Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขมานันทะในใจเรา - ชาติพันธุ์ภาวนา
•
ติดตาม
24 มิ.ย. 2021 เวลา 23:00 • ปรัชญา
ศิลปะในการปฏิบัติธรรม (๑๑)
หลักปฏิบัติแนวหลวงพ่อเทียน
บางคนยังไม่เข้าใจหลวงพ่อ หรือบางทีเข้าใจอย่างไม่ถูกต้อง อย่างเช่นคำว่าสติของหลวงพ่อนั้นไม่ได้หมายถึงสติที่เขาอธิบายๆ กันทั่ว ๆ ไป แต่หมายถึง “รู้สึก” เฉยๆ เท่านั้น
คือปกติเวลาเดินเราก็รู้สึก เวลานั่งก็รู้สึก จะเอี้ยวตัวก็รู้สึก จะทำอะไรเราก็รู้สึก อันตัวรู้สึกนี้แหละคือตัวสติในความหมายของหลวงพ่อเทียน
เป็นสัมผัสแรก เป็นปัจจุบันธรรมดั้งเดิม ไม่ใช่ว่าจะให้เราไปรู้สึกถึงการเดิน รู้สึกถึงการนั่ง รู้สึกถึงการเคลื่อน ไม่ใช่เช่นนั้น แต่เป็นลักษณะที่ว่า เวลาเดินเราก็รู้สึก เวลาเคลื่อนเราก็รู้สึก ฯลฯ ก็ให้จับความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั่นเองเป็นฐานกำหนด
ไม่ต้องไปรู้สึกถึงการเดินอะไร อย่างที่เขาอธิบายกันทั่วไป คือ ไม่ต้องไปบ่งไปจำแนกว่านั่นความรู้สึกในการเดิน นั่นความรู้สึกในการนั่ง นั่นความรู้สึกในการกระพริบตา นั่นความรู้สึกในการหายใจเข้า นั่นความรู้สึกในการหายใจออก ฯลฯ คือไม่ต้องไป Naming มัน ไม่ต้องไปเรียกชื่อมัน ไม่ต้องไปจำแนกมันว่าเป็นความรู้สึกอย่างโน้น อย่างนี้
แต่กำหนดแค่ “รู้สึก” ก็พอแล้ว ทีนี้พอรู้สึกแล้วก็ปล่อยมันไป ละมันไปเสีย อย่าไปใส่ใจอะไรกับมันอีก
เราเอาแค่รู้สึก รู้สึก รู้สึกเฉยๆ ไปอย่างนั้น เรื่อยๆ ไป อย่าไปครองความรู้สึก อย่าไปครองข้อรู้สึก หรือไปยึดหน่วงมันไว้ ต้องปล่อยให้มันผ่านไป ผ่านไป รู้สึกแล้วให้ผ่านไป ๆ จะเห็นได้ว่าสติที่เขาอธิบายกันมันคลาดเคลื่อนไปจากของที่หลวงพ่ออธิบายไปนิดเดียวเท่านั้น แต่มันสร้างความแตกต่างมากเหลือเกิน เพราะมันพาเข้ารกเข้าพงไปเลย
คือทำอะไร เคลื่อนไหวอะไรๆ ก็รู้สึกอยู่ตลอดเวลา ความรู้สึกนี้แหละคือ “พุทธะ” องค์น้อยๆ คนมาจับแขนเรา เราก็รู้สึก
รู้สึกนั่นแหละคือพุทธะ คือสัมผัสแรกเริ่มดั้งเดิม และหลักปฏิบัติของหลวงพ่อก็คือจับความรู้สึกนั่นแหละให้ชัดแล้วก็ปล่อยให้มันผ่านไป
รู้แล้วปล่อย รู้แล้วปล่อย เพียงแต่รู้สึกไม่ต้องนึกตาม หรือกำหนดตามอาการ เช่นว่าพอเดินก็รู้สึกในการเดิน พอก้าวเท้าซ้ายก็รู้สึกแล้วก็นึกตามว่าก้าวเท้าซ้าย อย่างนี้ไม่ใช่แบบหลวงพ่อ ของหลวงพ่อนั้น จะทำอะไรก็ตาม จะทำอะไรก็ไม่ว่าหรือไม่สนใจ สนใจแต่ให้รู้สึกเมื่อกระทำลงไปเท่านั้นและเป็นแค่รู้สึก รู้สึก รู้สึกเฉยๆ ไม่ต้องไปจำแนกแยกแยะว่านี้กำลังเดิน นี้กำลังเคลื่อน ฯลฯ
บางคนบอกว่านั่งนิ่งๆ สิ่งนั้นก็มีอยู่แล้วหรือสติก็มีอยู่แล้ว นั่นช่างตรงข้ามกับที่หลวงพ่อสอน เพราะท่านสอนย้ำว่า “อย่าอยู่นิ่งๆ นะ ให้มันเคลื่อนไหวอยู่เสมอ อย่าหยุด” ทั้งนี้เพราะเราอยู่ในสิ่งแวดล้อม และถ้าเราหยุดสิ่งแวดล้อมก็จะเป็นฝ่ายกระทำเรา เป็นฝ่ายเล่นงานเรา ครอบงำเรา แต่กระนั้นถ้าเราเป็นฝ่ายกระทำมันก็จะเป็นการสร้างกรรมแล้ว ก็จะเกิดวิบาก – ผลกรรม ตามมาอีกวัฏฏะ เพราะการกระทำนั้นจะต้องประกอบด้วยเจตนา ซึ่งจัดว่าเป็นกรรมแล้วมีวิบากตามมาดังกล่าว
เมื่อหยุดก็ไม่ได้ ทำก็ไม่ได้ เช่นนั้นจะทำอย่างไร? ก็ต้องกระทำชนิดพิเศษ ซึ่งก็เลยเกิดวิธีสร้างจังหวะของหลวงพ่อขึ้นมานั่นเอง
การกระทำชนิดพิเศษเป็นอย่างไร? การกระทำชนิดพิเศษคือทำโดยไม่มีเจตจำนงอื่นใด ทำโดยไร้เจตจำนงใด ๆ ไม่มี Demand ใดๆ กล่าวคือ ในการสร้างจังหวะ หรือยกมือทำจังหวะ แนวหลวงพ่อนี้เราต้อง :-
๑. ตั้งใจ และ
๒. ไร้เจตจำนงใดๆ
ตั้งใจ คือเราต้องตั้งใจทำเพราะถ้าไม่ตั้งใจทำมัวไปนอนเล่นเสียไม่มาทำจังหวะ ไม่มาสร้างจังหวะมันก็ไมได้เรื่อง เป็นความเหลวไหลเสียเป็นแน่แท้ ดังนั้นประการแรกต้องตั้งใจทำ
ไร้เจตจำนงใด ๆ ก็คือทำ ไปสร้างจังหวะไป ต้องปราศจากเจตจำนงใดๆ ไม่ Demand อะไร ไม่หวังอะไร ไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้น จึงจะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง ปฏิบัติไปอย่างถูกต้องแล้วมันจะไหลพาไปสู่จุดมุ่งหมายเอง
แต่ถ้าไปเกิดเจตจำนงใดๆ ขึ้น มันจะพาไปยังจุดหมายของเจตจำนงนั้นๆ แทน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่จุดหมายของการสร้างจังหวะ
เป้าหมายของการสร้างจังหวะคือให้รู้สึก ให้ชัดเจน และต่อเนื่อง ในทุกๆ อิริยาบถ รู้สึก รู้สึก รู้สึกเฉยๆ ไม่ต้องจำแนกแยกแยะอะไร และรู้สึกแล้วก็ปล่อยให้มันผ่านไป (สร้างจังหวะให้จิตมันงงจนลืม Project ออกไปสร้างเป้าหมายข้างนอกและน้อมลงสู่ตัวเอง)ที่กล่าวมานี้แตกต่างจากที่ผู้คนเขาอธิบายแต่เดิมๆ ที่ว่าเหยียบก็รู้ว่าเหยียบ คู้ก็รู้ว่าคู้ กระพริบตาก็รู้ว่ากระพริบตา เดินก็รู้ว่าเดิน เพราะหลวงพ่อพูดว่า เวลาเหยียบก็รู้สึก เวลาคู้ก็รู้สึก กระพริบตาก็รู้สึก เวลาเดินก็รู้สึก และมาจับเฉพาะที่ตัวความรู้สึกล้วนๆ เป็นฐาน (โดยไม่จำแนกว่านั่นเป็นความรู้สึกในการเดิน นี่เป็นความรู้สึกในการเหยียด โน่นเป็นความรู้สึกในการคู้ ฯลฯ เอาแต่ความรู้สึก รู้สึกเฉยๆ เท่านั้น และรู้แล้วก็ปล่อย)
และต่างจากที่ผู้คนอธิบายกันมานาน ที่ว่าจิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ ฯลฯ เพราะว่าหลวงพ่อให้เพียงแต่รู้ว่ามีอะไรที่ไม่ใช่ความรู้สึกแท้ๆ ปรากฏขึ้นเท่านั้น จากนั้นก็ให้ปล่อยให้มันผ่านไป รู้แล้วปล่อย ไม่ต้องไปจำแนกแยกแยะหรือเรียกชื่อมันว่า นี่ราคะ นั่นโทสะ นั่นโมหะ ฯลฯ เพราะมันจะกลายเป็นไป ตามนึกตามคิด เป็นการฝังหัวเข้าไปในความคิดเสียอีก ทั้งๆ ที่แนวหลวงพ่อมุ่งออกจากความคิด! ดังนั้นระมัดระวังให้ดี
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ศิลปะในการปฏิบัติธรรม
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย