Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขมานันทะในใจเรา - ชาติพันธุ์ภาวนา
•
ติดตาม
5 พ.ค. 2021 เวลา 23:00 • ปรัชญา
ไตร่ตรองมองหลัก (๒๐)
สิ่งที่เรียกว่าโพธิหรือพุทธะที่แฝงเร้นอยู่นั้น ถูกบดบังด้วยกระแสความคิดและการแสวงหา
ธรรมชาติพิเศษในการขจัดสภาพหลอน(มายา) ในคลองอินทรีย์ประสาท ทั้งเปิดเผยธรรมชาติที่แท้ของทุกๆ สิ่งก็ต่อเมื่อความคิดแบ่งแยกสนองการแสวงหาได้ถูกตัดทอนลง
เจตนาในการแสวงหาก็คือ การแบ่งแยกระหว่างระดับหนึ่งกับอีกระดับหนึ่ง จึงเกิดขั้วต่างๆ ที่ทำให้กระแสความคิดไหลไป และตราบใดที่ความคิดปรุงแต่งยังมีอยู่ต่อไป สิ่งที่เรียกว่าโพธิ หรือพุทธะย่อมไม่อาจตื่นได้เต็มส่วน
โดยการนั่งสงบระงับ เพ่งจิตไปที่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นรูปหรือนามที่เรียกว่านิมิต ก็อาจหยุดกระแสความคิด แม้ส่งผลเป็นความระงับในช่วงสั้น แต่ในช่วงยาวแล้วถือได้ว่าเป็นการสร้างปัญหาให้มากมายขึ้น เพราะผู้กระทำได้ผูกพันตนไว้อย่างเหนียวแน่นกับทั้งวิธีการและผลของการกระทำนั้น จะชื่อว่ารู้แจ้ง หรือโพธิหรือพุทธะหาได้ไม่
ทั้งนี้เพราะเป็นเพียงการสะกดข่ม แม้จะดูน่านิยมชมชื่น ให้ความสงบแจ่มใสอย่างไรต่อเจ้าตัวผู้กระทำ ผู้กระทำก็หาหลุดพ้นจากการกระทำ (กรรม) ของตัวไม่
ไม่ว่าด้วยการเพ่งสู่การขบคิด พิจารณาหรือการสะกดข่มเพื่อความระงับ ก็ชื่อว่าผู้กระทำได้ตอกย้ำความผูกพันตนไว้กับการกระทำ ผลก็ย่อมเกิดจากเหตุแห่งการกระทำนั้นๆ และแม้จะนำสองกรรมวิธีนี้มาประสมประสานกัน ดังที่ได้เป็นแม่บทของการภาวนาในหลายสำนัก ก็ยังเป็นเพียงทฤษฎีอยู่
นั่นคือเจริญสมถภาวนาจนบรรลุสมาธิระดับเฉียดฌาน(อุปจารสมาธิ) หรือระดับถึงฌาน (อัปปนาแน่วแน่) และมักจะเน้นที่มีจิตเป็นหนึ่ง แล้วถอนจิตออกมาจากฌาน อาศัยพลังฌานที่ไม่ได้กระทำแล้วเป็นทางในการพิจารณาในแง่พระไตรลักษณ์ต่อสิ่งทั้งปวง ด้วยการกระทำอย่างนี้ กิเลสอาสวะจะจางหายไป
กรรมวิธีเช่นนี้เชื่อกันว่าเป็นคำแนะนำบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า และอธิบายกันว่านิวรณ์ ๕ (กามฉันทะ, พยาบาท, ถีนมิทธะ, อุทธัจจะกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา) นั้นเป็นดังพญามาร เป็นอุปสรรคกางกั้นปัญญา กระทำให้ปัญญาทุพพลภาพ
แท้จริงแล้วหลักนี้เป็นหลักกลางๆ ที่วางเรียบเรียงไว้ในฐานะเป็นหลัก ส่วนในภาคปฏิบัตินั้น ยังมีการเจริญงอกงามของสติปัญญาไปตั้งแต่นิวรณ์ ๕ มีอยู่แล้ว ดังนั้นการปลุกเร้าให้โพธิ-ธรรมชาติที่ตื่นตัวหรือสภาพรู้สึกตัวได้ทำกิจตามทางของมัน ก็เป็นจุดสำคัญไปแต่ต้นมือ
1
หลักทฤษฎีแรกนั้นก่อเกิดท่าทีของสำนักค่อยเป็นค่อยไป (หรือที่ในหนังสือสูตรของเว่ยหล่างเรียกว่าสำนักเชื่องช้า) และสำนักฉับพลัน ที่ถูกระบุถึงก็เพราะกลุ่มบุคคลประเภทหลัง ที่มีความพร้อมอยู่ในตัวเองแล้ว
อีกทั้งในบรรดาบุคคลที่เชื่อในแนวทางพัฒนาชนิดค่อยเป็นค่อยไปนั่นเอง หากมาถึงอีกช่วงหนึ่ง ไม่ว่าได้รับการสะกิดจากผู้รู้ก็กลับกลายเป็นผู้เดินอยู่ในเส้นทางสายฉับพลันได้ ส่วนบุคคลที่เดินอยู่เช่นนั้นแล้ว จะย้อนกลับไปเชื่อมั่นในการพัฒนาแสวงหาคุณภาพและปริมาณแบบค่อยเป็นค่อยไปนั้นย่อมไม่อาจเป็นไปได้
เป็นคำอธิบายเชิงวิชาการที่มุ่งประเด็นสู่การเกิดญาณหรือสัมโพธิ (ซา-โตริ) ที่มีกับหนังสือ "สูตรของเว่ยหล่าง" จากหนังสือไตร่ตรองมองหลัก พิมพ์ครั้งแรก พ.ย. ๒๕๓๓
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ไตร่ตรองมองหลัก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย