9 ก.พ. 2021 เวลา 23:43 • สุขภาพ
ยาสมุนไพร ความคิด ความเชื่อ และอคติ
“ยาสมุนไพรตัวนี้ดีนะ ช่วยบำรุงตับ ไต คนข้างบ้านซื้อมาทานแล้วแข็งแรงขึ้น”
“ป้าไปรักษามะเร็งเต้านมด้วยสมุนไพรมา เพราะคนที่ไปมารักษาด้วยยาสมุนไพรหายจากมะเร็งได้ มีการบอกปากต่อปาก”
“ลุงซื้อถังเช่ามากิน เพราะโฆษณาในทีวี บอกว่าช่วยรักษาโรคไตได้”
เรามักจะได้ยินคำบอกเล่าข้างต้นอยู่บ่อยๆ จนนึกไปว่าสมุนไพรต่าง ๆ นั้นดีจริง
แต่เมื่อพินิจพิเคราะห์ให้ดีแล้วจะพบว่าคำบอกเล่าดังกล่าวนั้น ล้วนแล้วแต่เต็มไปด้วยอคติทั้งสิ้น
อคติดังกล่าว ตรงกับคำที่ว่า “What You See Is All There Is (WYSIATS)” ตามที่ Daniel Kahneman นักจิตวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์ ได้กล่าวไว้
กล่าวคือ เรามักมองเห็นสิ่งต่าง ๆ เท่าที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีความจริงที่มากกว่านั้น ซึ่งเข้าได้กับคำว่า Availability Bias นอกจากนี้ เรามักด่วนสรุป หรือ jumping to conclusion ในขณะที่มีข้อมูลเพียงด้านเดียว โดยไม่มองหรือคิดให้รอบด้านเสียก่อน (กระบวนการคิดแบบนี่ เกิดจากระบบความคิดที่ 1 นั่นเอง)
การที่มีคนมาบอกว่าใช้สมุนไพรตัวหนึ่งใช้แล้วดี จริง ๆ แล้วจะพบว่ามีคนอื่น ๆ หลาย ๆ คน ที่ใช้แล้วอาการอาจเหมือน ๆ เดิม หรือแย่ลง แต่คนเหล่านั้นไม่ได้มาบอกเล่า หรือคนที่เป็นมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยยาสมุนไพรแล้วหาย จริง ๆ อาจมีการรักษาอื่น ๆ ร่วมด้วย (Co-intervention) ทำให้หายขาดได้ ส่วนบางคนที่รักษาด้วยสมุนไพรอย่างเดียวนั้น อาจเสียชีวิตและไม่ได้มีโอกาสมาบอกว่าสมุนไพรนั้นใช้แล้วไม่ได้ผล ซึ่งอคติลักษณะที่เกิดขึ้นนี้เข้าได้กับคำว่า Survivorship Bias
นอกจากนี้แล้ว ยาสมุนไพรหลายตัวที่อวดอ้างสรรพคุณยังขาดหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งผู้ป่วยมักไม่นึกถึงและไม่ขวนขวายค้นหาข้อมูลด้านนี้
ดังนั้นเวลาใครอวดอ้างสรรพคุณของยาสมุนไพร เพื่อขายของให้เรา เราควรลดอคติที่บังตาเราลง และพยายามมองหาข้อมูลเชิงลึกและข้อมูลเชิงประจักษ์เพิ่มเติมก่อนที่จะตัดสินใจเลือกใช้ยา อย่าให้คำพูดหรือคำบอกเล่าของคนไม่กี่คน มาทำให้เราหลงเชื่อไปกับสรรพคุณหรือคำกล่าวอ้าง โดยไม่ได้คิดไตร่ตรองให้ดีเสียก่อน
โฆษณา