Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขมานันทะในใจเรา - ชาติพันธุ์ภาวนา
•
ติดตาม
7 พ.ค. 2021 เวลา 23:00 • ปรัชญา
ไตร่ตรองมองหลัก (๒๒)
คำสอนของพระสังฆปริณายกองค์ที่ ๖ แห่งนิกายฌันนั้นอยู่ที่การประจักษ์แจ้งต่อแก่นสารแห่งใจ (ซึ่งในหนังสือเล่มนี้เรียกว่าจิตเดิมแท้)
ถือว่า ปัญญา ศีล สมาธิ หรือทุกสิ่งทุกอย่างทั้งรูปทั้งนาม เป็นเพียงสิ่งสะท้อนจากใจ และใจนั้นไม่ได้มีเนื้อหาอื่น เป็นสิ่งอยู่นอกเหนือทำเนียบภาษาใดๆ
ดังนั้นแก่นสารแห่งใจย่อมเล็งไปสู่สภาพเหนือคิด ดังโศลกธรรมที่ลือเลื่อง อันแสดงออกถึงความรู้ทางใจของท่านสังฆปริณายกสมัยเป็นอุบาสก ผู้ทำงานตำข้าวในสำนักวัดตุงซัน
"ไม่มีต้นโพธิ
ทั้งไม่มีกระจกเงาอันใสสว่าง
เมื่อทุกสิ่งว่างไร้
ฝุ่นจะปรากฏได้ที่ไหน"
กิเลสอันถูกเปรียบด้วยฝุ่นละออง กายซึ่งเปรียบด้วยต้นโพธิอันไร้แก่น และจิตใจอันเปรียบด้วยกระจกเงาที่เจ้าของหมั่นขยันเช็ดให้สะอาด ดังโศลกธรรมของชินเชาที่ว่า
"กายของเราคือต้นโพธิ
และใจของเราคือกระจกเงาอันใส
เราเช็ดมันอย่างระวังตั้งใจในทุกๆ โมงยาม
ทั้งไม่ยอมให้ฝุ่นธุลีปรากฏขึ้นได้"
จากโศลกทั้งสองนั้น เราจะเห็นได้ว่าสภาพธรรมทางใจของทั้งสองท่านนั้นต่างกันมากเพียงใด ในเมื่อชินเชายังยืนอยู่ในความมีกายอันเปรียบด้วยต้นโพธิ และความมีอยู่แห่งใจอันเปรียบด้วยกระจกและความมีอยู่ของกิเลส คือฝุ่นธุลี อันตนต้องเช็ดถูกระจกอย่างระวังในทุกๆ ชั่วโมง
แสดงถึงการปฏิบัติธรรมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและสับสน อีกทั้งยึดติดในการกระทำ ตอกย้ำความคิดรวบยอดว่ามีตัวตน มีศูนย์กลางของการกระทำ ทั้งมีความเป็นไปไม่ได้ในการกำจัดฝุ่นธุลีไม่ให้ปรากฏบนกระจกเงาอันใส และส่อเค้าว่าชินเชายึดติดทั้งในการอุปมานั้นด้วย
ดังนั้นชินเชาซึ่งต่อมาได้เป็นผู้นำสำนักค่อยเป็นค่อยไปนี้ จึงไม่ถูกรับเลือกให้เป็นผู้รับทอดแก่นคำสอนจิตถึงจิตของสำนักวัดตุงซัน
สำหรับโศลกของเว่ยหล่าง อุบาสกอายุน้อยผู้ไม่รู้หนังสือนั้น สะท้อนถึงสภาพอยู่เหนือคิดเรื่องความมีอยู่และไม่มีอยู่ได้แล้ว
เว่ยหล่างไม่แสวงหาในทางทวีหรือลดปริมาณและคุณภาพแล้ว กล่าวคือท่านไม่ค้นหาความจริงภายใต้ความคิดอันตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขทางสมอง ซึ่งรังแต่หมุนวนอยู่ในโลกของสมมติ ทั้งทัศนะของท่านไม่ซัดส่ายไปแสวงหาที่ใดอีก หมดภาระในการมุ่ง "ขจัด", "เช็ดถู" ฝุ่นธุลีเพื่อให้กระจกใสสะอาด
เมื่อกายและจิตไม่ปรากฏในคลองของความคิด กิเลสก็ไม่มีที่ตั้งที่อาศัยอีกเลย โศลกของท่านไม่ส่อเค้าว่ายึดถือแม้ในการอุปมา ทั้งไม่มีท่าทีว่าจะมีท่วงทำนองเป็นโศลกกวีหรือไม่ แต่สะท้อนออกจากจิตใจของท่านอย่างง่ายดายและตรงไปตรงมา
คำอธิบายเชิงวิชาการที่มุ่งประเด็นสู่การเกิดญาณหรือสัมโพธิ (ซา-โตริ) ที่มีกับหนังสือ "สูตรของเว่ยหล่าง"
จากหนังสือไตร่ตรองมองหลัก พิมพ์ครั้งแรก พ.ย. ๒๕๓๓
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ไตร่ตรองมองหลัก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย