Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สองข้างทาง
•
ติดตาม
16 ม.ค. เวลา 02:01 • ประวัติศาสตร์
พ.ศ. ๒๓๖๙-๒๓๗๑ : สถานที่ตั้งทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา ตอนที่ ๑
สารบัญเรื่องในซีรีย์ เล่าเรื่องเมืองยโส
๑.เล่าเรื่องเมืองยโส
https://www.blockdit.com/posts/6766b0bbe89582687fc258ea
๒.พุทธศตวรรษที่ ๑๑ : ยโสธรกับอาณาจักรเจนละ
https://www.blockdit.com/posts/6766b6cf7322283af94b01e6
๓.พุทธศตวรรษที่ ๑๓ (พ.ศ.๑๒๑๘) : พระธาตุอานนท์
https://www.blockdit.com/posts/676816c2e89582687fd7fc6a
๔.พ.ศ. ๒๓๑๔ : ก่อร่างสร้างบ้านสิงห์ท่า
https://www.blockdit.com/posts/6768625756303ac3da01edbe
๕.พ.ศ. ๒๓๓๔ : เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์
https://www.blockdit.com/posts/67727b18ff4259fe01d8a646
หากขับรถออกจากตัวเมืองยโสธรไปทางร้อยเอ็ด ตามถนนแจ้งสนิท ในเขตบ้านเดิด ตำบลเดิด อำเภอเมืองยโสธร จะมีค่ายทหาร ร.๑๖ หรือ กองพันทหารราบที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๑๖ มีชื่อค่ายว่า “ค่ายบดินทรเดชา”
และหากใครจะเข้าไปกราบสักการะพระธาตุอานนท์ ที่วัดมหาธาตุ ยโสธร หากมองไปทางขวาจะเห็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) และที่บริเวณหน้าโรงเรียนจะมี อนุสาวรีย์เจ้าพระยาบดินทรเดชา ตั้งอยู่
รูปปั้นเจ้าพระยาบดินทร์เดชา หน้าโรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดมหาธาตุ อำเภอเมืองยโสธร
เจ้าพระยาบดินทรเดชา หรือตำแหน่งเดิม เจ้าพระยาราชสุภาวดี เป็นสมุหนายกในรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นแม่ทัพในการทำศึกระหว่างไทยกับลาว เขมร และญวน ที่ได้นำทัพไทยมาตั้งทัพอยู่ที่ยโสธรอยู่บ่อยครั้ง โดยมีปรากฎบันทึกอยู่ในหนังสือ “อานามสยามยุทธ”
หนังสือ “อานามสยามยุทธ” เป็นหนังสือที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ผู้จัดพิมพ์หนังสือนี้ครั้งแรกแจ้งว่าได้คัดลอกมาจากบันทึกรายงานของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ที่ได้เรียบเรียงไว้แต่เดิม และมีบันทึกอยู่ในพงศาวดาร จดหมายเหตุและหนังสืออีกหลายฉบับ
ในช่วงปี พ.ศ.๒๓๖๙ - ๒๓๗๑ ซึ่งเป็นช่วงต้นรัชสมัยรัชกาลที่ ๓ (พ.ศ.๒๓๖๗-๒๓๙๔) ได้เกิดเหตุการณ์สงครามเจ้าอนุวงศ์ โดยพื้นที่การสู้รบระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพของเจ้าอนุวงศ์จะอยู่ในดินแดนในภาคอีสานปัจจุบัน
เมืองยโสธรก็เป็นเมืองหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องในเหตุการณ์ดังกล่าว แม้ว่าในขณะนั้นเมืองยโสธรเพิ่งจะได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านสิงห์ท่า เป็นเมืองยศสุนทร (พ.ศ.๒๓๕๗) เพียง ๑๒ ปีเท่านั้น
ลำดับเหตุการณ์ในช่วงสงครามเจ้าอนุวงศ์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองยโสธร ซึ่งไล่เรียงจากหนังสือ อานามสยามยุทธ ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับลาว เขมรและญวน (พ.ศ.๒๔๔๖) พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) และ ประชุมจดหมายเหตุเรื่องปราบกบฏเวียงจันท์ และจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ เล่ม ๓ จะแบ่งได้เป็น ๒ ช่วง แต่ในเอกสารอื่น เช่น พงศาวดารยโสธร พงศาวดารภาคอีสาน พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน และอีกหลายเล่มมักจะเขียนรวบย่อต่อเนื่องเป็นเหตุการณ์เดียวกัน
เหตุการณ์ในช่วงแรก ในช่วงก่อนเริ่มต้นสงคราม ก่อนเดือนตุลาคม ๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์ได้ส่งขุนนางและทหารไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่างๆ ในภาคอีสานให้เข้าร่วมกับเจ้าอนุวงศ์
ิิแผนที่เมืองในภาคอีสาน ในสมัยรัชกาลที่ ๑ (ภาพจาก อนุสาร อ.ส.ท.ปีที่ ๑๒ ฉบับที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๑๕ แนะนำจังหวัดยโสธร)
สำหรับทางอีสานใต้เจ้าอนุวงศ์ได้ให้เจ้าราชบุตร บุตรชายซึ่งครองเมืองนครจำปาศักดิ์ทำการไล่ต้อนครอบครัวพลเมืองเขมราฐ เมืองอุบลราชธานี เมืองศรีสะเกษ เมืองเดชอุดม และเมืองยโสธร ขึ้นไปที่เมืองเวียงจันทน์ ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๓๗๐ เจ้าอนุวงศ์จึงได้ยกทัพลงมากรุงเทพ และให้เจ้าอุปราช (ติสสะ) ยกทัพมาที่เมืองยโสธร
เมืองยโสธรในขณะนั้นว่างไม่มีเจ้าเมือง เนื่องจาก พระสุนทรราชวงศา (สีชา) เจ้าเมืองคนที่ ๒ ได้ถึงแก่กรรม มีอุปฮาด (บุตร) ราชวงศ์ (เสน) และ ราชบุตร (ท้าวสุดตา) กรมการรักษาราชการอยู่ (เชียงอรรถ ๑) และ ในขณะนั้นเมืองยโสธรมี พระยาสุริยะภักดี (ป้อม) เจ้ากรมพระตำรวจ กับข้าหลวงอีกหลายนายมาราชการสักเลขอยู่ที่ยโสธร เมื่อพระยาสุริยะภักดีทราบว่าเจ้าอุปราชได้ยกทัพมาตั้งอยู่ใกล้เมืองยโสธร จึงได้เข้าเจรจากับเจ้าอุปราช (ติสสะ) เพื่อขอลงไปกรุงเทพฯ และได้รับอนุญาตให้เดินทางไปได้
ทางด้านเจ้าอนุวงศ์ได้ยกทัพไปถึงเมืองนครราชสีมา แต่พ่ายแพ้และได้ถอยทัพกลับไปตั้งค่ายที่หนองบัวลำภู เจ้าอนุวงศ์จึงได้มีหนังสือสั่งให้เจ้าอุปราช (ติสสะ) ซึ่งอยู่ที่เมืองยโสธรยกทัพไปตั้งรักษาอยู่ที่เมืองสุวรรณภูมิ
ทางฝ่ายไทย พระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ได้รับคำสั่งให้คุมทหาร ๖,๐๐๐-๘,๐๐๐ คน ยกไปตีทัพเจ้าราชบุตรที่อยู่เมืองจำปาศักดิ์ พระยาราชสุภาวดีได้ออกเดินทางจากเมืองนครราชสีมา ไปทางเมืองพิมาย แล้วหยุดพักตั้งค่ายที่เมืองขอนแก่น แล้วได้มีหนังสือไปยังเจ้าอุปราช (ติสสะ) ที่พักทัพอยู่ที่เมืองยโสธร โดยความในหนังสือขอให้เจ้าอุปราช (ติสสะ) มาเข้าร่วม และช่วยกันกลับไปตีเวียงจันทน์ และให้เจ้าอุปราช
(ติสสะ) มีหนังสือตอบมาให้ทราบโดยเร็ว
ทางพระยาราชสุภาวดีรอรับหนังสือตอบของเจ้าอุปราช (ติสสะ) อยู่นานแต่ไม่ได้รับการตอบมา จึงส่งคนไปสืบดูจึงได้ข่าวว่าเจ้าอุปราช (ติสสะ) ไปจากเมืองยโสธรไปตั้งทัพอยู่ที่เมืองหนองหารแล้ว
เมื่อวันพุธที่ ๒ พฤษภาคม ๒๓๗๐ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๖ พระยาราชสุภาวดีจึงยกกำลังไปตีค่ายที่เมืองยโสธร อุปฮาด ราชวงศ์เมืองยโสธรต่อสู้แข็งแรง รบกันอยู่สองวันค่ายที่ยโสธรก็แตก ได้มีการจับครอบครัวอุปฮาด ราชวงศ์ซึ่งตกลงใจเข้าฝ่ายเจ้าอนุวงศ์มาได้ ๑๐๐ คนเศษ พระราชสุภาวดีจึงให้นำไปคลอกไฟตายทั้งสิ้น (เชิงอรรถ ๒)
ในขณะที่พระยาราชสุภาวดียังอยู่ที่ยโสธร ทางกรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงนำทัพเข้ายึดเมืองเวียงจันทน์แล้ว เจ้าอนุวงศ์หลบหนีไปเมืองญวน แต่พระยาเชียงสาได้พาทัพหนีไปตั้งอยู่ที่บ้านโพนเชียงหวัง ทางกรมพระราชวังบวรฯ จึงได้ส่งทัพตามไปตีค่ายพระยาเชียงสาจนแตก
พระยาเชียงสาได้หนีโดยเดินเลียบริมฝั่งแม่น้ำโขงลงไปจนถึงเมืองยโสธรพบทัพพระยาราชสุภาวดีตั้งขวางอยู่ พระยาเชียงสาจึงขอสวามิภักดิ์ต่อพระยาราชสุภาวดี
หลังจากนั้น ในขณะที่พระยาราชสุภาวดีได้ยกทัพจากเมืองยโสธรจะไปตีเมืองจำปาศักดิ์ เจ้าราชบุตรเมืองจำปาศักดิ์ตั้งค่ายอยู่ที่เมืองศรีสะเกษ เมื่อเจ้าราชบุตรทราบว่าพระยาราชสุภาวดีได้ยกทัพมาอยู่ใกล้เมืองอุบลราชธานี เจ้าราชบุตรจึงให้เจ้าปาน เจ้าสุวรรณผู้น้องคุมทัพมาตั้งค่ายรับดักหลังอยู่ที่เมืองยโสธร
พระยาราชสุภาวดีจึงยกทัพกลับไปตีค่ายเจ้าปานเจ้าสุวรรณที่เมืองยโสธรแตก แล้วจึงยกทัพกลับไปตีทัพเจ้าราชบุตรที่เมืองอุบลราชธานี แล้วยกทัพต่อไปตีเมืองนครจำปาศักดิ์และตั้งทัพอยู่ที่เมืองนครจำปาศักดิ์
เมื่อพระยาราชสุภาวดีทราบว่า ทัพหลวงโดยกรมพระราชวังบวรฯ ที่ตั้งอยู่ที่ตำบลพรานพร้าว ใกล้จะเสด็จกลับลงไปยังกรุงเทพฯ พระยาราชสุภาวดีจึงยกทัพไปที่เมืองนครพนม และเมื่อจะเดินทางไปเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯ ที่ตำบลพรานพร้าว (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอศรีเชียงใหม่ หนองคาย) พระยาราชสุภาวดีจึงให้พระยาราชรองเมืองคุมกำลังอยู่รักษาค่ายที่เมืองนครพนมและเมืองยโสธรไว้
เหตุการณ์ในช่วงที่สอง หลังจากกรมพระราชวังบวรฯ ได้เสด็จกลับกรุงเทพฯแล้ว พระยาราชสุภาวดีได้รับมอบหมายให้จัดการบ้านเมืองลาวให้เรียบร้อย แต่พระยาราชสุภาวดีไม่ได้ทำลายบ้านเมืองเวียงจันทน์ตามพระราชดำริ ดังนั้น จึงทำให้เจ้าพระยาราชสุภาวดี (ได้รับการเลื่อนยศ) ต้องยกทัพขึ้นไปเวียงจันทน์อีกครั้งเพื่อทำลายเมืองเวียงจันทน์เสียให้หมด
ในปี พ.ศ.๒๓๗๑ เดือน ๗ ราวต้นเดือนมิถุนายน เจ้าพระยาราชสุภาวดี จึงได้นำกำลังขึ้นไปยังเมืองเวียงจันทน์ ขึ้นไปทางเมืองนครราชสีมา ภูเขียว แต่ครั้งนี้ไม่ได้มีการยกไปเป็นกระบวนทัพ มีแต่นำข้าราชการในกรุงเทพฯเป็นนายกองขึ้นไปเกณฑ์คนที่เมืองนครราชสีมา เมืองภูเขียว ขึ้นไปถึงเมืองหนองบัวลำภู
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ทางเวียดนามได้ให้ขุนนางญวนคุมทหารเป็นกองทัพพาเจ้าอนุวงศ์กลับมาเมืองเวียงจันทน์ เจ้าพระยาราชสุภาวดีจึงเร่งยกทัพมาที่ค่ายพรานพร้าว มาถึงเมื่อวันเสาร์ที่ ๒ สิงหาคม ๒๓๗๑ เดือน ๘ แรม ๗ ค่ำ เวลาบ่าย ๓ โมง
แต่ถึงเวลาบ่าย ๔ โมง เจ้าอนุวงศ์ได้ยกกำลังโจมตีกำลังของไทยที่ไปรักษาเมืองเวียงจันทน์แตกพ่ายหนีข้ามแม่น้ำโขงกลับมา เนื่องจากเจ้าพระยาราชสุภาวดีมีกำลังน้อยและไม่มีเรือจะข้ามไปช่วย จึงได้ปรึกษาแม่ทัพนายกองว่าจะยกทัพลงไปตั้งรับที่เมืองนครราชสีมา
แต่พระยาเชียงสาซึ่งได้เข้ามาสวามิภักดิ์แต่ก่อน ได้เสนอว่า “เห็นที่ดีมีอยู่พอจะตั้งมั่นสู้รบรับกับทัพลาวเจ้าอนุได้ คือที่ เมืองยโสธรนั้นมีข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ ทั้งมีผู้คนพลเมืองก็มั่งคั่งพรั่งพร้อม พอจะเป็นกำลังของกองทัพไทยได้” เจ้าพระยาราชสุภาวดีจึงให้ยกทัพจากเมืองพรานพร้าวมายังเมืองยโสธร (เชิงอรรถ ๓)
เมื่อมาถึงเมืองยโสธรพบว่า ในเมืองยโสธรขัดสนเสบียงอาหารไม่เพียงพอใช้เลี้ยงกองทัพไทย จึงให้ย้ายทัพไปยังเมืองสุวรรณภูมิ เนื่องจากเป็นเมืองที่ชัยภูมิดี บริบูรณ์ด้วยเสบียงอาหารและไม่บอบช้ำจากสงคราม
เจ้าพระยาราชสุภาวดี หยุดทัพพักพลอยู่ที่เมืองยโสธรได้ ๒ วัน จึงให้ขนย้ายเสบียงอาหารและครอบครัวชาวเมืองยโสธรอพยพลงไปที่เมืองสุวรรณภูมิ และนำไฟเผาเรือนในเมืองยโสธรเสียสิ้นเพื่อมิให้เป็นที่พักของข้าศึกที่จะตามมาภายหลัง
ทางฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ ได้ให้เจ้าราชวงศ์ยกกองทัพข้ามแม่น้ำโขงเพื่อติดตามจับเจ้าพระยาราชสุภาวดี เจ้าราชวงศ์ได้ยกทัพมาตามฝั่งแม่น้ำโขงถึงเมืองยโสธรเห็นเมืองร้างว่างเปล่าไม่มีผู้คน และได้ข่าวว่าเจ้าพระยาราชสุภาวดีไปตั้งทัพที่เมืองสุวรรณภูมิแล้วจึงให้แม่ทัพนายกองไปตั้งค่ายที่ตำบลทุ่งบกหวาน (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลค่ายบกหวาน อำเภอเมือง หนองคาย)
ถึงวันพุธที่ ๑๐ กันยายน ๒๓๗๑ เดือน ๑๐ ขึ้น ๒ ค่ำ เจ้าพระยาราชสุภาวดีจึงยกทัพไปค่ายบกหวาน และเมื่อถึงวันเสาร์ที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๓๗๑ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๐ ค่ำ จึงได้ทำการสู้รบกับทัพราชวงศ์ จนได้รับชัยชนะ เจ้าอนุวงศ์หนีไปจากเวียงจันทน์ ในภายหลังจึงถูกจับตัวได้และถูกคุมตัวลงไปยังกรุงเทพฯ
จากเหตุการณ์ในช่วงศึกเจ้าอนุวงศ์ทั้ง ๒ ช่วง จะเห็นได้ว่า เมืองยโสธรอยู่ในบริเวณที่จุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ทั้งฝ่ายไทยและลาวได้พยายามตั้งทัพไว้เตรียมรับมืออีกฝ่าย โดยในครั้งแรก เจ้าอุปราช (ติสสะ) ยกทัพลงมาตั้งที่เมืองยโสธร ก่อนที่พระยาราชสุภาวดียกทัพมายึดเป็นฐานที่มั่นและตั้งทัพอยู่ ก่อนจะยกทัพไปตีเมืองอุบลราชธานี และจำปาศักดิ์ ก่อนที่จะยกทัพไปทางนครพนม เพื่อไปยังค่ายพรานพร้าว
ในครั้งที่สอง เจ้าพระยาราชสุภาวดี ได้ตัดสินใจถอยทัพจากบ้านพรานพร้าวตรงมาตั้งรับที่เมืองยโสธร ก่อนจะย้ายไปเมืองสุวรรณภูมิ แล้วจึงรวบรวมกำลังยกทัพขึ้นไปเพื่อสู้รบกับเจ้าราชวงศ์ที่บ้านบกหวาน
เมื่อลองนำแผนที่มาดูและวัดระยะทางโดยเอาเมืองยโสธรเป็นศูนย์กลาง ได้พบประเด็นที่น่าสนใจว่า เมืองยโสธรเป็นเมืองที่อยู่กลางระหว่างเวียงจันทน์กับจำปาศักดิ์ จากเวียงจันทน์มาเมืองยโสธรระยะทางประมาณ ๓๓๖ กิโลเมตร และจากเมืองยโสธรถึงเมืองจำปาศักดิ์ระยะทางประมาณ ๒๕๐ กิโลเมตร
การตั้งฐานทัพที่เมืองยโสธรจึงน่าจะเป็นจุดที่สามารถรับทัพจากด้านบน (เวียงจันทน์) และจากด้านล่าง (จำปาศักดิ์) ได้อย่างเหมาะสม ในขณะเดียวระยะทางจากเมืองยโสธรไปยังเมืองนครพนมที่มีความสำคัญในการรบเช่นกัน มีระยะห่างกันเพียง ๒๑๒ กิโลเมตรโดยประมาณ เมืองยโสธรในช่วงต้นรัตนโกสินทร์จึงถือว่าเป็นเมืองที่มีความสำคัญในภาคอีสานมากทีเดียว
ในช่วงศึกเจ้าอนุวงศ์นี้ ยังมีเหตุการณ์และเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์และสถานที่ในเมืองยโสธรอีกหลายสิ่งหลายอย่างซึ่งจะได้เขียนถึงในตอนต่อไป
เชิงอรรถ
(๑) การปกครองเมืองในหัวเมืองอีสานก่อนการปฏิรูปการปกครอง จะเรียกว่า “อาญาสี่” หรืออาชญาสี่ ประกอบ เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ และ ราชบุตร และยังมีตำแหน่งผู้ช่วยอาญาสี่ อีก ๔ ตำแหน่ง ประกอบด้วย ท้าวสุริยะ ท้าวสุริโย ท้าวโพธิสาร และท้าวสุทธิสาร และตำแหน่งรองจากคณะผู้ช่วยอาญาสี่ มี เมืองแสน เมืองจันทร์ เมืองขวา เมืองซ้าย เมืองกลาง เมืองคุก เมืองฮาม เมืองแพน นาเหนือ นาใต้ ซาเนตร มหาเสนา มหามนตรี ซาบันฑิตย์ กรมเมือง และสุโพ
หาอ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์อีสาน เขียนโดย เติม วิภาคย์พจนกิจ
(๒) ปรากฏในหนังสืออานามสยามยุทธ พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ และ จดหมายเหตุรัชกาลที่
๓ เล่ม ๓
(๓) จากบ้านพรานพร้าวถึงเมืองยโสธร ระยะทางประมาณ ๓๓๐ กิโลเมตร แต่บันทึกในหนังสืออานามสยามยุทธได้ออกเดินทางเมื่อประมาณสองทุ่ม ถึงเมืองยโสธรเวลาสี่โมงเช้า นับว่าเป็นการเดินทางรวดเร็วอย่างยิ่ง แสดงให้เห็นว่าในสมัยโบราณเมืองยโสธร ไม่ถือว่าอยู่ไกลจากเมืองเวียงจันทน์เกินไป ดังที่ในเอกสารทางวิชาการ ประวัติศาสตร์ลาว เขียนโดย เติม วิภาคย์พจนกิจเขียนว่าเมื่อตอนพระวอนอพยพคนมาจากเมืองหนองบัวลำภูมาบ้านสิงห์ท่ายังเห็นว่าเป็นแดนที่ใกล้ชิดเวียงจันทน์ จึงเดินทางต่อไปยังดอนมดแดง
ติดตามอ่านเพิ่มเติมเรื่องต่างๆ ได้ที่
https://www.blockdit.com/bntham1
https://www.blockdit.com/bntham2
เรื่องเล่า
หนังสือ
ประวัติศาสตร์
บันทึก
2
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เล่าเรื่องเมืองยโส
2
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย