9 พ.ค. 2021 เวลา 23:00 • ปรัชญา
ไตร่ตรองมองหลัก (๒๔)
หลวงพ่อเทียนท่านอธิบายคำว่า รู้ แตกต่างจาก เห็น รู้นี้ยังไม่เห็น ตอนรู้ยังอยู่ภายใต้อำนาจของความคิด แม้ความรู้ตัวก็ยังอยู่ภายใต้การครอบงำของความคิด อันนี้สำคัญมาก
เมื่อเห็นนั้นจะเห็นโดยอาการซึ่งสัมผัสได้ เมื่อรู้นั้นรู้โดยความคิด ยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของความคิด
ฉะนั้นการปฏิบัติที่รู้ตัวนี้ มันมีปัญหาอยู่ในตัวมันเอง เมื่อเราไม่รู้ตัว คือเราลืมตัว ไปเรื่อยๆ ตามสบายตามกิเลสอวิชชา แต่พอรู้ตัวขึ้นมามันก็เกิดสภาพขัดแย้ง เกิดปัญหาในตัวของมันเอง เพราะมันรู้ภายใต้ความคิด ดังนั้นพอเริ่มรู้ตัวก็เริ่มสร้างปัญหาใหม่ให้ตัวมันเอง
ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาให้ลึกกว่านี้ ผมจะโยงไปสู่ความเข้าใจผิดของชาวพุทธไทยทั่วไป โดยเฉพาะบรรยากาศยุคนี้ สมัยนี้ ชอบโฆษณาเรื่องสติทุกสำนัก นิกาย พูดเรื่องสติทั้งนั้น คล้ายๆ จะกลายเป็นแฟชั่นขึ้นแล้ว ที่ผิดพลาดตามที่ผมเข้าใจ ตรงที่ไปเน้นว่า สติเท่านั้นเป็นคำตอบ รวมถึงสายหลวงพ่อเทียนด้วย ที่มุ่งเน้นแต่สติอย่างเดียว ราวกับว่าสติเท่านั้นที่นำไปสู่ความหลุดพ้น สติทำให้เกิดอะไรต่อมิอะไรจนกระทั่งถึงที่สุดทุกข์
การกล่าวเช่นนี้นั้นไม่ถึงกับผิดพลาด แต่ว่ามันไม่ถูกต้องสมบูรณ์ในตัวมัน มีพุทธภาษิตกล่าวไว้ว่า สติแม้เป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าสตินั้นละเวรไม่ได้ "สติ มโต สุโว เสยฺโย เวรํ น ปริมุจฺจติ" หมายความว่า ขาดสติไม่ดี มีสตินั้นดี แต่สตินั้นหาอาจละเวรได้ไม่
ทีนี้ความหมายของเวร หมายเอานิวรณ์ ๕ อันเกิดแต่อวิชชาและการเสพย์กามคุณต่างๆ การที่มีการเสพย์เสวยทางตา หู จมูก ทางลิ้น ทางกาย เหตุไรจึงเรียกว่าเวร เพราะว่าเมื่อถึงวาระถึงรอบ ก็ต้องกระทำอีก มันเหมือนกับการเข้าเวร พอถึงเวลาก็ทำอีก นี้เรื่องกามคุณทั้งนั้น พอถึงเวลามันเข้าเวรรับใช้มัน เรียกว่า เวร
สติมันไม่มีกำลังที่จะละเวรได้ ราคะหรือแม้แต่โกรธ ไม่พอใจอะไร เรารู้ตัว แต่ว่ามันไม่หยุดทั้งๆ ที่เรารู้ อันนี้คือข้อเท็จจริง ฉะนั้นการโฆษณาว่า สติเท่านั้นเป็นคำตอบประการเดียวราวกับเป็นยาครอบจักรวาล มันทำให้ฟั่นเฝือ
ถ้าพูดว่าสติเท่านั้น เท่ากับบอกว่าเรื่องอื่นไม่สำคัญ ซึ่งผิดไป ขึ้นชื่อว่าธรรมะแล้ว พระพุทธเจ้าแจกแจงไว้สำคัญทั้งนั้น
บางสำนักบอกว่าศีลไม่สำคัญ สติสำคัญที่สุด อย่างอื่นไม่สำคัญไม่ต้องรักษาศีลก็ได้ พูดอย่างนี้มันเป็นการพูดกันเองเฉพาะราย แต่ธรรมที่จะเกื้อกูลต่อสังคมต่อโลก ต่อสาธารณชนนี้ ต้องแสดงองค์คุณสัมพันธ์ของธรรม อันนี้สำคัญ
พระภิกษุหรือผู้แสดงธรรมที่มีจิตใจละเอียด มีความกรุณานั้นจะไม่แสดงธรรมตัดลัดตอน ทั้งนี้เพื่อเกื้อกูลแก่สาธารณชนและเป็นการเคารพธรรมด้วย ไม่ลัดตอน ไม่ดูถูกผู้ฟัง หรือไม่เข้าข้างกิเลสของผู้ฟัง แสดงธรรมอย่างรอบคอบ นี้สำคัญ
เมื่อพูดถึงองค์คุณสัมพันธ์ทำให้ผมนึกถึง คำตรัสของพระพุทธเจ้าคราวส่งพระสาวก ๖๐ รูปไปประกาศธรรมครั้งแรก ท่านไม่ได้สั่งให้ไปประกาศลัทธิใหม่หรือปรัชญาสกุลใหม่ที่พระองค์เป็นผู้ริเริ่มคิดขึ้น แต่รับสั่งให้ประกาศพรหมจรรย์ ทรงตรัสว่าเธอและเราเป็นผู้พ้นแล้วจากบ่วงที่เป็นของมนุษย์และของทิพย์ ขอให้อาศัยความเมตตาอาศัยอิสรภาพที่ตัวเองได้สัมผัสได้ลิ้มแล้ว ได้เอ็นดูเพื่อเกื้อกูลประโยชน์แก่โลก แก่เทวดา แก่สัตว์ทุกระดับ ชั้นสูง ชั้นกลาง ชั้นต่ำ
ที่ผมจะเน้นก็คือ ความหมายของพรหมจรรย์นั้นสำคัญมาก ซึ่งรางเลือนไปจากชาวพุทธทุกวันนี้ มองไปถึงเรื่องผู้หญิงๆ โน้น ที่จริงพรหมจรรย์นี้ทั้งหญิงชายต้องปฏิบัติทั้งนั้น ทั้งพระทั้งโยมต้องปฏิบัติพรหมจรรย์ เพราะความหมายของพรหมจรรย์ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา องค์คุณสัมพันธ์ของพรหมจรรย์
แต่ว่าเมื่อเรามองศีล สมาธิ ปัญญานี้ เรามองแยกส่วนเป็นศีลพวกหนึ่ง เป็นสมาธิพวกหนึ่ง เป็นปัญญาพวกหนึ่ง อันนี้เป็นวิธีคิด วิธีศึกษาและสำรวจ ลำพังศีลนี้เขาไม่เรียกได้ว่าเป็นพรหมจรรย์ ลำพังสมาธินี้ก่อนหน้าพระพุทธเจ้า นักพรต นักบวชก็ประพฤติ เคร่งศีลยิ่งกว่าพระพุทธเจ้าหลายสิบเท่า แล้วมีศีลแปลกๆ ด้วย ศีลทรมานตน ศีลอด
ลำพังศีลเรียกว่าประพฤติพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนาไม่ได้ หรือลำพังสมาธิก็เป็นเรื่องฝึกจิตชั้นสูงที่เขาทำกันอยู่ ลำพังสมาธิก็ไม่เรียกว่าพรหมจรรย์ได้ แม้ปัญญาก็เหมือนกัน
พัฒนาการทางปัญญาในชมพูทวีปนั้นเจริญรุ่งเรืองในระดับสูงแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสรู้ภายใต้บรรยากาศภูมิปัญญาของอุปนิษัท คือความคิดคำนึงถึงตัวเองกับจักรวาลว่าเป็นอันเดียวกัน อาตมันกับพรหมมันเป็นอันเดียวกัน
ภูมิปัญญานี้ครอบคลุมจนถึงทุกวันนี้ จีนก็ลุถึงภูมิปัญญานี้แล้ว อันนี้เป็นยอดสุดของภูมิปัญญาในเชิงปริยัติ, ปรัชญาเข้าถึงแล้ว ลำพังภูมิปัญญาเหล่านี้ถือเป็นพรหมจรรย์ไม่ได้
พรหมจรรย์คือองค์คุณสัมพันธ์ของศีล ของสมาธิ ปัญญา
สนทนา : สติปัฏฐาน ๔ กับอ.ปรีชา ก้อนทอง มกราคม ๒๕๓๘
จากหนังสือไตร่ตรองมองหลัก พิมพ์ครั้งแรก พ.ย. ๒๕๓๓
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา