10 ก.พ. เวลา 13:43

ปั้นแป้ง...แก้คุณไสย ในชุมชนชาวจีน ตอน 1

เรื่องราวเกี่ยวกับการรักษาผู้ถูกคุณไสย มีให้อ่านให้ฟังมากมาย แต่เรื่องที่เกิดในชุมชนชาวจีน ในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีบรรยากาศ และวิธีรักษา แตกต่างไปอย่างไร มาติดตามกัน
“อาม่า” อายุร่วม 80 แล้ว แต่ความจำยังดีเยี่ยม มีเรื่องราวเก่า ๆ ในอดีตมาเล่าให้เด็กๆ ฟังอยู่เสมอ
อาม่า (ภาษาจีนแต้จิ๋ว หมายถึง “ย่า/ยาย”) เกิดตั้งแต่ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งพ่อและแม่ของอาม่า มาจากจีนแผ่นดินใหญ่  อาม่าและพี่น้องทั้งหมดเกิดที่เมืองไทย แต่ก็พูดภาษาจีนได้คล่อง ธรรมเนียมประเพณีจีนก็เคร่ง
อาม่าและครอบครัวไม่ค่อยเชื่อเรื่องลี้ลับ ผีและวิญญาณ แม้เคยผ่านชีวิตในช่วงสงคราม ซึ่งมีเครื่องบินมาทิ้งระเบิดทำให้ผู้คนล้มตายเยอะแยะ แต่ก็ไม่ได้พบเห็นศพ หรือคนตายต่อหน้าต่อตาซักที เพราะทั้งครอบครัวพากันอพยพไปหลบภัยนอกเมืองเหมือนคนส่วนใหญ่ทำกัน
(เรื่องนี้เกิดขึ้นประมาณ พ.ศ.2485- 2495)
จนกระทั่งเกิดเรื่องขึ้นกับ “เตี่ย” (พ่อของอาม่า) ซึ่งตอนนั้นอายุราว ๆ 60 แล้ว เตี่ยชอบเดินออกกำลังกายทุกเช้า โดยจะเดินจากบ้านไปเรื่อย ๆ ผ่านตลาด มุ่งหน้าไปที่วงเวียน แล้วกลับมาที่ตลาดกินโจ๊ก พักสักครู่จึงเดินมุ่งหน้ากลับบ้าน
เส้นทางปลอดภัย ระยะทางก็พอเหมาะกับการเดินออกกำลังของคนวัยนี้ แต่ก็เกิดเรื่องเกินความคาดหมายขึ้นจนได้ !
วันที่เกิดเรื่องนั้น พอเดินกลับถึงบ้านครู่เดียวเตี่ยก็รู้สึกปวดขา... ตอนแรกเข้าใจว่าคงจะเดินมากเกินไปเพราะอายุเริ่มเยอะแล้ว แต่พักอยู่นานก็ยังไม่หาย จนบ่ายกลับยิ่งปวดมากขึ้น นอนพักแล้วนวดขาแล้ว..ก็ไม่ยังหาย ไม่ใช่ความรู้สึกเมื่อยที่ขาหรือฝ่าเท้า ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากยืนนานๆ หรือเดินมากเกินไป แต่เป็นอาการปวดจนทั่วไปหมดทั้งขา
ลองใช้ยาทาถูนวด กระทั่งกินยาแก้ปวดก็ไม่ดีขึ้น..ขาทั้งสองข้างยังคงปวดและปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเตี่ยไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไร 
เมื่อถึงที่สุด..เตี่ยทนไม่ไหวจึงยอมไปหาหมอ (แผนปัจจุบัน) ที่คลินิก อดทนไปหาหมอสองครั้ง ทั้งยากิน ยาทา และยาฉีดล้วนไม่ได้ผล
หนำซ้ำยังมีอาการเพิ่มเติม คือรู้สึกเจ็บแปล๊บๆ เหมือนเข็มแทง จากจุดเล็กๆ แล้วค่อยๆ เพิ่มบริเวณกว้าง จนกระจายไปทั่วทั้งขาควบคู่กับความปวด
อาการ “เจ็บ..ปวด ขา” ที่หาบาดแผล และสาเหตุไม่ได้ รุนแรงมากขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว จนน่าตกใจ
เตี่ยเจ็บปวดมากจนบางครั้งร้องครางฮือ ๆ หรือถึงกับตัวสั่น แม้จะยกสำรับอาหารไปให้ถึงในห้อง ก็แทบจะไม่แตะต้องเลย
ช่วงกลางวันลูก ๆ ต้องช่วยกันหามเตี่ยลงมาข้างล่าง ซึ่งอากาศค่อนข้างเย็นสบายไม่ร้อนอบอ้าวเหมือนชั้นบน ตอนค่ำจึงพากลับขึ้นไปนอน แต่เตี่ยก็ข่มตานอนไม่หลับไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืน ยิ่งกินไม่ได้นอนไม่หลับแบบนี้ ก็ยิ่งอ่อนแอลงทั้งร่างกายและจิตใจ
ทุกคนกลุ้มอกกลุ้มใจแต่ก็หาทางแก้ไขไม่ได้
จน “เหล่าเจ็ก” (น้องปู่) มาเยี่ยม เหล่าเจ็กเป็นเถ้าแก่ (เจ้าของ) โรงงานซึ่งอาม่าไปทำงานด้วย
ทั้งสองครอบครัวรู้จักเป็นเพื่อนกันทั้งผู้ใหญ่และเด็ก นับเป็นเพื่อนและเพื่อนบ้านที่สนิทสนมกันราวกับญาติ พอดูอาการและฟังเรื่องราวแล้ว เหล่าเจ็กก็มีสีหน้ากังวลบอกอาม่าว่า “ไม่น่าจะใช่ปวดขาธรรมดา....เชิญซิงแซมารักษาเถอะ
“ซิงแซ” เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว ใช้เรียกครู อาจารย์ หรือผู้มีวิชาความรู้ด้านต่างๆ 
แต่คนไทยมักจะคุ้นกับการออกเสียงว่า ซินแส และมักใช้เรียกเฉพาะหมอดู กับหมอฮวงจุ้ย
สำหรับ “ซิงแซ” ที่เหล่าเจ็กกล่าวถึงนี้เป็นผู้มีวิชาอาคม
เมื่อครั้งที่เหล่าเจ็กยังเด็ก เกือบต้องตายพร้อมกันทีเดียวทั้งครอบครัวเพราะถูกคุณไสยจากผู้คิดร้าย ก็ได้ซิงแซท่านนี้ช่วยแก้ไข ทั้งยังรักษาและป้องกันพ่อของเหล่าเจ็ก ซึ่งถูกฝ่ายตรงข้ามเพียรทำร้ายด้วยไสยศาสตร์มนต์ดำอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน
เพราะเคยผ่านประสบการณ์ด้านนี้ เหล่าเจ็กจึงเห็นความผิดปกติเกี่ยวกับอาการป่วยของเตี่ย และอาสาจะไปเชิญซิงแซมาให้ 
แต่แม่ของอาม่าไม่ยอมเพราะไม่เชื่อเรื่องพวกนี้
จนกระทั่งวันที่เจ็ด...เหล่าเจ็กเห็นเตี่ยไม่มีท่าทางว่าจะดีขึ้นก็กังวล เกรงว่าปล่อยไว้จะยิ่งอันตรายจึงเรียกอาม่าผู้เป็นลูกสาวคนโตไปอ้อนวอนผู้เป็นแม่อีกที
เพราะถึงแม้เหล่าเจ็กจะไม่มีวิชา แต่ก็พอรู้ว่า วันที่เจ็ดเป็นวันสุดท้ายที่สำคัญ! เพราะยังมีโอกาสถอนคุณไสยออก ถ้าพ้นจากคืนนี้แล้ว “ของ” จะกระจายไปทั่วร่าง ทำให้ยากรักษา ยิ่งเพิ่มความอันตรายและเสี่ยงต่อชีวิตมาก
กว่าอาม่าจะอ้อนวอนจนสำเร็จก็ใกล้ค่ำ จึงรีบไปทางลัด นั่งเรือข้ามฟากแล้วเร่งเดินทงอีกไม่ไกลก็ถึงบ้านซิงแซ
เหล่าเจ็กบอกว่า ซิงแซไม่ค่อยได้ออกไปช่วยผู้คนเหมือนเมื่อก่อน เพราะอายุมากแล้ว จึงต้องจำกัดเฉพาะคนที่รู้จัก
 สำหรับเหล่าเจ็กนั้น ซิงแซทั้งคุ้นเคยและเอ็นดูเพราะเห็นความกตัญญู พยายามทุกหนทาง ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจเพื่อรักษาพ่อ เมื่อครั้งที่ป่วยเป็นระยะเวลานานจากการถูกคุณไสย
เมื่อถึงเวลารักษา นอกจากคนในครอบครัวและญาติ ๆ แล้ว เพื่อนบ้านบางคนที่รู้ข่าวการเจ็บป่วยประหลาดของเตี่ย และบางส่วนที่เคยรับความช่วยเหลือ หรือรู้กิตติศัพท์ของซิงแซก็พากันมารออยู่เต็มบ้าน
ซิงแซไม่รอช้า ตรวจดูขาทั้งสองข้างพูดคุยถามไถ่เล็กน้อย แล้วให้คนในบ้านจัดเตรียม
1. แป้งข้าวเจ้า 2 กิโล
2. กาละมังใบย่อม ๆ ใส่น้ำสะอาด
3. ด้ายกลุ่มหนึ่ง
4. ผ้าขาวผืนใหญ่
เมื่อได้ของมาครบ ซิงแซก็นำแป้งมาผสมน้ำเล็กน้อยปั้นเป็นลูกกลม ๆ เหมือนขนมบัวลอย ผิดกันตรงขนาดที่ใหญ่กว่ามาก 
ปั้นแป้งจนครบ 5 ก้อนแล้ว ก็ให้เตี่ยนอนหงายเปิดเสื้อขึ้น นำแป้งไปวางตามจุดต่าง ๆ 5 แห่ง บริเวณลิ้นปี่และท้อง
ตรงนี้อาม่าบอก "หมวย" เด็กน้อยที่นั่งฟังตาแป๋วว่า แป้งทั้ง 5 ก้อน เปรียบเหมือนกับ “พระเจ้า 5 องค์” จะองค์ไหน อย่างไร อาม่าก็ไม่รู้หรอก เพราะถึงแม้ตอนนั้นอาม่าจะโตแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในระดับด้อยอาวุโส มุงดูกับเขาได้แค่ชั้นนอกไม่ได้อยู่ใกล้ ๆ เหมือนพวกผู้ใหญ่ ทำได้แค่ชะเง้อมองและฟังเขาพูดเงียบๆ ห้ามส่งเสียง หรือเข้าไปเกะกะ ยุ่มย่าม
พอซิงแซวางแป้งครบทั้ง 5 ตำแหน่งแล้วก็นิ่ง พึมพำคาถาหรือบทสวด..สักพัก เสร็จแล้วก็เอาด้ายที่ให้เตรียมไว้ ดึงปลายด้ายออกมาทั้งสองข้าง ข้างหนึ่งซิงแซจับช่วงปลาย ๆ ของด้ายพันเข้าที่นิ้วโป้งของเตี่ย โดยให้เหลือชายตรงปลายสุดของด้ายค่อนข้างยาว พอให้จุ่มลงในกาละมังที่ใส่น้ำ ส่วนปลายด้ายอีกข้างซิงแซจับไว้พร้อมบริกรรมคาถา
ถึงตอนนี้ มีเสียง (แอบ) ฮือฮา (เบา ๆ) จากคนที่มองดูอยู่ เพราะสังเกตเห็นน้ำใส ๆ ในกาละมังซึ่งมีด้ายข้างที่พันกับนิ้วโป้งเตี่ยจุ่มอยู่นั้น ค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีม่วง จากสีม่วงจาง ๆ ก็ค่อย ๆ เข้มขึ้น..เข้มขึ้น จนเห็นได้ชัด
เมื่อน้ำในกาละมังเปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้มจนเกือบดำแล้ว ซิงแซก็หยุดสวดคาถา ค่อย ๆ ปั้นแป้งทั้ง 5 ก้อนนั้นรวมกันเป็นก้อนใหญ่ก้อนเดียว ค่อย ๆ คลึงไปตามขาที่อากงบอกว่าปวด และเจ็บคล้ายถูกเข็มจิ้ม คลึงไป..เคลื่อนไปเรื่อยๆ จนทั่ว ตั้งแต่ต้นขาจนสุดปลายเท้า
ใช้แป้งคลึงขาทั้งสองข้างเรียบร้อย ก็นำแป้งก้อนใหญ่นั้นวางลงบนผ้าขาวที่ให้เตรียมไว้
มีเสียงฮือฮากันอีกครั้ง..เมื่อซิงแซแบะก้อนแป้งให้แยกออกบนผ้า เพราะในก้อนแป้งเต็มไปด้วยเส้นผม! 
แป้งข้าวเจ้าธรรมดาที่ซื้อได้ตามตลาดทั่วไป ผสมน้ำเปล่าปั้นจนเป็นก้อนแป้งสีขาว ๆ ที่เห็นกันตั้งแต่ตอนเริ่มพิธีนั้น ตอนนี้มีเส้นผมมากมายปนกันยุ่งดูลายตา เพราะมีทั้งสีดำ สีขาว สีออกลาย ๆ เหมือนผมกึ่งหงอกกึ่งดำ เต็มไปหมด สีของกระจุกเส้นผมตัดกันกับสีขาวเดิมของก้อนแป้งอย่างเห็นได้ชัด..และน่าสะพรึง
โฆษณา