17 มิ.ย. 2021 เวลา 23:00 • ปรัชญา
ศิลปะในการปฏิบัติธรรม (๔)
การเดินทางกลับ
มันหลงที่จิต ถ้าจะรู้มันก็รู้ที่จิต จะไปรู้ที่อื่นไม่ได้ จะไปรู้จากคำสอนครูบาอาจารย์ จากคัมภีร์ก็รู้ไม่ได้ ยิ่งหลงกันใหญ่ ถ้ารู้มันต้องรู้ที่จิต
ดังนั้นเอง เมื่อมีความมืดอยู่ที่ไหน ความสว่างก็อยู่ที่นั่น มีความทุกข์อยู่ที่ไหน ความดับทุกข์ต้องอยู่ ณ ที่นั่น
ความรู้อันนี้แหละที่เกิดขึ้นกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็เปลี่ยนวิถีทางของการปฏิบัติใหม่ โดยเจริญสติ ทุกลมหายใจเข้าออก เฝ้าดูอาการตามที่เป็นจริงของธรรมชาติ ของชีวิต
อันที่จริงนั้น คำพูดที่ว่า การปฏิบัติเพื่อเดินทางกลับเป็นคำสมมุติเท่านั้น เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมรู้สึกตัวต่อเนื่องกันดีแล้ว มันไม่รู้สึกว่าเดินทางไปหรือเดินทางมา มันไม่ใช่กลับ มันไม่ใช่ไป แต่มันมีอาการรู้สึกขึ้นเหนือโลก เหนือสิ่งทั้งปวง
คำว่าเหนือโลก ไม่ได้ขึ้นไปเหมือนมนุษย์อวกาศ เหมือนว่าวที่ติดลมทำนองนั้น คือเหนืออารมณ์เท่านั้น
อารมณ์ที่เข้ามาแวดล้อมให้คิดนึกรู้สึกไปแล้ว ไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่าจิตนั้น ความรู้สึกนั้น เป็นเรา เป็นเวทนาของเรา เป็นความจำของเรา ขึ้นเหนือขึ้นมา
เหมือนนั่งอยู่บนฝั่งของลำธาร ถึงคลื่นจะแรงขนาดไหนก็นั่งดูลำธารนั้นมีปกติไหลไปสู่ที่ลุ่ม ที่ราบต่ำ การดูเช่นนั้นแหละ เป็นการปฏิบัติที่เรียกว่า วิธีทางตามธรรมชาติ เป็นการกระทำที่ง่าย
แต่ความเพียรนั้นอยู่ที่การกระทำให้ต่อเนื่องและฉับไว การที่พูดว่าฉับไวมัวเมาไปนาน มีการตั้งหลักนับหนึ่งเสมอ นับกลับเข้าสู่แหล่งกำเนิด อย่าเตลิดออกไป กลับเข้ามาเฝ้าดูให้เห็น เมื่อเห็นก็รู้ เมื่อแจ้งก็ฉาน ก็ไม่หลงอีก
การกำจัดทุกข์เป็นเรื่องของความรู้แจ้ง ไม่ใช่เรื่องของเรา แสงสว่างอันเราจุดขึ้นแล้ว หน้าที่ทำลายความมืดเป็นเรื่องของมันไม่ใช่เรื่องของเรา
ความทุกข์เป็นเรื่องของธรรมชาติ ความดับทุกข์เป็นเรื่องของธรรมชาติ สติเป็นเรื่องของธรรมชาติ การดำเนินไปสู่ความดับทุกข์เป็นเรื่องของธรรมชาติ ทุกสิ่งเป็นเรื่องของธรรมชาติ
เรามีหน้าที่ประการเดียวเท่านั้น คือการปลุกเร้าธาตุรู้ เพื่อรู้สึกตัวต่อเนื่อง แยกให้ออก เห็นให้ได้ ระหว่างรอยต่อของการเข้าไปสู่เนื้อเรื่องของความคิด กับการเห็นอาการแห่งการคิดที่เป็นเอง ทำเช่นนี้ เป็นการกระทำที่ดีที่สุดแล้ว เป็นการกระทำที่ตรงตัวและตรงจุด
การกระทำเช่นนี้ อาทิตย์หนึ่ง วันหนึ่งก็นับว่า ได้บูชาพระพุทธเจ้าแล้วอย่างลึกซึ้ง นับประสาอะไรกับการกระทำทุกลมหายใจเข้าออกเล่า เป็นหลักประกันที่ไม่ต้องถามใคร ไม่ต้องเชื่อใคร เมื่อทำอย่างนี้แล้ว ความทุกข์น้อย ความไม่รู้จางคลายออกไป ความรู้แจ้งแวววาวขึ้น ส่องแสงขึ้น ชีวิตก็เริ่มมีประโยชน์ มีคุณค่า
ไม่ต้องพูดถึงความสุข ความสุขเป็นเรื่องเล็กๆ คนทั่วไปมักกระหายความสุข เหมือนกระหายได้กินชามข้าวสวยๆ ที่จริงชามข้าวสวยๆ เราไม่ได้กินมัน เรากินอาหารเท่านั้น ความสุขเป็นอาหารเล็กๆ น้อยๆ ไม่ใช่สิ่งสำคัญนัก แต่การรู้แจ้งเป็นอาหารของชีวิต แสงสว่างนี่แหละคืออาหาร อาหารของชีวิต
ชีวิตนี้ต้องให้มันกินแสงสว่างแห่งความรู้แจ้ง ให้มันรู้สึกตัว รู้อยู่ รู้สึกอยู่ คิดไปก็รู้ อาการเฝ้าดูเพื่อรู้ เพื่อเห็นเช่นนี้เป็นไปพร้อมพรั่ง ที่ว่ารู้สึกตัวทั่วพร้อมแล้วไม่มีกิจอื่นที่จะต้องทำอีก คือมันจะทำของมันเองไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุด
เราไม่ต้องเชื่อผู้ใดในเรื่องนี้ เพราะอาศัยความเชื่ออยู่ มันก็แสดงแล้วว่าเราไม่เจริญสติให้ต่อเนื่องแล้ว เมื่อเจริญสติต่อเนื่องแล้ว เมื่อครูบาอาจารย์พูด แสดงธรรมก็จะฟังด้วยความรู้สึกทั่วถึง ไม่ใช่ความเชื่อ ความเชื่อนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ความเชื่อเป็นเรื่องของการขาดสติ หลงติด เชื่อตามแล้วขาดความรู้สึกตัว
แต่ผู้ฟังด้วยความรู้สึกตัวแล้วนั้นย่อมไม่เชื่อ แต่เป็นการเห็นแจ้งถ้าคำพูดนั้นจริง ถ้าคำพูดนั้นไม่จริงก็ตกไปเอง
สำคัญตรงที่ความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวไม่มีวันไม่มีคืนรู้สึกตัว การจับความรู้สึกตัวอยู่ จะเป็นขุมของความรู้ ของปรีชาญาณที่ทำอยู่ เช่นนี้แล้วจะเป็นไปเพื่อถึงที่สุดทุกข์เอง
บรรยายเมื่อ ๑๖ กันยายน ๒๕๒๒ ณ วัดสนามใน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา