25 ก.ย. 2021 เวลา 02:38 • ปรัชญา
"ดูจากของจริง ... ยอมรับความจริงให้ได้"
" ... โลกมีสันติภาพจริงไหม ไม่เคยมี
มนุษย์มีเสรีภาพจริงไหม ไม่มีจริง
นักปราชญ์โบราณเขาพูดไว้บอก
“มนุษย์มีเสรีภาพ แต่ทุกหนทุกแห่งมีพันธนาการ”
3
ไม่มีเสรีภาพ 100 เปอร์เซ็นต์
เสรีภาพ 100 เปอร์เซ็นต์เมื่อไร
มันก็ไปกระทบสิทธิเสรีภาพของคนอื่นเขา ไม่มีหรอก
เพราะฉะนั้นโลกธรรมดาเป็นอย่างนี้
เจริญแล้วเสื่อม สุขแล้วทุกข์ มีลาภเสื่อมลาภ
มียศเสื่อมยศ มีนินทา มีสรรเสริญ
มีสุข มีทุกข์เป็นของธรรมดาประจำโลก
ถ้าใจยอมรับตรงนี้ได้ใจจะทุกข์น้อย
ปัญหาของโลกจะกระทบเข้ามาไม่ถึงใจ
มันก็จะเหลือแต่ปัญหาของรูปนามกายใจของตัวเองนั่นล่ะ
...
ถ้าเรียนเข้ามาตรงนี้เป็นทางพ้นโลก
ถ้าจะอยู่กับโลกแบบทุกข์น้อยก็เข้าใจโลก
ถ้าอยากพ้นโลกก็เข้าใจโลกภายใน
คือรูปนามกายใจของตัวเอง
มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ดูของจริง ไม่ต้องไปคิดเอาว่าเที่ยงไม่เที่ยง
เป็นทุกข์หรือเป็นสุข เป็นอนัตตาหรือเป็นอัตตา
ไม่ต้องคิดหรอก ดูจากของจริง
ร่างกายนี้เที่ยงหรือไม่เที่ยง ดูจากของจริง
ร่างกายนี้เดี๋ยวก็หายใจเข้า เดี๋ยวก็หายใจออก ไม่เที่ยง
เดี๋ยวก็ยืน เดี๋ยวก็เดิน เดี๋ยวก็นั่ง เดี๋ยวก็นอน ไม่เที่ยง
ช่วงหนึ่งเป็นเด็ก ช่วงหนึ่งเป็นวัยรุ่น
ช่วงหนึ่งเป็นหนุ่มสาว ช่วงหนึ่งเป็นคนกลางคน
ช่วงหนึ่งเป็นคนแก่ ช่วงหนึ่งเป็นคนแก่มาก
ร่างกายนี้ไม่เที่ยงหรอก
ร่างกายเคยแข็งแรงแล้วเจ็บป่วย
ร่างกายไม่เที่ยงหรอก
ความจริงมันสอนอยู่แล้ว แต่เรายอมรับความจริงไม่ได้
ฉะนั้นการทำวิปัสสนากรรมฐาน คือการดูความจริง
ดูให้เห็นความจริงของกายของรูปนี้
ดูให้เห็นความจริงของจิตใจ
จิตใจเที่ยงไหม
เราไปทำอะไรมาสักอย่างให้มีความสุข
ความสุขอยู่ประเดี๋ยวเดียวก็หายไปแล้ว
ความสุขไม่เที่ยง
ความทุกข์เที่ยงไหม
บางคนบอกว่าอกหักต้องทุกข์ตลอดชีวิตแล้ว
นกในหัวใจเคยร้องเพลง โลกเคยเป็นสีชมพู
ตอนนี้อกหักแล้ว ชาตินี้นกจะไม่ร้องเพลงอีกต่อไปแล้ว
ฟ้าจะไม่เป็นสีชมพูอีกแล้ว
... ไม่นานเลยนกร้องเพลงอีกแล้ว
ในใจนี้คือกระดี๊กระด๊ามีความสุข หาคนอื่นต่อไปอีก
ถ้าเข้าใจจิตใจนี้ไม่เที่ยง
ถึงจะทุกข์แสนทุกข์ก็ไม่เที่ยง
บางคนลูกตายทุกข์มาก เวลาลูกตายเรานึกไม่ถึง
แต่ว่าพอผ่านไปหลายๆ ปี มันไม่เจ็บ
ไม่เจ็บเท่าตอนที่มันตายทีแรกแล้ว
ใจเรามันยอมรับความจริงได้แล้วว่า เขาตายไปแล้ว
ฉะนั้นมันยอมรับ
ยอมรับว่ามันเกิดแล้วมันต้องตายขึ้นมานี่มันจะไม่ทุกข์
เรายอมรับไป ตัวกายนี้ ตัวจิตใจนี้
ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ก่อนจะยอมรับได้ ก็คือดูมันเรื่อย ๆ ไป
ดูร่างกายนี้มันเที่ยงหรือไม่เที่ยง
มันสุขหรือมันทุกข์ มันบังคับได้หรือบังคับไม่ได้
ดูของจริงไปเรื่อย ๆ
จิตใจเราก็ดูของจริงไปเรื่อย ๆ มันเที่ยงหรือไม่เที่ยง
จิตใจนี้ดูง่ายเลยเรื่องเที่ยงไม่เที่ยง
เพราะจิตใจเปลี่ยนตลอดเวลา
กระทั่งนั่งฟังธรรมเดี๋ยวก็อยากฟัง
เดี๋ยวก็เบื่ออะไรอย่างนี้ เปลี่ยนตลอดเวลาเลย
เดี๋ยวก็ขี้เกียจขึ้นมา
วันนี้ขยันอยากเดินจงกรมสัก 3 ชั่วโมง
เดินไป 10 นาทีขี้เกียจแล้ว
ฉะนั้นจิตมันเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว
ฉะนั้นจิตใจนี่แสดงอนิจจังได้เร็วมากเลย
ร่างกายแสดงอนิจจังได้ช้ากว่าจิต
จิตแสดงอนิจจังได้เร็ว แล้วจิตนี้แสดง อนัตตา ง่าย
อนัตตา ก็คือ บังคับไม่ได้
สั่งให้สุขตลอดไม่ได้ ห้ามทุกข์ห้ามไม่ได้
สั่งให้ดีไม่ได้ ห้ามชั่วไม่ได้ อะไรอย่างนี้
สั่งให้สงบก็ไม่ได้ ห้ามฟุ้งซ่านก็ไม่ได้ ... "
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
11 กันยายน 2564
ติดตามการถอดไฟล์บรรยายฉบับเต็มจาก :
ขอบคุณรูปภาพจาก : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา