30 ส.ค. 2021 เวลา 01:00 • ปรัชญา
"พิจารณากรรมฐานให้เหมาะสมตามสถานการณ์"
4
" ... ในสติปัฏฐานท่านจะสอนให้รู้กาย
ให้รู้เวทนา ให้รู้จิต ให้เห็น
เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม
ให้เห็นเอา มันจะขึ้นวิปัสสนา
ฉะนั้นจริง ๆ ไม่ว่าจะสายกายหรือสายจิต
ถ้าทำถูกก็เป็นวิปัสสนาได้หมด
ทำผิดมันก็กลายเป็นสมาธิไปหมด
จะดูกายก็เป็นสมาธิ ดูจิตก็เป็นสมาธิ
ดูกายไปเรื่อย ๆ บางทีระเบิดเลย
ระเบิดสลายไป เป็นผลของสมาธิทั้งหมดเลย
ฉะนั้นการภาวนาถนัดทางไหนก็เอา
1
แล้วเวลาปฏิบัติสังเกตไป
ตอนนี้ควรทำความสงบก็ทำความสงบ
ตอนนี้ควรเจริญปัญญาก็ควรเจริญปัญญา
ไม่ใช่ตะบี้ตะบันทำแต่ความสงบ ไม่ได้เรื่อง
ก็ได้สงบนั่นล่ะ
ถ้าเพ่งร่างกายแล้วสงบก็ไปเป็นรูปพรหม
ถ้าเพ่งจิตแล้วสงบก็เป็นอรูปพรหม
ก็ไปอยู่พรหมโลกเหมือนกัน
ถ้าเจริญปัญญาดูกายไป เห็นกายไม่ใช่เรา
เห็นว่าจิตที่รู้กายไม่ใช่เรา ก็ได้มรรคได้ผล
ดูจิตก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันไม่เป็นเราแล้ว
ก็ไม่มีอะไรเป็นเราแล้ว ก็ได้มรรคได้ผลเหมือนกัน
 
ฉะนั้นค่อย ๆ สังเกตสิ่งที่ทำอยู่
ช่วงไหนเป็นสมถะช่วงไหนเป็นวิปัสสนา รู้ให้ทัน
แต่บางทีครูบาอาจารย์ท่านก็สอนบอกว่า
ไม่ต้องสนใจหรอกเป็นสมถะหรือวิปัสสนา
ทำไปเถอะ
ทำไปเถอะก็ได้ แต่นานหน่อย
เพราะถ้าเราภาวนาประกอบด้วยปัญญา
ประกอบด้วยสติ ประกอบด้วยปัญญามันไปได้เร็ว
1
ถ้าภาวนาแล้วเอาศรัทธานำไป
ทำ ๆ ไปเถอะเดี๋ยวก็รู้เอง
ไปได้ไหม ไปได้ แต่นานหน่อยมันเดินด้วยศรัทธา
ถ้าเดินด้วยปัญญาก็เร็วหน่อย
เดินด้วยปัญญาไม่ใช่คิด แต่รู้จักพิจารณา รู้จักแยกแยะ
ตอนไหนควรจะทำอะไร กรรมฐานอันไหนควรกับเรา
อันไหนไม่เหมาะกับเรา ต้องรู้ด้วยตัวเอง
อย่างบางคนเริ่มด้วยการดูจิตไม่ได้ ต้องไปดูกายก่อน
การดูจิตเป็นการปฏิบัติที่ผิดสำหรับคน ๆ นี้
บางคนดูกาย จิตไม่เอาจิตรู้สึกจืดชืด
ก็เริ่มด้วยการดูจิตก่อนอะไรอย่างนี้
ถ้าตะบี้ตะบันจะไปดูกายตามคนอื่นเขา
ก็ไม่ถูก ไปไม่รอด
ฉะนั้นเราก็สังเกตตัวเองกรรมฐานอะไรที่เหมาะกับเรา
แล้วขณะนี้ในภาพรวมอะไรเหมาะกับเรา
ขณะนี้อะไรเหมาะกับเรา
อย่างสมมติภาพรวมเรา เราต้องดูจิต
แต่ขณะนี้การดูจิตควรจะทำเป็นสมถะหรือเป็นวิปัสสนา
รู้ละเอียดลงไป ฉะนั้นเป็นปัญญา
ปัญญาที่รู้จักแยกแยะว่าอะไรสมควรแก่เรา
อะไรมีประโยชน์ อะไรสมควรแก่เรา
1
อย่างเรารู้สึกการดูจิตสมควรแก่เรา
หรือดูกายสมควรแก่เรา
แล้วขณะที่ดูจิต ขณะที่ดูกาย
อันไหนเหมาะกับเราที่จะทำ
ควรจะทำสมถะหรือควรจะทำวิปัสสนา
ดูกายก็ต้องมีสมถะมีวิปัสสนา
ดูจิตก็ต้องมีทั้งสมถะทั้งวิปัสสนา
ก็ต้องรู้ว่าตอนนี้ควรจะทำสมถะหรือจะทำวิปัสสนา
อย่างเราว่าชอบดูจิต ๆ กัน
ดูจิตไม่ใช่ดูไปเรื่อย ๆ
ดูจิตแล้วต้องสังเกต ตอนนี้จิตไม่มีกำลัง
จิตมันฟุ้งซ่านแล้ว กลับมาทำความสงบเลย
จะทำความสงบด้วยกรรมฐานอะไรก็ได้
เช่น พุทโธก็ได้ หายใจก็ได้
บอกหายใจเป็นกาย ทำไมดูจิตอยู่แล้วกลับมาให้ดูกาย
ดูกายนี้ทำเพื่อให้เกิดสมาธิ เพื่อให้เกิดสมถะ
ไม่ใช่ดูกายให้เกิดปัญญา ค่อย ๆ รู้จักแยกแยะ
ฟังแล้วงงไหม
ฉะนั้นทีแรกเราต้องรู้ว่าเราควรจะทำกรรมฐานอะไร
เพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น
บางคนเริ่มจากดูกาย บางคนเริ่มจากดูจิต
ระหว่างที่ดูกาย ระหว่างที่ดูจิตก็ต้องฉลาด
ตอนนี้ควรจะทำสมถะหรือตอนนี้ควรจะทำวิปัสสนา
แล้วต้องรู้อีกจะทำสมถะจะใช้อะไรเป็นวิหารธรรม
เป็นเครื่องมือ
จะทำวิปัสสนาจะใช้อะไรเป็นวิหารธรรม ต้องรู้จัก
อย่างเราดูจิต ๆ แล้วจิตเราฟุ้งซ่าน
ดูไม่รู้เรื่องแล้ว ต้องทำสมถะ
บางคนสมถะที่ถนัดคือหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ
ไม่ต้องไปคิดหรอกว่า นี่มันกาย เราไม่เอากาย
อันนั้นไม่ถูกหรอก ถนัดอันไหนเอาอันนั้น
หลวงพ่อทำอานาปานสติ
แต่ตอนเจริญปัญญานั้นดูจิตเอา
แต่ตอนทำสมถะทำอานาปานสติก็อยู่ในอนุสติ 10 ข้อ
ทำไปแล้วก็จะได้สมาธิขึ้นมา
เพราะฉะนั้นเราก็ต้องค่อย ๆ สังเกต
อันแรกเลย
เราควรจะใช้กรรมฐานอะไรในการทำวิปัสสนา
แล้วตอนระหว่างทำวิปัสสนา
ช่วงไหนควรทำสมถะก็ทำสมถะ
ช่วงไหนควรทำวิปัสสนาก็ทำวิปัสสนา
อย่างวิปัสสนาเรารู้แล้วเราจะดูอะไรตั้งแต่แรก
รู้ว่าอันนี้เหมาะกับเรา
แต่ตอนทำสมถะเราก็ต้องรู้อีกอะไรเหมาะกับเรา
จะดูจิตให้ว่างไปเลย ใช้จิตทำสมถะก็ได้
หลวงพ่อตอนเด็ก ๆ ท่านพ่อลีท่านสอนอานาปานสติไว้
หลวงพ่อก็ยังถนัดอานาปานสติ
ฉะนั้นเราดูจิตก็จริง
แต่ตอนทำอานาปานสตินั่นมันดูกายแล้ว
เป็นส่วนของกาย หลวงพ่อก็ทำไม่ได้รังเกียจว่า
แหม เราต้องเอาจิตล้วน ๆ อะไรอย่างนี้ไม่จำเป็นหรอก
อันไหนมีประโยชน์ อันไหนเหมาะกับเรา
อันไหนเราทำได้เอาอันนั้นล่ะ
ค่อย ๆ สังเกต ค่อย ๆ แยกแยะไป
พอเรารู้แล้วว่าตอนนี้ควรทำสมถะ
สมถะที่ควรทำคืออันนี้ เราก็ลงมือทำ
ถ้าจิตมีเรี่ยวมีแรงตั้งมั่นขึ้นมา
เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานได้แล้ว
มันจะเด่นดวงขึ้นมา ไม่ได้เจตนาประคองบังคับเลย
จิตมีกำลังตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา มันมีกำลัง
ตรงนั้นเป็นเวลาของการเดินวิปัสสนาแล้ว
จะดูจิตก็ได้ ดูกายก็ได้
ดูจิตก็อาจจะเห็นเจตสิกทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
แล้วเห็นจิตเดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด
ทั้งจิตทั้งเจตสิกล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
หรือบางทีเราดูจิตไม่สนใจเจตสิกก็ได้
เราเห็นจิตทำงานทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
อาศัยอายตนะ เราจะเห็นจิตที่เกิดที่ตาเกิดแล้วก็ดับ
จิตที่เกิดที่หูเกิดแล้วก็ดับ
จิตที่เกิดที่จมูก ที่ลิ้น ที่กายเกิดแล้วก็ดับ
จิตที่เกิดทางใจ เช่นจิตไปหลงคิดเกิดที่ใจเกิดแล้วก็ดับ
อย่างนี้เราทำวิปัสสนาอยู่
อย่างจิตหลงไปคิดแล้วรู้ หลงไปคิดแล้วรู้
อันแรกได้ทั้งสมาธิ อันที่สองได้ปัญญาด้วย
สามารถได้ปัญญาได้ด้วย จิตมันคิดได้เอง
จิตไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา
อันนี้ถ้าจิตไหลไปคิดแล้วรู้ จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมาก็ได้สมาธิ
แล้วก็ดูซ้ำ ๆ เดี๋ยวก็เคลื่อนแล้วรู้ ๆ
สุดท้ายก็ได้ปัญญาขึ้นมา
ฉะนั้นการภาวนา
กรรมฐานพระพุทธเจ้าท่านสอนไว้หลากหลาย
เพราะจริตนิสัยของคนมันมากมาย
แต่ละคนสร้างมาไม่เหมือนกัน
ทางใครทางมัน ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้คิดอย่างนี้
ส่วนใหญ่เคยทำอย่างไรทางนี้ดีที่สุด ... "
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
21 สิงหาคม 2564
ติดตามการถอดไฟล์ฉบับเต็มจาก :
ขอบคุณรูปภาพจาก : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา