Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขมานันทะในใจเรา - ชาติพันธุ์ภาวนา
•
ติดตาม
15 มิ.ย. 2021 เวลา 23:00 • ปรัชญา
ศิลปะในการปฏิบัติธรรม
การเดินทางกลับ
๒. การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เป็นการกระทำให้ตัวเองเข้าสู่สถานะอันหนึ่งอันใดตามที่ต้องการ ไม่ใช่เพื่อได้ชื่อเสียง ได้ลาภ ได้เสียงสรรเสริญเยินยอ
โดยการเดินทางกลับบ้านเก่า สู่แหล่งกำเนิดของชีวิต ไม่ใช่ว่าจะกลับไปสู่ครรภ์แม่ ที่พูดหมายถึงการเกิดทางกาย
การเกิดขึ้นของความรู้สึกนึกคิด ที่คิดออกไปมีความตายรอดักหน้าอยู่เหมือนกัน แต่ความตายชนิดนี้ เป็นความตายเพื่อจะเกิดอีก
การกลับสู่ถิ่นกำเนิดหรือบ้านเรือนที่แท้จริงของเรานั้น ย่อมเป็นถิ่นปลอดภัยฉันใด การที่เราพยายามปฏิบัติจับความรู้สึกอยู่ทุกขณะ ไม่มีอาการปล่อยตามอำเภอใจ จับความรู้สึกตัวอยู่ทุกขณะ ในการกิน การดื่ม ในการนอน ในการพูด ในการฟัง ในการประกอบกิจการงานทุกชนิด
เมื่อมีปกติไม่เผลอ ไม่ปล่อยกาย ไม่ปล่อยวาจา ไม่ปล่อยใจ ผู้นั้นได้ชื่อว่าคุ้มครองแล้วซึ่งตัวเอง ซึ่งในชีวิตของเรานี้ ไม่มีอะไรคุ้มครองให้แก่เราได้ดีเท่าสิ่งนี้
เมื่อเล็กๆ เราพึ่งบิดา มารดา เป็นผู้ปกครอง โตขึ้นเราแต่งงานอยู่ภายใต้การคุ้มครองของสามีภรรยา ต่อมาเรารู้ว่าเรามีกฎหมาย มีรัฐบาลปกป้องคุ้มครองอยู่
ตราบใดที่มนุษย์ไม่รู้สึกตัวต่อเนื่อง ตราบนั้นยังเต็มไปด้วยอันตรายนานาประการ แม้จะมีสิ่งคุ้มครองของภายนอก
รอยต่อระหว่างความคิด เรื่องที่คิดกับอาการแห่งการคิดนี้คนละเรื่อง
อันหนึ่งเป็นนามธรรม อีกอันหนึ่งเป็นรูปธรรม เป็นกลไกของจิต การเคลื่อนไหวของจิตขึ้นสู่การคิดนึก แต่เรื่องที่มันคิดนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นนามธรรม
ยกตัวอย่าง เสียงอาตมาพูดอย่างนี้ สิ่งหนึ่งเป็นเครื่องหมายทางวัฒนธรรม คือภาษาไทย ทุกคนฟังรู้เรื่องเข้าใจความหมายอันนั้น ต่อให้อาตมาห้ามว่าอย่าคิดตามนา ก็ยังคิดตามไปเรื่อย นี่คือเรื่องที่เรากำลังคิดตาม หรือฟังตามคำพูดที่อาตมาพูดอยู่นี้ เข้าใจความหมายแล้วก็คิดตามไปด้วยได้
แต่ว่าส่วนหนึ่งนั้น สักแต่ว่าเสียงเฉยๆ เข้ามากระทบหู เป็นคลื่นของเสียง เป็นเรื่องของการเคลื่อนไหวเป็นเรื่องทางกายภาพ แต่เรื่องที่พูดมาเป็นความหมายเป็นเรื่องราว สัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมนั้นอย่างหนึ่ง
ดังนั้นแหละเมื่อเรามองสิ่งไหน มันมีส่วนหนึ่งซึ่งเป็นการมอง เป็นการกระทบสัมผัสล้วนๆ แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นสัมผัสความหมายที่ใจ
อย่างเราเห็นลูกน้อยที่น่ารักของเรา การเห็นล้วนๆ นี่อันหนึ่ง ไม่มีเรื่องไม่มีปัญหา การกระทำที่ใจเป็นเรื่องของเราอีกอันหนึ่ง มันเป็นสองลำดับ และอีกอันหนึ่งคือความไม่รู้แจ้งจากการกระทบที่ใจ มี ๓ ส่วน
ถ้าเฝ้าสังเกตให้ดีเราจะพบว่า ความไม่รู้สึกตัว ไม่รู้จักอาการเคลื่อนไหวของจิต จะทำให้เราเดินทางเข้าสู่การยึดมั่นถือมั่น เข้าสู่โลกของความทุกข์ ความหนักอกหนักใจ ความลำบากไม่รู้สิ้นสุด แต่ในทำนองเดียวกัน เมื่อหันไปเห็นสิ่งไหน จะเป็นลูกของเรา จะเป็นบ้านช่อง จับความรู้สึกอยู่ทั่วตัวเมื่อมันกระทบเข้าที่ใจ เกิดอาการเคลื่อนไหวทางจิตใจก็รู้ก็เห็น
เมื่อทำเช่นนี้ จะเดินทางไปสู่ที่สุดทุกข์ เป็นสองทางกันอยู่เช่นนี้ มันจะเดินทางกลับบ้าน จะรู้สึกตัวถึงการเดินทางกลับ หรือถูกดูดสู่แหล่งกำเนิดของชีวิต ไม่ใช่การเดินทางไปอย่างหลงเตลิดเปิดเปิง
บรรยายเมื่อ ๑๖ กันยายน ๒๕๒๒ ณ วัดสนามใน
บันทึก
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ศิลปะในการปฏิบัติธรรม
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย