Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สองข้างทาง
•
ติดตาม
23 ม.ค. เวลา 02:16 • ประวัติศาสตร์
พ.ศ. ๒๓๖๙-๒๓๗๑ : สถานที่ตั้งทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา (๒)
สารบัญเรื่องในซีรีย์ เล่าเรื่องเมืองยโส
๑.เล่าเรื่องเมืองยโส
https://www.blockdit.com/posts/6766b0bbe89582687fc258ea
๒.พุทธศตวรรษที่ ๑๑ : ยโสธรกับอาณาจักรเจนละ
https://www.blockdit.com/posts/6766b6cf7322283af94b01e6
๓.พุทธศตวรรษที่ ๑๓ (พ.ศ.๑๒๑๘) : พระธาตุอานนท์
https://www.blockdit.com/posts/676816c2e89582687fd7fc6a
๔.พ.ศ. ๒๓๑๔ : ก่อร่างสร้างบ้านสิงห์ท่า
https://www.blockdit.com/posts/6768625756303ac3da01edbe
๕.พ.ศ. ๒๓๓๔ : เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์
https://www.blockdit.com/posts/67727b18ff4259fe01d8a646
๖.พ.ศ. ๒๓๖๙-๒๓๗๑ : สถานที่ตั้งทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา ตอนที่ ๑
https://www.blockdit.com/posts/67752ec94f9415143731d96a
เหตุการณ์ในช่วงสงครามเจ้าอนุวงศ์ นับว่ามีเหตุการณ์และเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์และสถานที่ในเมืองยโสธรหลายสิ่งหลายอย่างด้วยกัน บางเรื่องก็มีการบันทึกเรื่องราวไว้แตกต่างกัน
เรื่องแรกที่จะกล่าวถึง คือ เรื่องการสร้างเจดีย์ที่วัดทุ่งสว่างชัยภูมิ
ในพงศาวดารเมืองยโสธร ฉบับ พระญานรักขิต (ใจ ยโสธรัตน์) พิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๑ ในส่วนประวัติวัดสร่างโศก หรือวัดศรีธรรม ได้นำเนื้อความจากพงศาวดารเมืองยโสธรฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดีซึ่งเป็นผู้เรียบเรียงมารวมไว้ โดยได้มีการบันทึกไว้ว่า หลังจากเจ้าพระยาราชสุภาวดีได้ถอยร่นกองทัพมาตั้งที่เมืองยโสธร เมื่อเตรียมพลและเสบียงพร้อมเสร็จแล้ว
“... จึงเจ้าพระยาราชสุภาวดี ให้จัดพิธีปฐมกรรมหักไม้ข่มนาม เจ้าพระครูหลักคำ (กุ) วัดมหาธาตุเป็นผู้ให้ฤกษ์ ปรากฏว่าดินฟ้าอากาศอำนวยสิ่งประหลาดให้เห็น เป็นฝ่ายมหาชัยชนะถือว่าเป็นมหาฤกษ์ อันเป็นอุดมมงคล พิธีนี้ตั้งกันที่วัดชัยชนะสงคราม (วัดทุ่งนอกเมือง ซึ่งมีพระธาตุเจดีย์เป็นหลักชัยชนะปรากฏอยู่ทุกวันนี้...”
วัดชัยชนะสงครามหรือวัดทุ่งนอกเมือง ปัจจุบันชื่อ วัดทุ่งสว่างชัยภูมิ เดิมเป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเนินดินกลางทุ่งนาห่างจากชุมชนเมืองเก่าประมาณ ๘๐๐ เมตร พงศาวดารเมืองยโสธร ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗๐ และจากประวัติวัดชัยชนะสงคราม (วัดทุ่ง) หรือวัดบูรพาทิศาราม ในพงศาวดารเมืองยโสธร ฉบับพระญานรักขิต (ใจ ยโสธรรัตน์) บันทึกไว้ว่า
อุปฮาดแพง เป็นผู้สร้างพระอารามและพระเจดีย์ขึ้นในภายหลัง หลังจากจัดทัพไปร่วมรบทางเมืองประทายเพชร เสียมราฐ และพระตะบอง (ช่วง พ.ศ.๒๓๗๘-๒๔๘๒) และได้ชัยชนะกลับมา ด้วยพิจารณาเห็นว่า พื้นที่ดินโนนทุ่งนี้เป็นชัยภูมิดีเลิศ แม่ทัพนายกองทั้งฝ่ายไทยฝ่ายลาวจะยกทักไปรบคราวใดก็มาตั้งทัพรวมกองพลทำพิธีชัยฤกษ์ ชัยมงคล ณ สถานที่แห่งนี้ทุกคราว จึงได้สร้างเจดีย์ขึ้นเป็นเจดีย์ที่มียอดเจดีย์ทั้งหมด ๙ ยอด
เจดีย์วัดทุ่งสว่างชัยภูมิ อำเภอเมืองยโสธร (ภาพจากอินเตอร์เน็ต)
เรื่องที่สอง คือ เรื่องเหตุการณ์จุดเผาไฟครัว ที่บริเวณวัดศรีธรรม
เหตุการณ์นี้ในเอกสารที่มีอยู่ พบว่ามีการบันทึกเรื่องนี้ไว้ที่แตกต่างกัน แยกได้เป็น ๒ กลุ่ม
เอกสารกลุ่มแรก จะเป็นกลุ่มเอกสารที่เกี่ยวกับเมืองยโสธรโดยตรง ได้แก่ พงศาวดารเมืองยโสธร ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗๐ ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดี (เชิงอรรถ ๑) เขียนในปี ร.ศ.๑๑๖ หรือ พ.ศ.๒๔๔๐ พงศาวดารภาคอีสาน ฉบับพระสุนทรราชเดช (แข้ ประทุมชาติ) กรมพิเศษ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเขียนหลังปี พ.ศ.๒๔๕๖(เชิงอรรถ๒) และในพงศาวดารเมืองยโสธร ฉบับ พระญานรักขิต (ใจ ยโสธรัตน์) พิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๑ ซึ่งเนื้อหาจะมาจากพงศาวดารเมืองยโสธร ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗๐ ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดี
เอกสารในกลุ่มนี้จะบันทึกไว้ว่าภายหลังจากที่ เจ้าพระยาราชสุภาวดี ได้จับตัวเจ้าอนุวงศ์และคุมตัวลงไปยังกรุงเทพฯ แล้ว
“..ขณะนั้น เจ้าพระยาราชสุภาวดี จึงตรวจดูครอบครัว เมืองเวียงจันทบุรี จะคุมลงไปกรุงเทพฯ แล้วเท้าบุตร จึงกราบเรียน เจ้าพระยาราชสุภาวดี ว่าท้าวคำ น้องชายอุปฮาดปิดบังครอบครัวไว้
ครั้นเจ้าพระยาราชสุภาวดี ไต่สวนก็ได้ความ จึงว่าท้าวคำปิดบังครอบครัวเมืองเวียงจันทบุรีไว้ จึงเจ้าพระยาราชสุภาวดี จะเอาท้าวคำมาประหารชีวิตแล้วอุปฮาดบุตร จึงกราบเรียนเจ้าพระยาราชสุภาวดีว่า ท้าวคำเป็นน้องชายข้าพเจ้า ไปรบศึกศัตรูมาด้วย ก็มีชัยชนะ แก่ข้าศึกศัตรูมาแล้ว ก็จะเอาตัวท้าวคำไปประหารชีวิต ก็ขอให้เอาตัวข้าพเจ้ามาประหารชีวิตด้วยกัน ว่าดังนี้แล้ว เจ้าพระยาราชสุภาวดีเลยสั่งให้พลทหารทำคอก ริมน้ำลำชีหัวเมืองยโสธร เสร็จแล้ว เอาดินปืนเข้าใส่ไว้ในคอก
ครั้นถึงกำหนด แล้วเจ้าพระยาราชสุภาวดีให้เพชฌฆาตเอาอุปฮาดผู้พี่ ท้าวคำผู้น้อง และภรรยาญาติพี่น้อง ของอุปฮาดบุตร ท้าวคำ เข้าใส่ในคอก ถึงกำหนดแล้วเอาเพลิงจุด อุปฮาดบุตร ท้าวคำ ภรรยาญาติพี่น้อง เพราะพร้อมกันสิ้นชีวิตไป..”
เอกสารกลุ่มที่สอง จะเป็นเอกสารที่เกี่ยวกับสงครามเจ้าอนุวงศ์ ได้แก่ หนังสือ อานามสยามยุทธ ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับลาว เขมรและญวน (เชิงอรรถ ๓) (พิมพ์ พ.ศ.๒๔๔๖) พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) และ ประชุมจดหมายเหตุเรื่องปราบกบฏเวียงจันท์ และจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ เล่ม ๓
ในหนังสืออานามสยามยุทธ มีบันทึกไว้ว่า
“.... ฝ่ายพระยาราชสุภาวดี ยกทัพไปตีค่ายเมืองเวียงคุก เวลาเดียวก็แตกหมด แล้วยกไปตีค่ายเมืองยโสธร อุปฮาดราชวงศ์เมืองยโสธรต่อสู้แข็งแรง แต่สู้รบกันอยู่สองวันค่ายที่ยโสธรก็แตกสิ้น ทหารไทยจับได้ครอบครัวอุปฮาดราชวงศ์ซึ่งลงใจเข้าด้วยเจ้าอนุนั้น จับครอบครัวมาได้ ๑๖๐ คน พระยาราชสุภาวดีสั่งให้นำครัวลาวเชลยขบถนั้น ไปคลอกไฟตายสิ้นหมดทั้ง ๑๖๐ คน..”
ในพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) บันทึกไว้ทำนองเดียวกันว่า
“... พระยาราชสุภาวดี ก็ยกไปตีค่ายเวียงคุกที่เมืองยโสธร อุปฮาดราชวงศ์เมืองยโสธรสู้รบแข็งแรง ครั้นพระยาราชสุภาวดีตีค่ายเวียงคุกแตก ก็จับแต่บรรดาครอบครัวอุปฮาดราชวงศ์ซึ่งเข้าด้วยอนุมาคลอกเสียสิ้นประมาณ ๑๐๐ คนเศษ..”
ในขณะที่จดหมายเหตุ รัชกาลที่ ๓ เล่ม ๓ ได้มีบันทึกไว้ว่า
“....อ หนึ่ง แต่งให้พระราชมาณูหลวงเทภา ท้าวสุวอ ท้าวราชวงเมืองยโสธร
คุมไพร่ ๔๐๐ คน ให้ไปติดตามครัวเมืองยศโสธร ซึ่งอ้ายอุปราชให้
อ้ายภาบเมืองผีเมืองปาศัก อ้ายเมืองชาย อ้ายขุนจาเมืองยศโสธร
ไปเข้าด้วยอ้ายอุปราชเวียงจัน คุมคน ๖๐๐ คน มากวาดครัวไป ๗ บ้าน
เปนคนสามโนครัว ๕๐๐ เสด ไปทันชิงเอาครัวไว้ได้ แต่อ้ายภาบเมืองผี
อ้ายเมืองชาย อ้ายขุนจาเมือง นั้นหนีไปจับได้แต่บุตรพันรญา อ้ายภาบเมืองผี
อ้ายเมืองชาย อ้ายขุนจาเมืองนั้นได้รับพระราชทานเอาโทษให้เผาไฟเสียแล้ว หนังสือมา ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีกุญนพศกฯ...”
จากบันทึกในเอกสารทั้งสองกลุ่มแม้จะมีความแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ มีเหตุการณ์จับคนเผาไฟที่เมืองยโสธร แต่ที่แตกต่างกันคือ ช่วงเวลา สาเหตุและผู้ที่ถูกจุดไฟเผา
ในเอกสารกลุ่มแรกจะเขียนบันทึกเหตุการณ์สงครามเจ้าอนุวงศ์รวมเป็นเหตุการณ์เดียว ในขณะที่เอกสารกลุ่มที่สองจะเขียนบันทึกเหตุการณ์สงครามเจ้าอนุวงศ์ครั้งแรกสิ้นสุดเมื่อพระยาราชสุภาวดียกทัพกลับกรุงเทพฯ ส่วนครั้งที่สองเริ่มเมื่อพระยาราชสุภาวดีต้องยกกำลังไปเมืองเวียงจันทน์อีกครั้งเพื่อทำลายบ้านเมืองเวียงจันทน์ โดยในครั้งนี้พระยาราชสุภาวดีมีเหตุการณ์ต้องถอยทัพมาตั้งหลักที่เมืองยโสธร
ประเด็นที่ควรคิดพิจารณาคือ การจับคนเผาไฟที่เมืองยโสธรเกิดขึ้นในช่วงไหน สาเหตุใด และใครบ้างที่ถูกจับจุดไฟเผา
ถ้าดูตามเอกสารในกลุ่มแรก เหตุการณ์ได้เกิดขึ้นหลังจากจับเจ้าอนุวงศ์ได้แล้ว โดยมีสาเหตุว่ามีการปิดบังครัวเมืองเวียงจันทน์ที่จะต้องคุมลงไปกรุงเทพไว้ โดยผู้ที่ถูกจุดไฟเผาท้าวคำและอุปฮาดบุตร ซึ่งเป็นพี่น้องกัน และบุตรภรรยาญาติพี่น้องของท้าวคำและอุปฮาดบุตร
ซึ่งมีข้อสังเกตอยู่ว่า ขณะนั้นกองทัพพระยาราชสุภาวดีตั้งอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ แต่การจุดเผาไฟเกิดที่เมืองยโสธร และไม่ปรากฎบันทึกว่าเจ้าพระยาราชสุภาวดีได้ในขณะเดินทางกลับกรุงเทพฯ ได้มาที่เมืองยโสธรอีกครั้งหรือไม่
และในหนังสืออานามสยามยุทธ ได้บันทึกสภาพเมืองยโสธรไว้ว่า เมืองยโสธรหลังจากที่เจ้าพระยาราชสุภาวดีถอยทัพมาตั้งหลักอยู่ที่เมืองยโสธรได้สองวันแล้วได้ถ่ายเสบียงและคนไปยังเมืองสุวรรณภูมิ และได้มีการเผาเรือนในเมืองยโสธรเสียสิ้น
พร้อมทั้งได้ทำลายป้อมค่ายและโบสถ์ที่เป็นวัดใหญ่ๆ ในเมือง เพื่อไม่ให้ข้าศึกมาพักอาศัยทำป้อมค่ายได้ และเมื่อเจ้าราชวงศ์ ยกทัพตามลงมาถึงเมืองยโสธรเห็น
เมืองร้างวางเปล่าอยู่ไม่มีผู้คนดังนั้น การที่เจ้าพระยาราชสุภาวดีจะยกทัพกลับจากหนองคายมาที่เมืองยโสธรก่อนกลับกรุงเทพฯ จึงเป็นเรื่องที่ควรคิด
ในขณะที่เอกสารในกลุ่มที่สอง เหตุการณ์ได้เกิดขึ้นหลังจากเจ้าพระยาราชสุภาวดียกทัพจากพิมายมาตีค่ายเมืองยโสธรที่ถูกกองทัพเจ้าอนุวงศ์ยึดครองอยู่จนได้รับชัยชนะแล้ว โดยมีสาเหตุคือ การยอมไปเข้ากับกองทัพเจ้าอนุวงศ์ เพราะยโสธรขึ้นการปกครองกับกรุงเทพฯ โดยผู้ที่ถูกจุดไฟมีประมาณ ๑๐๐-๑๖๐ คน เป็นครอบครัวอุปฮาดราชวงศ์ แต่ในจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ บันทึกว่าเป็นบุตรภรรยาของอ้ายภาบเมืองผี อ้ายเมืองชาย อ้ายขุนจาเมือง ซึ่งแตกต่างกัน
แต่ไม่ว่าอย่างใดก็ตาม เหตุการณ์การเผาประหารชีวิตที่เมืองยโสธรในช่วงเวลาดังกล่าวคงเกิดขึ้นจริง โดยสถานที่อยู่บริเวณริมน้ำลำชีหัวเมืองยโสธร (บริเวณวัดศรีธรรมาราม ในปัจจุบัน) โดยในประวัติวัดสร่างโศก ซึ่งพระยามหาอำมาตยาธิบดี ซึ่งปรากฎใพงศาวดารเมืองยโสธร ฉบับ พระญานรักขิต (ใจ ยโสธรัตน์) บันทึกว่า
หลังปี พ.ศ.๒๓๙๕ พระสุนทรราชวงศา (ท้าวฝ่าย) ซึ่งได้รับโปรดเกล้าให้เป็นเจ้าเมืองยโสธรและเมืองนครพนม ได้กลับมาว่าราชการที่เมืองยโสธร “...ได้หวนระลึกถึงอุปฮาดบุตรและท้าวคำที่สิ้นชีวิตไปแล้ว
เพราะท่านทั้ง ๒ เป็นญาติมีศักดิ์เป็นพี่เป็นน้อง แลเคยเข้ารบทัพจับศึกสงครามได้รับความลำบากยากแค้นมาด้วยกัน ถ้าจะสร้างถาวรวัตถุเป็นที่ระลึกก็ไม่เหมาะสม คิดเห็นว่าถ้าได้สร้างเป็นวัดวาอารามจะเกิดเป็นบุญญเขตต์น่าสรรเสริญ........ไปถากถางป่ารก ซึ่งเป็นสถานที่เผาเจ้าอุปฮาดบุตร เจ้าคำม่วน ปักเขตต์ที่นั้นเป็นบริเวณแล้วสร้างโบสถ์ ๑ หลัง ครอบที่เผาศพนั้น....
ตั้งชื่อว่า “วัดท่าชี” แต่ชาวเมืองเรียกว่า “วัดท่าแขก” ต่่อมาได้เปลี่ยนชื่อไปอีกหลายชื่อ เป็น “วัดศรีธรรมหายโศก” “วัดอโสการาม” “วัดสร่างโศก” และ “วัดศรีธรรมาราม” ในปัจจุบัน
ภายในวัดศรีธรรมาราม พิพิธภัณฑ์หลวงตาพวง เจดีย์พระสุก
_______________________
เชิงอรรถ
(๑) ตำแหน่งพระยามหาอำมาตยาธิบดีมีหลายท่าน แต่พิจารณาจาก ร.ศ.๑๑๖ หรือ พ.ศ.๒๔๔๐ ซึ่งเป็นปีที่เขียนพงศาวดารจำปาศักดิ์และพงศาวดารเมืองยโสธร จะเป็นพระยามหาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น ศรีเพ็ญ) ซึ่งเคยเป็นข้าหลวงใหญ่ที่เมืองนครจำปาศักดิ์ และได้ตำแหน่งพระยามหาอำมาตยาธิบดีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๒๖ จนถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ.๒๔๔๖
แต่เนื้อความใน ๒ บรรทัดสุดท้ายได้เขียนถึง ร.ศ.๑๒๗ หรือ พ.ศ.๒๔๕๑ ซึ่งกล่าวถึงการแต่งตั้งหลวงศรีวรราชเป็นพระสุนทรราชเดช ผู้ว่าราชการเมืองยโสธร สันนิษฐานว่าในเอกสารน่าจะมีการพิมพ์ผิด เพราะในพงศาวดารภาคอีสาน ฉบับพระสุนทรราชเดช (แข้ ประทุมชาติ) ได้บันทึกไว้เหตุการณ์เดียวกันเป็น ปี ร.ศ.๑๑๗ หรือ พ.ศ.๒๔๔๑
(๒) พระสุนทรราชเดช (แข้ ประทุมชาติ) กรมพิเศษ จังหวัดอุบลราชธานี เคยเป็นผู้ว่าราชการเมืองยโสธร ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๔๑ -จนถึงปี พ.ศ.๒๔๕๕ ที่เมืองยโสธรถูกลดฐานะลงเป็นอำเภอ และเนื้อความสุดท้ายกล่าวถึงปี พ.ศ.๒๔๕๖ จึงสันนิษฐานซึ่งว่าเอกสารฉบับนี้คงเขียนขึ้นในหลังปี พ.ศ.๒๔๕๖
(๓) ในปกหนังสือฉบับพิมพ์ครั้งแรก ได้เขียนไว้ว่า เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) เป็นผู้เรียบเรียงไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทยตัวรงว่าด้วยราชการกองทัพไทยไปทำศึกสงครามกันกับลาว เขมร ญวน นาย ก.ศ.ร.กุหลาบ เป็นผู้คัดลอกมาลงพิมพ์
ประวัติศาสตร์
หนังสือ
เรื่องเล่า
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เล่าเรื่องเมืองยโส
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย