นที่ พระสุนทรราชวงศา (สิงห์) เจ้าเมืองยโสธรคนแรก
เมื่อพระสุนทรราชวงศา (สิงห์) ได้เป็นเจ้าเมืองยโสธรแล้ว ได้นำอัฐิพระวิชัยราชสุริยวงศ์ขัติยราช (หน้า) ซึ่งเป็นบิดากลับมาที่เมืองยโสธร และบรรจุไว้ที่เจดีย์วัดมหาธาตุ และอีกแห่งได้สร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่วัดเหนือเมืองเก่าคันเกิง ตรงข้ามเมืองปากเซ ซึ่งเรียกกันว่า ธาตุหลวงเฒ่า
เมืองยโสธรจึงเป็นเมืองที่มีเรื่องราวบันทึกถึงความเกี่ยวเนื่องกับนครจำปาศักดิ์มากกว่าเมืองอื่นๆ ในไทย มีเจดีย์บรรจุอัฐิผู้ครองนครจำปาศักดิ์อยู่ที่ยโสธร และในช่วงเวลาหนึ่งชองประวัติศาสตร์ นครจำปาศักดิ์เคยมีผู้ครองนครที่มาจากผู้เคยปกครองบ้านสิงห์ท่า หรือเมืองยโสธร
ในวันนี้ หากมีใครเดินทางไปเมืองจำปาศักดิ์ (จำปาสัก) และมีโอกาสเดินทางไปวัดเหนือ เมืองเก่าคันเกิ้งก็จะพบธาตุหลวงเฒ่า ซึ่งเป็นที่บรรจุอัฐิของพระวิชัยราชสุริยวงศ์ขัติยราช เช่นเดียวกับที่พบอยู่ที่วัดมหาธาตุ เมืองยโสธร
ธาตุหลวงเฒ่า (พระวิชัยราชสุริยวงศ์ขัตติราช) วัดเหนือ เมืองเก่าคันเกิ้ง จำปาสัก สปป.ลาว (ภาพจากวิกิพีเดีย)
หนังสือที่ใช้ในการเรียบเรียง
๑.ประวัติศาสตร์อีสาน. เติม วิภาคย์พจนกิจ. พิมพ์ครั้งที่ ๔ . ๒๕๔๖
๒.พงศาวดารเมืองยโสธร ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗๐ เขียนในปี ร.ศ.๑๑๖ หรือ พ.ศ.๒๔๔๐
๓.เมืองนครจำปาศักดิ์. ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗๐
๔.ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉบับ หม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร). ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗๐
ติดตามอ่านเพิ่มเติมเรื่องต่างๆ ได้ที่
https://www.blockdit.com/bntham1
https://www.blockdit.com/bntham2
เรื่องเล่า
หนังสือ
ประวัติศาสตร์
บันทึก
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เล่าเรื่องเมืองยโส
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย