18 มิ.ย. 2021 เวลา 23:00 • ปรัชญา
ศิลปะในการปฏิบัติธรรม (๕)
พระพันธ์ อินทผิว
พระพุทธศาสนาในประเทศไทย ย่อมมีลักษณะจำเพาะเป็นอย่างไทย แม้จะมีความเป็นอันเดียวกันกับพระพุทธศาสนาในลังกา พม่า ลาว และเขมร หรือกล่าวรวมไปถึงกลุ่มประเทศมหายานทั้งหมดก็ว่าได้ ว่าเฉพาะในไทยนั้นความผิดแผกของสำนักต่างๆ เป็นเพียงข้อปลีกย่อย (variety) เหมือนแกงแม้ต่างกันก็ยังชื่อว่าแกง และเมื่อกินเข้าปากไปแล้วก็หมดชื่อ กลับเป็นอาหารเสมอกัน
โดยหลักแล้วคณาจารย์ทั้งหมด ทั้งในอดีตและปัจจุบันย่อมมีความเห็นคล้องจองกันในข้อปฏิบัติ กล่าวคือจำต้องข่มนิวรณ์ให้ระงับด้วยการเจริญสมถะ ทำความสงบอย่างน้อยให้ถึงระดับที่เรียกว่าอุปจารสมาธิหรือถึงอัปปนาสมาธิ แล้วถอนออกมาพิจารณาความจริงซึ่งเรียกว่าวิปัสสนา
ผลจากการกระทำนั้นคือการรู้การเห็นการเกิดดับของขันธ์ ๕ ตามเป็นจริง ก็จะเหนื่อยหน่ายคลายกำหนัดไปเอง
เทคนิคต่างๆ ก็ถูกค้นพบแล้วๆ เล่าๆ จากวิปัสสนาจารย์ และได้มีการถ่ายทอดสู่สานุศิษย์และบริษัทดังที่ทราบกันดีทั้งฝ่ายมหายานหรือเถรวาทนี้
กลวิธีที่สำคัญและหลักการในการปฏิบัติของชาวพุทธโดยทั่วไปย่อมเน้นให้เห็นความสำคัญของสติ และอ้างหลักสติปัฏฐาน ๔ เป็นตัวยืน
ส่วนกายคตาสติหรืออานาปานสติแม้จะถูกระบุถึงก็ดูจะเป็นรองหรือรวมไว้หมดแล้วในสติปัฏฐานซึ่งถือเป็นทางสายเดียว และมักยืนกรานกันเช่นนี้โดยไม่แยแสว่า ถ้อยคำที่กล่าวนั้นบ่งถึงอะไร โดยสรุปคือ เรามักใช้ภาษาอย่างลืมตัว ใช้คำพูดตามธรรมเนียมหรือเป็นเพียงประเพณีการพูดเท่านั้น
สิ่งที่อุบาสกพันธ์ อินทผิว หรือบัดนี้คือหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ มีความอุตสาหะแนะนำผู้คนเป็นจำนวนมากให้ได้รู้เห็นและเข้าใจนั้น ดูจะผิดแผกแตกต่างจากสำนักอื่นๆ ทั้งในประเทศนี้และสำนักอื่น ๆ ในต่างประเทศอย่างสิ้นเชิง ไม่ใช่เพียงข้อปลีกย่อย แต่ต่างกันโดยหลัก
ดังนั้นกลวิธีในการปฏิบัติจึงต่างกันไปแต่ต้นจนจบ แม้กระนั้นสิ่งที่ท่านกล่าวก็ยังหาใช่ลัทธิใหม่อะไรไม่ ทั้งยังได้ประมวลเอาแก่นสารของธรรมของทุกๆ ฝ่ายเข้าหากัน แต่ก็หาใช่โดยถ้อยคำหรือปรัชญาที่ปรองดองเข้าหากันไม่
ทั้งนี้เพราะการที่ท่านได้เข้าถึงอมฤตธรรมนั้นโดยปราศจากครู ปราศจากพิธีรีตอง และทั้งยังครองชีวิตเยี่ยงคฤหัสถ์ทั่วไปอยู่ในช่วงนั้นนั่นเองที่ทำให้คำชี้แนะของท่านไม่โยกโคลง ไม่ปรองดองจนกล่าวได้ว่า สิ่งที่ท่านรู้หามีส่วนเกี่ยวกับวัฒนธรรม ประเพณีของชาวพุทธไม่
ยิ่งไปกว่านั้น กล่าวเน้นลงไปว่า ก็หาใช่พระพุทธศาสนาไม่ ดังนั้นย่อมส่อว่าเป็นสัจจะเป็นสากลไม่ขึ้นกับกาลเวลา เชื้อชาติ ขนบธรรมเนียมประเพณีใดๆ เลย ท่านได้เน้นเรื่องนี้ทุกครั้งในการสั่งสอน...
บรรยายที่มูลนิธิอริยาภา ปี ๒๕๒๒

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา