8 พ.ค. 2021 เวลา 23:00 • ปรัชญา
ไตร่ตรองมองหลัก (๒๓)
การไม่เป็นไปตามอำนาจของความคิด หรือการอยู่เหนือคลองแห่งวิตก อันเป็นปากประตูธรรมชั้นเหนือโลก, เหนือความคิดนี้ ถือว่าเป็นหลักคำสอนของพระสังฆปริณายกผู้ไม่รู้หนังสือผู้นี้
ทั้งนี้เพราะเมื่อผู้ปฏิบัติตามทางนี้แล้ว การเดินทางกลับสู่รากเหง้าดั้งเดิมก็จะเกิดขึ้นเรียกกันว่าการประจักษ์แจ้งต่อธรรมชาติที่แท้บ้าง หน้าตาดั้งเดิมบ้าง
เฉพาะประวัติส่วนตัวของท่านเว่ยหล่างเอง ในตอนบรรลุธรรมอย่างสมบูรณ์นั้นน่าสนใจยิ่ง ทั้งชี้บ่งถึงแก่นสารของใจ หรือจิตเดิมแท้ที่ว่างเปล่านั้น หาได้ว่างอย่างที่คิดไม่ หากกลับกลายเป็นรากฐานของทุกๆ สิ่งทั้งอิสระ บริสุทธิ์หมดจดด้วย
"ใครเลยจะนึกว่า แก่นสารทางใจนั้นบริสุทธิ์หมดจดอยู่เองแล้ว
ใครเลยจะนึกว่า แก่นสารทางใจนั้นอิสระอยู่เองแล้วจากการเกิดขึ้นหรือการถูกทำลาย
ใครเลยจะนึกว่าแก่นสารทางใจนั้นอิสระจากการเปลี่ยนแปลงโดยแท้จริง
ใครเลยจะนึกว่าทุกๆ สิ่งทุกๆ อย่าง คือการปรากฏออกแห่งแก่นสารทางใจ"
อาการแสดงออกของท่านย่อมบ่งว่า สิ่งที่ท่านประสบนั้นเป็นสิ่งเกินคาดคิด แม้ท่านเองจะผ่านประตูธรรมเข้ามาแล้ว ทั้งรู้ถึงสภาพเหนือคิดแล้วก็ตาม การบรรลุธรรมอันสมบูรณ์ของท่านนั้นเองที่ได้กลายเป็นรากฐาน คำสอนของสำนักฉับพลันแห่งนิกายฌัน และสืบทอดมาเป็นเซ็นทุกวันนี้
ในหลายตอนของหนังสือสูตรของเหว่ยหล่าง บอกเราถึงความมากไปด้วยความคิดนึกทางปริยัติ หรือความรู้ทางทฤษฏีต่างๆ ของสานุศิษย์และถูกสะกิดให้สว่างไสว อิสระจากความรู้ชนิดนั้น การเสาะแสวงหาความรู้จากการอ่านและขบคิดนั้นเทียบกันไม่ได้เลยกับความรู้ทางใจ
คำอธิบายเชิงวิชาการที่มุ่งประเด็นสู่การเกิดญาณหรือสัมโพธิ (ซา-โตริ) ที่มีกับหนังสือ "สูตรของเว่ยหล่าง"
จากหนังสือไตร่ตรองมองหลัก พิมพ์ครั้งแรก พ.ย. ๒๕๓๓

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา