14 มิ.ย. 2020 เวลา 05:00 • ประวัติศาสตร์
บิดาแห่งชาวเติร์ก! 'มุสตาฟา เคมัล อตาเติร์ก' รัฐบุรุษและผู้นำของตุรกีที่กล้าปฏิรูปประเทศไปสู่ความทันสมัย
WIKIPEDIA PD
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
หลายคนที่เคยเดินทางไปเที่ยวที่ตุรกี อาจจะเคยสงสัยว่าทำไมสนามบิน ถนน หรือสถานที่หลายแห่งของตุรกีมักถูกเรียกว่า ‘อตาเติร์ก’ แท้จริงแล้ว ชื่อดังกล่าวเป็นชื่อของรัฐบุรุษและประธานาธิบดีคนแรกของประเทศตุรกีอย่าง มุสตาฟา เคมัล อตาเติร์ก ผู้ได้ชื่อว่าเป็นที่รักยิ่งของชาวตุรกี จากการปกป้องประเทศจากการถูกต่างชาติรุกรานและความเสื่อมโทรมจากภายใน และการปฏิรูปประเทศเคร่งศาสนาให้ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่ทันสมัยทัดเทียมโลกตะวันตกมากขึ้น
ย้อนกลับไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในตอนนั้นจักรวรรดิออตโตมันได้เข้าร่วมกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง ซึ่งภายหลังจักรวรรดิออตโตมันได้พ่ายแพ้ในสงคราม แต่ยังมีนายทหารที่สร้างชื่อเสียงโดดเด่นเหนือใครในสนามรบ ซึ่งก็คือ มุสตาฟา เคมัล (ในตอนนั้นยังไม่ถูกเรียกชื่อต่อหลังว่าอตาเติร์ก) ที่ได้ชื่อว่าเป็นแม่ทัพเพียงคนเดียวที่ไม่เคยพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
WIKIPEDIA PD
ด้วยสถานะของผู้แพ้ จักรวรรดิออตโตมันสุ่มเสี่ยงที่จะโดนกลุ่มชาติมหาอำนาจในยุคนั้นอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี แยกดินแดนของจักรวรรดิออตโตมันออกเป็นส่วน ๆ แต่ด้วยเลือดรักชาติของเคมัล เขายอมให้เรื่องนี้เกิดขึ้นไม่ได้โดยเด็ดขาด
ในปี 1919 เคมัลนำกำลังไปสู้รบกับกองทัพฝ่ายกรีซที่ยกมารุกราน และได้จัดตั้งสภาแห่งชาติที่เมืองแองการา ทำให้รัฐบาลกลางที่กรุงอิสตันบุลประกาศว่าเขาเป็นกบฏและปลดเขาออกจากทุกตำแหน่ง และเคมัลได้ประกาศกลับไปว่ารัฐบาลต่างหากคือผู้ทรยศชาติ เพราะไม่เคยคิดที่จะปกป้องแผ่นดินจากการรุกรานของพวกกรีซและชาติมหาอำนาจเลยแม้แต่น้อย
โดยก่อนหน้านั้น เมื่อปี 1908 เคมัลและพรรคพวกได้เคยมีส่วนร่วมในการปฏิวัติยังเติร์ก (Young Turk Revolution) ที่กลุ่มนายทหารรุ่นใหม่และประชาชนได้ร่วมมือกันเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญมาแล้วอีกด้วย
WIKIPEDIA PD
สุดท้ายประชาชนชาวเติร์กก็เลือกเทใจไปให้กองกำลังของเคมัล สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 6 แห่งจักรวรรดิออตโตมันได้หลบหนีออกจากประเทศ เคมัลได้ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ และได้เปลี่ยนชื่อประเทศจากจักรวรรดิออตโตมันมาเป็นสาธารณรัฐตุรกี และย้ายเมืองหลวงจากอิสตัลบูลมาที่แองการา เคมัลได้ปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองและศาสนาครั้งใหญ่ภายในประเทศ โดยแบ่งแยกอำนาจการปกครองทางศาสนาออกจากอำนาจการปกครองทางการเมืองที่ฝังรากลึกในหมู่ชนชั้นปกครองมายาวนาน และได้มอบสิทธิเสรีภาพให้กับสตรีในการเลือกตั้งและได้รับการศึกษาในระดับสูงเท่าเทียมกับผู้ชาย นอกจากนี้ เคมัลยังได้สั่งยกเลิกข้อบังคับการแต่งกายของชาวมุสลิม ผู้ชายไม่จำเป็นต้องใส่หมวกกะปิเยาะห์ ส่วนผู้หญิงก็ไม่จำเป็นต้องสวมใส่ฮิญาบและชุดดำเหมือนในอดีตอีกต่อไป และที่สำคัญ เคมัลประกาศใช้หลักการครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียว แม้ว่าชายชาวมุสลิมจะได้รับการอนุญาตให้มีภรรยาหลายคนก็ตาม
WIKIPEDIA PD
อาจกล่าวได้ว่าเคมัลเป็นผู้นำหัวก้าวหน้า ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศให้มีความทันสมัยเหมือนชาวตะวันตกมากขึ้น ท่ามกลางความไม่พอใจของกลุ่มอนุรักษ์นิยมมุสลิม ที่มองว่าเขาคือเผด็จการที่กระทำการตามอำเภอใจ และกุมอำนาจไว้แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น
ถึงแม้จะมีข้อครหาเกี่ยวกับความเป็นเผด็จการของเคมัลมากมาย แต่สุดท้ายแล้ว หลังจากที่เคมัลเสียชีวิตลง ประชาชนต่างอาลัยอาวรณ์กับการจากไปของผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของพวกเขา และภายหลังชาวตุรกีได้เรียกผู้นำของเขาว่า ‘มุสตาฟา เคมัล อตาเติร์ก’ โดยคำว่าอตาเติร์กที่ต่อท้ายมา หมายถึง ‘บิดาของชาวเติร์ก’ เพื่อสดุดีแก่ผู้นำอันเป็นที่รักของพวกเขานั่นเอง
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
โฆษณา