71,000 ล้านผันน้ำยวม ไทยอยากได้ จีนอยากช่วย คนที่ซวยไม่มีทางหนี
‘คุ้มค่า’ หรือ ‘ได้ไม่คุ้มเสีย’ 71,000 ล้านผันน้ำยวม ไทยอยากได้ จีนอยากช่วย คนที่ซวยไม่มีทางหนี
https://waymagazine.org/the-yuam-river-water-diversion.../
71,000 ล้านบาท คืองบประมาณที่กรมชลประทานได้กำหนดไว้ในแผนงาน โครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล
9 ปี คือระยะเวลาที่คาดการณ์ว่า โครงการนี้จะดำเนินงานเสร็จสิ้นพร้อมใช้
ยังไม่รวมถึงค่าบำรุงรักษาอีกปีละประมาณ 328 ล้านบาท และค่ากระแสไฟในการดำเนินโครงการที่ประเมินแล้วอยู่ที่ราว 2,443 ล้านบาทต่อปี (ยังไม่ทราบว่าใครคือผู้จ่าย) เพื่อให้ได้มาซึ่งน้ำส่งเพิ่มไปสู่เขื่อนภูมิพลปีละ 1,795 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ความต้องการน้ำของทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ประมาณ 18,579 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี นั่นเท่ากับว่า น้ำยวมที่ผันข้ามลุ่มมายังเขื่อนภูมิพลด้วยงบประมาณสูงลิบ ได้น้ำเพียง 9.6 เปอร์เซ็นต์ ของความต้องการที่ตั้งไว้
ตัวเลขอันน่ากังขานี้ เป็นเพียงหนึ่งในข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นจากโครงการผันน้ำยวม อภิมหาโปรเจ็คต์ที่เกี่ยวพันกับงบประมาณแผ่นดินจำนวนมหาศาล และเกี่ยวข้องโดยตรงกับประชาชนผู้ใช้น้ำ ทั้งด้านการเกษตรและอุปโภคบริโภคในลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งหมด
มากกว่านั้น โครงการนี้ยังกระทบโดยตรงกับชาวบ้านที่ส่วนใหญ่คือกลุ่มชาติพันธุ์ผู้อาศัยในเขตพื้นที่โครงการ ยังไม่นับรวมถึงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับทรัพยากรในแม่น้ำและสิ่งแวดล้อมจากการผันน้ำข้ามลุ่ม
WAY นำบทสนทนาในหัวข้อ ‘ผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล ประเทศได้หรือเสีย’ มาไล่เลียงถึงข้อถกเถียงและประมวลข้อมูลที่ประชาชนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับรู้ข้อมูลได้อย่างรอบด้าน
“กมธ. ที่ศึกษาโครงการนี้ ได้ประสานไปทางบริษัทวิสาหกิจของรัฐบาลจีน ซึ่งทราบว่าเขาให้ความสนใจในเรื่องนี้อยู่ เพราะว่าประเทศจีนมีวิสาหกิจประมาณ 5 บริษัท ในการทำเขื่อนทั่วโลก โดยสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งในจีนและต่างประเทศ ดังนั้นงานนี้เหมือนเขารับงานโดยไม่เอากำไรมาก เพราะเครื่องไม้เครื่องมือมีพร้อมสำหรับทำโครงการใหญ่ๆ และอยากช่วยประเทศไทยด้วย”
ประโยคข้างต้นเป็นของ วีระกร คำประกอบ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร
ส่วนประโยคถัดจากนี้เป็นของ ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
“ดิฉันพยายามชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นหรือไม่จำเป็นของการมีหรือไม่มีโครงการ สมมุติว่าอะไรก็แล้วแต่ ทำให้เราจะสร้างให้ได้ ซึ่งก็มีโมเดลว่าจีนจะมาร่วมทุนสร้าง หากว่าสร้างได้จริงๆ ดิฉันอยากถามว่า แล้วค่าไฟที่จะเกิดขึ้นจากการสูบน้ำของโครงการปีละประมาณ 2,443 ล้านบาทนั้น ซึ่งเมื่อคิดเป็นต้นทุนน้ำ มันจะตกอยู่ที่น้ำคิวละ 1.37 บาท ไปรวมกับต้นทุนการสร้างอีกเกือบ 1 บาท ต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร รวมแล้วน้ำมีต้นทุน 2 บาทกว่า
“วันนี้ประเทศชาติเรามีงบขนาดนั้นเหรอ เราไม่มีงบ เราถังเเตก เราถึงต้องไปขอให้คนอื่นมาช่วย กี่โครงการแล้วที่ไทยต้องให้จีนมาช่วย เราได้คำนึงถึงอธิปไตยของประเทศชาติบ้างหรือเปล่า”
ส่วนประโยคสุดท้ายเป็นของชาวบ้านคนหนึ่งที่ร่วมวงสนทนา เป็นคนหนึ่งซึ่งไม่แน่ใจนักว่าถูกนับรวมว่ามีส่วนได้กับโครงการนี้หรือไม่ เพราะเท่าที่ฟัง ดูเหมือนเธอจะพูดส่วนที่ต้องเสียไปมากกว่า
“ที่ผ่านมา คนในพื้นที่พยายามพูดถึงความกังวล ปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นกับวิถีชีวิตของเขา บ้านกะเบอะดินนั้น คนในชุมชนยังไม่รู้เลยว่าจะมีอุโมงค์ผันน้ำไปเจาะที่ใต้หมู่บ้านของเขา ส่วนบ้านแม่งูดที่อยู่ปลายอุโมงค์ พี่น้องก็กังวล อีกทั้งพี่น้องตรงนี้คือกลุ่มที่เคยหนีผลกระทบจากเขื่อนภูมิพล คำถามคือ ท่านจะให้พวกเขาหนีอีกครั้งเหรอ
“ดิฉันเชื่อว่าถ้า EIA ชอบธรรมจริงๆ เคารพสิทธิและเสียงของชาวบ้านจริงๆ EIA จะไม่มีทางผ่านค่ะ”