16 มิ.ย. 2021 เวลา 23:00 • ปรัชญา
ศิลปในการปฏิบัติธรรม (๓)
การเดินทางกลับ
จุดที่มนุษย์หลงคือจุดที่เข้าไปในความคิด ไม่ได้เห็นความคิด ตรงนี้แหละคือจุดหลง
คนทั่วไปมักพูดว่า อายุมากแล้วยังหลงผู้หญิง หลงผู้ชาย อันนี้เป็นคำพูดตื้นๆ เหมือนคนหลงลิเก หลงภาพยนตร์ หลงเที่ยวกลางคืน นี่เป็นเรื่องตื้นๆ ตามธรรมดาควรจะละได้เสียนานแล้วในเรื่องนี้
แต่ตรงนี้แหละ ต่อให้พระสงฆ์องค์เจ้า หรือสังฆราชา ท้าวพระยามหากษัตริย์นั่งอยู่ดีๆ นี่แหละก็หลงได้เหมือนกัน เพราะไม่ได้หลงที่อื่น มันหลงที่เมื่อมันคิดขึ้นมาแล้วไม่รู้ตัวแล้วเข้าไปในความคิดอย่างขาดความรู้สึกตัว ดังนั้นแหละจึงถือเป็นการวนเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร เข้าไปสู่โลกแห่งความคิดซึ่งมีแต่ความมืดมัว ขัดแย้งเป็นทุกข์ทรมาน
การสิ้นหลงนั้นใช่ว่าจะไปนั่งที่วัด หรือนั่งใต้แสงเทียน หน้าพระปฏิมาก็หาไม่
ความไม่หลงคือการรู้สึกตัว เห็นอยู่ รู้อยู่ ในขณะที่จิตมันเคลื่อนไหว จะเห็นโลกของสมมุติที่นึก คิด
นั่นเป็นเรื่องสมมุติ
แต่เมื่อเห็นอาการคิดเป็นเรื่องจริง การเห็นเช่นนั้นชื่อว่าเห็นของจริง เห็นสิ่งจริง, เห็นตามเป็นจริง
ความเพียรชนิดนี้ เป็นความเพียรที่มนุษย์ธรรมดาไม่ทำ คนธรรมดานั้นทำความเพียรเพื่อหลง เพื่อได้โลภ เพื่อได้สมบัติพัสถานนานาประการ เป็นการเดินทางไปสู่ทุกข์ยาก ที่หลงคิดว่าความสุขนั่นเอง
ความสุขแท้เป็นความอิสระอยู่เหนือสุขทุกข์ สุขทุกข์เป็นเรื่องธรรมดาๆ เหมือนฤดูกาล กลางวันกลางคืนมันต่อกัน มันลุกไล่กัน เมื่อกลางวันมากกลางคืนก็น้อย กลาคืนน้อยกลางวันก็มาก สุขทุกข์เราจะห้ามมันไม่ได้ มันเกิดเหมือนพระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตกไปตามเรื่องของมันบางสมัยร่างกายเราเป็นทุกข์ บางสมัยร่างกายเราโปร่งเบา สุขสบายดี
แต่ความทุกข์ด้านจิตใจนั้น เราห้ามได้ เราจัดการได้ด้วยการขึ้นเหนือสุขทุกข์เสีย อย่าไปตกสู่กระแสของมัน
บรรยายเมื่อ ๑๖ กันยายน ๒๕๒๒ ณ วัดสนามใน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา