11 มิ.ย. 2021 เวลา 23:00 • ปรัชญา
ดั่งสายน้ำไหล (๒๗)
บารมีนั้นมีมากถึง ๓๐ ย่นย่อเหลือ ๑๐ เหลือ ๖ เหลือ ๔ จนกระทั่งเหลือ ๒ คือ ปัญญา กับ เมตตา ถ้าเหลือหนึ่งก็คือ ปัญญา ทำไมเราจึงต้องย่นย่อเข้ามา เพราะต้นตอ หรือรากเหง้ามันอยู่ที่นั่น ส่วนที่แตกเป็นบารมีอื่นนั้นเป็นเพียงกิ่งแขนงเท่านั้น
เช่น เมตตา – ปัญญา นี่เหมือนเหรียญสองหน้า คนที่มีปัญญาจริงๆ จนถึงระดับบารมีก็คือมีเมตตาด้วย
คนบางคนนี่เคร่งครัดในศีล ยุงยังไม่กล้าตบ กินเจ แต่ขี้โมโห นินทาเพื่อนเป็นไฟเลย เป็นคนไร้เมตตา พฤติกรรมอันนี้สับสนมากครับในเมืองเรา ในหมู่นักปฏิบัติธรรมนี่ เพราะว่าเลือกเอาว่าจะเมตตาคนนั้นคนนี้ เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แบ่งกันเป็นค่ายเป็นสำนัก ด่าทอกันอยู่ ขาดเมตตาทั้งนั้น ถ้าเป็นพรรคพวกตัวเองแล้วเมตตา พอเห็นคนเข้าสำนักอื่นก็โกรธโจมตี เมตตาหายไปไหน
คุณธรรมเช่นนี้นับว่าเป็นคุณธรรมที่ด้อย ทั้งอาจจะเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับคุณธรรมก็ได้ คือสภาพไร้คุณธรรม
ส่วนที่ว่าเมื่อมองเห็นว่าชีวิตทั้งหมดเป็นอันเดียวกัน เป็นทั้งปัญญาและเป็นทั้งเมตตา ชีวิตนั้นเป็นอันเดียวกันตลอดทั้งโลกนี้ไม่ว่าเป็นคนเป็นสัตว์ ต้นไม้ เรียกว่าชีวิต พอเราเข้าถึงชีวิต เราจะรู้ว่าชีวิตเป็นอันเดียวกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน ปัญญาอันนี้ละครับคือเมตตา นี่เป็นเรื่องปัญญา
จะรู้ได้ว่าชีวิตเป็นอันเดียวกันก็ต้องภาวนาไม่ใช่นั่งนึกเอาแบบนักปรัชญา นักปรัชญานั่งนึกได้ครับว่า คนจีน คนไทย คนเทศ เป็นอันเดียวกัน แต่ถึงเวลาแล้วเชือดคอพวกจีนได้ทันทีถ้าโกรธกัน อย่างนี้มันเป็นเรื่องคิดเอา
บารมีคือเต็มเปี่ยม เราเกิดมานี้ คนโบราณเขาพูดไว้ดีว่าเราเคยสั่งสมบารมีมาแล้ว ฉะนั้นเกิดมาทำบารมีให้มันเต็ม นั่นเป็นคำพูดที่ดีไม่จำเป็นต้องไปหาสืบสาวราวเรื่องว่าเราเคยทำแต่ครั้งไหน ก็เราระลึกชาติไม่ได้และเราเคยทำมันจริงหรือ อันนี้คิดเลยไป ผู้ที่ติดคิดมักจะมีปัญหามากมาย และทำให้การกระทำง่ายๆ กลับกลายเป็นยากไปจนได้
โลก จักรวาล ดาวนพเคราะห์ดวงนี้ภายใต้ระบบสุริยะนี้ค่อยๆ พัฒนาตัวมันมา กลั่นกรองมูลธาตุต่างๆ จนกระทั่งธาตุบางธาตุได้เป็นธาตุแท้ เช่น ทอง น้ำ ไฟ ดิน ลม อากาศธาตุ สิ่งเหล่านี้เป็นธาตุฐานบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ
เมื่อมนุษย์เกิดมามนุษย์ก็กลมกลืนกับสภาวะธรรมทั้งหมด กระแสธรรมทั้งหมดค่อยๆ กลั่นกรองจนกระทั่งมนุษย์ได้บรรลุถึงรูปร่างเช่นนี้ เรียกว่า โลกหรือจักรวาลได้บรรลุถึงวินาทีสุดท้าย คือที่ตรงนี้ ที่นี่ ขณะนี้ และขณะนี้คือ สิ่งที่โลกจักรวาลทั้งหมดได้กลั่นกรองมาก็คือ สภาพรู้ตัวเหมือนเพชรจรัสอันหนึ่ง แสงสว่างที่รู้ได้ ที่เราได้เรือนร่างเป็นมนุษย์ได้ชีวิตเยี่ยงมนุษย์ ได้สำนึกเยี่ยงมนุษย์และได้ภาพรู้ตัวนี้มา เป็นด้วยบารมีแต่ยังไม่เต็มเปี่ยม บางทีก็รู้ตัวบ้างลืมตัวบ้าง
ดังนั้น คำพูดที่ว่าเราเกิดมาเพื่อสร้างบารมีนั้น จริงแท้ทีเดียว ผมรู้สึกเช่นนั้น ทำบารมีให้เต็ม พระพุทธเจ้าตรัสว่า กว่าจะได้สภาพเป็นมนุษย์ยากเหลือที่จะกล่าวได้ หมายถึงทั้งร่างกาย ทั้งระบบประสาท ทั้งจิตใจ ทั้งสำนึก อะไรทั้งหมด กว่าจะบรรลุถึงความเป็นคนนี้ยาก
ท่านเปรียบว่า เต่าตัวหนึ่งอยู่ใต้ทะเล ร้อยปีกว่าจะโผล่ขึ้นมาทีหนึ่งแล้วมีห่วงห่วงหนึ่งลอยไปลอยมาในทะเล แล้วร้อยปีเต่าจึงจะโผล่ โอกาสที่หัวเต่าจะสอดเข้าในห่วงนั้นน้อยสักแค่ไหน ท่านว่าอย่างนั้น ท่านพูดเพื่อให้สำนึก ให้ตระหนักในค่าของความเป็นคน
สภาพที่รู้ตัวนี่คืออะไร นี่แหละคน นี่แหละมนุษย์ เพราะถ้าไม่รู้ตัวมันไม่ใช่คน เป็นหัวตอ หรือไม่ก็เป็นชีวิตชั้นที่พัฒนาการยังไม่ถึงระดับที่รู้ตัวได้ เราเป็นคนมีคุณสมบัติที่พิเศษสุดติดตัวมา แต่เราไม่เข้าใจเท่านั้น เมื่อไม่เข้าใจก็เรียกว่าหลง หลงก็เลยไหลไปเลย เรียกว่าหลงใหล หลงก็ไหลไปตามอารมณ์ เที่ยวหาตัวเองหาอะไรๆ ที่ไม่เป็นเรื่องทั้งนั้น
ดังนั้นเอง เมื่เราได้ฟังธรรมนั้น เท่ากับว่าเราได้ตัดรอนอุปสรรคออก เพราะธรรมเนียมนั้นเหมือนดาบฟาดฟันสิ่งที่ไม่เป็นแก่นสารให้เหลือแต่แก่น เมื่อเราจะทำด้ามมีดด้ามขวาน ชาวสวนชาวไร่เขารู้ว่าเขาต้องหาแก่นไม้ ไม่งั้นมันจะหักง่าย เขารู้ด้วยว่าอะไรเป็นเปลือกอะไรเป็นกระพี้
เรามาจับความรู้สึกตัวนี้เข้า จับความรู้ตัวนี้แล้ว มันเหมือนกับว่าคนตกน้ำ ตะพุ้ยน้ำ เหนือใต้อยู่ทางไหนไม่รู้ พอดีบังเอิญคว้าเชือกติดเส้นหนึ่ง เชือกที่เรือนั่นก็เลยรอดชีวิตมาได้ ถ้าไม่รู้สึกตัวก็จมน้ำของอวิชชา จมน้ำของตัณหา อุปาทาน
พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบเช่นนี้ครับว่า มีเรือแล่นค้าขายต่างเมือง ครั้งหนึ่งเรือเกยหินโสโครก บุคคลประเภทแรกตกลงในทะเล พอตกก็หายไปเลย นั่นคือปุถุชนที่เกิดมาแล้วไม่เคยได้ยินธรรมไม่เคยสดับธรรม จมน้ำแล้วหายไปเลย
ทีนี้มีคนอีกประเภทหนึ่งพอเรือแตกเมื่อทุกปัญหาประดังประเดกันเข้ามา คนอีกประเภทหนึ่งนั้นจมน้ำเหมือนกัน แต่ว่าโผล่ขึ้นมาครั้งหนึ่งกลับจมไปใหม่ ท่านเปรียบผู้ที่ได้ยินได้ฟังธรรมแล้วไม่สนใจไม่เข้าใจ
มีคนอีกประเภทหนึ่ง เรือแตกก็จมน้ำทั้งนั้น ไม่มีใครไม่จม เพราะเรือแตก พอจมน้ำโผล่ขึ้นมาอีกที ก็กำหนดทิศได้ว่าฝั่งอยู่ทางไหน บุคคลประเภทนี้ท่านเรียกว่า พระโสดาบัน และบุคคลประเภทนี้เองที่เมื่อเห็นฝั่งก็ระดมความเพียรว่ายเข้าหาฝั่ง ว่ายสักพักหนึ่งเท้าก็แตะพื้นทราย อย่างนี้เรียกสกิทาคามี สืบเนื่องกันมาอีกพักหนึ่งก็ลุยน้ำครึ่งน่องเรียกว่าอนาคามี พักเดียวเท่านั้นบุคคลนี้ก็นั่งพักผ่อนอยู่ใต้ร่มไม้ผึ่งกายให้แห้งที่ร่มไม้นั้น มีผลหมากรากไม้อุดมสมบูรณ์ บุคคลประเภทสี่นี้เรียกว่า พระอรหันต์ ผู้ถึงฝั่ง และปลอดภัยและสุขสมบูรณ์แล้ว
รวบรวมจากคำแนะนำต่อกลุ่มธรรมจาริณี ในรายการภาวนาประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ณ อาศรมศานติ-ไมตรี

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา